หลักการออกแบบช่องเปิดที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในงานสถาปัตยกรรม (Openings in space defining elements in Architectural design)
ในงานสถาปัตยกรรม ช่องเปิดอาคารถือเป็นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นช่องเปิดประเภทประตู หน้าต่าง หรือหลังคาโปร่งแสง ช่องเปิดทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมของการใช้งานภายในห้อง หน้าต่างช่วยให้แสงส่องเข้ามาในพื้นที่ และส่องสว่างพื้นผิวของห้อง ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างห้องกับพื้นที่ภายนอก และช่วยระบายอากาศตามธรรมชาติ และวันนี้ Wazzadu Encyclopedia ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหลักการออกแบบช่องเปิดที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นประเภทช่องเปิด รูปแบบการจัดช่องเปิด และการใช้งานให้เหมาะสมของแต่ละรูปแบบ ติดตามที่บทความนี้ได้เลยครับ...
ประเภทช่องเปิดส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในงานสถาปัตยกรรม
ประเภทที่ 1 ช่องเปิดภายในแปลน (Within Planes)
ช่องเปิดลักษณะนี้สามารถตั้งอยู่ได้ ทั้งในผนัง และเพดาน รอบ ๆ พื้นผิวบนแปลน มักจะวางช่องเปิดไว้กึ่งกลางของผนัง หรือเพดาน จะทำให้ความรู้สึกมั่นคง เป็นระเบียบ และลดความตึงเครียดทางสายตา รูปร่างของช่องเปิด อาจะเป็นรูปทรงสีเหลี่ยม มีทิศทางการเปิดที่แตกต่าง หรือเป็นรูปทรงอื่น ๆ เพื่อเน้นส่วนผนังหรือเพดานให้มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น ช่องเปิดหลายช่องอาจถูกจัดกลุ่มเพื่อสร้างองค์ประกอบที่เป็นหนึ่งเดียวภายในแปลน จัดเรียงกันเป็นแถว หรือขยับขึ้น-ลง เพื่อสร้างการเคลื่อนไหวที่มองเห็นได้
รูปแบบการจัดช่องเปิด
- ช่องเปิดภายในแปลนแบบจุดกึ่งกลาง (Centered) เน้นการจัดกึ่งกลางผนังให้ความรู้สึกมั่นคง
- ช่องเปิดภายในแปลนแบบนอกจุดกึ่งกลาง (Off-center) ยังคงอยู่กึ่งกลางผนัง แต่ขยับชิดซ้ายหรือขวา เพื่อตอบสนองตามความต้องการของผู้ใช้
- ช่องเปิดภายในแปลนแบบจัดกลุ่ม (Grouped) การจัดช่องเปิดเป็นกลุ่มเน้นความสมมาตร เป็นรูปแบบเดียวกัน
- ช่องเปิดภายในแปลนแบบบานลึก (Deep-set) เหมาะกับผนังที่มีแสงเข้ามาค่อนข้างมาก ทำช่องเปิดให้ลึกขึ้น เพื่อลดแสงที่เข้ามาภายในห้อง
- ช่องเปิดภายในแปลนแบบรับแสงบนเพดาน (Skylight) ช่องเปิดบนเพดาน เหมาะสำหรับห้องที่ต้องการแสงธรรมชาติ ใช้ในเวลากลางวัน หรือต้องการระบายอากาศ
ประเภทที่ 2 ช่องเปิดบริเวณมุมอาคาร (At corners)
ช่องเปิดลักษณะนี้สามารถตั้งอยู่บริเวณขอบมุมใดมุมหนึ่งของผนัง หรือเพดาน โดยช่องเปิดลักษณะนี้จะเป็นการเพิ่มแสงสว่างในมุมมืด หรือต้องการให้แสงเข้าทางมุมนั้นเพียงมุมเดียว การเปิดช่องให้แสงเข้ามาลักษณะนี้จะช่วยทำให้ภายในห้องดูสว่าง และทำให้เห็นมุมห้องน้อยลง ยิ่งช่องเปิดกว้างมากเท่าไหร่ ห้องก็จะดูกว้างมากขึ้นเท่านั้น
รูปแบบการจัดช่องเปิด
- ช่องเปิดบริเวณมุมอาคารแบบขอบด้านเดียว (Along one edge) เป็นการวางช่องเปิดชิดขอบมุมใดมุมหนึ่งของผนัง เพื่อจำกัดแสงสว่าง ให้เข้ามาในปริมาณที่เหมาะสมตามความต้องการของผู้ใช้
- ช่องเปิดบริเวณมุมอาคารแบบมุมผนัง (In a corner) การจัดวางชิดขอบมุมบนของผนัง เพื่อลดแสงที่เข้ามาในห้อง เหมาะสำหรับห้องที่ต้องการแสงเพียงเล็กน้อย
- ช่องเปิดบริเวณมุมอาคารแบบหมุนตามมุมผนัง (Turning a corner) เป็นการจัดกลุ่มช่องเปิดรูปแบบเดียวกัน ชิดขอบมุมห้อง ทำให้บริเวณนั้นได้รับแสงมากยิ่งขึ้น
- ช่องเปิดบริเวณมุมอาคารแบบจัดกลุ่ม (Grouped) การจัดกลุ่มช่องเป็นรูปแบบต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้ใช้ ทำให้รูปด้านอาคารมีความโดดเด่นมากขึ้น
- ช่องเปิดบริเวณมุมอาคารแบบรับแสงบนเพดาน (Skylight) การทำช่องเปิดเพดานเพียงมุมใดมุมหนึ่ง เพื่อจำกัดแสงสว่าง หรือเปิดเฉพาะพื้นที่ ที่ต้องการแสงสว่างมากขึ้น
ประเภทที่ 3 ช่องเปิดระหว่างแปลน (Between planes)
ช่องเปิดลักษณะนี้สามารถขยายได้ทั้งแนวตั้งระหว่างพื้นกับเพดาน หรือในแนวนอนระหว่างผนังกับผนังได้ และสามารถขยายครอบคลุมผนังทั้งหมด การวางช่องเปิดลักษณะนี้จะช่วยทำให้ไม่เกิดมุมมืดภายในห้อง เหมาะกับห้องที่มืดรับแสงได้น้อย และต้องการแสงสว่าง หรือห้องที่ต้องการเห็นวิวภายนอก ช่องเปิดลักษณะนี้จะทำให้ภายในห้อง และภายนอกเชื่อมต่อกัน ห้องกว้างขึ้น และทำให้ภายในห้องโปร่ง
รูปแบบการจัดช่องเปิด
- ช่องเปิดระหว่างแปลนแบบเต็มบานแนวตั้ง (Vertical) การทำช่องเปิดด้านใดด้านหนึ่งทั้งผนังในแนวตั้ง ทำให้ได้รับแสงสว่าง และยังมองเห็นภายนอกได้มากขึ้น
- ช่องเปิดระหว่างแปลนแบบเต็มบานแนวนอน (Horizontal) ช่องเปิดยาวทั้งผนังในแนวนอน เหมาะสำหรับห้องที่ต้องการแสงสว่างจากภายนอกเพียงด้านบน หรือด้านล่างไม่ต้องการวิวภายนอก
- ช่องเปิดระหว่างแปลนแบบสามในสี่ส่วนของผนัง (Three-quarter opening) ช่องเปิดสามในสี่ส่วนของผนัง เว้นระยะขอบไว้ อาจเพื่อเป็นราวกันตก หรือไม่ต้องการช่องเปิดทั้งผืน
- ช่องเปิดระหว่างแปลนแบบผนังหน้าต่าง (Window-wall) ช่องเปิดผนังทั้งผืน เหมาะสำหรับห้องที่ต้องการแสงสว่าง และต้องการเห็นวิวภายนอก ช่องเปิดลักษณะนี้จะช่วยทำให้ห้องดูกว้าง และโปร่งขึ้น
- ช่องเปิดระหว่างแปลนแบบรับแสงบนเพดาน (Skylight) ช่องเปิดเพดานยาวทั้งเพดาน แต่เปิดเพียงด้านใดด้านหนึ่งทำให้ห้องได้รับแสงสว่าง และระบายอากาศได้ดีขึ้น
องค์ความรู้ด้านวัสดุกระจก สำหรับงานผนังช่องเปิด และฟาซาดอาคาร
องค์ความรู้ด้านการออกแบบผนัง และฟาซาดกระจก
องค์ความรู้ด้านหน้าต่างแต่ละประเภท
เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia
อ้างอิงข้อมูลจาก
Architecture : Form, Space, & Order 4th Edition by Francis D. K. Ching
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม