Glass Wall Technology (EP.2) ระบบโครงสร้างผนังกระจก โครงสันกระจก (Glass Rib System)
ต่อจากตอนที่แล้ว (Glass Wall Technology EP.1) หลังจากที่เราได้กล่าวถึงรายละเอียดของระบบผนังกระจกโครงเคเบิลขึง หรือ Cable Net System กันไปแล้ว ในวันนี้เราจะมากล่าวถึง ระบบผนังกระจกโครงสันกระจก หรือ Glass Rib System กันบ้าง ซึ่งจะมีรายละเอียดอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น ตามมาชมกันเลยครับ
ระบบโครงสร้างผนังกระจก โครงสันกระจก หรือ Glass Rib System
เป็นระบบที่ค่อนข้างเรียบง่ายไม่ซับซ้อนมากนัก เป็นการยึดกระจกด้วยโครงสันกระจก (Rib) ที่ติดตั้งรองรับอยู่ด้านหลังรอยต่อกระจกแต่ละแผ่น โดยโครงสันกระจกจะถูกวางในแนวตั้ง ตั้งแต่พื้นสูงถึงเพดาน เมื่อถูกติดตั้งที่ด้านหลังรอยต่อของกระจกทุกแผ่นอย่างแน่นหนา มันจะทำให้ผนังกระจกทั้งแผงตั้งอยู่ได้เองอย่างคงทนแข็งแรง
การใช้โครงสันกระจกมีจุดเด่นในด้านการให้ทัศนียภาพที่มีความโปร่งใสทางสายตาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองจากภายนอกอาคารเข้ามาจะให้ความรู้สึกเสมือนว่าผนังกระจกผืนใหญ่มีความโปร่งใสสวยงามโดยไม่มีโครงสร้างที่หนา หรือ ทึบตัน มาบดบัง จึงเหมาะกับการนำไปใช้กับอาคารที่ต้องการโชว์ Space ภายใน และต้องการเทควิวภายนอก หรือ อาคารขนาดใหญ่ เช่น โชว์รูมรถยนต์ ,โรงแรม , อาคารสำนักงาน หรือ ศูนย์การค้า เป็นต้น
แต่ในปัจจุบันการติดตั้งโครงสันกระจก (Rib) ตั้งแต่พื้นสูงถึงเพดาน ในบางครั้งอาจให้ความรู้สึกที่เกะกะ หรือ กีดขวางพื้นที่บางส่วนภายในอาคาร จึงได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้โครงสันกระจกให้เกิดความเหมาะสมในการใช้งานที่ดีขึ้น เพื่อให้เป็นโครงสร้างที่สามารถรองรับได้ทั้งผนังกระจก (โครงสันกระจกติดตั้งแนวตั้ง) และหลังคากระจก (โครงสันกระจกติดตั้งแนวนอน) ทั้งในแง่ขนาดที่กระชับขึ้น ความคงทนแข็งแรงตามหลักวิศวกรรมที่เพิ่มขึ้น และมีความสวยงามทันสมัยกลมกลืนไปกับผนังกระจกของงานสถาปัตยกรรมนั้นๆ
รูปแบบโครงสันกระจก (Rib) ที่ได้รับความนิยมในยุคนี้ค่อนข้างมาก ก็คือการห้อยโครงสันกระจกลงมาจากคานบนแค่ครึ่งเดียว หรือ ห้อยโครงสันกระจกที่ระดับหน้าคานในกรณีที่หน้าคานมีความสูงมากพอประมาณที่จะติดตั้งได้ โดยไม่ต้องยื่นโครงสันกระจกลงมา จากนั้นใช้ตัว Boltedt-Fixed Stainless Steel Fitting หรือ Spider & Paired Bracket Spiders Fitting เข้ามาช่วยในการเพิ่มความแข็งแรง
(Sponsored Ads)
ในขณะเดียวกันแต่เดิมแล้วการจะติดตั้งโครงสันกระจก (Rib) จะต้องทำที่ด้านหลังรอยต่อของกระจกทุกแผ่นภายในอาคารเป็นหลักเสียส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันได้มีการประยุกต์วิธีการติดตั้งโครงสันกระจก (Rib) ที่ภายนอกอาคารเพิ่มขึ้นมา เพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับผนังกระจกภายนอกที่ต้องการลูกเล่นในการตกแต่งที่แปลกใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีราคาที่สูงตามไปด้วย รวมถึงการดูแลรักษาที่ทำได้ยากกว่าการติดตั้งโครงสันกระจกไว้ภายในอาคาร
สำหรับสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบโครงสันกระจกที่จะต้องห้อยอยู่เหนือระดับศีรษะผู้ใช้งานภายในอาคาร ก็คือเรื่องการแตกเมื่อได้รับความเสียหาย กระจกจะต้องไม่ร่วงหล่นลงมาด้านล่าง เพราะถ้าหากโครงสันกระจกแตกและหล่นลงมา ผนังกระจกทั้งแผงอาจได้รับความเสียหายแล้วพังถล่มตามลงมาด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้อาคาร หรือ ทรัพย์สินได้
ข้อมูลวัสดุศาสตร์ "กระจกลามิเนต"
ดังนั้นตัวโครงสันกระจก (Rib) จึงถูกกำหนดให้ใช้เป็นกระจกลามิเนตที่มีคุณสมบัติทนต่อแรงดันลมในที่สูง ทนต่อแรงอัดกระแทก และช่วยลดอันตรายจากกรณีที่กระจกปริแตก (ขนาดความหนา ขึ้นอยู่กับการคำนวณความแข็งแรงด้านวิศวกรรมในพื้นที่หน้างานนั้นๆ) เพราะหากมีการแตกเกิดขึ้นโครงสันกระจกก็จะไม่ร่วงหล่นลงมา เนื่องจากมีชั้นฟิล์ม PVB (Poly Vinyl Butyral) หรือ EVA (Ethylene Vinyl Acetate) ที่คั่นกลางระหว่างแผ่นกระจกคอยยึดเศษกระจกที่แตกเอาไว้ไม่ให้ร่วงหล่นลงมานั่นเอง
อีกทั้งยังเป็นการประวิงเวลาในการช่วยพยุงความแข็งแรงของกระจกทั้งระบบไม่ให้แตกหรือพังถล่มลงมา ซึ่งจะทำให้มีเวลาหาวิธีแก้ไข หรือ หาอะไรมาป้องกันได้ก่อนที่จะทำการเปลี่ยนโครงสันกระจก (Rib) แผ่นใหม่
สำหรับงานสถาปัตยกรรมที่ใช้โครงสันกระจก (Rib) ได้อย่างสวยงาม ตัวอย่างเช่น ผนังกระจก Apple store ในหลายๆสาขาทั่วโลก ซึ่งมีลักษณะเป็นกล่องกระจกใส โดยมีจุดเด่นในด้านความโปร่งโล่งทั้งมุมมองจากภายใน และภายนอก อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนวิธีประยุกต์ใช้โครงสันกระจก ที่ก้าวหน้าไปไกลพร้อมๆกับเทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรมที่ไม่หยุดนิ่ง
อ้างอิงโดย :
- Architectural glass detailer
- CABLE-NET SUPPORTED GLASS FACADE SYSTEMS (UNIVERSITY OF SURREY)
- Numerical Simulation and Analysis of the mechanical behaviour of Cable supported Glass Façades (UPC Barcelonatech)
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม