กระจกนิรภัย มีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีคุณสมบัติในการใช้งานอย่างไร

หลายท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อของ กระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass) มาก่อน เพราะกระจกชนิดนี้เป็นกระจกนิรภัยที่นิยมใช้ในการตกแต่งหรืองานสถาปัตยกรรมต่างๆ มากมาย แต่นอกจากกระจกนิรภัยเทมเปอร์ ก็ยังมีกระจกชนิดอื่นอีกเช่นกันที่สามารถใช้เป็นกระจกนิรภัยได้ จะมีกระจกชนิดไหนบ้าง ติดตามได้ที่  Wazzadu Encyclopedia บทความนี้เลยครับ...

กระจกนิรภัยประเภทต่างๆ และคุณสมบัติในการใช้

กระจกนิรภัยเทมเปอร์ Tempered Glass หรือ T/P 

กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass หรือ T/P ) หรือที่เรียกว่ากระจกอบ คือการนำกระจกธรรมดาไปผ่านกระบวนการอบที่ความร้อนสูงประมาณ 650 องศาเซลเซียส แล้วนำมาเป่าด้วยลมแรงดันสูงให้เย็นตัวลงทันที เพื่อให้กระจกเกิดความแข็งแกร่งกว่าเดิม 3-5 เท่า ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และมีความปลอดภัยมากขึ้น

ในกรณีที่กระจกเทมเปอร์เกิดการแตกหัก จะแตกออกเป็นเม็ดคล้ายเม็ดข้าวโพด ซึ่งมีความแหลมคมไม่มาก ทำให้มีโอกาสเกิดอันตรายน้อยกว่ากระจกธรรมดา เหมาะสำหรับงานที่มีความเสี่ยงต่อการแตกร้าว และต้องการความปลอดภัยที่เกิดจากกระจกแตกร้าว (safety)

กระจกนิรภัยเทมเปอร์จะมีค่าความแข็งแรงต่อแรงดึง และแรงที่ทำให้หักงอ (Bending Strength) เมื่อเปรียบเทียบกับกระจกธรรมดา ที่ความหนาเท่ากัน 5 มม. กระจกธรรมดาจะมีค่าความแข็งแรงต่อแรงดึง และแรงที่ทำให้กระจกหักงออยู่ที่ 500- 600 กก./ซม.2 ส่วนกระจกนิรภัยเทมเปอร์จะมีค่าสูงถึง 1,500 กก./ซม.2

โดยขนาดความหนาของกระจกนิรภัยเทมเปอร์ ที่นิยมผลิตในท้องตลาด คือ 4, 5, 6, 8, 10, 12, 15, 19 มิลลิเมตร

วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​ คือ กระจกที่สามารถนำมาผลิตเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์คือกระจกแผ่นเรียบเกือบทุกชนิดไม่ว่ากระจกนั้นจะผลิตด้วยกระบวนการเพลท(Plate Process) ชีท (Sheet Process) หรือโฟลท(Float Process) แต่กระจกนั้นต้องมีส่วนประกอบของวัตถุดิบที่เหมาะสม เช่น ไม่มีส่วนประกอบของแร่เงินมากเกินไป เป็นต้น กระจกที่ผลิตจากกระบวนการดังกล่าวมี ดังนี้

  •  กระจกใส (Clear Glass)
  •  กระจกใสพิเศษ(Super Clear Glass)
  •  กระจกทิ้น(Tinted Glass)
  • กระจกลวดลาย (Pattern Glass) 

ข้อดี

  • มีความแข็งแรงกว่ากระจกโฟลท 4-5 เท่า ทำให้สามารถรับแรงกระแทก แรงกด และแรงบีบได้ดี
  • ทนความร้อนได้สูงถึง 290ºC โดยกระจกไม่แตก
  • ทนการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลันได้ถึง 150ºC
  • เมื่อกระจกแตก จะแตกเป็นชิ้นเล็กๆคล้ายเม็ดข้าวโพดทั่วทั้งแผ่น จะไม่แตกเป็นปากฉลามแบบเดียวกับการแตกของกระจกธรรมดา จึงมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
  • ถ้าหากตัดกระจกบนโต๊ะตัดที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ความเที่ยงตรงสูง จะสามารถตัดได้หลากหลายรูปแบบ 

ข้อควรระวัง/ข้อเสีย

  • หลังการผลิตเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์จะไม่สามารถ ตัด เจาะ เจีย บาก ได้ ดังนั้นการวัดพื้นที่ จำเป็นต้องวัดอย่างระมัดระวัง และควรใช้เป็นหน่วยมิลลิเมตรในการวัดเพื่อความแม่นยำ
  • ไม่ควรใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์เดี่ยวๆ เป็นหลังคา หรือ เป็นผนังภายนอกอาคารบริเวณชั้นสูงๆ เพราะหากกระจกแตก จะร่วงลงมาเป็นอันตรายต่อคนข้างล่างได้
  •  ไม่ควรใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์เดี่ยวๆ เป็นพื้น หรือ เป็นขั้นบันได เพราะหากกระจกแตก ผู้เดินจะได้รับอันตรายพลัดตกลงมาได้
  • ห้ามใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์ทดแทนกระจกกันไฟ เพราะกระจกนิรภัยเทมเปอร์ไม่สามารถกันไฟเพื่อความปลอดภัยต่อผู้อาศัยตามข้อกำหนดของการกันไฟได้

การนำไปใช้งาน

  • ใช้เป็นประตูบานเปลือย ,ฉากกั้นอาบน้ำ ,ผนังกั้นภายใน ,ผนังกระจกทั้งสองหน้า 
  • ใช้ทำเป็นตู้โทรศัพท์ ,ห้องโชว์ ,ตู้สินค้าอัญมณีที่ต้องการความโปร่งแสง แต่ทนต่อแรง กระแทก ให้ความปลอดภัยสูง
  • ใช้ทำเป็นกระจกงานเฟอร์นิเจอร์ เช่น ชั้นวางของ ชั้นโชว์สินค้า
  • ใช้ทำเป็นหน้าต่างกระจก ผนังกระจกทั่วไป หรือ ผนังกระจกของอาคารในบริเวณที่เผชิญกับความร้อนสูงกว่าปกติ
  • ใช้ทำประตูบานเปลือย และผนังกระจกทั้งสองหน้าภายในตัวอาคาร
  • ใช้ทำผนังกระจกอาคารขนาดใหญ่ และอาคารสูง (Glass Curtain Wall) ในบริเวณที่ต้องรับแรงปะทะของกระแสลมที่มีความเร็วสูง
  • พื้นที่ ที่ต้องการความโปร่งแสง แต่ก็ต้องการความคงทนต่อแรงกระแทกในเวลาเดียวกัน

 

กระจกลามิเนต Laminated Glass

กระจกลามิเนต จัดเป็นกระจกนิรภัยชนิดหนึ่ง ที่เวลาแตกแล้วเศษกระจกจะยังคงยึดติดกันโดยไม่ร่วงหล่น เพราะมีชั้นฟิล์มที่ยึดเกาะระหว่างแผ่นกระจกเหมือนกับใยแมงมุม โดยเป็นการนำเอากระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Safe Glass) หรือกระจกธรรมดา (Annealed Glass / Floated Glass) จำนวน 2 แผ่น หรือ มากกว่า แล้วนำมาประกบติดกันโดยมีชั้นฟิล์มคั่นกลางระหว่างกระจก เราจึงเรียกกระจกที่ผ่านกระบวนการผลิตในลักษณะนี้ว่า กระจกลามิเนต (Laminated Glass) นั่นเอง

กระจกลามิเนต คือ การนำกระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Safe Glass) หรือกระจกธรรมดา (Annealed Glass / Floated Glass) ตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไป มาทำการ "ลามิเนต" ทำเป็นชั้นๆ โดยประกบคั่นกลางระหว่างแผ่นกระจกด้วยฟิล์ม PVB (Poly Vinyl Butyral) หรือ EVA (Ethylene Vinyl Acetate) เพื่อจุดประสงค์ในการใช้งานที่ต้องการความแข็งแกร่งมากขึ้น และตอบสนองการใช้งานในด้านความปลอดภัยที่สูงกว่ากระจกประเภทอื่น 

จากนั้นนำมาผ่านกระบวนการรีดด้วย Roller ซึ่งทำให้ PVB Film ยึดติดเข้ากับกระจก หลังจากนั้นกระจกที่ประกบแล้วจะถูกนำไปอบในเตา Auto Clave ที่ควบคุมอุณหภูมิ และความดันที่เหมาะสมเพื่อไล่อากาศออกจนหมด ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการผลิต โดยขนาด และความหนารวมในท้องตลาดที่สามารถผลิตได้ มีตั้งแต่ 6.38 ถึง 80 มม.

ข้อดี

  • เมื่อกระจกได้รับความเสียหายจนเกิดการแตก เศษกระจกจะไม่ร่วงหล่นลงมา ซึ่งช่วยลดอันตรายได้มากขึ้น 
  • ช่วยป้องกันเสียงรบกวนภายนอก และเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา
  •  ช่วยป้องกันความร้อนได้ดี และกันรังสียูวีได้มากกว่า 90 %
  • ทนต่อแรงดันลมในที่สูง ทนต่อแรงอัดกระแทก และช่วยป้องการบุกรุกจากการโจรกรรมได้
  • สามารถเคลือบสีได้ตามความต้องการ

ข้อเสีย

  • เมื่อเทียบความหนาในขนาดเดียวกัน กระจกนิรภัยลามิเนตจะรับแรงได้น้อยกว่ากระจกธรรมดา เช่น กระจกลามิเนต 4 มม. + ฟิล์ม + 4 มม. จะรับแรงกระแทกได้น้อยกว่า กระจกใสธรรมดาที่หนา 8 มม.
  • ฟิล์ม PVB มีคุณสมบัติดูดความชื้น จึงทำให้ถ้าใช้กระจกนี้บริเวณที่มีความชื้นสูง จะทำให้การยีดเกาะระหว่างกระจกและฟิล์มไม่ดี และอาจเกิดการแยกตัวออกจากกันได้

ข้อควรระวังในการใช้งาน

การนำกระจกลามิเนต (Laminated Glass) ไปใช้งานภายนอกอาคารนั้น มีสิ่งที่ต้องควรระวังก็คือ เมื่อใช้งานไปนานๆ จะพบว่ากระจกปรากฏรอยลูกคลื่นตามแนวรอยบากระหว่างแผ่นกระจก ซึ่งลักษณะของปัญหาดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นกับกระจกลามิเนต โดยมีศัพท์ที่เรียกว่า Delamination  หรือ การแยกตัวของกระจกลามิเนต

ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณขอบกระจก ,บริเวณรอยบาก หรือขอบที่เจาะรูยึดกับฟิตติ้งในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัญหาลักษณะนี้จะค่อยๆเกิดขึ้นหลังจากใช้งานไปแล้วสักระยะ(ตั้งแต่ 1 หรือ 2 ปีขึ้นไป) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่กระจกลามิเนตถูกผลิตด้วยวิธีการนำกระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Safe Glass) หรือกระจกธรรมดา (Annealed Glass / Floated Glass) ตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไป มาทำการ "ลามิเนต" ทำเป็นชั้นๆ โดยประกบคั่นกลางระหว่างแผ่นกระจกด้วยฟิล์ม PVB (Poly Vinyl Butyral)

ซึ่งฟิล์ม PVB นี้เองถือเป็นส่วนประกอบที่ยังมีจุดด้อยซ่อนอยู่ ก็คือตัวฟิล์มมีคุณสมบัติในการดูดซับความชื้นได้ดี เมื่อกระจกถูกนำไปใช้งานภายนอกอาคารแล้วต้องเจอกับสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย จึงทำให้ความชื้นจากอากาศ และน้ำสามารถซึมผ่านเข้ามาทางขอบกระจกแบบเปลือยแล้วสัมผัสกับเนื้อฟิล์ม PVB ได้โดยตรง เมื่อความชื้นในชั้นฟิล์ม PVB ถูกสะสมมากขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ความเหนียวในการยึดเกาะของชั้นฟิล์มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ชั้นฟิล์ม PVB ที่คั่นกลางระหว่างกระจกทั้ง 2 แผ่น จึงทำให้เกิดการแยกตัวออกจากกระจกอย่างช้าๆ และเห็นเป็นรอยคลื่นได้อย่างชัดเจน

การนำไปใช้งาน

  • ใช้ตกแต่งภายใน เช่น ฝ้า พื้น ผนังห้อง และบานประตู
  • ใช้เป็นกระจกด้านนอกของอาคาร โดยเฉพาะกระจกที่ต้องการป้องกันการบุกรุก หรือต้องการลดเสียงรบกวน เช่น หน้าต่างช่องเปิดแบบต่างๆ
  • ใช้เป็นกระจกอาคารสูงตามกฎหมายควบคุมอาคาร
  •  ใช้ทำระเบียงราวกันตก ,หลังคา Skylight ,กันสาด และ Facade 
  •  ใช้ทำเป็นกระจกนิรภัยสำหรับเฟอร์นิเจอร์

กระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่น (Heat-Strengthened Laminate Glass)​ 

กระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่น คือ กระจกฮีทสเตร็งเท่นที่ผลิตด้วยกระบวนการเดียวกับกระจกนิรภัยเทมเปอร์ แต่จะต่างกันที่กระบวนการทำให้เย็นด้วยการเป่าลม จากนั้นจึงนำมาเข้าสู่กระบวนการทำลามิเนตเพื่อเพิ่มความปลอดภัย และความแข็งแรง จนได้ออกมาเป็นกระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่น

กระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่น ถือเป็นกระจกอีกประเภทหนึ่งที่ให้ความปลอดภัยในการใช้งานได้มากกว่ากระจกแบบทั่วไปถึง 2 เท่า และทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบฉับพลันได้ 70 องศาเซลเซียส เมื่อกระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่นโดนวัตถุกระแทกจนทำให้เนื้อกระจกปริแตก กระจกจะแตกในลักษณะที่รอยแตกวิ่งเข้าไปหาเฟรม ซึ่งจะทำให้กระจกส่วนที่แตก ยังคงมีเฟรมโดยรอบ และชั้นฟิล์มลามิเนต PVB ที่คั่นอยู่ตรงกลางระหว่างกระจกทั้ง 2 แผ่น คอยยึดเกาะเศษกระจกชิ้นที่แตกเหล่านั้นไว้ จึงไม่ทำให้กระจกที่แตกอยู่บนผนังอาคารร่วงตกลงมา

กระจกฮีทสเตรงค์เท่น เป็นกระจกที่ผลิตด้วยกระบวนการเดียวกับกระจกนิรภัยเทมเปอร์  แต่กระบวนการทำให้เย็นด้วยการเป่าลม จะเป็นตัวบ่งชี้ว่ากระจกสองชนิดต่างกัน ซึ่งมีรายละเอียดเฉพาะในการทำให้เย็นดังนี้ ถ้าเราใช้ลมเป่าให้เย็นตัวลงเร็วมากๆ กระจกจะเกิดการอัดแน่นของโมเลกุลที่ผิวกระจกอย่างมาก ทำให้มีค่าความเครียดที่ผิวกระจก (Compressive Stress) ที่ 10,000 PSI ขึ้นไป จึงเรียกได้ว่าเป็น ‘กระจกเทมเปอร์’ โดยสมบูรณ์ (Fully Tempered) ซึ่งจะทำให้กระจกมีความแข็งแรงกว่ากระจกทั่วไป 4-5 เท่า และทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบฉับพลันได้ถึง 170 องศาเซลเซียส

แต่ถ้าลดแรงลมตอนที่เป่าให้กระจกเย็นตัว ก็จะมีผลทำให้กระจกเย็นตัวช้าลง ความเครียดที่ผิวกระจกก็จะลดหลั่นลงมาตามลำดับ ซึ่งเมื่อผิวกระจกมีค่าความเครียดที่ผิวกระจกระหว่าง 3,500 ถึง 7,500 PSI จะทำให้กระจกมีความแข็งแรงกว่ากระจกทั่วไป 2 เท่า และทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบฉับพลันได้ 70 องศาเซลเซียส เราเรียกกระจกชนิดนี้ว่า ‘กระจกฮีทสเตร็งเท่น’ (Heat-Strengthened Glass) โดยสมบูรณ์

จากนั้นจึงนำกระจกฮีทสเตร็งเท่นแบบปกติ 2 แผ่นมาประกบลามิเนตกัน โดยมีฟิล์มลามิเนต PVB ที่ยึดเกาะคั่นอยู่ตรงกลางระหว่างกระจกทั้งสองแผ่น โดยฟิล์ม PVB ทั่วไปมีความหนาของแผ่น 0.38 มม ถ้ากระจกฮีทสเตร็งเท่นที่นำมาประกบกันมีขนาดใหญ่ ก็ต้องใช้จำนวนชั้นฟิล์มเพิ่มขึ้น เราจึงเห็นได้ว่าการระบุความหนาของฟิล์มจะมีตั้งแต่ 0.38, 0.76. 1.14, หรือ 1.52 มม. ซึ่งก็คือ 1, 2, 3, หรือ 4 ชั้นนั่นเอง กระจกลามิเนตอาจจะประกอบด้วยกระจกฮีทสเตร็งเท่นมากกว่า 2 แผ่นประกบกัน แล้วแต่วัตถุประสงค์การใช้งาน ซึ่งการนำกระจกฮีทสเตร็งเท่นหลายๆ ชั้นมาประกบลามิเนตสามารถนำไปใช้เป็นกระจกกันกระสุน กระจกอาคารสูงระฟ้า หรือ พื้นกระจกได้สบาย

ข้อดี

  • มีความแข็งแรงกว่ากระจกโฟลท 2 เท่า ทำให้สามารถร้บแรงกระแทก แรงกด แรงบีบ ได้ดี
  • ทนต่อแรงดันของกระแสลมในที่สูงได้ดี โดยเฉพาะผนังอาคารสูง พื้นกระจก หรือ หลังคากระจก 
  • ทนความร้อนแบบปกติได้สูงถึง 290ºC โดยที่เนื้อกระจกไม่ปริแตก
  • ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลันได้ตั้งแต่ 70-100ºC
  • เมื่อกระจกปริแตก รอยแตกจะวิ่งเข้าไปหาเฟรม ซึ่งจะทำให้กระจกส่วนที่แตก ยังคงมีเฟรมโดยรอบ และชั้นฟิล์มลามิเนต PVB ที่คั่นอยู่ตรงกลางระหว่างกระจกทั้ง 2 แผ่น คอยยึดเกาะเศษกระจกชิ้นที่แตกเหล่านั้นไว้ จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานได้มากกว่ากระจกทั่วไป
  • ไม่ปริแตกแตกด้วยตัวเอง แบบเดียวกับการปริแตกด้วยตัวเองของกระจกนิรภัยเทมเปอร์

ข้อเสีย

ไม่สามารถ ตัด เจีย เจาะ บาก ได้ ดังนั้นการวัดพื้นที่จำเป็นต้องวัดอย่างระมัดระวัง และควรใช้หน่วยมิลลิเมตรในการวัดเพื่อความแม่นยำ ซึ่งการเผื่อหลวมจะช่วยให้การติดตั้งง่ายขึ้น แต่ต้องไม่หลวมจนกระจกหลุดจากคิ้ว

เนื่องจากเป็นกระจกที่ผ่านกระบวนการความร้อนสูงจนเนื้อกระจกนิ่ม กระจกอาจเป็นคลื่น และมีโอกาสโก่งตัวอยู่เล็กน้อย

ไม่สามารถใช้ทดแทนกระจกกันไฟได้ เพราะกระจกฮีทสเตรงค์เท่นไม่สามารถกันไฟเพื่อความปลอดภัยต่อผู้อาศัยตามข้อกำหนดของการกันไฟได้

การนำไปใช้งาน

  • ใช้ในอาคารอาคารสูง (Glass Curtain Wall)

ตามพรบ.ควบคุมอาคาร ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่ากระจกเปลือกนอกของอาคารที่สูงเกิน 23 เมตรขึ้นไป ต้องใช้กระจกลามิเนต แต่เนื่องจากเวลาคำนวณแรงดันลม (Windload) และความร้อนสะสมที่กระจกแล้ว การใช้กระจกโฟลตธรรมดาแล้วนำมาประกบลามิเนตส่วนใหญ่แล้วจะไม่ผ่านเกณฑ์ จึงจำเป็นต้องใช้กระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่นแทน เพราะสามารถทนต่อการรับแรงดันลมบนผนังอาคารสูงได้ดี และเมื่อเวลาปริแตกกระจกจะยังเกาะอยู่ที่เฟรมจึงไม่ทำให้ร่วงหล่นลงมา จึงมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานทั้งภายใน และภายนอกอาคารที่อยู่ด้านล่างได้มากกว่ากระจกประเภทอื่น 

  • ใช้ทำพื้นกระจก (Glass Floor) 

ในการทำพื้นกระจกนั้น เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดที่ทำให้กระจกได้รับความเสียหาย หรือ ปริแตกนั้น กระจกฮีทสเตร็งเท่นลามิเนตจะแตกเป็นชิ้นใหญ่ โดยยังคงยึดติดอยู่กับกรอบเฟรม และฟิล์มลามิเนต โดยกระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่นอีกแผ่นหนึ่งที่รองรับอยู่ด้านใต้ จะยังคงให้ความปลอดภัย

  • ใช้ทำหลังคากระจกสกายไลท์ในอาคารขนาดเล็ก หรือ อาคารขนาดใหญ่ (Skylight Glass)

ข้อเสีย/ข้อควรระวังในการใช้งาน

สิ่งที่ต้องควรระวังก็คือ เมื่อใช้งานภายนอกอาคารไปนานๆ อาจเกิดปัญหาการแยกตัวของกระจก หรือที่เรียกว่า Delamination  ซึ่งเป็นข้อควรระวังเช่นเดียวกับกระจกลามิเนต แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากๆ

กระจกเสริมลวด (Wire-Reinforced Glass)

กระจกเสริมลวด จัดเป็นกระจกนิรภัยชนิดหนึ่ง และเป็นกระจกที่ถูกดีไซน์มาให้มีลูกเล่นที่มีแนวเส้นลวดฝังในตัวกระจกในลักษณะเป็นแผงตาข่าย ผลิตโดยการฝังเส้นลวดโลหะระหว่างการผลิตแผ่นกระจก มีให้เลือกทั้งแบบใส และแบบขุ่น ซึ่งลวดในกระจกจะช่วยยึดไม่ให้กระจกหลุดร่วงออกมาในกรณีที่กระจกแตกหักหรือเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีกระจกโดนความร้อนสูงขนาดเกิดเพลิงไหม้ นิยมใช้กับสถานที่ที่ต้องการความปลอดภัยทั้งจากการโจรกรรมและเพลิงไหม้ เช่น บริเวณทางเดินหนีไฟ บริเวณทางเข้า-ออกอาคารที่อาจมีการกระจายของเพลิงหรือกลุ่มควัน และเพดานหรือผนังอาคารที่ทำด้วยกระจกที่อาจมีการแตกและหลุดร่วงของชิ้นกระจก

ข้อดี

  • การต้านทานการแตกหลุดร่วงของแผ่นกระจก เป็นกระจกนิรภัยชนิดหนึ่ง
  • กระจกจะไม่หลุดร่วงเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพราะมีลวดยึดเกาะ
  • ช่วยชะลอการลุกลามของเปลวไฟ และควันไฟ
  • เส้นลวดที่ฝังอยู่ในเนื้อกระจกทำให้สามารถป้องกันการโจรกรรม
  • ดีไซน์ดิบเท่ สไตล์อินดัสเทรียล

ข้อเสีย

  • ส่วนของขอบและผิวเส้นลวดด้านที่โดนตัดต้องได้รับการเตรียมป้องกันการเกิดสนิม
  • กระจกเสริมลวดอาจจะยากต่อการตัดแต่ง
  • การแผ่ความร้อนของอุปกรณ์ เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น เตาหุงต้ม อาจทำให้กระจกเสริมลวดแตกได้
  • เสี่ยงต่อการเกิดสนิม จึงไม่ควรติดตั้งในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดสนิม เช่น ใกล้กับสระว่ายน้ำ 

การนำไปใช้งาน

บริเวณทางเดินหนีไฟ บริเวณทางเข้า-ออกอาคารที่ เพดานหรือผนังอาคารที่ทำด้วยกระจกที่อาจมีการแตกและหลุดร่วงของชิ้นกระจก

ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ

เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ข้อมูลอ้างอิงจาก

- www.jaykhodiyarglass.com

- wazzadu.com

- www.krajok.com

- www.isg-glass.com

-  the Société Chimique de France

-  NewsAnalysis:Trends US Glass

-  U.S. Patent

-  The Telegraph

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ