ประตูหน้าต่าง (Doors & Windows) มีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีคุณสมบัติ และวิธีการใช้งานอย่างไร

การออกแบบประตู-หน้าต่างให้สอดคล้องกับการใช้งานภายในอาคาร และตัวสถาปัตยกรรม ทำให้เกิดการแบ่งประเภทของประตู-หน้าต่างตามลักษณะการเปิด-ปิด จนสรุปได้เป็น 5 ประเภทประตู และ 5 ประเภทหน้าต่าง ที่ได้รับความนิยมในการนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในระดับสากล ซึ่ง Wazzadu ย่อยมาให้แล้วแต่ละประเภทจะมีคุณสมบัติ และรูปแบบการใช้งานที่น่าสนใจอย่างไรบ้างนั้น ตามมาชมกันเลยครับ

5 ประเภทประตูยอดนิยม และคุณสมบัติในการใช้งาน

ประตู คือองค์ประกอบหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมที่ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ช่องทางเข้า-ออกและการรักษาความปลอดภัยเท่านั้น แต่ประตูยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ถึงศิลปกรรม ความเชื่อทางศาสนาทั้งเรื่องการวางผังตามทิศมงคล และการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และความเจริญรุ่งเรืองในแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย เรามาดูกันครับว่า 5 ประเภทประตูยอดนิยม จะมีคุณสมบัติ และมีลักษณะอย่างไรบ้าง

1. ประตูบานเปิด (Swing Door)

Raw material

ประตูบานเปิดผลิตจากวัสดุหลากหลาย ได้แก่ ไม้จริง ไม้เทียม อลูมิเนียม สแตนเลส เหล็ก

คุณลักษณะที่น่าสนใจของประตูบานเปิด (Swing Door)

ประตูบานเปิด เป็นประตูที่ได้รับความนิยมในทุกสังคม เนื่องจากการเปิด-ปิดประตูด้วยวิธีผลักหรือดึงนั้นเป็นเซ้นซ์ในการเข้า-ออกของมนุษย์

ประตูบานเปิด แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. ประตูบานเปิดเดี่ยว – มีบานประตู จำนวน 1 บาน

2. ประตูบานเปิดคู่ – มีบานประตู จำนวน 2 บาน

การใช้งาน

การใช้งานประตูบานเปิดเดี่ยวหรือบานเปิดคู่ขึ้นอยู่กับขนาดและจำนวนคน วัตถุ สิ่งของที่เข้า-ออกของแต่ละประเภทห้องและประเภทอาคาร

ประตูบานเปิดไม่ว่าจะเป็นบานเปิดเดี่ยวหรือบานเปิดคู่ สามารถเลือกได้ว่าจะให้เปิด 90 องศา หรือ 180 องศา ประตูบานเปิดมีหลากหลายดีไซน์และวัสดุ ทั้งวัสดุแบบสำเร็จรูปและแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ขนาดมาตรฐาน

ขนาดมาตรฐานของประตูบานเปิดเดี่ยว มีขนาดความกว้าง x ความยาว (หน่วยเซนติเมตร) ดังนี้

ประตูบานเดี่ยวหน้าบ้าน หรือบานทั่วไป

  • ความกว้าง 90 x ความยาว 200 เซนติเมตร
  • ความกว้าง 100 x ความยาว 200 เซนติเมตร

ประตูห้องนอน ประตูหลังบ้าน

  • ความกว้าง 80 x ความยาว 200 เซนติเมตร
  • ความกว้าง 90 x ความยาว 200 เซนติเมตร

ประตูห้องน้ำ

  • ความกว้าง 70 x ความยาว 180 เซนติเมตร
  • ความกว้าง 70 x ความยาว 200 เซนติเมตร

ขนาดมาตรฐานของประตูบานเปิดคู่ มีขนาดความกว้าง x ความยาว (หน่วยเซนติเมตร) ดังนี้

ประตูบานคู่หน้าบ้าน หรือห้องอเนกประสงค์ขนาดใหญ่

  • ความกว้าง 140 x ความยาว 200 เซนติเมตร (กว้าง 70 เซนติเมตร จำนวน 2 บาน)
  • ความกว้าง 160 x ความยาว 200 เซนติเมตร (กว้าง 80 เซนติเมตร จำนวน 2 บาน)

ตัวอย่างการนำไปใช้ในงานออกแบบ

ประตูบานเปิดเดี่ยวนิยมใช้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร รวมทั้งประตูรั้ว แสดงดังภาพ

2. ประตูบานสวิง (Swing Bi-fold Door)

Raw material

กรอบของประตูบานสวิงส่วนใหญ่ผลิตจากอลูมิเนียมหรือสแตนเลส เนื่องจากสะดวกต่อการขึ้นรูปกรอบลูกฟัก ตัวบานของประตูบานสวิงส่วนใหญ่ผลิตจากอลูมิเนียมหรือสแตนเลส บางแบบมีกระจกอยู่ภายในกรอบลูกฟัก

คุณสมบัติที่น่าสนใจของประตูบานสวิง (Swing Bi-fold Door) 

บริเวณกรอบบานประตูสวิงจะมีอุปกรณ์สวิงยึดกับพื้นด้านล่างและวงกบประตู ทำให้สามารถผลักเปิดได้ทั้งสองทาง ตัวบานของประตูบานสวิงส่วนใหญ่ถูกแบ่งเป็นสองบาน จึงทำให้ประหยัดระยะเปิดเมื่อผลักเข้า-ออกมากกว่าประตูบานเปิดแบบเดี่ยว

การใช้งาน

ประตูบานสวิงเปิดด้วยการผลัก สามารถผลักเพื่อเข้า-ออกได้ทั้งสองทาง

ขนาดมาตรฐาน

ขนาดมาตรฐานของประตูบานเปิดเดี่ยว มีขนาดกว้าง x ยาว (หน่วยเซนติเมตร) ดังนี้

  • ความกว้าง 80 x ความยาว 210 เซนติเมตร
  • ความกว้าง 90 x ความยาว 210 เซนติเมตร

ตัวอย่างการนำไปใช้ในงานออกแบบ

ประตูบานสวิงนิยมใช้สำหรับอาคารที่เน้นการเข้า-ออกได้ทั้งสองทาง ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า อาคาอเนกประสงค์ อย่างไรก็ตาม หากเป็นอาคารที่การออกแบบขึ้นอยู่กับความพึงพอใจส่วนตัวของเจ้าของโครงการ เช่น บ้านพักอาศัย ประตูบานสวิงสามารถนำมาใช้ได้หลากหลายห้อง เพื่อความแปลกใหม่ในการเข้า-ออกได้ทั้งสองทาง

3. ประตูบานเฟี๊ยม (Accordian Door)

Raw material

กรอบประตูบานเฟี๊ยมผลิตจากวัสดุหลากหลาย ได้แก่ ไม้จริง ไม้เทียม อลูมิเนียม สแตนเลส เหล็ก บานประตูบางรูปแบบใช้กระจก บางรูปแบบใช้วัสดุเดียวกับกรอบประตู

คุณสมบัติที่น่าสนใจของประตูบานเฟี๊ยม (Accordian Door)

ประตูบานเฟี้ยม คือประตูที่ประกอบด้วยบานประตูหลายบานมาต่อกันด้วยบานพับ มีลักษณะการเปิด-ปิดแบบทบสลับกันซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันมีเสน่ห์ของประตูบานเฟี๊ยม ข้อแนะนำในการติดตั้งประตูบานเฟี้ยม คือ ควรยึดบานประตูแต่ละบานเข้ากับรางบนเหนือบานและรางล่างบริเวณพื้น เพื่อป้องกันหน้าบานแกว่ง

การใช้งาน

การเปิด-ปิดประตูบานเฟี๊ยมสามารถออกแบบให้ทบสลับกันไปรวมที่ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน ทำให้ช่องเปิดกว้างกว่าประตูประเภทอื่น

ขนาดมาตรฐาน

ขนาดมาตรฐานของประตูบานเฟี๊ยม มีขนาดความกว้าง x ความยาว (หน่วยเซนติเมตร) ของแต่ละบานย่อย ดังนี้

  • ความกว้างน้อยที่สุด 80 x ความยาว 210 เซนติเมตร

สาเหตุที่กำหนดความกว้างน้อยที่สุด 80 เซนติเมตร เนื่องจากเป็นระยะน้อยที่สุดที่คนสามารถเดินผ่านได้สะดวก อย่างไรก็ตาม สามารถเพิ่มความกว้างของประตูบานเฟี๊ยมแต่ละบานตามการออกแบบ และสามารถเพิ่มความยาวของประตูบานเฟี๊ยมแต่ละบานได้สูงสุดถึงระดับฝ้าเพดาน ซึ่งความยาวที่เหมาะสม คือ 210 – 350 เซนติเมตร ไม่นิยมให้ความยาวมากกว่า 350 เซนติเมตร เนื่องจากส่งผลให้ประตูแต่ละบานมีน้ำหนักมากเกินไป

ตัวอย่างการนำไปใช้ในงานออกแบบ

ประตูบานเฟี้ยมนิยมใช้แพร่หลาย เนื่องจากสามารถประยุกต์ได้หลากหลาย ดังนี้

  • ห้องที่ต้องการเชื่อมต่อกับพื้นที่อื่น เช่น ห้องนั่งเล่นกับสวนภายนอก
  • ห้องอเนกประสงค์ที่มีขนาดใหญ่สามารถแบ่งเป็นห้องขนาดเล็กด้วยการใช้ประตูบานเฟี๊ยมกั้นแบ่งเป็นห้องต่างๆ
  • ห้องขนาดเล็กสามารถกลายเป็นห้องใหญ่ด้วยการเปิดประตูบานเฟี๊ยมเชื่อมต่อกับห้องอื่น

4. ประตูบานหมุน (Pivot Door)

Raw material

กรอบของประตูบานหมุนส่วนใหญ่ผลิตจากวัสดุหลากหลาย ได้แก่ อลูมิเนียม สแตนเลส เหล็ก เนื่องจากสะดวกต่อการติดตั้งจุดหมุนบริเวณกลางบาน ตัวบานของประตูบานหมุนส่วนใหญ่จะใช้กระจกหรือเหล็กเส้นออกแบบลวดลายได้หลากหลายรูปแบบ

คุณสมบัติที่น่าสนใจของประตูบานหมุน (Pivot Door)

ประตูบานหมุน คือประตูที่ติดตั้งจุดหมุนไว้กลางบานและติดตั้งโช๊คอัพแบบฝังพื้น (Floor Spring) แบบตั้งค้าง 90 องศา แต่หมุนได้รอบ 360 องศาเพื่อสะดวกต่อการใช้งาน ประตูบานหมุนนิยมติดตั้งต่อกันหลายบาน หากต้องการใช้บานประตูเพียงบานเดียว ควรกำหนดระยะเปิดให้สามารถผ่านเข้า-ออกได้สะดวก ซึ่งต้องมีการคำนวณระยะระหว่างจุดหมุนและหน้าบานให้สมดุลและติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ

การใช้งาน

ประตูบานหมุนเปิดด้วยการผลัก บานประตูจะหมุนได้ 360 องศา แต่ค้างได้เพียง 90 องศา จึงเหลือช่องประตูที่สามารถใช้งานเข้า-ออกได้เพียงครึ่งประตู

ขนาดมาตรฐาน

ขนาดมาตรฐานของประตูบานหมุน มีขนาดความกว้าง x ความยาว (หน่วยเซนติเมตร) ดังนี้

  • ความกว้างน้อยที่สุด 160 x ความยาว 210 เซนติเมตร

สาเหตุที่กำหนดความกว้างน้อยที่สุด 160 เซนติเมตร เนื่องจากประตูบานหมุนเปิดด้วยจุดหมุนตรงกลางบาน เมื่อเปิดเต็มที่จะเปิดค้างไว้ที่ 90 องศา ดังนั้น ความกว้างประตูจะเหลือเพียงครึ่งบาน คือ 80 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะน้อยที่สุดที่คนสามารถเดินผ่านได้สะดวก อย่างไรก็ตาม สามารถเพิ่มความกว้างของประตูบานหมุนตามการออกแบบ และสามารถเพิ่มความยาวของประตูบานหมุนได้สูงสุดถึงระดับฝ้าเพดาน ซึ่งความยาวที่เหมาะสม คือ 210 – 350 เซนติเมตร ไม่นิยมให้ความยาวมากกว่า 350 เซนติเมตร เนื่องจากส่งผลให้ประตูบานหมุนมีน้ำหนักมากเกินไป

ตัวอย่างการนำไปใช้ในงานออกแบบ

ด้วยวิธีการเปิดแบบเปิดค้าง 90 องศาและเหลือช่องประตูเพียงครึ่งเดียวของประตูบานหมุน จึงมีการออกแบบขนาดบานที่หลากหลาย ทำให้ดูสวย มีเสน่ห์ เหมาะสำหรับกั้นแบ่งพื้นที่ภายในบ้านและเชื่อมต่อระหว่างสองพื้นที่ ประตูบานหมุนไม่นิยมใช้เป็นประตูหลัก

5. ประตูบานเลื่อน (Sliding Door)

Raw material

ประตูบานเลื่อนผลิตจากวัสดุอันหลากหลาย ได้แก่ ไม้จริง ไม้เทียม อลูมิเนียม สแตนเลส เหล็ก กระจก

คุณสมบัติที่น่าสนใจของประตูบานเลื่อน (Sliding Door)

ประตูบานเลื่อน คือประตูที่เปิด-ปิดด้วยการเลื่อนออกด้านข้าง

ส่วนประกอบสำคัญของประตูบานเลื่อน คือรางเลื่อน ซึ่งมีทั้งแบบรางเลื่อนบนและรางเลื่อนล่าง

การเลือกใช้รางเลื่อนขึ้นอยู่กับงบประมาณในการก่อสร้าง มีรายละเอียดดังนี้

  • ประตูบานเลื่อนแบบรางเลื่อนล่างมีราคาค่าวัสดุและค่าการติดตั้งถูกกว่าและซ่อมแซมง่ายกว่าประตูบานเลื่อนแบบรางเลื่อนบน ลูกล้อของบานประตู คือตัวรับน้ำหนัก ซึ่งอาจสึกหรอเมื่อใช้งานเป็นเวลานาน ทำให้การเปิด-ปิดไม่ลื่น และรางเลื่อนบนพื้นแต่อาจเสี่ยงต่อการสะดุดล้มบริเวณรางและในด้านความงาม ทำให้มองดูแล้วขาดความต่อเนื่องของพื้นห้อง 
  • ประตูบานเลื่อนแบบรางเลื่อนบนหรือรางแขวน ตัวรับน้ำหนัก คือรางด้านบนใช้สำหรับแขวนบานประตู ซึ่งต้องคำนวณน้ำหนักและการยึดบานประตูเข้ากับรางโดยผู้เชี่ยวชาญ ในด้านความงามของประตูบานเลื่อนแบบรางเลื่อนบนหรือรางแขวน ช่วยให้ห้องทั้งหมดมีความต่อเนื่องกัน ทำความสะอาดง่าย

ประตูบานเลื่อนสามารถติดตั้งระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติด้วยระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่นิยมพัฒนารูปแบบระบบอัตโนมัติ จนเกิดเป็นวัตกรรมที่หลากหลาย

การใช้งาน

ประตูบานเลื่อนเปิดด้วยการเลื่อนบานประตูสู่ด้านข้าง ทิศทางการเลื่อนเพื่อเปิด-ปิดประตูมีหลายแบบ ได้แก่

  • ประตูบานเลื่อนเดี่ยว สามารถเลื่อนบานประตูออกเพียงด้านเดียว
  • ประตูบานเลื่อนคู่ สามารถเลื่อนบานประตูออกทั้งด้านซ้ายและด้านขวา จึงมีช่องเข้า-ออกที่กว้างกว่าประตูบานเลื่อนเดี่ยว
  • ประตูบานเลื่อนสลับ จะมีสองบาน ซึ่งทั้งสองบานสามารถเปิดใช้งานได้ทั้งด้านซ้าน และด้านขวาสลับกัน

ขนาดมาตรฐาน

ส่วนใหญ่แล้วมักจะนิยมใช้แบบบานเลื่อนเดี่ยว ,บานเลื่อนสสับ และบานเลื่อนคู่ โดยขนาดมาตรฐานของประตูบานเลื่อน มีขนาดความกว้าง x ความยาว (หน่วยเซนติเมตร) ดังนี้

ประตูบานเลื่อนเดี่ยว

  • ความกว้าง 160  x ความยาว 205 เซนติเมตร
  • ความกว้าง 180  x ความยาว 205 เซนติเมตร
  • ความกว้าง 180  x ความยาว 230 เซนติเมตร
  • ความกว้าง 190  x ความยาว 205 เซนติเมตร
  • ความกว้าง 200  x ความยาว 205 เซนติเมตร
  • ความกว้าง 200  x ความยาว 230 เซนติเมตร

ประตูบานเลื่อนคู่

  • ความกว้าง 200 x ความยาว 205 เซนติเมตร

นอกจากนี้ยังมีบานเลื่อนประเภทอื่นๆอีก เช่น บานเลื่อนแบ่งสาม ,บานเลื่อนแบ่งสี่ และบานเลื่อนแบ่งหก หรือถ้าหากมีขนาดใหญ่มากกว่านี้จะเป็นการสั่งทำ โดยขึ้นอยู่กับลักษณะการออกแบบ และขนาดพื้นที่ ที่จะนำไปติดตั้ง

ตัวอย่างการนำไปใช้ในงานออกแบบ

ประตูบานเลื่อนนิยมใช้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร แสดงดังภาพ

5 ประเภทหน้าต่างยอดนิยม และคุณสมบัติในการใช้งาน

หน้าต่าง เกิดจากการเจาะช่องเปิดบนผนังและมีบานเพื่อเปิด-ปิดช่องเปิดนั้น ประโยชน์ใช้สอยหลักของหน้าต่าง ได้แก่ เปิดรับแสงธรรมชาติ และเปิดรับลม เพื่อการระบายอากาศภายในอาคาร นอกจากประโยชน์ใช้สอยแล้ว การเลือกประเภทของหน้าต่างให้สอดคล้องกับสไตล์การออกแบบยังเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบสถาปัตยกรรมให้สวยงามอีกด้วย เรามาดูกันครับว่า 5 ประเภทหน้าต่างยอดนิยม จะมีคุณสมบัติ และมีลักษณะอย่างไรบ้าง

1. หน้าต่างบานเปิด (Swing Window)

Raw material

หน้าต่างบานเปิดผลิตจากวัสดุอันหลากหลาย ได้แก่ ไม้จริง ไม้เทียม อลูมิเนียม สแตนเลส เหล็ก

คุณลักษณะที่น่าสนใจของหน้าต่างบานเปิด (Swing Window)

หน้าต่างบานเปิด คือหน้าต่างที่เปิดด้วยการผลักบานหน้าต่างออกด้านหน้า และปิดด้วยการเอื้อมมือดึงตัวบานเพื่อปิดเข้ากับวงกบ หน้าต่างบานเปิด มีอุปกรณ์สำคัญ คือบานพับ ทำหน้าที่ยึดตัวบานเข้ากับวงกบ

บานพับมี 2 แบบ ได้แก่

  • บานพับธรรมดา – หน้าต่างบานเปิดที่มีบานพับแบบธรรมดา สามารถเปิดได้มากถึง 180 องศา แต่ต้องมีขอสับยึด เพื่อป้องกันไม่ให้บานประตูปิดทันทีเมื่อมีลมตี
  • บานพับแบบวิทโก้ – หน้าต่างบานเปิดที่มีบานพับแบบวิทโก้ สามารถเปิดค้างได้หลายองศาโดยไม่ต้องใช้ขอสับยึด แต่มีตัวยึด ‘วิทโก้’ ที่มีความฝืดทำหน้าที่ยึดบานหน้าต่างทั้งด้านบนและด้านล่าง เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าต่างปิดเมื่อมีลมตี

การใช้งาน

หน้าต่างบานเปิดเปิดด้วยการผลัก สามารถเปิดได้เต็มที่ทุกบาน จึงเปิดรับลมและแสงแดดเข้าสู่อาคารได้อย่างเต็มที่

ขนาดมาตรฐาน

หน้าต่างบานเปิดที่นิยมใช้ คือ หน้าต่างบานเปิดเดี่ยว และหน้าต่างบานเปิดคู้ โดยขนาดมาตรฐานของหน้าต่างบานเปิด มีขนาดความกว้าง x ความยาว (หน่วยเซนติเมตร) ดังนี้

  • ความกว้าง 60 x ความยาว 110 เซนติเมตร

ตัวอย่างการนำไปใช้ในงานออกแบบ

การใช้หน้าต่างบานเปิดในงานออกแบบอาคารต้องคำนึงถึงตำแหน่งของหน้าต่างบานเปิด ทั้งเรื่องความปลอดภัยเมื่อเปิดแล้วไม่ชนคน และเรื่องพื้นที่ใช้สอยที่จะกระทบกับบริเวณอื่นๆ ดังนั้น หน้าต่างบานเปิดจึงมักใช้กับผนังที่ไม่มีคนเดินผ่าน หรือบริเวณชั้น 2 ของอาคาร

2. หน้าต่างบานกระทุ้ง (Awning Window)

Raw material

กรอบของหน้าต่างบานกระทุ้งผลิตจากวัสดุหลากหลาย ได้แก่ ไม้ อลูมิเนียม สแตนเลส

ลักษณะตัวบานของหน้าต่างบานกระทุ้งเป็นลูกฟัก วัสดุด้านในลูกฟักมีหลากหลาย ได้แก่ กระจก ไม้ อลูมิเนียม

คุณลักษณะที่น่าสนใจของหน้าต่างบานกระทุ้ง (Awning Window)

จากหน้าต่างบานเปิดที่มีบานพับอยู่ด้านข้าง เปลี่ยนเป็นหน้าต่างบานกระทุ้งด้วยการย้ายบานพับไว้ด้านบน ดังนั้น บานพับจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักทั้งหมดของบานหน้าต่าง

บานพับแบบวิทโก้ คือบานพับยอดนิยมที่ใช้ยึดตัวบานกระทุ้ง เนื่องจากมีความแข็งแรงเพียงพอต่อการรับน้ำหนักบาน และมีความฝืดจึงสามารถเปิดค้างได้ตลอดเวลา

การใช้งาน

หน้าต่างบานกระทุ้งที่นิยมใช้งานจะมีทั้งแบบบานเดี่ยว และบานคู่ มีวิธีการเปิดด้วยการผลักบานหน้าต่างขึ้นด้านบน และปิดด้วยการเอื้อมมือดึงบานหน้าต่างลงเพื่อปิดเข้ากับวงกบ หน้าต่างบานกระทุ้งส่วนใหญ่เปิดได้ 45 องศา ทำให้ลมเข้าภายในอาคารไม่เต็มที่ แต่หลังจากเปิด ตัวบานจะทำหน้าที่เป็นกันสาดให้กับหน้าต่างอีกด้วย

ขนาดมาตรฐาน

ขนาดมาตรฐานของหน้าต่างบานกระทุ้งมีขนาดความกว้าง x ความยาว (หน่วยเซนติเมตร) ดังนี้

หน้าต่างห้องนั่งเล่น ห้องนอน

  • ความกว้าง 80 x ความยาว 110 เซนติเมตร

หน้าต่างห้องน้ำ

  • ความกว้าง 80 x ความยาว 50 เซนติเมตร

ตัวอย่างการนำไปใช้ในงานออกแบบ

หน้าต่างบานกระทุ้งมีความงามที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว จึงนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะโครงการที่พักอาศัยและร้านคาเฟ่

3. หน้าต่างบานเฟี๊ยม (Accordian Window)

Raw material

กรอบหน้าต่างบานเฟี๊ยมผลิตจากวัสดุหลากหลาย ได้แก่ ไม้จริง ไม้เทียม อลูมิเนียม สแตนเลส เหล็ก บานหน้าต่างบางรูปแบบใช้กระจก บางรูปแบบใช้วัสดุเดียวกับกรอบหน้าต่าง

คุณลักษณะที่น่าสนใจของหน้าต่างบานเฟี๊ยม (Accordian Window)

หน้าต่างบานเฟี้ยม คือหน้าต่างที่ประกอบด้วยบานหน้าต่างหลายบานมาต่อกันด้วยบานพับ

การใช้งาน

หน้าต่างบานเฟี๊ยมมีลักษณะการเปิด-ปิดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือเปิดแบบทบสลับกันไว้ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบทิศทางการเปิดและบานพับ แต่หลังจากเปิดออกทั้งหมดจะได้ช่องเปิดบนผนังที่กว้างมาก สามารถรับลมเข้าสู่อาคารได้อย่างเต็มที่เหมือนหน้าต่างบานเปิด

ขนาดมาตรฐาน

ขนาดมาตรฐานของหน้าต่างบานเฟี๊ยม มีขนาดความกว้าง x ความยาว (หน่วยเซนติเมตร) ของแต่ละบานย่อย ดังนี้

  • ความกว้างน้อยที่สุด 45 x ความยาว 110 เซนติเมตร

อย่างไรก็ตาม สามารถเพิ่มความกว้างของหน้าต่างบานย่อยแต่ละบานได้ตามการออกแบบ แต่ไม่ควรกว้างมากกว่า 100 เซนติเมตร เพราะส่งผลให้น้ำหนักมากเกินไป

ตัวอย่างการนำไปใช้ในงานออกแบบ

ด้วยวิธีเปิดอันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของหน้าต่างบานเฟี๊ยม และเมื่อเปิดจนสุดขอบหน้าต่างจะได้ช่องเปิดบนผนังที่กว้างมาก จึงนิยมใช้หน้าต่างบานเฟี๊ยมสำหรับงานออกแบบที่เน้นทั้งความงามของหน้าบานและฟังก์ชันการเปิดช่องหน้าต่างกว้าง เพื่อเปิดรับลม ระบายอากาศภายในอาคาร และเปิดมุมมองเห็นวิวมุมกว้างภายนอกอาคาร

4. หน้าต่างบานเลื่อน (Sliding Window)

Raw material

กรอบหน้าต่างบานเลื่อนผลิตจากวัสดุหลากหลาย ได้แก่ ไม้จริง ไม้เทียม อลูมิเนียม สแตนเลส พลาสติก PVC เหล็ก บานหน้าต่างบางรูปแบบใช้กระจก บางรูปแบบใช้วัสดุเดียวกับกรอบหน้าต่าง

คุณลักษณะที่น่าสนใจของหน้าต่างบานเลื่อน (Sliding Window)

หน้าต่างบานเลื่อน คือหน้าต่างที่เปิด-ปิดด้วยการเลื่อนออกด้านข้าง มีทั้งแบบเลื่อนออกทิศทางเดียวและเลื่อนออกทั้งสองทิศทาง (ซ้าย-ขวา) ลักษณะการเปิด-ปิดคล้ายประตูบานเลื่อน แต่ด้วยหน้าที่ของหน้าต่าง จึงถูกกำหนดขนาดความสูงสำหรับเป็นช่องเปิดบนผนัง เพื่อรับลม รับแสงธรรมชาติ และใช้งานตามฟังก์ชั่นของหน้าต่างแต่ละห้อง

หน้าต่างบานเลื่อนสามารถเปลี่ยนเป็นหน้าต่างบานเลื่อนอัตโนมัติด้วยการติดตั้งอุปกรณ์อัตโนมัติในส่วนประกอบของหน้าต่างและติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ หน้าต่างบานเลื่อนส่วนใหญ่ใช้รางเลื่อนล่างซึ่งมีล้อเป็นอุปกรณ์รับน้ำหนักบาน

การใช้งาน

หน้าต่างบานเลื่อนเปิดด้วยการเลื่อนบานหน้าต่างสู่ด้านข้าง ทิศทางการเลื่อนเพื่อเปิด-ปิดหน้าต่างมีหลายแบบ ได้แก่

  • หน้าต่างบานเลื่อนเดี่ยว สามารถเลื่อนบานหน้าต่างออกเพียงด้านเดียว
  • หน้าต่างบานเลื่อนคู่ สามารถเลื่อนบานหน้าต่างออกทั้งด้านซ้ายและด้านขวา จึงมีช่องเข้า-ออกที่กว้างกว่าหน้าต่างบานเลื่อนเดี่ยว
  • หน้าต่างบานเลื่อนสลับ จะมีสองบาน ซึ่งทั้งสองบานสามารถเปิดใช้งานได้ทั้งด้านซ้าน และด้านขวาสลับกัน
  • หน้าต่างบานเลื่อนแบ่งสาม ก็มีใช้งาน แต่อาจไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก

ขนาดมาตรฐาน

ขนาดมาตรฐานของหน้าต่างบานเลื่อน มีขนาดกว้าง x ยาว (หน่วยเซนติเมตร) ดังนี้

หน้าต่างบานเลื่อนเดี่ยว

  • ความกว้าง 100 x ความยาว 110 เซนติเมตร
  • ความกว้าง 120 x ความยาว 110 เซนติเมตร
  • ความกว้าง 120 x ความยาว 150 เซนติเมตร

หน้าต่างบานเลื่อนคู่ และบานเลื่อนสลับ

  • ความกว้าง 180 x ความยาว 110 เซนติเมตร
  • ความกว้าง 240 x ความยาว 110 เซนติเมตร
  • ความกว้าง 240 x ความยาว 150 เซนติเมตร

หน้าต่างบานเลื่อนแบ่งสาม

  • ความกว้าง 180 x ความยาว 110 เซนติเมตร

ตัวอย่างการนำไปใช้ในงานออกแบบ

หน้าต่างบานเลื่อนนิยมใช้อย่างแพร่หลาย สามารถใช้ได้กับทุกห้อง และทุกชั้นของอาคาร

5. หน้าต่างบานยก (Slide-hung Window)

Raw material

กรอบหน้าต่างบานยกผลิตจากวัสดุหลากหลาย ได้แก่ ไม้จริง อลูมิเนียม สแตนเลส พลาสติก PVC เหล็ก บานหน้าต่างส่วนใหญ่ใช้กระจก

คุณลักษณะที่น่าสนใจของหน้าต่างบานยก (Slide-hung window)

ด้วยวิธีเปิดโดยการยกทั้งบานขึ้นด้านบน จึงทำให้ได้ช่องเปิดบนผนังที่กว้างทั้งบาน สามารถรับลมและแสงแดดได้อย่างเต็มที่ แต่หน้าต่างบานยกต้องมีอุปกรณ์ล็อคที่แข็งแรง เพื่อให้สามารถเปิดค้างไว้โดยไม่ตกลงมา

การใช้งาน

หน้าต่างบานยกเปิดด้วยการใช้มือทั้งสองข้างยกบานหน้าต่างขึ้นด้านบน และปิดด้วยการใช้มือทั้งสองข้างดึงบานหน้าต่างลง

ขนาดมาตรฐาน

ขนาดมาตรฐานของหน้าต่างบานยก มีขนาดความกว้าง x ความยาว (หน่วยเซนติเมตร) ดังนี้

  • ความกว้าง 60 x ความยาว 110 เซนติเมตร

ตัวอย่างการนำไปใช้ในงานออกแบบ

หน้าต่างบานยกส่วนใหญ่มักนิยมใช้ในพื้นที่จำกัด เนื่องจากไม่เสียพื้นที่สำหรับเก็บบานเหมือนดั่งหน้าต่างบานเลื่อน

ประเภทประตู-หน้าต่างยอดนิยมข้างต้น ล้วนมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน

ดังนั้น จึงควรเลือกใช้ประตู-หน้าต่างให้เหมาะสมกับฟังก์ชันการใช้งาน รูปแบบสถาปัตยกรรม และสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการใช้งาน

ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆที่น่าสนใจ

เขียน และเรียบเรียงโดย :

ปาณิชาติ กิติสิทธิชัย

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Ads

โปรโมชั่นพิเศษจากแบรนด์

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ