กระจกฉนวนกันความร้อน คืออะไร มีคุณสมบัติในการใช้งานอย่างไร (Insulated Glass Unit หรือ IGU )

กระจกฉนวนความร้อน ( Insulated Glass Unit หรือ IGU ) ​ คืออะไร

กระจกฉนวนความร้อน คือ กระจกดัดแปลงด้วยกระบวนการ (Process) ต่างๆ เพื่อตอบสนองจุดประสงค์การใช้งานในการป้องกันความร้อน และการประหยัดพลังงานเป็นหลัก โดยการนำกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปมาประกบกัน (กระจกที่นำมาใช้เลือกได้หลายประเภท) โดยมีเฟรมอลูมิเนียม และช่องว่างคั่นกลางระหว่างกระจกทั้ง 2 แผ่น โดยช่องว่างดังกล่าวจะบรรจุสารดูดความชื้นแล้วใส่ฉนวน เช่น อากาศแห้ง หรือ ก๊าซเฉื่อย เพื่อคุณสมบัติในการป้องกัน หรือ ลดความร้อนจากภายนอกที่จะเข้าสู่ภายในอาคาร และมีผลโดยตรงต่อการใช้พลังงานในอาคาร จึงทำให้ประหยัดการใช้พลังงานภายในอาคารได้มากขึ้น

วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​กระจกฉนวนความร้อน

- แผ่นกระจกประเภทต่างๆ เช่น

  • กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (เหมาะกับผนังกระจกที่ไม่สูงมากนัก และเป็นบริเวณที่มีผู้คนพลุกพล่าน เพราะเวลาแตกจะเป็นเม็ดข้าวโพดไม่เป็นอันตรายต่อผู้คน)
  • กระจกโฟลต (เหมาะกับผนังกระจกทั่วไป)
  • กระจก Low E (เหมาะกับระบบผนังอาคารที่เน้นการประหยัดพลังงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ)
  • กระจกลามิเนต (เหมาะกับระบบผนังกระจกอาคารสูง เพราะเวลาแตกเนื้อกระจกยังคงยึดติดกับฟิล์มไม่ร่วงหล่นลงมาด้านล่าง)

- โลหะ หรือ อโลหะคั่นกลาง เช่น เฟรมอลูมิเนียม หรือ ซิลิคอน

- มวลธาตุ เช่น ก๊าซเฉื่อย หรือ อากาศแห้ง

- สารผสมชนิดต่างๆ เช่น สารดูดความชื้น ,สารสะท้อนแสง หรือ สารกรองแสง

ประเภทของกระจกฉนวนความร้อน

สามารถจำแนกประเภท ได้ดังนี้

- กระจกฉนวนความร้อนชนิดปลายหลอมเข้าหากัน

คือ การนำแผ่นกระจก 2 ชั้น หรือมากกว่าวางซ้อนกัน โดยมีช่องว่างระหว่างกระจกทั้ง 2 แผ่น ที่เป็นอากาศคั่นกลางเพื่อช่วยกั้นเป็นฉนวนกันความร้อน และลดการควบแน่นเป็นหยดน้ำ กระจก 2 ชั้นแบบชนิดปลายหลอมเข้าหากัน จะผลิตจากแผ่นกระจกที่ปลายกระจกทั้ง 2 แผ่นจะถูกหลอมเข้าหากัน โดยช่องว่างภายในจะบรรจุก๊าซเฉื่อย หรือ อากาศแห้ง เหมาะกับการนำไปใช้ทำช่องแสงขนาดไม่ใหญ่มาก ในอาคารพักอาศัยขนาดเล็ก หรือร้านค้า และสำนักงานขนาดกลาง

- กระจกฉนวนความร้อนชนิดปลายแยก (นิยมใช้งานอย่างแพร่หลาย)

คือ กระจกที่มีการจัดระยะด้วยการใช้โลหะ หรือ อโลหะคั่นกลาง เช่น เฟรมอลูมิเนียม หรือ ซิลิคอน และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพโดยการเพิ่มสารดูดความชื้นเพื่อป้องกันในกรณีที่มีความชื้นหลงเหลืออยู่ภายใน โดยจะดูดความชื้นจากอากาศให้แห้งเพื่อไม่ให้เกิดหยดน้ำ

อีกทั้งยังสามารถเพิ่มประสิทธภาพในการเป็นฉนวนกันความร้อน โดยการนำกระจกไปผสมสีอ่อนๆ (Tinted Float Glass) ,เคลือบสารที่มีคุณสมบัติการแผ่รังสีต่ำ (Heat Mirror Glass) หรือ เคลือบสารสะท้อนแสง (Heat Stop Glass) บนกระจก โดยจะเคลือบเพียงด้านเดียว หรือ สองด้านก็ได้ ซึ่งจะช่วยลดรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่เดินทางผ่านช่องว่างภายในกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้หากใช้กระจก Low E ในการทำกระจกฉนวนความร้อน ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความร้อน และเสียงรบกวนได้ดียิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากกระจก Low E เป็นกระจกที่มีการเคลือบผิวบนกระจก โดยจะยอมให้แสงผ่านเข้ามาได้ ขณะที่คลื่นรังสีในช่วงที่เป็นความร้อนผ่านเข้ามาน้อย จึงทำให้กระจก Low-E เป็นกระจกประหยัดพลังงาน โดยสามารถลดการใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารได้เป็นอย่างดี

กระจกฉนวนความร้อนชนิดปลายแยก จึงเหมาะกับการนำไปใช้ทำช่องแสงขนาดใหญ่ ในอาคารขนาดใหญ่ หรือ อาคารระฟ้าที่มีความสูงค่อนข้างมาก 

ลักษณะหน้าตัดของกระจกฉนวนกันความร้อม

คุณสมบัติเด่นของกระจกฉนวนความร้อน ( Insulated Glass Unit หรือ IGU )

- ป้องกันการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกเข้ามาในอาคาร และสามารถป้องกันความร้อนได้สูงสุด 70%-80%

- ช่วยลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ และช่วยรักษาอุณหภูมิภายในอาคารให้คงที่สม่ำเสมอ

- ยอมให้แสงผ่านเข้ามาภายในอาคารมากแต่ความร้อนที่จะผ่านกระจกเข้ามาน้อยมาก

- ไม่ทำให้เกิดฝ้า หรือ หยดน้ำ แม้ว่าอุณหภูมิภายในกับภายนอกจะแตกต่างกันมาก

- ช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอกอาคารได้ดีกว่ากระจกธรรมดา

- สามารถรับแรงดันลมได้

- ให้ความปลอดภัยในอาคาร ในกรณีที่ใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์ หรือ กระจกนิรภัยหลายชั้นมาผลิตเป็นกระจกฉนวนความร้อน

การเปรียบเทียบผลลัพธ์ในการป้องกันความร้อน ระหว่างกระจกฉนวนความร้อน กับกระจกทั่วไป

การนำไปใช้งาน

สามารถนำไปใช้งานได้กับอาคารขนาดเล็ก ไปจนถึงอาคารขนาดใหญ่ หรือ อาคารสูงระฟ้า ที่ต้องการควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นด้านเสียง ,อุณหภูมิ และการประหยัดพลังงาน 

กระจกฉนวนกันความร้อนในรูปแบบต่างๆ

ข้อควรระวังในการใช้งาน

ไม่ควรใช้งานในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียสเนื่องจากอาจทำให้อายุการใช้งานสั้นลง และไม่ควรให้ลมจากเครื่องปรับอากาศกระทบกระจกโดยตรง

ดูข้อมูลกระจกประเภทอื่นๆจาก Wazzadu Encyclopedia เพิ่มเติมได้ที่

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ