รวมข้อมูลวัสดุประเภทต่างๆ สำหรับใช้ทำประตูบานเลื่อน (Sliding Door)
วัสดุที่นิยมนำมาใช้ทำ ประตูบานเลื่อน นั้นสามารถแบ่งประเภทออกได้ดังนี้
เนื้อหาอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้องกัน
ไม้จริง (Natural Wood)
ไม้จริง มักจะถูกนำไปแปรรูปสำหรับใช้ทำบานประตูเป็นส่วนใหญ่ โดยนำมาผ่านกระบวนการอาบน้ำยา และอบแห้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน ปลวก แมลง และลดความชื้นในเนื้อไม้ ไม้จริงที่นิยมนำไปใช้ทำบานประตูในปัจจุบัน มี 6 ประเภท ดังนี้
- ไม้สัก เป็นไม้เนื้ออ่อน มีลวดลายเป็นเส้นสวยงามที่เกิดขึ้นจากจำนวนปี และอายุของไม้ มีคุณสมบัติพิเศษ คือ มีน้ำมันตามธรรมชาติที่ปลวกไม่ชอบ
- ไม้เต็ง มีสีน้ำตาลเข็ม เนื้อไม้จะแข็ง ส่วนใหญ่นิยมทำเป็นพื้นบ้าน แต่ก็นิยมมาทำเป็นประตูบ้านที่ใช้ภายนอก ทนแดด ทนฝนได้ดี
- ไม้แดง มีสีน้ำตาลเข้ม จนไม่ค่อยเห็นลายไม้มากนัก มีความแข็งแรงเนื้อแน่น นิยมนำมาทำเป็นวงกบ แต่ปัจจุบันนิยมเอามาทำเป็นประตูบ้านที่อยู่ภายนอก ทนแดด ทนฝนได้ดี
- ไม้มะค่า เป็นไม้ที่มีสีส้มอมเหลือง มีลายไม้ที่สวยงาม มีความแข็งแรงมาก แต่ปัจุบันไม้มะค่าจะหายากมากขึ้น จึงทำให้ราคาแพงมากขึ้นไปด้วย
- ไม้ตะเคียน เป็นไม้เนื้อแข็งอีกชนิดหนึ่งที่มีลวดลายคล้ายไม้สัก แต่จะแข็งแรงทนทานกว่าไม้สัก มีสีเหลืองทอง สมัยก่อนนิยมนำไปต่อเรือ ปัจจุบันจึงนิยมนำมาทำเป็นบานประตูกันมากขึ้น
- ไม้จำปา เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อนๆ เนื้อละเอียด มีความแข็งแรงทนทาน
- ไม้ประดู่ เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลเข้มอมแดง ให้ลวดลายที่สวยงาม มีความคงทนแข็งแรง
สำหรับข้อจำกัดของไม้จริงนั้น มักจะเกิดการพองตัว บิด งอ โก่ง เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยน อีกทั้งเหมาะที่จะใช้ติดตั้งภายในเท่านั้น เพราะหากนำไปติดตั้งภายนอกอาจทำ ให้อายุการใช้งานสั้นเพียง 3-5 ปี เท่านั้น
เนื้อหาอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้องกัน
ไม้อัด หรือ ไม้ MDF (Medium Density Fiber Board)
ไม้อัด เป็นไม้ทั่วไปจากธรรมชาติ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตด้วยการอัดรวมของไม้หลายๆชนิด จัดเป็นวัตถุดิบหาได้ง่าย มีน้ำหนักเบา ให้สีสันและลวดลายของไม้ที่สวยงาม และมีให้เลือกหลายรูปแบบ ในส่วนของการนำไปใช้งานสำหรับทำประตูนั้น ปกติแล้วบานประตูจะมีโครงสร้างด้านในเป็นโครงไม้ แล้วมักจะปิดทับโครงด้วยไม้อัด จากนั้นผิวหน้าสุดจะปิดผิวทับด้วยไม้วีเนียร์ แผ่นลามิเนต หรือ วัสดุปิดผิวอื่นๆอีกครั้งหนึ่ง
แต่ก็ยังมีจุดด้อยคือ อายุการใช้งานสั้น ความแข็งแรงทนทานยังมีข้อจำกัด ไม่ทนต่อแสงแดด หรือ สภาพความอับชื้น และไม่เหมาะสำหรับการใช้งานภายนอกอาคาร
ไม้ HDF (High Density Fiber) หรือ ฮาร์ดบอร์ด
ไม้อัดเป็นแผ่นใยไม้อัดคุณภาพสูง มีลักษณะคล้ายไม้ MDF แต่มีความแข็งแรงกว่า เพราะใช้แรงอัดที่สูงกว่า และไม่จำเป็นต้องมีวัสดุช่วยประสาน แต่ใช้การใส่เรซินเติมเข้าไปแทน ทนความชื้นได้ดี และในส่วนของการนำไปใช้งานสำหรับทำประตูนั้น จะคล้ายๆกับไม้ MDF โดยจะใช้ปิดทับโครงไม้บานประตู ด้วยไม้ HDF โดยผิวหน้าสุดจะปิดผิวทับด้วยไม้วีเนียร์ แผ่นลามิเนต หรือ วัสดุปิดผิวอื่นๆอีกครั้งหนึ่ง
ในขณะเดียวกันไม้ HDF ก็ยังมีข้อจำกัดในด้านการใช้งานอยู่บ้าง เพราะเหมาะสำหรับพื้นที่ภายใน ซึ่งไม่สามารถโดนแดดฝนได้โดยตรงได้
ไม้เอ็นจิเนียร์ (Engineer Wood)
ไม้เอ็นจิเนียร์ เป็นการผสมกันระหว่างไม้จริงกับไม้สำเร็จรูป มักจะถูกนำมาทำเป็นเฟรมกรอบบานประตู หรือ ทำเป็นตัวบานประตู โดยผิวหน้าสุดจะปิดผิวทับด้วยไม้วีเนียร์ แผ่นลามิเนต หรือ วัสดุปิดผิวอื่นๆอีกครั้งหนึ่ง อนึ่งไม้เอ็นจิเนียร์ก็ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่อง ไม่ค่อยทนความชื้น ไม่ค่อยทนความร้อน และอาจจะโดนปลวกกิน
ไม้เทียมไฟเบอร์ซีเมนต์ (Wood Fiber Cement)
ไม้เทียมไฟเบอร์ซีเมนต์ จะมีส่วนผสมของปูนซีเมนต์ ผงไม้ และเส้นใยต่างๆ ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง นิยมนำมาใช้ทำบานประตู มีความทนทานต่อสภาพอากาศ สามารถใช้งานได้ทั้งภายใน และภายนอกอาคาร เนื่องจากกกันน้ำได้ดี โดยไม่หด บิด งอ และไม่ผุ แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก และอาจตัดแต่ง หรือ เจาะได้ยาก
ไม้พลาสติก WPC (Wood-Plastic Composite)
ไม้ WPC เป็นวัสดุที่ผลิตขึ้นจากส่วนผสมของเศษไม้ ผงไม้ และผงพลาสติก เช่น PVC แล้วผสมเข้ากับน้ำยาประสานแบบต่างๆ มักนิยมนำมาผลิตเป็นบานประตู โดยผ่านกระบวนการรีดขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียว ทำให้ได้บานประตูที่แข็งแรง ทนทาน กันน้ำได้ ทนต่อความชื้น ปลวกไม่กิน ทนทานต่อสภาวะแวดล้อมได้นาน สามารถผลิตให้มีรูปร่างต่างๆ ได้โดยไม่ทำให้เกิดเศษเหลือใช้ แต่มีข้อจำกัดก็คือถ้าหากนำใช้งานภายนอกอาคารสีจะซีดเร็ว
เนื้อหาอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้องกัน
พลาสวูด (Plastwood)
พลาสวูด หรือ PVC โฟมแข็ง เป็นแผ่นที่เกิดจากการนำผง PVC มาผสมกันโดยผ่านกระบวนการรีดออกมาเป็นแผ่น มักนิยมนำผาผลิตเป็นบานประตู เนื่องจากสามารถนำมาทดแทนไม้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีคุณสมบัติทนรอยขีดข่วน ไม่เปราะหรือแตกหักง่าย ใช้อุปกรณ์การตัดเหมือนการทำงานไม้ทั่วไป มีน้ำหนักเบาพื้นผิวเรียบ และง่ายต่อการทำสี แต่ก็ยังมีข้อจำกัดโดยไม่เหมาะกับการนำไปใช้งานภายนอก เมื่อโดดแดดจัดๆสีจะซีดเร็ว
ยูพีวีซี (uPVC) หรือ ไวนิล (Vinyl)
uPVC คือวัสดุ Unplastizide Poly Vinyl Choride เป็นนวัตกรรมในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง ที่ใช้ทดแทนไม้ และอลูมิเนียม เกิดจากการผสมกันของสารหลักคือ เอฮีลีนไฮโดรเจน และคลอไรด์ โดยไม่ใส่สารเสริมพลาสติก จึงทำให้ขึ้นรูปได้ง่าย และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเนื่องจากปลอดสารพลาสติก จากนั้นจะผสมด้วยไทเทเนี่ยมไดออกไซด์ ซึ่งจะทำให้บานประตูที่ผลิตด้วย uPVC มีคุณสมบัติทนทุกสภาพอากาศ มีการป้องกันแสง UV และทนทานไม่ผุ ไม่บิดงอ
แต่ uPVC ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง โดยเฉพาะเมื่อถูกกระแทกแรงๆจากของแข็ง หรือ ของมีคม ก็อาจทำให้บานประตูUPVC แตกได้ ซึ่งปัญหานี้ซ่อมแซมยาก ส่วนมากจะต้องยกเปลี่ยนทั้งชุดบานประตู
กระจกโฟลต (Float Glass)
กระจกโฟลต คือ กระจกที่มีความโปร่งแสงสูง ผิวเรียบสนิท มีความแข็งแรง การสะท้อนสามารถทำได้ดี ฟองอากาศน้อย มักนิยมนำไปใช้ทำประตูกระจกแบบบานเปลือย และใช้เป็นลูกฟักกระจก โดยกระจกโฟลตในท้องตลาด ที่นิยมนำไปใช้งานจะมีขนาดความหนาตั้งแต่ 2 มม. ไปจนถึง 19 มม.
กระจกโฟลต เป็นกระจกที่ได้มาจากกระบวนการผลิตที่เรียกว่า กระบวนการโฟลต (Float Process) โดยให้วัตถุดิบหลัก ก็คือ น้ำแก้ว หรือ น้ำกระจก ไหล และลอยบนดีบุกหลอม ภายใต้อุณหภูมิ และความดันที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ผิวทั้งสองด้านของกระจกขนาน และเรียบสนิท ให้ภาพการมองผ่านที่ชัดเจนและภาพสะท้อนที่สมบูรณ์
ในกรณีที่ต้องการทำกระจกสีตัดแสง จะมีการผสมโลหะออกไซด์เข้าไปในส่วนผสม (Batch Mix) ในขั้นตอนการผลิตกระจก เพื่อให้เกิดสีสัน และคุณสมบัติในการดูดกลืนความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ส่องมากระทบผิวกระจก และช่วยลดปริมาณแสงที่ผ่านกระจก จึงทำให้ได้แสงที่นุ่มนวล และเกิดความสบายตาในการมอง ซึ่งปริมาณแสงที่จะทะลุผ่านกระจกสีนั้นจะขึ้นอยู่กับความเข้มของสี ความหนา และสีของกระจก
กระจกโฟลต สามารถจำแนกประเภท ได้ดังนี้
- กระจกโฟลตใส (Clear Float Glass) เป็นกระจกที่มีรอยต่อระหว่างกระจกน้อย เนื้อกระจกมีความราบเรียบสม่ำเสมอ ให้ภาพการมองผ่านที่ชัดเจน และให้มิติภาพสะท้อนที่สมบูรณ์
- กระจกสีตัดแสง (Tinted Float Glass) เป็นกระจกที่ให้ความสวยงาม มีสีสันที่หลากหลาย และช่วยดูดกลืนความร้อน รวมถึงช่วยลดความจ้าของแสงที่ส่องผ่านกระจกสี จึงทำให้เกิดความสบายตาในการมอง (ปริมาณของแสงที่ทะลุผ่านกระจกสี ขึ้นอยู่กับความหนาของสี และความเข้มข้นของสีในเนื้อกระจก)
กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass หรือ T/P)
กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass หรือ T/P ) หรือที่เรียกว่ากระจกอบ คือการนำกระจกธรรมดาไปผ่านกระบวนการอบที่ความร้อนสูงประมาณ 650 องศาเซลเซียส แล้วนำมาเป่าด้วยลมแรงดันสูงให้เย็นตัวลงทันที เพื่อให้กระจกเกิดความแข็งแกร่งกว่าเดิม 3-5 เท่า ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และมีความปลอดภัยมากขึ้น จึงมักนิยมนำมาใช้ทำประตูกระจกบานเปลือยกันอย่างแพร่หลาย
ซึ่งในกรณีที่กระจกเทมเปอร์เกิดการแตกหัก จะแตกออกเป็นเม็ดคล้ายเม็ดข้าวโพด ซึ่งมีความแหลมคมไม่มาก ทำให้มีโอกาสเกิดอันตรายน้อยกว่ากระจกธรรมดา เหมาะสำหรับงานที่มีความเสี่ยงต่อการแตกร้าว และต้องการความปลอดภัยที่เกิดจากกระจกแตกร้าว (safety)
กระจกนิรภัยเทมเปอร์จะมีค่าความแข็งแรงต่อแรงดึง และแรงที่ทำให้หักงอ (Bending Strength) เมื่อเปรียบเทียบกับกระจกธรรมดา ที่ความหนาเท่ากัน 5 มม. กระจกธรรมดาจะมีค่าความแข็งแรงต่อแรงดึง และแรงที่ทำให้กระจกหักงออยู่ที่ 500- 600 กก./ซม.2 ส่วนกระจกนิรภัยเทมเปอร์จะมีค่าสูงถึง 1,500 กก./ซม.2 โดยขนาดความหนาของกระจกนิรภัยเทมเปอร์ ที่นิยมผลิตในท้องตลาด คือ 4, 5, 6, 8, 10, 12, 15, 19 มิลลิเมตร
กระจกที่สามารถนำมาผลิตเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์คือกระจกแผ่นเรียบเกือบทุกชนิดไม่ว่ากระจกนั้นจะผลิตด้วยกระบวนการเพลท(Plate Process) ชีท (Sheet Process) หรือโฟลท(Float Process) แต่กระจกนั้นต้องมีส่วนประกอบของวัตถุดิบที่เหมาะสม เช่น ไม่มีส่วนประกอบของแร่เงินมากเกินไป เป็นต้น กระจกที่ผลิตจากกระบวนการดังกล่าวมี ดังนี้
- กระจกใส (Clear Glass)
- กระจกใสพิเศษ(Super Clear Glass)
- กระจกทิ้น(Tinted Glass) เช่น กระจกสีชาอ่อน (Grey Tinted Glass) ,กระจกสีชาเข้ม (Dark Grey Tinted Glass) ,กระจกสีเขียว (Green Tinted Glass) ,กระจกสีบรอนซ์ (Bronze Tinted Glass) และกระจกสีฟ้า (Blue Tinted Glass) เป็นต้น
- กระจกลวดลาย (Pattern Glass) หากมีด้านหนึ่งของกระจกเรียบพอที่จะไม่ทำอันตรายต่อลูกกลิ้งเซรามิคในเตาอบกระจกนิรภัยเทมเปอร์ ก็สามารถผลิตเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์ได้เช่นกัน (เนื่องด้วยกระจกทั่วไปเกือบทั้งหมด ยกเว้นกระจกลวดลาย ผลิตด้วยกระบวนการโฟลท ดังน้นกระจกธรรมดาที่กล่าวถึงต่อไปนี้จะเป็นกระจกที่ผลิตด้วยกระบวนการโฟลทเป็นหลัก)
เนื้อหาอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้องกัน
กระจกลามิเนต (Laminated Glass)
กระจกลามิเนต จัดเป็นกระจกนิรภัยชนิดหนึ่ง ที่เวลาแตกแล้วเศษกระจกจะยังคงยึดติดกันโดยไม่ร่วงหล่น เพราะมีชั้นฟิล์มที่ยึดเกาะระหว่างแผ่นกระจกเหมือนกับใยแมงมุม โดยเป็นการนำเอากระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Safe Glass) หรือกระจกธรรมดา (Annealed Glass / Floated Glass) จำนวน 2 แผ่น หรือ มากกว่า แล้วนำมาประกบติดกันโดยมีชั้นฟิล์มคั่นกลางระหว่างกระจก เราจึงเรียกกระจกที่ผ่านกระบวนการผลิตในลักษณะนี้ว่า กระจกลามิเนต (Laminated Glass) โดยนิยมนำมาทำลูกฟักกระจก สำหรับงานประตูค่อนข้างแพร่หลาย
การผลิตกระจกลามิเนตนั้น จะเริ่มจากการนำกระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Safe Glass) หรือกระจกธรรมดา (Annealed Glass / Floated Glass) ตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไป มาทำการ "ลามิเนต" ทำเป็นชั้นๆ โดยประกบคั่นกลางระหว่างแผ่นกระจกด้วยฟิล์ม PVB (Poly Vinyl Butyral) หรือ EVA (Ethylene Vinyl Acetate) เพื่อจุดประสงค์ในการใช้งานที่ต้องการความแข็งแกร่งมากขึ้น และตอบสนองการใช้งานในด้านความปลอดภัยที่สูงกว่ากระจกประเภทอื่น
จากนั้นนำมาผ่านกระบวนการรีดด้วย Roller ซึ่งทำให้ PVB Film ยึดติดเข้ากับกระจก หลังจากนั้นกระจกที่ประกบแล้วจะถูกนำไปอบในเตา Auto Clave ที่ควบคุมอุณหภูมิ และความดันที่เหมาะสมเพื่อไล่อากาศออกจนหมด ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการผลิต โดยขนาด และความหนารวมในท้องตลาดที่สามารถผลิตได้ มีตั้งแต่ 6.38 ถึง 80 มม.
อลูมิเนียม (Aluminum)
อะลูมิเนียมจัดเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติไม่ก่อให้เกิดสนิม ทนฝน (อะลูมิเนียมเกรดสูงๆจะป้องกันน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ) ทนแดด หรือ ความร้อนได้ดี มีมวลโครงสร้างที่เบาแต่แข็งแรง ทนทาน จึงคงรูปไม่เกิดการบิดงอ สามารถใช้ทดแทนไม้ เหล็ก และ พลาสติคได้ นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้งานในการตกแต่งได้อย่างหลากหลาย มีความสวยงามทันสมัย อีกทั้งยังใช้ร่วมกับฟิตติ้ง หรือ อุปกรณ์ประกอบอื่นๆได้ง่าย จึงได้รับความนิยมในการนำมาทำเฟรมกรอบประตูอลูมิเนียม และรางประตูบานเลื่อนกันค่อนข้างมาก
เฟรมอะลูมิเนียม ที่ได้จากการนำแร่บอกไซด์มาถลุงจนได้อลูมิน่าบริสุทธิ์ และนำอลูมิน่าเข้าหลอมจนได้เป็นแท่งอะลูมิเนียมบริสุทธิ์ แล้วนำไปแปรรูปด้วยแม่พิมพ์ที่มีขนาด และรูปทรงหน้าตัดที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้เส้นอะลูลิเนียมโปรไฟล์สำหรับใช้ในงานระบบประตู-หน้าต่าง ที่เหมาะสมกับประเภทการใช้งานแต่ละแบบ
สำหรับข้อจำกัดของอลูมิเนียมนั้น ถือว่าเป็นวัสดุที่ไม่ค่อยทนต่อแรงกระแทกแรงๆ หรือ แรงกดทับหนักๆจนเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดรอยขูดขีด ถลอก หรือรอยบุบได้ง่าย และไม่ได้เป็นฉนวนกันความร้อน/เย็นที่ดีเท่าใหร่นัก นอกจากนี้การเชื่อมต่อด้วยระบบจัดยึด น๊อต สกรู ถ้าหากประกอบติดตั้งไม่ดีอาจทำให้น้ำ อากาศ และเสียงรบกวน สามารถเล็ดลอดผ่านเข้ามาได้
สินค้าเทียบเคียงในหมวด"ประตูบานเลื่อน"
เนื้อหาอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้องกัน
เหล็ก (Steel)
เหล็กเป็นโลหะสีเงินสีขาว หรือ สีเทา มีลักษณะเป็นเงา มีความต้านทานแรงดึงสูงมาก สามารถใช้ประโยชน์ต่างๆได้มากมาย แต่คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของเหล็กนั้นคือสามารถหล่อแล้วขึ้นรูปใหม่ได้ และยังมีความทนทานที่ยอดเยี่ยม นอกจากนี้เหล็กยังสามารถดัดโค้ง งอ ม้วน หรือ ทำเป็นรูปร่างอื่นๆ เพื่อนำมาแปรรูปได้ง่าย ดังนั้นเหล็กจึงได้รับความนิยมในการนำมาทำเฟรมกรอบประตู และรางแขวนประตูบานเลื่อนกันอย่างแพร่หลาย แต่เหล็กก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของสนิม จึงไม่ค่อยเหมาะที่จะนำไปใช้งานภายนอกอาคารสักเท่าใดนัก
วัสดุอื่นๆ
นอกจากนี้ในส่วนของลูกฟักประตูบานเลื่อน ยังมีการนำวัสดุอื่นๆมาประยุกต์ใช้ในแบบเฉพาะ เช่น ลูกฟักที่ทำมาจาก แผ่นอะคริลิค ,แผ่นโพลีคาร์บอเนต ,ตะแกรงเหล็ก ,ผ้าหนัง ,แผ่นจักสาน ,แผ่นเมทัลชีท ,แผ่นพลาสวูดฉลุ ฯลฯ
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม