เปรียบเทียบคุณสมบัติ และข้อดี-ข้อเสีย ประตูไม้สัก และประตูไม้จริง 9 ชนิด
Type: Decorative Material (วัสดุตกแต่ง)
Summary Product Data: ข้อมูลที่น่าสนใจของประตูไม้สัก และประตูไม้จริงที่นิยมใช้งาน
ลวดลายของเนื้อไม้เกิดจากอะไร
ลวดลายของเนื้อไม้นั้นวงรอบปีของเนื้อไม้เกิดขึ้นจากการการเจริญเติบโตของไม้ในแต่ละปี โดยหากเราตัดไม้กลางลำต้นจะเห็นวงจากจุดตรงกลางโตขึ้นเรื่อยๆ โดย 1 วง แสดงถึง 1 ปี ของอายุไม้นั่นเอง และใน 1 วงปีนั้นจะแถบสีที่ต่างกัน 2 สี โดยสีอ่อนแสดงถึงการเติบโตในช่วงต้นฤดูหรือฤดูฝน (Early wood หรือ Spring wood) ซึ่งไม้ช่วงนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้เนื้อไม้มีรูพรุนมากเนื่องจากอมน้ำมากทำให้มีสีอ่อน สำหรับแถบสีเข้มนั้นเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูหนาว (Late wood & Summer wood) เนื้อไม้อัดแน่นกันมากเราจึงเห็นเป็นสี และเนื่องจากสภาพอากาศในแต่ละปีนั้นไม่เหมือนกันทำให้แต่ละวงนั้นมีขนาดความกว้างที่ไม่เท่ากัน
Category: ประตูไม้สัก และประตูไม้จริงที่นิยมใช้งาน (Teak Wood Door & Wooden Doors)
*ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์นั้น ไม้ในโลกนี้ถูกแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ตามโครงสร้างของเนื้อไม้ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของไม้แต่อย่างใด ดังนั้นไม้เนื้อออ่อนบางประเภทเช่น ไม้ดักลาสเฟอร์ (douglas fir) จะมีความแข็งมากกว่าไม้เนื้อแข็งเช่น ไม้เบสวู้ด (base wood) มากถึง 2 เท่า
**เพื่อให้ตรงกับความเข้าใจพื้นฐานและการนำการใช้งานจริง จึงได้มีการแบ่งไม้ออกเป็น 3 ประเภท โดยถือเอาค่าความแข็งแรงในการดัดของไม้แห้ง และความทนทานตามธรรมชาติของไม้ชนิดนั้น ๆ เป็นเกณฑ์ได้แก่
- ไม้เนื้ออ่อน มีความแข็งแรงต่ำกว่า 600 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เป็นไม้ที่มีวงปีกว้างมากเนื่องจากเป็นไม้โดเร็ว ลำต้นใหญ่ เนื้อค่อนข้างเหนียว ใช้งานง่าย เนื้อไม้มีสีจางหรือค่อนข้างซีด เนื่องจากเนื้อไม้ค่อนข้างอ่อนจึงไม่นิยมนำมาใช้ทำประตูเพราะจะเกิดการบิด งอ ได้ง่าย เช่นไม้ยาง ไม้ฉำฉา ซึ่งมักใช้กับงานตกแต่งมากกว่า แต่ปัจจุบันได้มีการนำเข้าไม้เนื้ออ่อนจากต่างประเทศโดยใช้ทำเป็นประตูและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เนื่องจากไม้เนื้ออ่อนที่เติบโตในประเทศเขตหนาวนั้นจะมีการเจริญเติบโตช้า เนื้อไม้จึงแน่นและแข็งแรงพอที่จะใช้งานได้ ไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศและนิยมใช้ทำเป็นประตูได้แก่ ไม้สน ไม้จำปา
- ไม้เนื้อแข็ง มีความแข็งแรง 600 ถึง 1000 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เป็นไม้ที่มีมีการเจริญเติบโตช้ากว่าไม้เนื้ออ่อนจึงทำให้มีวงปีมากกว่า คือต้องมีอายุหลายสิบปีจึงจะนำมาใช้งานได้ ลักษณะทั่วไปของไม้จะมีเนื้อมัน ลายละเอียด เนื้อแน่น สีเข้ม (แดงถึงดำ) มีน้ำหนักมาก แข็งแรงทนทาน ไม้ที่นิยมนำมาทำประตูคือ ไม้สัก ไม้ตะแบก ไม้ประดู่
- ไม้เนื้อแกร่ง มีความแข็งแรงสูงกว่า 1000 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร เป็นไม้ที่มีการเจริญเติบโตช้ามาก จึงทำให้วงประจำปีถี่กว่าและมีลายไม้ละเอียดสวยงามมากกว่าไม้สองชนิดแรก และควรมีอายุประมาณ 60-70 ปีขึ้นไปจึงสามารถนำมาใช้งานได้ เนื้อไม้มีสีเข้มอมแดง น้ำหนักไม่มากแต่แข็งกว่าไม้เนื้อแข็ง ไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักใช้ในการก่อสร้างหรือเป็นโครงสร้าง เช่น คาน ตง เสา ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยนิยมใช้ไม้เนื้อแข็งมาทำประตูเนื่องจากมีความแข็งทำให้ตัดไส ได้ยาก และมีน้ำหนักมาก แต่ก็มีผู้ผลิตบางรายที่จำหน่ายประตูไม้ชนิดนี้โดยมักใช้ในกรณีที่เป็นบานใหญ่พิเศษเพราะจะบิด งอได้ยาก หรือใช้ภายนอกจึงต้องการไม้ที่มีความทนทานสูงเป็นพิเศษ โดยไม้เนื้อแข็งที่มักใช้ทำประตูได้แก่ ไม้แดง ไม้ตะเคียน ไม้มะค่า ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้พยูง
* เอกสารอ้างอิง
James A. Jacobs and Thomas F. Kilduff, Wood and Related Products, in Engineering Materials Technology, 3rdedition, Prentice-Hall Internation, Inc., 1997, pp. 409-425. โดย สุรศักดิ์ ไวทยวงศ์สกุล http://www.material.chula.ac.th
** ที่มา web.ku.ac.th
Application: ประเภทของบานประตูไม้ สำหรับการนำไปใช้งาน
ประตูไม้จริง สามารถใช้เป็นประตูภายนอกได้เนื่องจากสามารถโดนน้ำ โดนแดดได้บ้าง แต่ไม่ควรใช้ในส่วนที่มีความชื้นตลอดเวลา เช่น ห้องน้ำ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้ ที่สำคัญควรเลือกเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับประตูไม้ที่มีการอบหรืออาบน้ำยากำจัดปลวกมาก่อน ทั้งบานประตูและวงกบไม้ ซึ่งโดยส่วนมาจะเกิดปัญหาปลวกกัดกินบริเวณวงกบนี่แหละครับ
สาเหตุที่ไม้พองหรือหดตัว
โดยปกติแล้วไม้จะมีการปรับความชื้นในตัวให้สมดุลกับสภาพความชื้นในบรรยากาศ ปริมาณความชื้นที่วัดได้นี้เรียกว่า ความชื้นสมดุล (Equilibrium Moisture Content – EMC) เพราะฉะนั้นก่อนนำไม้มาใช้งานจึงต้องมีการปรับความชื้นสมดุลของไม้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการพองหรือหดตัว ค่าความชื้นสมดุลของประเทศไทยอยู่ที่ + 10- 15 %
หากความชื้นของไม้มากกว่าความชื้นในบรรยากาศ ไม้จะคายความชื้นในเนื้อไม้ออกมาและส่งผลให้ไม้หดตัว ในทางกลับกัน หากไม้มีความชื้นน้อยกว่าความชื้นในบรยากาศ ไม้จะทำการดูดความชื้นโดยรอบเข้าไปในเนื้อไม้ ส่งผลให้ไม้เกิดอาการบวม ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยๆ ในช่วงหน้าฝน
Size: ขนาด
ขนาดมาตรฐานของบานประตูไม้ ที่นิยมนำมาใช้งาน
700 x 2000 mm., 700 x 1800 mm. (สำหรับใช้เป็นบานประตูห้องน้ำ หรือ ห้องซักล้าง)
800 x 2000 mm., 900 x 2000 mm. (สำหรับใช้เป็นบานประตูห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องทั่วไป)
900 x 2000mm., 1000 x 2000 mm. (สำหรับใช้เป็นประตูบานเดี่ยวหน้าบ้าน หรือ บานทั่วไป)
ที่กล่าวมานี้เป็นขนาดมาตรฐานที่มีจำหน่ายโดยทั่วไป หากต้องการสั่งทำพิเศษนั้นก็สามารถทำได้ซึ่งราคาก็จะเพิ่มสูงขึ้น โดยทางเรา WAAZADU.COM ห้องวัสดุผู้ช่วยสเปคงานสำหรับสถาปนิก,อินทีเรีย และผู้รับเหมา จะรวบรวม และสรุปวิธีและกระบวนการผลิตประตูบานสูงพิเศษมาให้อ่านกันในโอกาสต่อไปครับ
ในส่วนของไม้ที่นิยมนำมาใช้ทำประตูบ้าน นอกจากประตูไม้สักแล้วจะมีไม้ชนิดใดอีกบ้างนั้น ไปชมกันเลยครับ
1. ประตูไม้สัก (Teak Wood Door)
ประตูไม้สักเป็น เป็นประตูไม้ที่มีความนิยมใช้เป็นประตูบ้านอันดับต้นๆ เนื่องจากความเชื่อของคนไทยนั้นเชื่อว่า ไม้สักเป็นไม้ที่มีความเป็นสิริมงคล คนไทยในสมัยก่อนนั้นนิยมใช้ไม้สักมาสร้างเป็นบ้านทั้งหลัง ใช้ทำเป็นประตู-หน้าต่าง ทั้งยังใช้ทำเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย คุรสมบัติของไม้สักนั้นเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการทำเป็นประตูมากที่สุด เนื่องจากไม้มีความคงทนแข็งแรงพอสมควรเนื่องจากมีความชื้นในเนื้อไม้ค่อนข้างน้อยทำให้มีการ บิด โก่ง งอ ไม่มาก ในขณะเดียวกันก็มีความอ่อนเพียงพอที่จะแกะสลัก ตัด ไส บาก ได้ง่าย ที่สำคัญคือเมื่อไม้สักมีอายุมากขึ้นจะผลิตน้ำมันธรรมชาติซึ่งมีกลิ่นเฉพาะตัวที่ปลวกไม่ชอบ ทำให้หมดปัญหาเรื่องปลวกและแมลงต่างๆไม้สักนั้นยังแบ่งได้อีกหลายประเภท เช่น สักขี้ควาย สักหิน สักไข สักหยวก และสักทองซึ่งเป็นสักที่นิยมนำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมมากที่สุด
ไม้สักทองเป็นไม้ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันแพร่หลายทั่วโลก อันเนื่องมาจากเนี้อไม้มีคุณภาพสูง เป็นไม้ที่มีสีสันและลวดลายธรรมชาติที่งดงาม ไม้สักชนิดหนึ่งสี่ของเนี้อไม้จะเป็นสีน้ำตาลเหลืองทอง และมีลวดลายสีดำ เนื้อไม้ของไม้สักค่อนข้างที่จะละเอียด เนื้อไม้มีเสี้ยนตรง น้ำหนักเบา ทำให้ง่ายต่อการเลื่อย ไส และตบแต่ง แต่ก็มีความแข็งแรงพอสมควร ในบรรดาไม้สักทั้ง 5 ชนิด ไม้สักทองได้รับฉายาว่าเป็น "ราชินีแห่งไม้" หรือ "Queen of Timbers" เป็นไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุดของโลกที่ธรรมชาติมอบให้แก่คนไทยและประเทศไทย
Advantage: ข้อดี
- ประตูไม้สักมีลวดลายที่สวยงาม
- ไม้สักมีผิวสัมผัสที่ละเอียดสวยงาม
- ปรตูไม้สักมีความแข็งแรงทนทานกว่าไม้ชนิดอื่น ในขณะเดียวกันเนื้อไม้ก็ยังมีความนิ่มสามารถแปรรูปได้ง่าย
- ประตูไม้สักไม่มีปัญหาเรื่องปลวก เพราะไม้สักที่มีอายุมากจะผลิตน้ำมันสักที่ปลวก และแมลงต่างๆ ไม่ชอบออกมา (นอกจากไม้สักที่ทำมาจากไม้สักป่าปลูกจึงจะไม่สามารถผลิตน้ำมันสักได้)
- ประตูไม้สัก ยิ่งเก่ายิ่งมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น
Disadvantage: ข้อเสีย
- พื้นผิวไม้สักจะเป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย
- ไม้สักจะบิดตัว และงอตัวเล็กน้อยตามสภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนแห้งมากๆ
- ช่างฝีมือที่มีความชำนาญในงานไม้ โดยเฉพาะงานไม้สักในปัจจุบันนั้นหายาก ถ้าหากได้ช่างไม่ดีอาจจะเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว
2. ประตูไม้จำปา (Champak Wood door)
ลักษณะเนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อนจึงสามารถย้อมทำสีได้ง่าย เนื้อไม้ละเอียด เสี้ยนน้อยเนื้อไม้ละเอียด ประตูไม้จำปานั้นจะมีความใกล้เคียงกับประตูไม้สักทั้งสีและความแข็งแรงทนทาน หากผลิตและทิ้งไว้นานๆ โดยยังไม่ได้มีการทำสี สีของไม้จำปานั้นจะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นจนในที่สุดจะมีสีและลายใกล้เคียงกับไม้สักมากขนาดผู้มีความชำนาญทางด้านไม้ยังแทบแยกไม่ออก เหมาะสำหรับใช้เป็นประตูภายในอาคาร เนื่องจากเนื้อไม้ไม่คงทนต่อความชื้น ในสมัยก่อนไม่นิยมนำไม้จำปามาใช้ในส่วนประกอบของบ้าน เนื่องจากไม้จำปาเป็นไม้สำหรับต่อโลงศพ คนส่วนใหญ่ที่มีความเชื่อในเรื่องนี้ ก็จะไม่นิยมใช้ไม้ชนิดนี้สำหรับสร้างบ้าน แต่ปัจจุบันในอุตสาหกรรมไม้แปรรูปก็จะเห็นว่ามีการใช้ไม้จำปามากขึ้น
Advantage: ข้อดี
- เนื้อไม้มีสีอ่อน ทำสีง่าย
- เนื้อไม้ละเอียด มีเสี้ยนน้อย ใช้ในการแกะสลัก หรือทำลวดลายได้ดี
- ประตูไม้จำปามีราคาไม่สูง เมื่อเทียบกันกับประตูไม้สักแล้วพบว่ามีราคาถูกกว่าไม้สักเกือบครึ่ง
Disadvantage: ข้อเสีย
- ประตูไม้จำปาเป็นไม้เนื้ออ่อน เนื้อไม้จึงมีโอกาสบิด โก่ง หรือ ฉีก แตกง่าย
- ต้องพิจารณาเลือกซื้อไม้ที่มีการอบมาอย่างดี จากผู้ผลิตที่มีมาตรฐาน
- การเลือกใช้ประตูไม้จำปา อาจมีผลทางจิตใจในแง่ลบต่อผู้ใช้บางราย
3. ประตูไม้สน (Pine Wood Doors)
ประตูไม้สนส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป มักเป็นไม้สนนำเข้าจากนิวซีแลนด์ และไม้สนจากอเมริกา ไม้สนปกติเป็นไม้เนื้ออ่อน แต่ปัจจุบันนิยมใช้ในงานสถาปัตยกรรมกันมากขึ้นเนื่องจามีเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้าช่วยให้ไม้มีความทนทานมากขึ้น ไม่ให้บิดงอได้ง่ายและคงทนต่อการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีกระบวนการในการอัดน้ำยาป้องกันปลวกที่มีมาตรฐาน ทำให้ได้ประตูไม้สนที่มีคุณภาพสูงซึ่งเป็นไม้ไร้ตำหนิ โดยปกติแล้วไม้สนจะมีตาไม้เยอะหลายๆ ท่านอาจมองดูเหมือนเป็นตำหนิ แต่ด้วยเทรนด์และไสตล์การตกแต่งที่เปลี่ยนไปทำให้ถูกมองเป็นความสวยงามตามธรรมชาติไป
แม้ว่าไม้สนจะผ่านกระบวนการทางเคมี และการอบไม้ที่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศ การนำไม้ไปใช้งานอย่างถูกต้อง และการดูแลรักษาไม้ก็ยังคงมีความจำเป็น เช่น พื้นที่ที่ติดตั้งบานประตูนั้นไม่ควรมีความชื้นตลอดเวลา และเมื่อผ่านการใช้งานในระยะเวลาหนึ่ง หากไม้ชำรุด ทรุดโทรม สามารถขัดบริเวณผิวไม้แล้วทำสีใหม่ ก็จะช่วยให้ไม้สนกลับมาดูดีได้อีกครั้ง
Advantage: ข้อดี
- ประตูเนื้อไม้มีสีครีมอมเหลืองสวยงาม ผสมลายตรงและลายภูเขา สามารถทาสีโชว์เนื้อไม้เดิม หรือทำสีให้เป็นสีอื่นก็สามารถทำได้ง่าย
- ไม้สนปกติมีทั้งลายตรงและลายภูเขา และตาไม้ที่สะดุดตามีเอกลักษณ์
- เนื้อไม้สนมีความหนาแน่น มีคุณสมบัติซึมซับการอัดน้ำยาป้องกันการผุกร่อนและป้องกันปลวกได้ดี
- เนื้อไม้ทนทาน เหนียวแน่นไม่บิดงอ
- ไม้สนเป็นไม้โตเร็ว ปลูกทดแทนได้ง่าย
Disadvantage: ข้อเสีย
- ประตูไม้สนเหมาะสำหรับใช้ภายในเท่านั้น
- ไม้สนมีตาไม้เยอะ แม้ว่าจะทำสีเข้มก็ยังมองมองเห็น
- แม้ว่าไม้สนเป็นไม้เนื้ออ่อนแต่ก็ไม่นิยมใช้ในการแกะสลัก หรือทำประตูที่มีลวดลาย เนื่องจากเนื้อไม้มีตาเยอะ อาจทำให้ลวดลายนั้นเสียหายได้ง่าย
- ไม้สนเป็นเนื้อไม้อ่อนมีโอกาสแตก หักได้ง่ายต้องตรวจสอบขั้นตอนการผลิตจากผู้ขายให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ
- ไม้สนเป็นไม้เนื้ออ่อน อาจมีปัญหาเรื่องปลวกและแมลงได้ง่าย หากซื้อสินค้าจากผู้ผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน
4. ประตูไม้ประดู่ (Rose Wood Door)
ประตูไม้ประดู่นั้นมีความโดดเด่นคือ เนื้อไม้เนื้อไม้มีหลายเฉดสีตั้งแต่สีชมพูอมส้ม น้ำตาลเข้มอมแดง สีแดงอมเหลือง ไปจนถึงสีอิฐแก่ ลักษณะของสีและเส้นของเสี้ยนเป็นริ้วสวยงาม สามารถชักเงาได้ดี เนื้อไม้เป็นสี เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีกลิ่นหอม ให้ลวดลายที่สวยงาม มีความคงทนแข็งแรง เนื้อละเอียดปานกลาง มีความแข็งแรงทนทานสูงพอๆ กับไม้แดงแต่มีอัตราการหดตัวน้อยกว่ามาก เนื่องจากเป็นไม้เนื้ออ่อนจึงทำให้และไสตกแต่งได้ง่าย นิยมนำไปใช้ เป็นทำเป็นบานประตู วงกบประตูและหน้าต่าง และใช้ปูพื้น
Advantage: ข้อดี
- เนื้อของไม้ประดู่นั้นมีหลากหลายโทนสี สามารถทำสีได้สวยงาม
- ลักษณะสีเส้นเสี้ยนของไม้ประดู่จะแก่กว่าสีพื้น มีลวดลายที่สวยงาม เหมาะกับการทำสีโชว์ลายไม้
- เนื้อไม้ประดู่ค่อนข้างละเอียด จึงสามารถนำไปไสกบตกแต่ง และขัดเงาได้ดี
- ประตูไม้ประดู่มีความเเข็งแรง ทนทานต่อรอยขีดข่วน ใช้ได้ทั้งภายนอกและภายใน
- ประตูไม้ประดู่มีอัตราการหดตัวค่อนข้างน้อย
Disadvantage: ข้อเสีย
- ไม้ประดู่ มีเนื้อไม้ค่อนข้างแน่น จนทำให้การตัดแต่ง หรือการเจาะทำได้ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างเช่น เวลาตอกตะปูจะต้องเอาสว่านเจาะนำก่อน จึงจะตอกตะปูได้
- แม้ว่าประตูไม้ประดู่จะมีอัตราการยืดหดตัวค่อนข้างน้อย แต่ก็มีโอกาสยืด-หดตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันได้
- ไม้ประดู่เป็นไม้ที่อมความร้อน
5. ประตูไม้ตะแบก (Tabek Wood Door)
ตะแบกมีเนื้อไม้สีเทาอมเหลืองหรือน้ำตาลอ่อนอมเหลือง เป็นไม้เนื้ออ่อนที่สุดในบรรดาไม้ในประเทศ เนื้อละเอียด มีลวดลายชัดเจนลายเส้นตรง เนื้อละเอียดใสและขึ้นเงา สามารถย้อมสีได้ตามที่ต้องการ ลาย ไม้สวยงาม เมื่อขัดและลงเงาแล้วจะมีลักษณะคล้ายไม้สัก ทำการไส ตกแต่ง หรือทำลวดลายได้ง่าย เหมาะสำหรับงานก่อสร้าง สีสันสวยงามและราคาถูกกว่า แต่ก็ยังมีการบิดหรือโก่งงอง่ายหากโดนความร้อนหรือความชื้นนานๆ นิยมใช้กับงานภายใน เช่นพื้น หรือวงกบประตู ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวกมอด และแมลงรบกวน
Advantage: ข้อดี
- ประตูไม้ตะแบกสามารถนำไปย้อมสีตามที่ต้องการได้ง่ายเนื่องจากเนื้อไม้เดิมนั้นมีโทนสีไม้ค่อนข้างอ่อน
- เนื้อไม้ตะแบกมีความละเอียดใส และขึ้นเงา มีลวดลายชัดเจน และให้ความสวยงามใกล้เคียงกับไม้สัก
- ไม้ตะแบก มีเนื้อไม้ที่ไม่อ่อนไม่แข็งจนเกินไปจึงช่วยให้การไสตกแต่งสำหรับทำประตูที่ต้องการแกะสลักลวดลายได้ง่าย
- ไม้ตะแบก ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวกมอด และแมลงรบกวน
Disadvantage: ข้อเสีย
- หากประตูไม้ตะแบกโดนน้ำ หรือ ความชื้น อาจเกิดอาการบิดงอ และโก่งตัวได้ง่าย ควรใช้ภายในมากกว่าภายนอก
- ไม้ตะแบก เป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง จึงอาจมีการยืด-หดตามสภาพอากาศได้
- การเลือกใช้ประตูไม้จำปา อาจมีผลทางจิตใจในแง่ลบต่อผู้ใช้บางราย
ผู้สนับสนุน
6. ประตูไม้เต็ง (Shorea Wood Door)
ไม้เต็ง เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ หรือน้ำตาลออกเทาจนถึงเข้ม ถ้าตัดทิ้งไว้นานสีจะเข้มขึ้น จัดเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรงทนทานมาก เนื้อไม้มีความแข็งและเหนียว มีผิวหยาบ ตัดแต่งได้ยาก มีอัตราการบิด โก่ง งอ น้อย และทนทานต่อการขูดขีด ไม้เต็งมีเสี้ยนลายไม้ไม่ค่อยสวยงามมากนัก แต่ด้วยความแข็งแรงของเนื้อไม้จึงนิยมทำมาใช้เป็นประตูภายนอก และควรทาน้ำยารักษาเนื้อไม้เพื่อลดการสูญเสียความชื้นจากเนื้อไม้ และเนื่องจากความแข็งของเนื้อไม้ ทำให้หมดปัญหาเรื่องปลวก นอกจากใช้ทำประตูแล้วยังนิยมใช้กับงานโครงสร้างภายนอก อย่างเช่น คาน เสา และพื้น เพราะทนต่อสภาพอาอาศได้ดีกว่าไม้ชนิดอื่นๆ
Advantage: ข้อดี
- นิยมมาทำเป็นประตูบ้านที่ใช้ภายนอกเนื่องจากทนต่อสภาพอากาศได้ดีกว่าไม้ชนิดอื่นๆ
- ประตูไม้เต็งมีอัตราการบิด โก่ง งอ ต่ำ
- ไม้เต็งเป็นไม้ที่มีความคงทนแข็งแรง ทนต่อการขูดขีดได้ดี
- ประตูไม้เต็งมีปัญหาเรื่องปลวก และแมลงค่อนข้างน้อยกว่าไม้ชนิดอื่นๆ
Disadvantage: ข้อเสีย
- พื้นผิวของไม้เต็ง มีความหยาบ และลวดลายไม่สวยงามเท่ากับไม้ชนิดอื่นๆ
- ประตูไม้เต็งส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีลวดลายมากนักเนื่องจากไม้เต็งเป็นไม้นื้อแข็ง จึงทำให้ตัดแต่งหรือนำไปแกะสลักลายได้ยาก
- เมื่อหดตัวแล้วจะแตกเป็นลายงา
- การทำสีทำได้ยาก ทำแล้วไม่สวย สีแตกลอกล่อนค่อนข้างเร็ว
7. ประตูไม้รัง (Sal Wood Door)
ไม้รังมีสีน้ำตาลอมเหลือง เนื้อหยาบ ไม้รังเป็นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ มีความแข็งแรงทนทานมาก เมื่อแห้งจะมีความแข็งแรงและคุณสมบัติคล้ายไม้เต็ง แต่มีความแข็งแรงน้อยกว่าไม้เต็งเล็กน้อยลักษณะเนื้อไม้มีความหยาบ หรือ ละเอียดปานกลาง สามารถใช้ทดแทนไม้เต็งได้ แต่ในปัจจุบันไม้รังหายากและมีราคาแพงมาก จึงไม่นิยมนำมาใช้ซักเท่าไหร่ นอกจากจะเป็นไม้รังที่มาจากป่าปลูกโดยเฉพาะ แต่ก็ยังมีค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ยังนิยมนำไปใช้ในงานก่อสร้างที่ต้องการรับน้ำหนักมาก เช่น เสา พื้น คาน
Advantage: ข้อดี
- ไม้รัง มีความแข็งแรงทนทาน รับแรงกระแทกได้ดี จึงสามารถใช้ทำประตูภายนอกได้
- ประตูไม้รังมีอัตราการบิด โก่ง งอ ต่ำ
- ไม้รังเป็นไม้ที่มีความคงทนแข็งแรง ทนต่อการขูดขีดได้ดี
- ไม้รัง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวก และแมลง (คล้ายไม้เต็ง)
Disadvantage: ข้อเสีย
- พื้นผิวของไม้รัง มีความหยาบ และลวดลายไม่สวยงามเท่ากับไม้ชนิดอื่นๆ
- ไม้รัง เป็นไม้เนื้อแข็ง จึงทำให้ตัดแต่ง และลงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้ค่อนข้างยาก (คล้ายไม้เต็ง)
- ทำสีได้ยาก ทำแล้วไม่สวย สีแตกลอกล่อนค่อนข้างเร็ว
8. ประตูไม้มะค่า (Makha Wood Door)
เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อน และสีเหลืองอมชมพู เมื่อทำสีแล้วลายไม้จะสวยงามมากขึ้น โดยสีจะเข้มขึ้นตามอายุการใช้งาน และถ้าหากไม้มะค่าโดนแดด หรือ โดนน้ำ ก็อาจจะทำให้สีเข้มขึ้นได้เช่นกัน ไม้มะค่า เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรงทนทานสามารถรับน้ำหนักได้ดี เนื้อไม้มีความหยาบแต่ก็มีความราบเรียบสม่ำเสมอ มีลวดลายไม้ที่สวยงามคล้ายลายไม้สัก ลายเรียงเส้นสวยงาม ไม้มะค่าเป็นไม้ที่ทนต่อปลวก มอด ความชื้น และเชื้อรา อีกทั้งยังผุพังได้ยาก ไม้มะค่าถือเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในงานตกแต่งทั้งภายใน และภายนอก (ส่วนใหญ่นิยมใช้ภายในอาคาร) อาทิเช่น ไม้พื้น, ไม้บันได, วงกบ, ประตู, หน้าต่าง หรือ ส่วนโครงสร้างในบ้านที่ต้องการโชว์ให้เห็นผิวไม้ที่มีความสวยงาม เป็นต้น
ในปัจจุบันไม้มะค่าหายาก และมีราคาแพง ไม้มะค่าบางส่วนจึงนำเข้ามาจากทางแอฟริกา ซึ่งมีภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย แต่สีของไม้จะไม่สวย และเข้มเท่าไม้มะค่าในประเทศไทย ไม้มะค่าจะมีราคาแพงค่อนข้างแพง
Advantage: ข้อดี
- ประตูไม้มะค่ามีลวดลายไม้ที่สวยงามคล้ายลายไม้สัก
- ประตูไม้มะค่าเมื่อทำสีแล้วจะสวยงามมาก
- เนื้อไม้มีความหยาบหนักแน่นแต่ก็มีความราบเรียบสม่ำเสมอ
- ไม้มะค่า เป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานมาก จึงทนแรงกระแทกได้ดี
- ไม้มะค่าทนต่อปลวก มอด ความชื้น และเชื้อรา อีกทั้งยังผุพังได้ยาก
Disadvantage: ข้อเสีย
- แม้ว่าไม้มะค่าจะมีสีที่สวยงาม แต่สีจะเข้มขึ้นตามอายุการใช้งาน
- ไม้มะค่า มีเนื้อไม้ที่หนักแน่น จึงทำให้มีน้ำหนักค่อนข้างมาก
- ถึงแม้ไม้มะค่าจะเป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะยืด-หดตัวตามสภาพอากาศได้เช่นกัน
- ประตูไม้มะค่าเป็นไม้ที่หายาก และราคาสูง
9. ประตูไม้แดง (Iron Wood Door)
ไม้แดงมีสีน้ำตาลอมแดง มีความโดดเด่นของลายเส้นสีเข้มสวยงาม และมีจุดดำแทรกในเนื้อไม้ เมื่อใช้ไปนานๆ ไม้จะมีสีแดงที่เข้มขึ้น ไม้แดงเป็นไม้ที่มีความแข็งแรง เป็นไม้เนื้อแข็งที่เนื้อไม้ค่อนข้างหยาบ เนื้อแน่นแน่น ทนทาน และสามารถรับน้ำหนักได้ดี แต่เจาะตัดได้ยากกว่าไม้ชนิดอื่นๆ เนื้อไม้มี และมีราคาไม่สูงมากนัก นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างทั้งภายใน และภายนอกอาคาร เช่น ไม้ปูพื้น ,เสา ,คาน ,ตง และรั้วไม้ นอกจากนี้ยังใช้ทำเป็นวงกบและประตูไม้ เหมาะหรับใช้เป็นประตูภายนอก หรือ ประตูหน้าบานบานใหญ่พิเศษ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือไม่จะมีน้ำหนักมากจึงต้องพิจารณาเรื่องบานพับหรือ โช๊คที่ใช้รับน้ำหนักบานด้วย ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวก หรือ แมลง และยังเป็นไม้ที่ต้านทานไฟในตัว
Advantage: ข้อดี
- ไม้แดง มีความโดดเด่นด้วยลายเส้นสีเข้มสวยงาม ในโทนสีน้ำตาลอมแดง
- ประตูไม้แดงมีเนื้อแน่น เหมาะสำหรับทำสีพ่น
- ไม้แดง เป็นไม้เนื้อแข็งที่เนื้อไม้ค่อนข้างแน่น มีความทนทาน และสามารถรับน้ำหนักได้ดี
- ประตูไม้แดง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวก หรือ แมลงรบกวน
Disadvantage: ข้อเสีย
- ไม้แดงมีสีเข้ม จึงทำย้อมสีได้ยาก โดยเฉพาะสีโทนอ่อน จะได้สีไม้ที่อมแดงเสมอ
- ไม้แดง มีเนื้อไม้ค่อนข้างแน่น จนทำให้การตัดแต่งหรือทำลวดลายได้ยาก ประตูไม้แดงส่วนใหญ่ จะเป็นลักษณะการต่อชิ้นไม้เป็น แพทเทิร์น
10. ประตูไม้ตะเคียน (Takian Wood Door)
ไม้ตะเคียน เป็นไม้เนื้อแข็งอีกชนิดหนึ่งที่มีลวดลายคล้ายไม้สัก แต่จะแข็งแรงทนทานกว่าไม้สัก มีสีเหลืองทอง แต่จะกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่อทิ้งไว้นานและถูกแสงแดด นิยมนำมาทำวงกบ และพื้นไม้ สมัยก่อนนิยมนำไปต่อเรือ ไม่นิยมนำมาใช้ในบ้านเรือนเนื่องจากมีความเชื่อว่าต้นตะเคียนนั้นเป็นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ปัจจุบันผู้ผลิตได้ใช้ไม้จากป่าปลูกมากขึ้นไม่ได้ใช้ธรรมชาติเหมือนเมื่อก่อน ความเชื่อจึงลดลงไป และนิยมนำมาทำเป็นบานประตูกันมากขึ้น เนื้อของไม้ตะเคียนนั้น จะมีตำหนิ เรียกว่า “รูมอด” ซึ่งมีลักษณะเป็นรูเล็กๆ อยู่ในเนื้อไม้ ซึ่งเป็นลักษณะทางธรรมชาติของไม้ชนิดนี้ หลายคนกังวลว่าการที่ไม้มีรูแบบนี้ อาจจะทำให้ไม้ไม่ทนแข็งแรง แต่จริงๆ แล้วรูมอดที่เห็นนั้นไม่ได้มีผลต่อความแข็งแรงของไม้แต่อย่างใด
Advantage: ข้อดี
- ประตูไม้ตะเคียนมีลวดลายไม้ที่สวยงามคล้ายลายไม้สัก
- ประตูไม้ตะเคียนมีสีเหลืองทอง ทำให้ทำสีได้ง่าย
- ประตูไม้ตะเคียนมีอัตราการหดตัว และบิดโง งอ ต่ำ
Disadvantage: ข้อเสีย
- ไม้ตะเคียนกลายเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่อทิ้งไว้นานและถูกแสงแดด
- ไม้ตะเคียนจะมีตำหนิ เรียกว่า “รูมอด” ซึ่งมีลักษณะเป็นรูเล็กๆ อยู่ในเนื้อไม้
- หลายคนยังมีความเชื่อเกี่ยวกับไม้ตะเคียนอยู่ เมื่อนำไปใช้งานอาจส่งผลในแง่ของความรู้สึก
การเลือกซื้อประตูไม้
ประตูไม้มีให้เลือกหลายชนิด เช่น ประตูไม้สัก ประตูไม้สน ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบบานเกล็ด บานลูกฟัก 4 ลูกฟัก 8 หรือปรตูแบบที่มีลายแกะสลัก โดยชนิดของไม้และรูปแบบนั้นจะส่งผลต้อราคาประตู ยิ่งลวดลายซับซ้อนก็ยิ่งมีราคาแพง การเลือกใช้ประตูไม้นั้นควรพิจารณาดีไซน์ให้มีความสอดคล้องกับการตกแต่งโดยรวมของตัวบ้าน และเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ มีการรับประกัน และงบประมาณที่กำหนดไว้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ได้สินค้าที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม