รวมข้อมูลคุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย กระจกแต่ละประเภท

" รวมข้อมูลวัสดุศาสตร์ และข้อดี - ข้อเสีย วัสดุกระจก 7 ประเภท " ซึ่งจะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น วันนี้ wazzadu.com ย่อยมาให้แล้ว มาชมกันเลยครับ

ผู้สนับสนุน

กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass หรือ T/P) คืออะไร

กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass หรือ T/P ) หรือที่เรียกว่ากระจกอบ คือการนำกระจกธรรมดาไปผ่านกระบวนการอบที่ความร้อนสูงประมาณ 650 องศาเซลเซียส แล้วนำมาเป่าด้วยลมแรงดันสูงให้เย็นตัวลงทันที เพื่อให้กระจกเกิดความแข็งแกร่งกว่าเดิม 3-5 เท่า ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และมีความปลอดภัยมากขึ้น

ในกรณีที่กระจกเทมเปอร์เกิดการแตกหัก จะแตกออกเป็นเม็ดคล้ายเม็ดข้าวโพด ซึ่งมีความแหลมคมไม่มาก ทำให้มีโอกาสเกิดอันตรายน้อยกว่ากระจกธรรมดา เหมาะสำหรับงานที่มีความเสี่ยงต่อการแตกร้าว และต้องการความปลอดภัยที่เกิดจากกระจกแตกร้าว (safety)

กระจกนิรภัยเทมเปอร์จะมีค่าความแข็งแรงต่อแรงดึง และแรงที่ทำให้หักงอ (Bending Strength) เมื่อเปรียบเทียบกับกระจกธรรมดา ที่ความหนาเท่ากัน 5 มม. กระจกธรรมดาจะมีค่าความแข็งแรงต่อแรงดึง และแรงที่ทำให้กระจกหักงออยู่ที่ 500- 600 กก./ซม.2 ส่วนกระจกนิรภัยเทมเปอร์จะมีค่าสูงถึง 1,500 กก./ซม.2

โดยขนาดความหนาของกระจกนิรภัยเทมเปอร์ ที่นิยมผลิตในท้องตลาด คือ 4, 5, 6, 8, 10, 12, 15, 19 มิลลิเมตร

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

กระจกที่สามารถนำมาผลิตเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์คือกระจกแผ่นเรียบเกือบทุกชนิดไม่ว่ากระจกนั้นจะผลิตด้วยกระบวนการเพลท(Plate Process) ชีท (Sheet Process) หรือโฟลท(Float Process) แต่กระจกนั้นต้องมีส่วนประกอบของวัตถุดิบที่เหมาะสม เช่น ไม่มีส่วนประกอบของแร่เงินมากเกินไป เป็นต้น กระจกที่ผลิตจากกระบวนการดังกล่าวมี ดังนี้

- กระจกใส (Clear Glass)

- กระจกใสพิเศษ(Super Clear Glass)

- กระจกทิ้น(Tinted Glass)

เช่น กระจกสีชาอ่อน (Grey Tinted Glass) ,กระจกสีชาเข้ม (Dark Grey Tinted Glass) ,กระจกสีเขียว (Green Tinted Glass) ,กระจกสีบรอนซ์ (Bronze Tinted Glass) และกระจกสีฟ้า (Blue Tinted Glass) เป็นต้น

- กระจกลวดลาย (Pattern Glass) หากมีด้านหนึ่งของกระจกเรียบพอที่จะไม่ทำอันตรายต่อลูกกลิ้งเซรามิคในเตาอบกระจกนิรภัยเทมเปอร์ ก็สามารถผลิตเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์ได้เช่นกัน (เนื่องด้วยกระจกทั่วไปเกือบทั้งหมด ยกเว้นกระจกลวดลาย ผลิตด้วยกระบวนการโฟลท ดังน้นกระจกธรรมดาที่กล่าวถึงต่อไปนี้จะเป็นกระจกที่ผลิตด้วยกระบวนการโฟลทเป็นหลัก)

Benefit : ข้อดี

- มีความแข็งแรงกว่ากระจกโฟลท 4-5 เท่า ทำให้สามารถรับแรงกระแทก แรงกด และแรงบีบได้ดี

- ทนความร้อนได้สูงถึง 290ºC โดยกระจกไม่แตก

- ทนการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลันได้ถึง 150ºC

- เมื่อกระจกแตก จะแตกเป็นชิ้นเล็กๆคล้ายเม็ดข้าวโพดทั่วทั้งแผ่น จะไม่แตกเป็นปากฉลามแบบเดียวกับการแตกของกระจกธรรมดา จึงมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน

- ถ้าหากตัดกระจกบนโต๊ะตัดที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ความเที่ยงตรงสูง จะสามารถตัดได้หลากหลายรูปแบบ 

Disadvantage : ข้อเสีย

-  กระจกนิรภัยเทมเปอร์ไม่สามารถ ตัด เจีย บาก เจาะ ได้

- เนื่องด้วยกระจกนิรภัยเทมเปอร์ เป็นกระจกที่ผ่านกระบวนการความร้อนสูงจนทำให้กระจกนิ่มและกลิ้งไปกับลูกกลิ้ง จึงทำให้กระจกมีโอกาสเกิดเป็นคลื่น และมีความโก่งตัวเล็กน้อย

- กระจกนิรภัยเทมเปอร์มีโอกาสปริแตกด้วยตัวเอง หากเนื้อกระจกที่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิต มีสารปนเปื้อน คือ สารนิเกิ้ลซัลไฟล์ (NiS) ในกระบวนการผลิตกระจก โดยจะมีอัตราการแตกด้วยตัวเองเฉลี่ย 8 แผ่นใน 1,000 แผ่น 

Application : การนำไปใช้งาน

ใช้งานได้ทั้งภายนอก และภายในอาคาร โดยสามารถนำไปใช้งานได้ ดังนี้

- ใช้เป็นประตูบานเปลือย ,ฉากกั้นอาบน้ำ ,ผนังกั้นภายใน ,ผนังกระจกทั้งสองหน้า 

- ใช้ทำเป็นตู้โทรศัพท์ ,ห้องโชว์ ,ตู้สินค้าอัญมณีที่ต้องการความโปร่งแสง แต่ทนต่อแรง กระแทก ให้ความปลอดภัยสูง

- ใช้ทำเป็นกระจกงานเฟอร์นิเจอร์ เช่น ชั้นวางของ ชั้นโชว์สินค้า

- ใช้ทำเป็นหน้าต่างกระจก ผนังกระจกทั่วไป หรือ ผนังกระจกของอาคารในบริเวณที่เผชิญกับความร้อนสูงกว่าปกติ

- ใช้ทำประตูบานเปลือย และผนังกระจกทั้งสองหน้าภายในตัวอาคาร

- ใช้ทำผนังกระจกอาคารขนาดใหญ่ และอาคารสูง (Glass Curtain Wall) ในบริเวณที่ต้องรับแรงปะทะของกระแสลมที่มีความเร็วสูง

- พื้นที่ ที่ต้องการความโปร่งแสง แต่ก็ต้องการความคงทนต่อแรงกระแทกในเวลาเดียวกัน

Forewarning : ข้อควรระวังในการใช้งาน

- หลังการผลิตเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์จะไม่สามารถ ตัด เจาะ เจีย บาก ได้ ดังนั้นการวัดพื้นที่ จำเป็นต้องวัดอย่างระมัดระวัง และควรใช้เป็นหน่วยมิลลิเมตรในการวัดเพื่อความแม่นยำ

 - ไม่ควรใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์เดี่ยวๆ เป็นหลังคา หรือ เป็นผนังภายนอกอาคารบริเวณชั้นสูงๆ เพราะหากกระจกแตก จะร่วงลงมาเป็นอันตรายต่อคนข้างล่างได้

- ไม่ควรใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์เดี่ยวๆ เป็นพื้น หรือ เป็นขั้นบันได เพราะหากกระจกแตก ผู้เดินจะได้รับอันตรายพลัดตกลงมาได้

- ห้ามใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์ทดแทนกระจกกันไฟ เพราะกระจกนิรภัยเทมเปอร์ไม่สามารถกันไฟเพื่อความปลอดภัยต่อผู้อาศัยตามข้อกำหนดของการกันไฟได้

กระจกลามิเนต (Laminated Glass)​ คืออะไร

กระจกลามิเนต จัดเป็นกระจกนิรภัยชนิดหนึ่ง ที่เวลาแตกแล้วเศษกระจกจะยังคงยึดติดกันโดยไม่ร่วงหล่น เพราะมีชั้นฟิล์มที่ยึดเกาะระหว่างแผ่นกระจกเหมือนกับใยแมงมุม โดยเป็นการนำเอากระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Safe Glass) หรือกระจกธรรมดา (Annealed Glass / Floated Glass) จำนวน 2 แผ่น หรือ มากกว่า แล้วนำมาประกบติดกันโดยมีชั้นฟิล์มคั่นกลางระหว่างกระจก เราจึงเรียกกระจกที่ผ่านกระบวนการผลิตในลักษณะนี้ว่า กระจกลามิเนต (Laminated Glass) นั่นเอง

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

กระจกลามิเนต คือ การนำกระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Safe Glass) หรือกระจกธรรมดา (Annealed Glass / Floated Glass) ตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไป มาทำการ "ลามิเนต" ทำเป็นชั้นๆ โดยประกบคั่นกลางระหว่างแผ่นกระจกด้วยฟิล์ม PVB (Poly Vinyl Butyral) หรือ EVA (Ethylene Vinyl Acetate) เพื่อจุดประสงค์ในการใช้งานที่ต้องการความแข็งแกร่งมากขึ้น และตอบสนองการใช้งานในด้านความปลอดภัยที่สูงกว่ากระจกประเภทอื่น 

จากนั้นนำมาผ่านกระบวนการรีดด้วย Roller ซึ่งทำให้ PVB Film ยึดติดเข้ากับกระจก หลังจากนั้นกระจกที่ประกบแล้วจะถูกนำไปอบในเตา Auto Clave ที่ควบคุมอุณหภูมิ และความดันที่เหมาะสมเพื่อไล่อากาศออกจนหมด ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการผลิต โดยขนาด และความหนารวมในท้องตลาดที่สามารถผลิตได้ มีตั้งแต่ 6.38 ถึง 80 มม.

Benefit : ข้อดี

- เมื่อกระจกได้รับความเสียหายจนเกิดการแตก เศษกระจกจะไม่ร่วงหล่นลงมา ซึ่งช่วยลดอันตรายได้มากขึ้น 

- ช่วยป้องกันเสียงรบกวนภายนอก และเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา

- ช่วยป้องกันความร้อนได้ดี และกันรังสียูวีได้มากกว่า 90 %

- ทนต่อแรงดันลมในที่สูง ทนต่อแรงอัดกระแทก และช่วยป้องการบุกรุกจากการโจรกรรมได้

- สามารถเคลือบสีได้ตามความต้องการ

Disadvantage : ข้อเสีย

- เมื่อเทียบความหนาในขนาดเดียวกัน กระจกนิรภัยลามิเนตจะรับแรงได้น้อยกว่ากระจกธรรมดา เช่น กระจกลามิเนต 4 มม. + ฟิล์ม + 4 มม. จะรับแรงกระแทกได้น้อยกว่า กระจกใสธรรมดาที่หนา 8 มม.

- ฟิล์ม PVB มีคุณสมบัติดูดความชื้น จึงทำให้ถ้าใช้กระจกนี้บริเวณที่มีความชื้นสูง จะทำให้การยีดเกาะระหว่างกระจกและฟิล์มไม่ดี และอาจเกิดการแยกตัวออกจากกันได้

Application : การนำไปใช้งาน

ใช้งานได้ทั้งภายนอก และภายในอาคาร โดยสามารถนำไปใช้งานได้ ดังนี้

- ใช้ตกแต่งภายใน เช่น ฝ้า พื้น ผนังห้อง และบานประตู

- ใช้เป็นกระจกด้านนอกของอาคาร โดยเฉพาะกระจกที่ต้องการป้องกันการบุกรุก หรือต้องการลดเสียงรบกวน เช่น หน้าต่างช่องเปิดแบบต่างๆ

- ใช้เป็นกระจกอาคารสูงตามกฎหมายควบคุมอาคาร

- ใช้ทำระเบียงราวกันตก ,หลังคา Skylight ,กันสาด และ Facade 

- ใช้ทำเป็นกระจกนิรภัยสำหรับเฟอร์นิเจอร์

Forewarning : ข้อควรระวังในการใช้งาน

การนำกระจกลามิเนต (Laminated Glass) ไปใช้งานภายนอกอาคารนั้น มีสิ่งที่ต้องควรระวังก็คือ เมื่อใช้งานไปนานๆจะพบว่ากระจกปรากฏรอยลูกคลื่นตามแนวรอยบากระหว่างแผ่นกระจก ซึ่งลักษณะของปัญหาดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นกับกระจกลามิเนต โดยมีศัพท์ที่เรียกว่า Delamination  หรือ การแยกตัวของกระจกลามิเนต

ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณขอบกระจก ,บริเวณรอยบาก หรือขอบที่เจาะรูยึดกับฟิตติ้งในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัญหาลักษณะนี้จะค่อยๆเกิดขึ้นหลังจากใช้งานไปแล้วสักระยะ(ตั้งแต่ 1 หรือ 2 ปีขึ้นไป) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่กระจกลามิเนตถูกผลิตด้วยวิธีการนำกระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Safe Glass) หรือกระจกธรรมดา (Annealed Glass / Floated Glass) ตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไป มาทำการ "ลามิเนต" ทำเป็นชั้นๆ โดยประกบคั่นกลางระหว่างแผ่นกระจกด้วยฟิล์ม PVB (Poly Vinyl Butyral)

ซึ่งฟิล์ม PVB นี้เองถือเป็นส่วนประกอบที่ยังมีจุดด้อยซ่อนอยู่ ก็คือตัวฟิล์มมีคุณสมบัติในการดูดซับความชื้นได้ดี เมื่อกระจกถูกนำไปใช้งานภายนอกอาคารแล้วต้องเจอกับสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย จึงทำให้ความชื้นจากอากาศ และน้ำสามารถซึมผ่านเข้ามาทางขอบกระจกแบบเปลือยแล้วสัมผัสกับเนื้อฟิล์ม PVB ได้โดยตรง เมื่อความชื้นในชั้นฟิล์ม PVB ถูกสะสมมากขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ความเหนียวในการยึดเกาะของชั้นฟิล์มจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ชั้นฟิล์ม PVB ที่คั่นกลางระหว่างกระจกทั้ง 2 แผ่น จึงทำให้เกิดการแยกตัวออกจากกระจกอย่างช้าๆ และเห็นเป็นรอยคลื่นได้อย่างชัดเจน

กระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่น (Heat-Strengthened Laminate Glass)​ คืออะไร

กระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่น คือ กระจกฮีทสเตร็งเท่นที่ผลิตด้วยกระบวนการเดียวกับกระจกนิรภัยเทมเปอร์ แต่จะต่างกันที่กระบวนการทำให้เย็นด้วยการเป่าลม จากนั้นจึงนำมาเข้าสู่กระบวนการทำลามิเนตเพื่อเพิ่มความปลอดภัย และความแข็งแรง จนได้ออกมาเป็นกระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่น

กระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่น ถือเป็นกระจกอีกประเภทหนึ่งที่ให้ความปลอดภัยในการใช้งานได้มากกว่ากระจกแบบทั่วไปถึง 2 เท่า และทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบฉับพลันได้ 70 องศาเซลเซียส เมื่อกระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่นโดนวัตถุกระแทกจนทำให้เนื้อกระจกปริแตก กระจกจะแตกในลักษณะที่รอยแตกวิ่งเข้าไปหาเฟรม ซึ่งจะทำให้กระจกส่วนที่แตก ยังคงมีเฟรมโดยรอบ และชั้นฟิล์มลามิเนต PVB ที่คั่นอยู่ตรงกลางระหว่างกระจกทั้ง 2 แผ่น คอยยึดเกาะเศษกระจกชิ้นที่แตกเหล่านั้นไว้ จึงไม่ทำให้กระจกที่แตกอยู่บนผนังอาคารร่วงตกลงมา

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

กระจกฮีทสเตรงค์เท่น เป็นกระจกที่ผลิตด้วยกระบวนการเดียวกับกระจกนิรภัยเทมเปอร์  แต่กระบวนการทำให้เย็นด้วยการเป่าลม จะเป็นตัวบ่งชี้ว่ากระจกสองชนิดต่างกัน ซึ่งมีรายละเอียดเฉพาะในการทำให้เย็นดังนี้ ถ้าเราใช้ลมเป่าให้เย็นตัวลงเร็วมากๆ กระจกจะเกิดการอัดแน่นของโมเลกุลที่ผิวกระจกอย่างมาก ทำให้มีค่าความเครียดที่ผิวกระจก (Compressive Stress) ที่ 10,000 PSI ขึ้นไป จึงเรียกได้ว่าเป็น ‘กระจกเทมเปอร์’ โดยสมบูรณ์ (Fully Tempered) ซึ่งจะทำให้กระจกมีความแข็งแรงกว่ากระจกทั่วไป 4-5 เท่า และทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบฉับพลันได้ถึง 170 องศาเซลเซียส

แต่ถ้าลดแรงลมตอนที่เป่าให้กระจกเย็นตัว ก็จะมีผลทำให้กระจกเย็นตัวช้าลง ความเครียดที่ผิวกระจกก็จะลดหลั่นลงมาตามลำดับ ซึ่งเมื่อผิวกระจกมีค่าความเครียดที่ผิวกระจกระหว่าง 3,500 ถึง 7,500 PSI จะทำให้กระจกมีความแข็งแรงกว่ากระจกทั่วไป 2 เท่า และทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบฉับพลันได้ 70 องศาเซลเซียส เราเรียกกระจกชนิดนี้ว่า ‘กระจกฮีทสเตร็งเท่น’ (Heat-Strengthened Glass) โดยสมบูรณ์

จากนั้นจึงนำกระจกฮีทสเตร็งเท่นแบบปกติ 2 แผ่นมาประกบลามิเนตกัน โดยมีฟิล์มลามิเนต PVB ที่ยึดเกาะคั่นอยู่ตรงกลางระหว่างกระจกทั้งสองแผ่น โดยฟิล์ม PVB ทั่วไปมีความหนาของแผ่น 0.38 มม ถ้ากระจกฮีทสเตร็งเท่นที่นำมาประกบกันมีขนาดใหญ่ ก็ต้องใช้จำนวนชั้นฟิล์มเพิ่มขึ้น เราจึงเห็นได้ว่าการระบุความหนาของฟิล์มจะมีตั้งแต่ 0.38, 0.76. 1.14, หรือ 1.52 มม. ซึ่งก็คือ 1, 2, 3, หรือ 4 ชั้นนั่นเอง กระจกลามิเนตอาจจะประกอบด้วยกระจกฮีทสเตร็งเท่นมากกว่า 2 แผ่นประกบกัน แล้วแต่วัตถุประสงค์การใช้งาน ซึ่งการนำกระจกฮีทสเตร็งเท่นหลายๆ ชั้นมาประกบลามิเนตสามารถนำไปใช้เป็นกระจกกันกระสุน กระจกอาคารสูงระฟ้า หรือ พื้นกระจกได้สบาย

Benefit : ข้อดี

- มีความแข็งแรงกว่ากระจกโฟลท 2 เท่า ทำให้สามารถร้บแรงกระแทก แรงกด แรงบีบ ได้ดี

- ทนต่อแรงดันของกระแสลมในที่สูงได้ดี โดยเฉพาะผนังอาคารสูง พื้นกระจก หรือ หลังคากระจก 

- ทนความร้อนแบบปกติได้สูงถึง 290ºC โดยที่เนื้อกระจกไม่ปริแตก

- ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลันได้ตั้งแต่ 70-100ºC

- เมื่อกระจกปริแตก รอยแตกจะวิ่งเข้าไปหาเฟรม ซึ่งจะทำให้กระจกส่วนที่แตก ยังคงมีเฟรมโดยรอบ และชั้นฟิล์มลามิเนต PVB ที่คั่นอยู่ตรงกลางระหว่างกระจกทั้ง 2 แผ่น คอยยึดเกาะเศษกระจกชิ้นที่แตกเหล่านั้นไว้ จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานได้มากกว่ากระจกทั่วไป

- ไม่ปริแตกแตกด้วยตัวเอง แบบเดียวกับการปริแตกด้วยตัวเองของกระจกนิรภัยเทมเปอร์

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม่สามารถ ตัด เจีย เจาะ บาก ได้ ดังนั้นการวัดพื้นที่จำเป็นต้องวัดอย่างระมัดระวัง และควรใช้หน่วยมิลลิเมตรในการวัดเพื่อความแม่นยำ ซึ่งการเผื่อหลวมจะช่วยให้การติดตั้งง่ายขึ้น แต่ต้องไม่หลวมจนกระจกหลุดจากคิ้ว

- เนื่องจากเป็นกระจกที่ผ่านกระบวนการความร้อนสูงจนเนื้อกระจกนิ่ม กระจกอาจเป็นคลื่น และมีโอกาสโก่งตัวอยู่เล็กน้อย

- ไม่สามารถใช้ทดแทนกระจกกันไฟได้ เพราะกระจกฮีทสเตรงค์เท่นไม่สามารถกันไฟเพื่อความปลอดภัยต่อผู้อาศัยตามข้อกำหนดของการกันไฟได้

Application : การนำไปใช้งาน

ใช้งานได้ทั้งภายนอก และภายในอาคาร โดยสามารถนำไปใช้งานได้ ดังนี้

- ใช้ในอาคารขนาดใหญ่ และอาคารสูง (Glass Curtain Wall)

ตามพรบ.ควบคุมอาคาร ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่ากระจกเปลือกนอกของอาคารที่สูงเกิน 23 เมตรขึ้นไป ต้องใช้กระจกลามิเนต แต่เนื่องจากเวลาคำนวณแรงดันลม (Windload) และความร้อนสะสมที่กระจกแล้ว การใช้กระจกโฟลตธรรมดาแล้วนำมาประกบลามิเนตส่วนใหญ่แล้วจะไม่ผ่านเกณฑ์ จึงจำเป็นต้องใช้กระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่นแทน เพราะสามารถทนต่อการรับแรงดันลมบนผนังอาคารสูงได้ดี และเมื่อเวลาปริแตกกระจกจะยังเกาะอยู่ที่เฟรมจึงไม่ทำให้ร่วงหล่นลงมา จึงมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานทั้งภายใน และภายนอกอาคารที่อยู่ด้านล่างได้มากกว่ากระจกประเภทอื่น 

- ใช้ทำพื้นกระจก (Glass Floor) 

ในการทำพื้นกระจกนั้น เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิดที่ทำให้กระจกได้รับความเสียหาย หรือ ปริแตกนั้น กระจกฮีทสเตร็งเท่นลามิเนตจะแตกเป็นชิ้นใหญ่ โดยยังคงยึดติดอยู่กับกรอบเฟรม และฟิล์มลามิเนต โดยกระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่นอีกแผ่นหนึ่งที่รองรับอยู่ด้านใต้ จะยังคงให้ความปลอดภัย

- ใช้ทำหลังคากระจกสกายไลท์ในอาคารขนาดเล็ก หรือ อาคารขนาดใหญ่ (Skylight Glass)

กระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่นจะมีความเหมาะสม เพราะเมื่อแตกแล้วจะไม่ร่วงหล่นลงมาโดนผู้อยู่อาศัยที่อยู่ด้านล่าง และมีคุณสมบัติเด่นที่สามารถทนต่อแรงดันของลมที่อยู่บนหลังคาได้

Forewarning : ข้อควรระวังในการใช้งาน

เมื่อใช้งานภายนอกอาคารไปนานๆ สิ่งที่ต้องควรระวังก็คือ อาจเกิดปัญหาการแยกตัวของกระจก หรือที่เรียกว่า Delamination  ซึ่งเป็นข้อควรระวังเช่นเดียวกับกระจกลามิเนต แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากๆ

กระจกกันเสียง (Acoustic Glass)​ คืออะไร

กระจกกันเสียง คือ กระจกที่มีคุณสมบัติในการป้องกันเสียงรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะนำกระจกประเภทใดมาทำก็จะต้องมีความหนารวมไม่น้อยกว่า 12 มม.(ในกรณีที่ใช้กระจกแบบสองชั้น จะต้องมีช่องว่างระหว่างกระจก 70 มม.ขึ้นไป) และควรมีค่า Sound Transmission Class หรือค่า STC ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป ถ้าหากกระจกมีความหนามากกว่า 12 มม. ก็จะยิ่งมีค่า STC สูง ยิ่งค่า STC สูงมากเท่าใด ก็จะยิ่งป้องกันเสียงรบกวนได้มากขึ้นตามไปด้วย

ค่า STC หรือค่า Sound Transmission Class นั้นสามารถแบ่งได้หลายระดับ ซึ่งแต่ละระดับจะมีความสัมพันธ์กับลักษณะเสียงรบกวนแบบต่างๆ มีดังนี้

STC 30-39 ลดความดังของเสียงพูดคุยปกติได้ แต่ยังเข้าใจเนื้อหาการสนทนา 

STC 40-49 สามารถป้องกันเสียงพูดคุยปกติได้ จนไม่เข้าใจ หรือ จับใจความเนื้อหาการสนทนาไม่ได้

STC 50-59 ลดความดังของเสียงคนทะเลาะได้ แต่ยังจับใจความเข้าใจบทสนทนาได้ 

STC 60-69 ป้องกันเสียงรบกวนจากคนทะเลาะกัน และเสียงรถวิ่งได้เกือบ 100%

STC 70-74 ลดความดังของเสียงดนตรีที่เล่นอีกฝั่งได้ แต่ยังได้ยินอยู่บ้าง 

STC 75 ขึ้นไป ป้องกันเสียงรบกวนจากการเล่นดนตรีได้เกือบ 100%

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

ในการทำกระจกกันเสียงนั้น ประเภทกระจกที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบมีอยู่ 3 ประเภท ดังนี้

1. กระจกชั้นเดียว (Single Glazing) คือ กระจกที่มี Layer เดียวแบบเพียวๆไม่ว่าจะเป็นกระจกใส หรือ กระจกนิรภัยเทมเปอร์ฯลฯ

2. กระจกลามิเนต (Laminated Glass) คือ การนำกระจก 2 แผ่นขึ้นไป มาประกบกันแบบสนิท โดยมีชั้นฟิล์ม PVB (Polyvinyl Butyral) ,EVA (Ethylene-vinyl acetate) หรือ SentryGlas ขั้นกลางระหว่างกระจกทั้งสองแผ่น ซึ่งฟิล์มจะช่วยยึดเกาะแผ่นกระจกไม่ให้ร่วงหล่นเวลาแตก

3. กระจกสองชั้น (Double Glazing) คือ การนำกระจก 2 แผ่น (จะใช้กระจกชั้นเดียว หรือ กระจกลามิเนต ก็ได้) มาประกบกันโดยเว้นช่องว่างระหว่างกระจกไว้

Material Type : ประเภทของกระจกกันเสียง

มี 4 ประเภท ดังนี้

1. กระจกชั้นเดียว (Single Glazing) กระจกประเภทนี้ยิ่งมีความหนามาก ยิ่งป้องกันเสียงได้ดี ส่วนใหญ่ใช้เป็นกระจกสำหรับประกอบทำกระจกกันเสียง ไม่นิยมนำไปติดตั้งแบบเดี่ยวๆ เนื่องจากกระจกชั้นเดียวเวลาแตกจะร่วงหล่น และมีความแหลมคนเป็นอันตราย 

2. กระจกลามิเนต (Laminated Glass) เป็นกระจกที่นิยมใช้กันค่อนข้างมากเพราะให้ความปลอดภัยสูง เวลากระจกแตกชั้นฟิล์มที่อยู่ตรงกลางระหว่างกระจกทั้งสองแผ่นจะยึดเกาะแผ่นกระจกเอาไว้ไม่ให้ร่วงหล่นลงมา กระจกลามิเนตถ้าหากมีความหนาใกล้เคียงกับกระจกชั้นเดียว กระจกลามิเนตจะกันเสียงได้ดีกว่า เช่น กระจกลามิเนต 6 + 0.38 + 6 มม. (กระจก+ชั้นฟิล์ม+กระจก) = ความหนารวม 12.38 มม. จะหนา และกันเสียงได้ดีกว่ากระจกชั้นเดียว 12 มม. และจะมีค่า STC ที่สูงกว่า  

3. กระจกสองชั้น (Double Glazing) กระจก 2 ชั้นที่จะกันเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีช่องว่างตรงกลางระหว่างกระจกไม่น้อยกว่า 70 มม. (7 ซม.) ถึงจะได้ค่า STC ที่สูงขึ้น

4. กระจกสองชั้น แบบผสมผสาน (Double Glazing Mix & Match) ลักษณะจะคล้ายกับข้อ 3 แต่จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงที่เพิ่มขึ้น โดยแผ่นกระจกจะเปลี่ยนจากกระจกชั้นเดียว เป็นกระจกลามิเนตแทนในส่วนที่เป็นผนังด้านใน หรือ ด้านที่ใกล้ชิดกับผู้ใช้งาน เพราะเวลากระจกแตกจะให้ความปลอดภัยโดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน จึงกลายเป็นกระจกกันเสียงอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำไปใช้งาน แต่ค่อนข้างราคาสูง

 Benefit : ข้อดี

- มีความแข็งแรง ทนต่อการบุกรุก หรือ โจรกรรม มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน

- สามารถทำความสะอาดได้ง่าย 

- ช่วยลดรังสียูวี และป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Disadvantage : ข้อเสีย

- มีน้ำหนักค่อนข้างมาก เพราะหนากว่ากระจกทั่วไป

- ขนาดของกรอบเฟรม มีขนาดที่กว้างขึ้นกว่ากระจกทั่วไป

Application : การนำไปใช้งาน

โดยส่วนใหญ่แล้วกระจกกันเสียงจะถูกนำไปติดตั้งเป็นผนัง ประตู หรือ หน้าต่าง เป็นหลัก การนำกระจกกันเสียงไปใช้งาน ค่า STC จะต้องมีความสัมพันธ์เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่การใช้งานแบบต่างๆ ดังนี้

STC 30-39 เหมาะกับอาคารที่พักอาศัยทั่วไป

STC 40-49 เหมาะกับร้านค้า ร้านอาหาร และอาคารสาธารณะทั่วไป

STC 50-59 เหมาะกับห้องประชุม พื้นที่สำนักงาน พิพิธภัณฑ์ หรืออาคารพักอาศัยที่ต้องการความเป็นส่วนตัว 

STC 60-69 เหมาะกับห้องโฮมเธียเตอร์ ห้องคาราโอเก๊ะ ห้องอัดเสียงจัดรายการ หรือ สนามบิน

STC 70-74 เหมาะสำหรับโรงภาพยนตร์  โรงละคร หรือ เธียเตอร์สำหรับจัดงานคอนเสิร์ต

STC 75 ขึ้นไป เหมาะกับสถานบันเทิง

Forewarning : ข้อควรระวังในการใช้งาน

ในส่วนนี้อาจจะไม่ใช่ข้อควรระวังเท่าใดนัก แต่จะเป็นการแนะนำเพิ่มเติมมากกว่า ก่อนจะรู้จักกับกระจกกันเสียง หรือ นำกระจกกันเสียงไปใช้งาน เพื่อประสิทธิภาพในการใช้งานสูงสุด เราจำเป็นต้องรู้จักกับค่า STC ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่ใช้กันในระดับสากลให้เข้าใจเสียก่อน โดยค่า STC จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าค่าที่อยู่ในระดับใดจึงจะเหมาะสมกับการป้องกันเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสอดคล้องกับประเภทพื้นที่การใช้งานแบบใดบ้างนั่นเอง

Sound Transmission Class หรือค่า STC เป็นค่าที่ได้จากการทดสอบในห้องทดลอง ด้วยการแบ่งห้องว่างออกเป็น 2 ห้อง ห้องแรกจะเป็นห้องที่มีผนังหนามิดชิดเพื่อป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก จากนั้นก็จะนำวัสดุที่ต้องการทดสอบ เช่น ประตู แผ่นผนังสำเร็จรูป แผ่นฝ้าเพดาน หรือ กระจก มาติดตั้งขั้นกลางระหว่าง 2 ห้อง จากนั้นจะปล่อยพลังเสียงที่มีความดัง แล้วทำการวัดเสียงแบบแยกความถี่ทั้ง 2 ห้อง เพื่อหาส่วนต่าง หรือเรียกว่าค่า Transmission Loss คือ ค่าที่วัสดุที่ทำการทดสอบสามารถป้องกันเสียงได้นั่นเอง จากนั้นจะนำค่า Transmission Loss หรือ TL ออกมาแยกความถี่ในระดับต่างๆ เพื่อดูความสัมพันธ์ระว่างความถี่ (Hz) และค่าเดซิเบลที่ได้ จากนั้นจะนำความสัมพันธ์ในระดับต่างๆไปคำนวนด้วยกราฟเพื่อหาค่า Sound Transmission Class หรือค่า STC ที่เหมาะสมต่อไป

กระจกฉนวนความร้อน ( Insulated Glass)​ คืออะไร

กระจกฉนวนความร้อน คือ กระจกดัดแปลงด้วยกระบวนการ (Process) ต่างๆ เพื่อตอบสนองจุดประสงค์การใช้งานในการป้องกันความร้อน และการประหยัดพลังงานเป็นหลัก โดยการนำกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปมาประกบกัน (กระจกที่นำมาใช้เลือกได้หลายประเภท) โดยมีเฟรมอลูมิเนียม และช่องว่างคั่นกลางระหว่างกระจกทั้ง 2 แผ่น โดยช่องว่างดังกล่าวจะบรรจุสารดูดความชื้นแล้วใส่ฉนวน เช่น อากาศแห้ง หรือ ก๊าซเฉื่อย เพื่อคุณสมบัติในการป้องกัน หรือ ลดความร้อนจากภายนอกที่จะเข้าสู่ภายในอาคาร และมีผลโดยตรงต่อการใช้พลังงานในอาคาร จึงทำให้ประหยัดการใช้พลังงานภายในอาคารได้มากขึ้น

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

- แผ่นกระจกประเภทต่างๆ เช่น กระจกนิรภัยเทมเปอร์ กระจกโฟลต หรือ กระจกลามิเนต ฯลฯ

- โลหะ หรือ อโลหะคั่นกลาง เช่น เฟรมอลูมิเนียม หรือ ซิลิคอน

- มวลธาตุ เช่น ก๊าซเฉื่อย หรือ อากาศแห้ง

- สารผสมชนิดต่างๆ เช่น สารดูดความชื้น ,สารสะท้อนแสง หรือ เสารกรองแสง

Material Type : ประเภทของกระจกฉนวนความร้อน

สามารถจำแนกประเภท ได้ดังนี้

- กระจกฉนวนความร้อนชนิดปลายหลอมเข้าหากัน

คือ การนำแผ่นกระจก 2 ชั้น หรือมากกว่าวางซ้อนกัน โดยมีช่องว่างระหว่างกระจกทั้ง 2 แผ่น ที่เป็นอากาศคั่นกลางเพื่อช่วยกั้นเป็นฉนวนกันความร้อน และลดการควบแน่นเป็นหยดน้ำ กระจก 2 ชั้นแบบชนิดปลายหลอมเข้าหากัน จะผลิตจากแผ่นกระจก โดยที่ปลายกระจกทั้ง 2 แผ่นจะถูกหลอมเข้าหากัน โดยช่องว่างภายในจะบรรจุก๊าซเฉื่อย หรือ อากาศแห้ง เหมาะกับการนำไปใช้ทำช่องแสงขนาดไม่ใหญ่มาก ในอาคารพักอาศัยขนาดเล็ก หรือร้านค้า และสำนักงานขนาดกลาง

- กระจกฉนวนความร้อนชนิดปลายแยก

คือ กระจกที่มีการจัดระยะด้วยการใช้โลหะ หรือ อโลหะคั่นกลาง เช่น เฟรมอลูมิเนียม หรือ ซิลิคอน และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพโดยการเพิ่มสารดูดความชื้นเพื่อป้องกันในกรณีที่มีความชื้นหลงเหลืออยู่ภายใน โดยจะดูดความชื้นจากอากาศให้แห้งเพื่อไม่ให้เกิดหยดน้ำ

นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มประสิทธภาพในการเป็นฉนวนกันความร้อน โดยการนำกระจกไปผสมสีอ่อนๆ (Tinted Float Glass) ,เคลือบสารที่มีคุณสมบัติการแผ่รังสีต่ำ (Heat Mirror Glass) หรือ เคลือบสารสะท้อนแสง (Heat Stop Glass) บนกระจก โดยจะเคลือบเพียงด้านเดียว หรือ สองด้านก็ได้ ซึ่งจะช่วยลดรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่เดินทางผ่านช่องว่างภายในกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

กระจกฉนวนความร้อนชนิดปลายแยก จึงเหมาะกับการนำไปใช้ทำช่องแสงขนาดใหญ่ ในอาคารขนาดใหญ่ หรือ อาคารระฟ้าที่มีความสูงค่อนข้างมาก 

 Benefit : ข้อดี

- ป้องกันการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกเข้ามาในอาคาร และสามารถสะท้อนความร้อนได้ถึง 95%-98%

- ช่วยลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ และช่วยรักษาอุณหภูมิภายในอาคารให้คงที่สม่ำเสมอ

- ยอมให้แสงผ่านเข้ามาภายในอาคารมากแต่ความร้อนที่จะผ่านกระจกเข้ามาน้อยมาก

- ไม่ทำให้เกิดฝ้า หรือ หยดน้ำ แม้ว่าอุณหภูมิภายในกับภายนอกจะแตกต่างกันมาก

- ช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอกอาคารได้ดีกว่ากระจกธรรมดา

- สามารถรับแรงดันลมได้

- ให้ความปลอดภัยในอาคาร ในกรณีที่ใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์ หรือ กระจกนิรภัยหลายชั้นมาผลิตเป็นกระจกฉนวนความร้อน

Disadvantage : ข้อเสีย

- มีน้ำหนักค่อนข้างมาก เพราะหนากว่ากระจกทั่วไป

- ขนาดของกรอบเฟรม มีขนาดที่กว้างขึ้นกว่ากระจกทั่วไป

- ต้องเผื่อระยะในการติดตั้งมากกว่ากระจกทั่วไป

Application : การนำไปใช้งาน

สามารถนำไปใช้งานได้กับอาคารขนาดเล็ก ไปจนถึงอาคารขนาดใหญ่ หรือ อาคารสูงระฟ้า ที่ต้องการควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นด้านเสียง ,อุณหภูมิ และการประหยัดพลังงาน 

Forewarning : ข้อควรระวังในการใช้งาน

- ไม่ควรใช้งานในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียสเนื่องจากอาจทำให้อายุการใช้งานสั้นลง

- ไม่ควรให้ลมจากเครื่องปรับอากาศกระทบกระจกโดยตรง

กระจกโฟลต (Float Glass)​​ คืออะไร

กระจกโฟลต คือ กระจกที่มีความโปร่งแสงสูง ผิวเรียบสนิท มีความแข็งแรง การสะท้อนสามารถทำได้ดี ฟองอากาศน้อย และมีการจัดเรียงตัวของโมเลกุลภายในเนื้อกระจกที่ดีกว่า กระจกแผ่น Sheet Glass (Sheet Glass คือ กระจกแผ่นที่ขึ้นรูปด้วยการดึงรีดแผ่นแก้วด้วยระบบลูกกลิ้ง ซึ่งมักจะทำให้ผิวกระจกเป็นลอนคลื่นไม่เรียบ)  โดยกระจกโฟลตในท้องตลาด ที่นิยมนำไปใช้งานจะมีขนาดความหนาตั้งแต่ 2 มม. ไปจนถึง 19 มม.

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

กระจกโฟลต เป็นกระจกที่ได้มาจากกระบวนการผลิตที่เรียกว่า กระบวนการโฟลต (Float Process) โดยให้วัตถุดิบหลัก ก็คือ น้ำแก้ว หรือ น้ำกระจก ไหล และลอยบนดีบุกหลอม ภายใต้อุณหภูมิ และความดันที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ผิวทั้งสองด้านของกระจกขนาน และเรียบสนิท ให้ภาพการมองผ่านที่ชัดเจนและภาพสะท้อนที่สมบูรณ์

ในกรณีที่ต้องการทำกระจกสีตัดแสง จะมีการผสมโลหะออกไซด์เข้าไปในส่วนผสม (Batch Mix) ในขั้นตอนการผลิตกระจก เพื่อให้เกิดสีสัน และคุณสมบัติในการดูดกลืนความร้อนจาก
แสงอาทิตย์ที่ส่องมากระทบผิวกระจก และช่วยลดปริมาณแสงที่ผ่านกระจก จึงทำให้ได้แสงที่นุ่มนวล และเกิดความสบายตาในการมอง ซึ่งปริมาณแสงที่จะทะลุผ่านกระจกสีนั้นจะขึ้นอยู่กับความเข้มของสี ความหนา และสีของกระจก 

Material Type : ประเภทของกระจกโฟลต​

สามารถจำแนกประเภท ได้ดังนี้

- กระจกโฟลตใส (Clear Float Glass) เป็นกระจกที่มีรอยต่อระหว่างกระจกน้อย เนื้อกระจกมีความราบเรียบสม่ำเสมอ ให้ภาพการมองผ่านที่ชัดเจน และให้มิติภาพสะท้อนที่สมบูรณ์

- กระจกสีตัดแสง (Tinted Float Glass) เป็นกระจกที่ให้ความสวยงาม มีสีสันที่หลากหลาย และช่วยดูดกลืนความร้อน รวมถึงช่วยลดความจ้าของแสงที่ส่องผ่านกระจกสี จึงทำให้เกิดความสบายตาในการมอง (ปริมาณของแสงที่ทะลุผ่านกระจกสี ขึ้นอยู่กับความหนาของสี และความเข้มข้นของสีในเนื้อกระจก)

 Benefit : ข้อดี

- โปร่งใส ให้แสงส่องผ่านได้สูง

- สามารถนำไปเคลือบโลหะเป็นกระจกสะท้อนแสง และกระจกประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี

- ทนการขูดขีด ผิวเรียบ ให้มิติการสะท้อนที่สมบูรณ์

- สามารถนำไปแปรรูปในการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระจกนิรภัยลามิเนต ,กระจกฉนวนความร้อน ,กระจกเคลือบสี ,กระจกเงา ,กระจกดัดโค้ง ,กระจกพ่นทราย ,กระจกแกะสลัก ,กระจกพิมพ์ลาย และอื่นๆ เป็นต้น

Disadvantage : ข้อเสีย

- ปริแตกง่าย เสี่ยงต่อความปลอดภัย เนื่องจากลักษณะการแตกที่เป็นปากฉลาม มีความแหลมคม

- ไม่ทนต่ออุณหภูมิสูง

- มีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก และไม่สามารถทนต่อแรงดันลมในที่สูงได้

Application : การนำไปใช้งาน

สามารถนำไปใช้งานได้ทั้งภายใน และภายนอกอาคารทุกประเภท เช่น ประตู ,หน้าต่าง ,การตกแต่งภายใน ,บ้านพักอาศัย ,อาคารสำนักงาน ,ร้านค้าทั่วไป ,ห้องแสดงสินค้า ,หน้าร้าน หรือ ตู้แสดงสินค้าทั่วไป

Forewarning : ข้อควรระวังในการใช้งาน

กระจกโฟลตเมื่อปริแตก จะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ มีความแหลมคม หรือที่เรียกว่าแตกเป็นปากฉลาม ดังนั้นข้อควรระวังในการเลือกใช้งาน ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ใช้ติดตั้งในจุดที่เสี่ยงต่อการกระทบกระแทก หรือ จุดที่มีอุณหภูมิสูงๆ เช่น หน้าเตาไฟในห้องครัว เพราะมีโอกาสแตก และเป็นอันตรายได้ง่าย

กระจกมู่ลี่ (Internal  Blinds)​​ คืออะไร

Internal Blinds (กระจกมู่ลี่) คือ การรวมกระจกฉนวนแบบอากาศแห้งกับม่านปรับแสงให้เป็นชิ้นเดียวกัน หรือ พูดง่ายๆก็คือ มู่ลี่ถูกประกบด้วยกระจกทั้ง 2 ด้าน ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดปัญหาที่พบทั่วไปในครัวเรือน ซึ่งมักจะเกิดคราบสกปรกสะสม โดยเฉพาะบ้านที่ใช้ผ้าม่าน หรือ มู่ลี่แบบปกติ เมื่อมีคราบสกปรกจะทำความสะอาดได้ยาก โดยเฉพาะตามซี่ หรือ ช่องซอกของมูลี่แบบเดิม มิหนำซ้ำเมื่อใช้งานไปนานๆประกอบกับการทำความสะอาดได้ยาก และอาจไม่ทั่วถึงในบางจุด จึงทำให้มู่ลี่แบบเดิมกลายเป็นตัวสะสมฝุ่น คราบสกปรก หรือ เชื้อโรคเอาไว้ได้ง่ายอีกด้วย ซึ่งจะทำให้มีอายุการใช้งานได้ไม่นานเท่าที่ควร 

การที่มีวัสดุอย่างกระจกประกบมู่ลี่เอาไว้ จึงช่วยป้องกันคราบสกปรก และฝุ่นไม่ให้เข้าไปเกาะมู่ลี่ภายในช่องว่างระหว่างแผ่นกระจกได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ได้หลาย Solution ทั้งการเปิดบานหน้าต่างเพื่อรับลม เปิดมู่ลี่รับแสง หรือปิดเพื่อความเป็นส่วนตัวก็ได้ หากติดตั้งบริเวณประตู หรือ หน้าต่างในห้องครัว กระจกที่ประกบมู่ลี่เอาไว้ทั้ง 2 ด้าน จะช่วยป้องกันคราบมันสกปรกจากการทำอาหารได้ โดยสามารถเช็ด หรือ ทำความสะอาดได้ง่ายอีกด้วย

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​

- กระจกด้านใน และด้านนอก จะต้องเป็นกระจกที่มีความโปร่งแสงเพื่อรับแสงสว่าง แต่ก็สามารถป้องกันแสง UV ,ฝุ่น  และให้ความปลอดภัย จะใช้เป็นกระจกธรรมดา หรือ กระจกเทมเปอร์ได้

- แผ่นมู่ลี่ ที่สามารถเปิดรับแสง หรือปิดเพื่อกันแสงได้

- เฟรมอลูมิเนียม หรือ UPVC ที่มีความแข็งแรง ทนทาน

- ซิลิโคน ซีล สำหรับซิลปิดช่องว่างระหว่างกระจกกับเฟรม เพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำ

 Benefit : ข้อดี

- ไม่สะสมฝุ่น และคราบสกปรก

- มีความแข็งแรงทนทาน

- ทำความสะอาดได้ง่ายกว่ามู่ลี่ทั่วไป

- ช่วยลดแสง UV และป้องกันความร้อน

- ป้องกันน้ำ ไอน้ำ และป้องกันการเกิดฝ้าเกาะกระจก

- ช่วยลดเสียงรบกวน

Disadvantage : ข้อเสีย

- มีขนาดความหนา และน้ำหนักมากกว่ากระจกทั่วไป

- เมื่อกลไกภายในเสียหาย จะต้องรื้อออกสถานเดียว จึงจะทำการซ่อมแซมได้

Application : การนำไปใช้งาน

สามรถนำไปใช้งานได้กับอาคารขนาดเล็ก และอาคารขนาดกลาง เช่น บ้านพักอาศัย โรงเรียน โรงแรม หรือ สำนักงาน ฯลฯ

ในส่วนประเภทการนำไปใช้งานจะมี 3 รูปแบบ คือ ประตูกระจกมู่ลี่ หน้าต่างกระจกมูลี่  และ บานกระจกมูลี่

Forewarning : ข้อควรระวังในการใช้งาน

เวลาจะยกมู่ลี่ขึ้นต้องปรับให้ตั้งตรงก่อนเสมอ เพื่อป้องกันความเสียหาย และช่วยยืดอายุการใช้งานให้ยาวนาน ซึ่งถ้าหากเกิดความเสียหายกับกลไกภายในจะต้องรื้อออกสถานเดียว จึงจะซ่อมแซมได้

ทั้งนี้ก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้วัสดุกระจกประเภทใดๆนั้น ควรไตร่ตรองดูอย่างละเอียดในทุกๆมิติ เนื่องจากมีองค์ประกอบในการตัดสินใจที่หลากหลาย นอกจากข้อมูลคุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย ของวัสดุกระจกแต่ละประเภท​ ชุดนี้แล้ว 

เราควรพิจารณาดูว่ากระจกประเภทนั้นๆมีความเหมาะสมกับบริบทสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ที่เราจะตกแต่งมากน้อยเพียงใด รวมถึงปัจจัยอื่นๆอีก เช่น ความปลอดภัยในการใช้งาน ,การดูแลรักษา ,การทำความสะอาด ,การซ่อมบำรุง หรือ อายุการใช้งาน เพราะเมื่อตัดสินใจไปแล้วมันจะอยู่กับคุณไปอีกนาน และคงไม่มีใครอยากจะแก้ไข หรือ ปรับปรุงบ่อยๆแน่นอน

ถ้าหากบทความนี้ให้ความรู้ และเป็นประโยชน์กับทุกๆท่าน กรุณาช่วยแชร์ต่อเพื่อเป็นกำลังใจให้ wazzadu.com ด้วยนะครับ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ