รวมข้อมูลคุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย ประตูไม้เทียม (Wood Composite Door) แต่ละประเภท

Type: Decorative Material (วัสดุตกแต่ง)

Category: ประตูไม้เทียม (Wood Composite Door)

Summary Product Data​: ข้อมูลที่น่าสนใจของประตูไม้เทียม 

ไม้เทียม หมายถึงวัสดุที่ผลิตจากส่วนผสมของไม้และวัสดุอื่นๆ เช่นสารเคมีบางอย่างเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติและการใช้งานทางด้านสถาปัตยกรรมเหมือนกับไม้ แต่มีคุณสมบัติที่ดีกว่าหลายประการ เช่น ไม่บิด โก่ง หรืองอ และที่สำคัญคือการกันปลวกซึ่งมักเป็นปัญหาใหญ่ที่รบกวนจิตใจของผู้ใช้ไม้มาเสมอ 

เมื่อพูดถึงประตูไม้เทียม หลายๆท่านอาจจะนึกถึงคำว่า ประตูเอ็นจิเนียร์ วู้ด (Engineered Wood Door), ลามิเนต (Laminate) หรือวีเนียร์ (Veneer) ซึ่งจริงๆแล้วอาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เรามาทำความเข้าใจศัพท์เทคนิคบางคำที่มักใช้ผิดกันก่อนดีกว่า

.

ประตูเอ็นจิเนียร์ วูด (Engineered Wood Door) คือไม้จริง แต่เป็นไม้จริงที่ผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมขั้นสูงอัดกับไม้เสี้ยนประสานสลับชั้นกันกับน้ำกาวคุณภาพสูง แล้วนำไปอบควบคุมความชื้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการบิดงอหรือขยายตัวง่ายของไม้จริง ซึ่งใช้ทำเป็นโครงสร้างของประตูแล้วปิดทับด้วยวัสดุนิดอื่น เพราะฉะนั้นการเรียกประตูเอ็นจิเนียร์ว่าประตูไม้เทียมจึงไม่ถูกต้องนัก  

.

ประตูไม้ลามิเนต (Laminate) จริงๆแล้วคำว่าลามิเนตมักใช้ในการเรียกผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากวัสดุบางๆต่างชนิดมาซ้อนทับกันแล้วเชื่อมประสานด้วยกาว โดยชั้นบนสุดจะเป็นชั้นที่โชว์ลวดลายซึ่งอาจจะเป็นสีเรียบ ลายหินหรือลายไม้ และเป็นผิวเรียบหรือมีเท็กเจอร์ก็ได้ เพราะฉะนั้นคำว่าประตูลามิเนตจึงหมายถึงวัสดุที่ปิดผิวหน้าบานเท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุถึงโครงสร้างด้านในแต่อย่างใด เช่นเดียวกันกับประตูไม้วีเนียร์ (Veneer) ที่เป็นการระบุถึงวัสดุปิดผิวหน้าบานเพียงเท่านั้น 

Specific Data: ข้อมูลจำเพาะของประตูไม้เทียม (Wood Composite Door)

- Environmental Effect: คุณสมบัติเด่นเฉพาะตัวของประตูไม้เทียม

ประตูไม้เทียม มีความพิเศษคือแม้ว่าจะผลิตมาจากส่วนผสมของไม้และวัสดุอื่นๆ แต่ก็ให้มิติของผิวสัมผัสที่ไม่ต่างจากไม้ธรรมชาติ ด้วยลวดลายของไม้ที่ไม่ซ้ำกัน สีของไม้ที่ให้ความรู้สึกที่สวยงาม อบอุ่น สบายตา อีกทั้งยังมีความคงทนแข็งแรง และมีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างยาวนานกว่าไม้จริงถ้าหากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

- Size: ขนาด

ขนาดมาตรฐานของบานประตูไม้ที่นิยมนำมาใช้งาน
700 x 2000 มม. (สำหรับใช้เป็นบานประตูห้องน้ำ หรือห้องซักล้าง)
800 x 2000 มม., 900x 2000 มม. (สำหรับใช้เป็นบานประตูห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องทั่วไป)
900 x 2000 มม., 1000 x 2000 มม. (สำหรับใช้เป็นประตูบานเดี่ยวหน้าบ้าน หรือบานทั่วไป)

Application: ประเภทของบานประตูไม้เทียมและการนำไปใช้งาน

ประตูไม้เทียม มักจะถูกนำไปติดตั้งในรูปแบบ บานเปิด และบานเลื่อน เป็นส่วนใหญ่ ในที่นี้จะพูดถึงโครงสร้างประตูที่ผลิตจากวัสดุไม้เทียมเป็นหลัก 

 

Raw material: วัสดุและส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิตโครงสร้างประตูไม้เทียม (Wood Composite Door) ซึ่งสามารถแบ่งได้ 7 ประเภท ดังนี้

1. วัสดุไม้พลาสติก (Plaswood)

2. วัสดุไม้ไฟเบอร์ซีเมนต์ (Fiber Cement Board)

3. วัสดุไม้สังเคราะห์พลาสติก WPC (Wood-Plastic Composite) 

4. วัสดุไม้อัด หรือ ไม้ MDF (Medium Density Fiber Board) 

5. วัสดุฮาร์ดบอร์ด หรือ ไม้ HDF (High Density Fiber Board) 

6. วัสดุไม้ LVL (Laminated Veneer Lumber) 

7. วัสดุผสม หรือ ไม้ Engineer (Engineered Wood)

วัสดุไม้พลาสติก (Plaswood) คือแผ่นพีวีซีชนิดแข็ง (PVC Foam Sheet) มีลักษณะเรียบนำมาใช้งานได้เอนกประสงค์ไม่ว่าจะเป็นบานประตู หรือที่นิยมกันอย่างมากคือฉลุลายแล้วตกแต่ง Facade หรือ Retail shop แผ่นพลาสวูดโดยทั่วไปขนาดหน้ากว้าง 1.20 ม. สามารถผลิตได้ความยาวสูงสุดถึง 6 ม. มีความหนาตั้งแต่ 1 มม. ถึง 35 มม. เป็นผลิตภัณฑ์ Rigid PVC Integral ที่มีคุณภาพสูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้ทดแทนการใช้ไม้ธรรมชาติ 

ข้อดี: สามารถเจาะช่องสำหรับใส่กระจกได้โดยการเจาะจากสันด้านบนของตัวบานเป็นช่องขนาด 8 มม. สำหรับใส่กระจกที่มีความหนา 3-6 มม. แล้วยาแนวกันกระจกกระพือด้วยซิลิโคนใสจากนั้นจึงปิดด้วยคิ้วเป็น (แผ่นพลาสวูดที่ตัดเป็นเส้นมาปิดเป็นคิ้ว) หรือจะตัดแผ่นที่มีคิ้วตายสำเร็จมาเลยก็ได้ นอกจากนั้นยังสามารถทำลวดลายพิเศษด้วยการเลเซอร์คัทได้แต่ต้องใช้แผ่นพลาสวูดที่มีความหนา 35 มม. ขึ้นไป วัสดุค่อนข้างทนน้ำเลยทีเดียว ตัวบานสามารถแช่อยู่ในน้ำได้โดยไม่บิดงอ สามารถทำบานสูงพิเศษได้แบบไม่มีรอยต่อโดยการใช้โครงอะลูมิเนียมเสริมความแข็งแรงด้านใน

ข้อเสีย: เนื่องจากแผ่นพลาสวูดส่วนใหญ่ที่มีขายทั่วไปนั้นมีสีขาว ลักษณะเรียบไม่มีลายไม้ปรากฎให้เห็นเด่นชัด ปัจจุบันแม้ว่าเริ่มมีรุ่นที่ผสมสีลงไปในเนื้อพลาสวูดเลยแต่วก็ยังไม่ให้อารมณ์ที่เหมือนไม้จริงมากนัก

วัสดุไม้ไฟเบอร์ซีเมนต์ (Fiber Cement Board)​ ส่วนผสมของแผ่นซีเมนต์บอร์ดประกอบด้วย “ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์” (ซึ่งเป็นวัสดุที่แข็งแรงแต่เปราะหักง่ายหากรีดเป็นแผ่นบาง) ผสมกับวัสดุอื่นที่มีความเหนียวยืดหยุ่นแล้วอัดด้วยแรงดันสูงเป็นแผ่น วัสดุที่นำมาผสมกับปูนซีเมนต์จะเป็นตัวกำหนดชนิดของซีเมนต์บอร์ด หากเป็นเส้นใยเซลลูโลสจากต้นไม้ผนวกกับทรายซิลิกาจะเรียกว่า “แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์” (Fiber Cement Board) แต่ถ้าเป็นชิ้นไม้จะเรียกว่า “แผ่นไม้อัดซีเมนต์” (Wood Cement Board หรือ Cement Bonded Particle Board)

ข้อดี: มีความยืดหยุ่นในตัว แข็งแรงทนทาน ปลวกไม่กิน และทนความเปียกชื้นได้ดี สามารถใช้ได้ทั้งแบบบานตัน และเป็นวัสดุปิดผิวหน้าบานโดยมีโครงสร้างเป็นไม้เนื้อแข็งด้านใน

ข้อเสีย: ตัวบานสำเร็จรูปจากโรงงานจะมีสีขาว การทำสีต้องใช้สีเฉพาะสำหรับทาซีเมนต์บอร์ดเท่านั้นและต้องอาศัยฝีมือของช่างพอสมควร นอกจากนี้เนื่องจากวัสดุมีความกรอบดังนั้นการตกแต่งลวดลายเพิ่มเติมจึงไม่แนะนำเพราะอาจทำให้หน้าบานเสียหายได้

วัสดุไม้สังเคราะห์พลาสติก WPC (Wood Plastic Composite) เป็นประเภทของการผลิตจากผงไม้ธรรมชาติคัดพิเศษ (Wood Powder) ผสมกับ Plastic Recycle (PE) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุ เรียกได้ว่าเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเป็นการ Reuse วัสดุเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ วัสดุ WPC มีการผลิตออกมาเป็นทั้งโครงประตูและวัสดุปิดหน้าบาน 

ข้อดี: สำหรับส่วนที่เป็นหน้าบานนั้นให้สัมผัสที่เหมือนไม้ธรรมชาติค่อนข้างมาก สีไม่หลุดลอกหรือซีดจางเพราะมีการผสมสีลงไปในเนื้อวัสดุเลยจึงไม่จำเป็นต้องทาสีทับอีก ทำจากไม้บดผสมพลาสติกนำมาผ่านกระบวนการรีดขึ้นรูป สามารถเช็ดล้างทำความสะอาดได้ ในส่วนที่เป็นโครงประตูก็มีความแข็งแรงทนทานใช้งานได้นานกว่าไม้จริง ทนน้ำและความชื้น สามารถแช่อยู่ในน้ำหรือตากฝนได้โดยไม่บวมพอง ไม่ลามไฟ ปลวกไม่กิน สามารถใช้เครื่องมือช่างทั่วไป ในการตัด เจาะ ไส้ บาก ได้อย่างง่ายดาย สามารถติดตั้งอุปกรณ์มือจับและกุณแจล็อคทุกประเภท 

ข้อเสีย: เนื่องจากตัววัสดุเป็นการรีดขึ้นรูปสำเร็จจากโรงงาน ดังนั้นขนาดหรือลวดลายจึงเป็นข้อจำกัดในการใช้งานเพราะไม่สามารถปรับแต่งรูปแบบได้

 

แนะนำวัสดุตัวอย่าง

วัสดุไม้อัด หรือ ไม้ MDF (Medium Density Fiber Board) หรือ เรียกว่าแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลางซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประเภท Composite Panel ชนิดหนึ่งที่ได้จากการนำเส้นใยของไม้หรือเส้นใยของวัสดุลิกโนเซลลูโลส (Lignocelluloses Material) วัตถุดิบที่ใช้คือ ยูคาลิปตัส ยางพารา ฯลฯ นำมาผสมกับกาวสังเคราะห์ แล้วจึงอัดเป็นแผ่นโดยกรรมวิธีแห้ง คืออัดด้วยความร้อน (Dry Process) เพื่อให้เกิดการยึดเหนี่ยวระหว่างเส้นใยจนเป็นเนื้อเดียวกันโดยมีกาวเป็นตัวช่วยประสาน การใช้งานสามารถใช้เป็นวัสดุปิดผิวหน้าบาน หรือเป็นแผ่นรองก่อนปิดหน้าบานด้วยวัสดุปิดผิวอื่นเช่น วีเนียร์ และสามารถใช้เป็นโครงประตูได้เช่นกันแต่ให้ใช้เป็นโครงเสริมเท่านั้นตัวกรอบบานยังต้องใช้เป็นไม้จริงอยู่เพราะไม้อัดนั้นยังแข็งแรงไม่เพียงพอ

ข้อดี: มีผิวเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั่วทั้งแผ่น มีความหนาแน่นและความเรียบสม่ำเสมอตลอดทั้งแผ่น สามารถขูดแต่งเนื้อไม้ได้เรียบเนียนงานที่ออกมาจึงดูเรียบร้อยไม่เป็นขุย สามารถพ่นสีทับลงบนเนื้อไม้ได้เรียบเนียนสวยงาม

ข้อเสีย: เนื่องจากวัสดุมีผิวเรียบและเกิดจากการผสมของผงไม้ผิวหน้าบานจึงไม่มีลวดลายของไม่ให้เห็น จึงไม่เหมาะสำหรับพื้ที่ที่ต้องการความสวยงาม และไม่เหมาะกับพื้นที่ที่มีความชื้น เช่น ห้องน้ำหรือห้องซักล้าง

วัสดุฮาร์ดบอร์ด หรือ ไม้ HDF (High Density Fiber Board) แผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นสูง เกิดจากการเพิ่มชั้นไม้ให้มีความหนาแน่นสูงขึ้น คือมากกว่า 840 kg/m3 ทำให้ได้แผ่นบอร์ดเนื้อแน่น ความแข็งแรงสูง ผิวหน้าเรียบเนียน เหมาะกับงานที่ต้องรับแรงมากกว่าไม้ MDF

ข้อดี: มีผิวสัมผัสแบบเสี้ยนไม้ที่มีความ คม ชัด ลึก สวยงามเป็นธรรมชาติ มีความคงทนต่อการใช้งานดี เพราะไม่ดูดซึมน้ำ ไม่ยืดหดตัว หรือบิดงอ และรับแรงกระแทกได้ดี

ข้อเสีย: การใช้งานเหมาะสำหรับพื้นที่ภายในเท่านันไม่สามารถโดนแดดฝนได้โดยตรง

วัสดุไม้ LVL (Laminated Veneer Lumber) เป็นไม้เชิงวิศวกรรมที่ประกอบไปด้วยไม้แผ่นบางๆ มาประกอบกันโดยใช้กาวแล้วอัดด้วยความร้อน ในต่างประเทศ LVL ถูกใช้มากในงานโครงสร้างอาคารและงานเชิงวิศวกรรมที่ต้องการค่า Bending ที่สูงกว่าไม้ธรรมดา สำหรับบานประตูที่ใช้ไม้ LVL มาทำเป็นกรอบบานนั้นมักใช้กับไส้ในที่เป็นวัสดุประเภท PU FOAM 

ข้อดี: รักษารูปทรงได้ดีเนื่องจากใช้กาวกันน้ำ แม้ความชื้นจะเปลี่ยนเนื่องจากฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน สามารถป้องกันน้ำซึม ป้องกันปลวก มอด และแมลงต่างๆ ได้

ข้อเสีย: ราคาสูง ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก

วัสดุผสม หรือ ไม้ Engineer (Engineered Wood) ผลิตจากไม้เนื้อแข็งปิดประกบด้วยไม้อัด (Plywood) เคลือบด้วย (Wooden veneer) แผ่นไม้เนื้อจริง ด้วยโครงสร้างการวางแผ่นไม้เนื้อแข็งที่สลับกันไปมาในแต่ละชั้นเพื่อลดการขยายตัว จากนั้นจึงอบและตามด้วยการเคลือบป้องกันเพื่อความสวยงามของเนื้อไม้ ใช้เป็นกรอบบานแทนไม้จริงได้

ข้อดี: เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตที่คิดค้นมาแล้วว่าสามารถช่วยลดการบิด โก่ง งอ ของไม้ได้ดีจึงทำให้ไม้ เอ็นจิเนียร์ เป็นที่นิยมอย่างมากจนเป็นชื่อที่เรียกติดปาก แต่ต้องไม่ลืมว่าไม้ เอ็นจิเนียร์ นั้นเป็นการเรียกโครงหรือกรอบบาน ซึ่งต้องมีการระบุวัสดุปิดผิวต่อไป

ข้อเสีย: เนื่องจากวัสดุที่กรุเสริมในบานนั้นสามารถเป็นไปได้หลากหลายชนิด หากคุณเลือกใช้วัสดุกรุภายในเป็นฉนวนกันไฟแต่กลับได้กระดาษรังผึ้งมาแทน อาจทำให้เวลาใช้งานจริงมีปัญหาได้ ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบให้ดีและเลือกซื้อประตูจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ

โครงสร้างพื้นฐานของประตูไม้เทียมหลักๆนั้นก็มีตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งสามารถพัฒนาในรายละเอียดให้มีความแตกต่างกันได้อีกหลากหลายรูปแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตที่จะสร้างสรรค์สินค้าด้วยองค์ความรู้ที่มี (Know how) และพัฒนาต่อยอดให้มีรูปแบบที่ตอบโจทย์ทางการตลาดต่อไปครับ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ