รวมข้อมูลวัสดุศาสตร์ Detail และ Spec ของประตูกระจกบานเปลือย (Frameless Glass Door)

Type: Decorative Material (วัสดุตกแต่ง)

 

Category: Frameless Glass Door (ประตูกระจกบานเปลือย)

 

Summary Product Data​: ข้อมูลที่น่าสนใจของประตูกระจกบานเปลือย

ประตูกระจกบานเปลือย สามารถทำได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น ประตูบานเปิด, ประตูบานเลื่อน, ประตูบานเฟี้ยม ซึ่งสามารถแยกย่อยออกลงไปได้อีกเช่นประตูบานเปิดเดี่ยว, ประตูบานเปิดคู่ หรือประตูบานเลื่อนก็สามารถทำเป็นบานเลื่อนเดี่ยว บานเลื่อนสลับ หรือบานเลื่อนซ้อนสามบานก็ได้เช่นกัน

 

Application: ประตูกระจกบานเปลือยและการนำไปใช้งาน

โดยทั่วไปจะนิยมใช้ประตูกระจกบานเปลือยกับชุดแผงกระจกติดตาย โดยใช้เป็นประตูทางเข้าอาคารเพื่อให้ดูทันสมัยสวยงามและเพื่อความโปร่งโล่งของพื้นที่ นอกจากนี้ยังนิยมใช้เป็นประตูห้องซาวน่า ประตูกระจกในห้องอาบน้ำ เพราะคุณสมบติของกระจกนั้นนอกจากโปร่งใส แล้วยังสามารกันความร้อน กันลม และกันน้ำกันฝนได้ดีอีกด้วย  

 

Forewarning: ข้อควรระวังในการใช้งาน

  • โดยปกติแล้วในแบบก่อสร้างได้แสดงแบบของประตูไว้เพื่อบอกจุดประสงค์การใช้งานและบอกขนาดไว้เป็นแนวทาง แต่ในขั้นตอนการก่อสร้างผู้รับเหมาต้องเสนอแบบและแสดงรายละเอียดการติดตั้งอีกครั้ง เพื่อให้แบบมีความสัมพันธ์กับหน้างานที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ต้องแสดงไว้ในแบบได้แก่ รูปแบบการติดตั้ง การยึดติดกับโครงสร้างต่างๆ และตำแหน่งที่จะทำการติดตั้ง แนวรอยต่อและการกันน้ำ รวมไปถึงต้องระบุชนิดวัสดุและรูปแบบของอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ให้ครบถ้วน เช่น มือจับ บานพับ หรือกลอนประตู
  • ​ผู้รับเหมาจะต้องพิจารณาตามหลักวิชาการถึงความเหมาะสมของกระจกและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ระบุไว้ หากพบว่าไม่ถูกต้องให้ผู้รับเหมานำเสนอสิ่งที่เหมาะสม โดยจัดส่งตัวอย่างและรายละเอียด ให้ผู้ควบคุมงานและสถาปนิกตรวจสอบ เพื่อการพิจารณาอนุมัติก่อนดำเนินการติดตั้ง
  • ต้องทำการป้องกันผิววัสดุเป็นอย่างดี ก่อนใช้วัสดุยาแนวต้องทำความสะอาดกระจกให้ปราศจากความชื้น ไขมันและฝุ่นละออง หลังจากยาแนวจะต้องตกแต่งวัสดุยาแนวส่วนที่เกินให้เรียบร้อย ก่อนที่วัสดุยาแนวนั้นจะแข็งตัว
  • การล้างหรือทำความสะอาดเนื่องจากวัสดุอุดยาแนวนี้ ผู้รับเหมาจะต้องใช้ทินเนอร์ หรือน้ำยาอื่นๆ ที่ผู้ผลิตได้แนะนำไว้เท่านั้น ห้ามผสมน้ำยาใดๆ ที่ทำให้ความเข้มข้นของวัสดุอุดยาแนวลดน้อยลง

 

Fitting & Haradware: อุปกรณ์ประกอบของกระจกบานเปลือย

ประตูกระจกบานเปลือยนั้นมีความหลากหลายของฟังก์ชั่นการใช้งาน เช่น บานเปิด บานเลื่อน และอื่นๆ ดังนั้นอุปกรณ์ประกอบ Fitting และ Hardware ก็ย่อมมีคามหลากหลายแตกต่างกันไปอีกด้วย ในบทความนี้เราได้รวบรวม detail และ spec ของส่วนประกอบอื่นๆที่สำคัญในการใช้งานประตูกระจกบานเปลือยไว้ดังนี้ครับ 

1. ประเภทของกระจก

2. Fitting ประตูกระจกเปลือยบานเลื่อน 

  • บานเลื่อนโชว์ราง 
  • บานเลื่อนซ่อนราง
  • ตัวกันแกว่ง

3. Fitting ประตูกระจกเปลือยบานเปิด

  • โช๊คประตูฝังพื้น
  • ตัวหนีบล่าง
  • ตัวหนีบบน
  • ตัวหนีบช่องแสงบนและช่องแสงข้าง

4. อุปกรณ์ Hardware (มือจับและอุปกรณ์ล็อคบาน)

  • มือจับ
  • อุปกรณ์ล็อคบาน

1. ประเภทของกระจก (Type of Glass)

โดยทั่วไปนิยมใช้กระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass) เนื่องจากการติดตั้งฟิตติ้งนั้นจะต้องยึดกระจกให้แน่นหากไม่ใช้กระจกเทมเปอร์ก็อาจแตกได้ นอกจากนี้ยังสามารถดัดโค้งได้ และในกรณีที่เกิดการกระทบอย่างรุนแรงกระจกจะแตกเป็นชิ้นเล็กๆ กลมมนเหมือนเม็ดข้าวโพดไม่แหลมคมเหมือนกระจกทั่วไป ข้อเสียคือกระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass) เมื่อผลิตขึ้นมาแล้วไม่สามารถที่จะ ตัด เจาะ หรือเจียรได้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการกำหนดรูปแบบและขนาดให้ชัดเจนก่อนการสั่งผลิตเพราะโครงสร้างของเนื้อกระจกได้ถูกเปลี่ยนแปลงให้มีความแข็งแกร่งขึ้นในขั้นตอนการผลิตไปแล้ว ถ้าจะนำไปตัด เจาะ หรือบาก ภายหลังจะทำให้กระจกแตกได้ 

2. Fitting ประตูกระจกเปลือยบานเลื่อน 

2.1 บานเลื่อนโชว์ราง (Barn Sliding Glass Door)

บานเลื่อนแบบโชว์ราง (Barn Sliding Glass Door) เหมาะสำหรับการใช้งานที่ต้องการโชว์ความสวยงามแต่ใช้งานไม่หนักมาก เน้นความโปร่งสบายตาและดูโมเดิร์นมีกลิ่นอายสไตล์ลอฟท์ สามารถติดตั้งรางด้วยการยึดกับแผงกระจกด้านบนได้โดยต้องมีการคำนวณระยะของจุดยึดและความหนาของกระจกอย่างแม่นยำเพื่อความปลอดภัย หรือยึดอุปกรณ์รางเลื่อนไว้กับผนังที่แข็งแรงก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำรางแบบดัดโค้งได้ด้วยและต้องใช้กระจกดัดโค้งร่วมกัน รัศมีดัดโค้งตามมาตรฐานผู้ผลิต

2.2 บานเลื่อนซ่อนราง (Cloud Assisted Sliding Door)

สามารถติดตั้งกับแผงกระจกหรือใต้ท้องพื้นโครงสร้างที่แข็งแรงก็ได้ใช้รางปิดเพื่อความเรียบร้อย สามารถใช้ควบคู่กับระบบมอเตอร์เปิด-ปิด บานอัตโนมัติได้ แต่หากด้านบนเป็นกระจกใสติดตายก็จะมองเห็นสายไฟได้ ตัววัสดุนิยมใช้เป็นสเตนเลสเกรด 304

2.3 ตัวกันแกว่ง (Sliding Door Floor Track)

สิ่งที่ผู้ใช้งานมักลืมนึกถึงมากที่สุดก็คือเจ้าอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ตัวกันบานแกว่งนี่เอง โดยเฉพาะประตูกระจกบานเลื่อนในห้องน้ำเพราะเป็นงานสเกลเล็ก ที่เจ้าของบ้านและช่างอาจมองข้ามไป ตัวกันบานแกว่งนั้นมีหลายประเภท เช่น ตัวกันบานแกว่งที่มีลักษณะเป็นแผ่นแบนๆ หรือเป็นล้อกลม ใช้กับบานไม้โดยต้องเซาะร่องใต้บาน แต่สำหรับประตูกระจกนั้นเนื่องจากกระจกมีความบางจึงใช้ตัวกันบานแกว่งเป็นแบบรางตัวยูแล้วใส่ตัวบานเข้าไปข้างในแทน ใช้กับประตูบานเลื่อนเท่านั้น

    3. Fitting ประตูกระจกเปลือยบานเปิด

    3.1 โช๊คประตูฝังพื้น กระจกบานเปลือย (Floor Recessed Door Closer)

    การเลือกโช๊คประตูที่เหมาะสมกับการใช้งาน ต้องคำนึงถึงขนาดและน้ำหนักของประตูเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงควรปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อการเลือกขนาดโช้คที่ตรงกับความต้องการครับ สำหรับประตูกระจกบานเปลือยนั้นนิยมใช้โช๊คแบบฝังพื้นเพราะเรียบร้อยสวยงามไม่เกะกะสายตา หากไม่ได้เผื่อช่องที่พื้นไว้ก็สามารถเลือกรุ่นโช๊คประตูที่ไม่ฝังพื้นได้เช่นกัน

    คุณสมบัติของการใช้โช๊คประตูคือ

    • ช่วยชะลอระยะเวลาประตูเปิด-ปิด ลดความเสียหายที่อาจเกิดกับประตูและผนังบ้านเมื่อมีการเปิดปิดประตูอย่างรุนแรง (โดยมือหรือแรงลม) 
    • เพื่อให้บานประตูสามารถปิดได้เองอัตโนมัติไม่เสียเวลาในการปิดประตู
    • สามารถปรับความเร็วการปิดได้ 
    • มีฟังก์ชันตั้งค้างได้

    3.2 ตัวหนีบบานกระจกล่าง (Bottom Patch Fitting)

    ตัวหนีบล่าง (Bottom Patch Fitting) ใช้เพื่อยึดบานและเป็นจุดหมุนที่พื้นโดยใช้คู่กับโช๊คแบบฝังพื้นสำหรับเปิด-ปิดประตู ในปัจจุบันมีรุ่นที่เป็นโช๊คในตัวให้เลือกใช้ โดยไม่จำเป็นต้องฝังโช๊คไว้ที่พื้นอีกซึ่งราคาแพงกว่าการใช้โช๊คร่วมกับตัวยึดบานล่างประมาณ 10-15% นิยมใช้เป็นสเตนเลสเกรด 304

    3.3 ตัวหนีบบน (Top Patch Fitting)

    ใช้เพื่อยึดบานกระจกเปลือยให้ติดกับตัวหนีบช่องแสงด้านบนและด้านข้างและเป็นจุดหมุนของบาน มีให้เลือกใช้ทั้งแบบโชว์จุดหมุน และแบบซ่อนนิยมใช้เป็นสเตนเลสเกรด 304

    3.4 ตัวหนีบช่องแสงบนและช่องแสงข้างชนิดจุดหมุน (Transome Patch Fitting with Pivot)

    การเลือกประเภทตัวหนีบนั้นขึ้นอยู่กับจุดที่ติดตั้งบานประตูเป็นสำคัญ ซึ่งอุปกรณ์ชิ้นนี้นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมต่อกับแผ่นกระจกหรือระนาบอื่นๆ จุดรอยต่อที่แตกต่างกันนี้มีหลากหลายแบบ เช่น กระจกบานเปิดต่อกับช่องแสงด้านบนด้านข้างเป็นกระจกยาว(แบบตัวอย่าง) หากด้านข้างเป็นผนังก็ต้องใช้ตัวหนีบรุ่นอื่น หรือหากด้านหลังแผงกระจกมีครีบกระจกแนวตั้งเป็นฟิน ก็ต้องใช้ตัวหนีบอีกรูปแบบหนึ่ง มีให้เลือกใช้ทั้งแบบโชว์จุดหมุนและแบบซ่อน ใช้งานคู่กับตัวหนีบบน

    4. อุปกรณ์ Hardware (มือจับและอุปกรณ์ล็อคบาน)

    4.1 อุปกรณ์ล็อคพื้น (Lock Set)

    การล็อคประตูกระจกนั้นต่างจากประตูรูปแบบอื่นๆ ที่มักมีอุปกรณ์ล็อคบานติดอยู่กับมือจับสำหรับเปิดบาน แต่สำหรับบานกระจกแล้วมือจับและอุปกรณ์ล็อคบานจะแยกกัน เนื่องจากต้องการให้พื้นที่บริเวณนั้นดูโล่งโปร่ง รวมทั้งวัสดุกระจกเทมเปอร์ที่นำมาทำเป็นบานประตูนั้นไม่สามารถเจาะ ตัด ได้ และยังมีความบางมากอีกด้วย จึงไม่สะดวกที่จะฝังอุปกรณ์ล็อคบานไว้ตำแหน่งนี้ส่วนใหญ่ที่นิยมใช้คือเป็นอุปกรณ์ล็อคที่ล็อคลงพื้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามอุปกรณ์ล็อคยังมีรุ่นที่ล็อคข้างประตูได้เหมาะสำหรับการใช้งานแบบที่ไม่ต้องก้มลงล็อคที่พื้น

    4.2 มือจับ (Handle)

    นิยมใช้เป็นสเตนเลสเกรด 304 ในท้องตลาดมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบโดยมากนิยมใช้เป็นแท่งยาวแนวตั้งมีให้เลือกใช้ทั้งแบบสั้น แบบยาว ทรงกลม ทรงเหลี่ยม หรือจะสั่งผลิตเป็น รูปทรงอื่นๆ ก็ได้ แต่ที่สำคัญคือต้องระบุ จุดที่จะทำการเจาะกระจกให้ชัดเจนก่อนสั่งผลิต เพราะกระจกเทมเปอร์ไม่สามารถเจาะรูภายหลังได้ 

    อุปกรณ์ประกอบของประตูกระจกบานเปลือยนั้นมีดีเทลอีกมากแต่ที่คัดมานี้เป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญที่ต้องระบุให้ครบถ้วนในการสเปคแบบ ซึ่งวัสดุที่ใช้นั้นนิยมใช้เป็นสเตนเลสเกรด 304 เนื่องจากมีความทนทานสวยงาม ผิวมีให้เลือกทั้งแบบเงา แบบด้าน และ Hairline ซึ่งนิยมมากที่สุดเพราะจะช่วยปกปิดรอยขีดข่วนที่เกิดจาการใช้งานได้ดี

    Wazzadu Encyclopedia : ข้อมูลวัสดุศาสตร์ในหมวดอื่นๆที่น่าสนใจ

    แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
    โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

    บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

    โพสต์เมื่อ

    การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
    หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

    ไอเดียมาใหม่

    บทความที่เกี่ยวข้อง

    ...

    โพลสำรวจ

    ถาม-ตอบ

    Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ