ดีเทลการออกแบบ Glass Curtain Wall แต่ละประเภท ที่นิยมใช้ในงานสถาปัตยกรรม

Curtain Wall System เปรียบเสมือนกำแพงม่านกระจกขนาดใหญ่ที่คอยห่อหุ้มตัวอาคาร นอกจากคุณประโยชน์ในการใช้งานแล้ว ยังสะท้อนรสนิยม หรือรูปแบบสไตล์ที่เหมาะกับช่วงเวลาในยุคๆ นั้นได้ชัดเจน ระบบผนัง Curtain Wall ได้รับความนิยมในงานสถาปัตยกรรมอย่างแพร่หลาย มีคุณสมบัติในเรื่องของการป้องกันการซึมผ่านของอากาศ และน้ำ ช่วยดูดซับแรงกระแทกจากแรงดันลมบนที่สูง และแรงกระทำจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นกับตัวอาคาร 

Curtain Wall System เป็นระบบผนังอาคารที่รองรับกำลังน้ำหนักบรรทุกที่ตายตัวของตัวเอง โดยยึด หรือ แขวนผืนผนังกระจกเข้ากับโครงสร้างของอาคารบริเวณหน้าคาน สันของแผ่นพื้น หรือสันของแผ่นพื้นไร้คาน โดยจะติดตั้งแผ่นกระจกเข้ากับโครงเหล็ก หรือ อะลูมิเนียม ซึ่งมีทั้งรูปแบบที่เห็นโครงในแนวตั้ง-นอนทั้งภายใน และภายนอกอาคาร รวมถึงรูปแบบที่นิยมมาก คือ การซ่อนโครงไว้ภายในอาคาร ส่วนภายนอกจะเห็นเป็นกระจกประกอบชนกันอย่างเรียบเนียนไม่สะดุด

คุณสมบัติของระบบผนัง Curtain Wall

  • สามารถรับแรงดันลมในที่สูง
  • ดูดซับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้
  • ป้องกันการซึมผ่านของอากาศ และน้ำ
  • สามารถมองเห็นทัศนียภาพภายนอกได้ชัดเจน
  • ช่วยให้ภายในอาคารดูปลอดโปร่ง เพราะแสงสว่างจากธรรมชาติผ่านเข้าได้เหมาะสม
  • สร้างอัตลักษณ์เด่นให้กับอาคาร ดูสวยและทันสมัย
  • ทำการก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว 
  • ผนังมีน้ำหนักเบา ช่วยประหยัดราคาโครงสร้าง
  • เมื่อซิลิโคน ซีล เกิดรอยรั่ว จะสามารถสังเกตเห็น และแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ง่าย และถูกจุด
  • ดูแลทำความสะอาดได้ง่าย ด้วยการใช้ระบบกระเช้ากอนโดล่าในการเลื่อนขึ้นลงสำหรับทำความสะอาด เช่น ตึกสูงทั่วไป

รูปแบบของระบบผนัง Curtain Wall 

สามารถแยกออกได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ 

1. แบบธรรมดา (Conventional System)

ระบบผนัง Curtain Wall แบบธรรมดา เป็นรูปแบบดั้งเดิมในยุคแรกเริ่มของระบบผนัง Curtain Wall สามารถเห็นเส้นกรอบอะลูมิเนียมได้ 4 ด้าน ทั้งแนวราบ และแนวนอน

2. แบบ 2-SIDED

จะสามารถเห็นเส้นกรอบอะลูมิเนียมได้เพียง 2 ด้าน ในระนาบใดระนาบหนึ่งเท่านั้น จึงทำให้ผืนกระจกมีความต่อเนื่องกันมากขึ้นโดยปราศจากรอยต่อของเส้นกรอบอะลูมิเนียมในแนวตั้ง โดยราคาจะสูงกว่าแบบแรก 10% - 15% 

3. แบบ 4-SIDED

ระบบผนัง Curtain Wall แบบ 4-SIDED เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในปัจจุบัน ไม่มีเส้นกรอบอะลูมิเนียมมารบกวนสายตา จึงได้ความสวยงามของผืนกระจกที่มีความต่อเนื่องกันเสมือนบานกระจกขนาดใหญ่ 

ระบบผนัง Curtain Wall แบบ 4-SIDED จึงเหมาะสำหรับอาคารที่มีผนังกระจกสูงต่อเนื่องหลายชั้น โดยจะมีการติดตั้งโครงเบา และติดฉนวนกันความร้อนไว้ด้านหลัง นิยมนำมาใช้ในพื้นที่ส่วนตั วเช่น ห้องทำงาน ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องงานระบบต่างๆ เป็นต้น 

ประเภทกระจกที่ใช้ในงาน  Curtain Wall System

1. กระจกลามิเนต (Laminated Glass) 

กระจกลามิเนต จัดเป็นกระจกนิรภัยชนิดหนึ่ง ที่เวลาแตกแล้วเศษกระจกจะยังคงยึดติดกันโดยไม่ร่วงหล่น เพราะมีชั้นฟิล์มที่ยึดเกาะระหว่างแผ่นกระจกเหมือนกับใยแมงมุม โดยเป็นการนำเอากระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Safe Glass) หรือกระจกธรรมดา (Annealed Glass / Floated Glass) จำนวน 2 แผ่น หรือ มากกว่า แล้วนำมาประกบติดกันโดยมีชั้นฟิล์มคั่นกลางระหว่างกระจก เราจึงเรียกกระจกที่ผ่านกระบวนการผลิตในลักษณะนี้ว่า กระจกลามิเนต (Laminated Glass) นั่นเอง

คุณสมบัติเด่นของกระจกลามิเนต

  • เมื่อกระจกได้รับความเสียหายจนเกิดการแตก เศษกระจกจะไม่ร่วงหล่นลงมา ซึ่งช่วยลดอันตรายได้มากขึ้น 
  • ช่วยป้องกันเสียงรบกวนภายนอก และเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา
  • ช่วยป้องกันความร้อนได้ดี และกันรังสียูวีได้มากกว่า 90 %
  • ทนต่อแรงดันลมในที่สูง ทนต่อแรงอัดกระแทก และช่วยป้องการบุกรุกจากการโจรกรรมได้
  • สามารถเคลือบสีได้ตามความต้องการ

2. กระจกฮีทสเตรงค์เท่น ( Heatstrengthened Glass ) 

กระจกฮีทสเตรงค์เท่น เป็นกระจกที่ผลิตด้วยกระบวนการเดียวกับกระจกนิรภัยเทมเปอร์ คือการนำเอากระจกโฟลต (Annealed Glass) มาอบเพื่อให้ได้คุณสมบัติความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ความร้อนในการอบที่ 650-700 องศาเซลเซียส แต่กระบวนการทำให้กระจกเย็นลง จะทำแบบช้าๆด้วยการเป่าลมที่ผิวกระจกทั้ง 2 ด้าน จะมีผลทำให้กระจกเย็นตัวช้าลง ความเครียดที่ผิวกระจกก็จะลดหลั่นลงมาตามลำดับ ซึ่งเมื่อค่าความเครียดที่ผิวกระจกอยู่ระหว่าง 3,500-7,500 PSI เราจะเรียกกระจกชนิดนี้ว่า "กระจกฮีทสเตร็งเท่น" (Heat-Strengthened Glass) โดยสมบูรณ์ จึงทำให้เนื้อกระจกมีคุณสมบัติพิเศษที่แข็งแรงกว่ากระจกธรรมดาถึง 2 เท่า

คุณสมบัติเด่นของกระจกฮีทสเตรงค์เท่น

  • มีความแข็งแรงกว่ากระจกโฟลท 2 เท่า ทำให้สามารถร้บแรงกระแทก แรงกด แรงบีบ ได้ดี
  • ทนต่อแรงดันของกระแสลมในที่สูงได้ดี (ถ้าใช้เป็นผนังอาคารสูง พื้นกระจก หรือ หลังคากระจก ต้องประกบลามิเนต เพื่อเพิ่มความแข็งแรง และความปลอดภัยขึ้นไปอีก ไม่ควรใช้กระจกฮีทสเตร็งเท่นแผ่นเดียวโดดๆ)
  • ทนความร้อนแบบปกติได้สูงถึง 290ºC โดยที่เนื้อกระจกไม่ปริแตก
  • ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลันได้ตั้งแต่ 70-100ºC
  • เมื่อกระจกปริแตก รอยร้าวจะวิ่งเข้าหาขอบเฟรมกระจก ซึ่งรอยร้าวดังกล่าวจะมีจำนวนไม่มาก จึงทำให้กระจกยังเป็นชิ้นใหญ่ๆ ซึ่งมีขนาดใหญ่มากกว่าการแตกร้าวของกระจกทั่วไป
  • ไม่ปริแตกแตกด้วยตัวเอง แบบเดียวกับการปริแตกด้วยตัวเองของกระจกนิรภัยเทมเปอร์

กระจกฉนวนความร้อน ( Insulated Glass Unit หรือ IGU ) ​ 

กระจกฉนวนความร้อน คือ กระจกดัดแปลงด้วยกระบวนการ (Process) ต่างๆ เพื่อตอบสนองจุดประสงค์การใช้งานในการป้องกันความร้อน และการประหยัดพลังงานเป็นหลัก โดยการนำกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปมาประกบกัน (กระจกที่นำมาใช้เลือกได้หลายประเภท) โดยมีเฟรมอลูมิเนียม และช่องว่างคั่นกลางระหว่างกระจกทั้ง 2 แผ่น โดยช่องว่างดังกล่าวจะบรรจุสารดูดความชื้นแล้วใส่ฉนวน เช่น อากาศแห้ง หรือ ก๊าซเฉื่อย เพื่อคุณสมบัติในการป้องกัน หรือ ลดความร้อนจากภายนอกที่จะเข้าสู่ภายในอาคาร และมีผลโดยตรงต่อการใช้พลังงานในอาคาร จึงทำให้ประหยัดการใช้พลังงานภายในอาคารได้มากขึ้น

 

คุณสมบัติของกระจกฉนวนความร้อน ( Insulated Glass Unit หรือ IGU )

  • ป้องกันการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกเข้ามาในอาคาร และสามารถสะท้อนความร้อนได้ถึง 95%-98%
  • ช่วยลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ และช่วยรักษาอุณหภูมิภายในอาคารให้คงที่สม่ำเสมอ
  • ยอมให้แสงผ่านเข้ามาภายในอาคารมากแต่ความร้อนที่จะผ่านกระจกเข้ามาน้อยมาก
  • ไม่ทำให้เกิดฝ้า หรือ หยดน้ำ แม้ว่าอุณหภูมิภายในกับภายนอกจะแตกต่างกันมาก
  • ช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอกอาคารได้ดีกว่ากระจกธรรมดา
  • สามารถรับแรงดันลมได้
  • ให้ความปลอดภัยในอาคาร ในกรณีที่ใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์ หรือ กระจกนิรภัยหลายชั้นมาผลิตเป็นกระจกฉนวนความร้อน

ข้อมูลผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกระจก

ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ

  • กระจกลามิเนตหนาพิเศษ

    กระจก และวัสดุโปร่งแสง กระจกตกแต่งภายใน

    570 บาท/ตารางฟุต

    Online
  • กระจกลามิเนตฮีตสเตร็งเทน

    กระจก และวัสดุโปร่งแสง กระจกสำหรับอาคารสูง

    315 บาท/ตารางฟุต

    Online
  • กระจกฉนวนกันความร้อน

    กระจก และวัสดุโปร่งแสง กระจกตกแต่งภายใน

    200 บาท/ตารางฟุต

    Online
แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ