โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ อาคารเก่าแก่ย่านถนนบำรุงเมือง สถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก และวิกตอเรียนที่มีอายุกว่า 127 ปี

Bangkok Design Week 2022 หรือ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2565 ในปีนี้มีจุดแสดงที่น่าสนใจมากมาย หนึ่งในจุดแสดงงานที่น่าสนใจของปีนี้คือ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ  ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อปีพ.ศ.2438 และได้ชื่อว่าเป็น โรงพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทย โดยอาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจนั้น ยังคงมีสถาปัตยกรรมที่งดงามมาจนถึงปัจจุบัน

วันนี้ Wazzadu  จึงทำการรวบรวมข้อมูลทั้งประวัติความเป็นมา และข้อมูลด้านสถาปัตยกรรมให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้เรื่องราวของสถาปัตยกรรมที่สวยงาม และทรงคุณค่าแห่งนี้ โดยโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ อาคารเก่าแก่ย่านถนนบำรุงเมือง สถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก และวิกตอเรียนที่มีอายุกว่า 127 ปี มีประวัติความเป็นมาอย่างไรบ้างนั้น ติดตามชมได้เลยครับ...

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจเป็นอดีตโรงพิมพ์ในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2438 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือกันว่าเป็นเป็นโรงพิมพ์แห่งแรกของประเทศไทยก่อตั้งขึ้นโดย หลวงดำรงธรรมสาร (มี ธรรมาชีวะ) ปลัดกรมอัยการ ก่อนออกจากราชการมาทำธุรกิจโรงพิมพ์เต็มตัว รับพิมพ์หนังสือแบบเรียน หนังสือธรรมะ หนังสือที่ระลึกงานศพ หนังสือราชการ รวมถึงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเคยตีพิมพ์อยู่จนถึงปีพ.ศ 2504 หลังรัฐบาลจัดตั้งสำนักพิมพ์ของราชการขึ้นเอง

โรงพิมพ์แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในบรรดาโรงพิมพ์ที่มีเจ้าของเป็นชาวไทย เปิดตัวขึ้นภายหลังการชยายตัวของตลาดหนังสือในสยาม อันเนื่องมาจากนโยบายการเผยแพร่ความรู้ของ “หอพระสมุดวชิรญาณ” ที่ส่งเสริมการนำต้นฉบับหนังสือไทยบนใบลานให้กับโรงพิมพ์เอกชนไปจัดพิมพ์เอง

ในปี พ.ศ.2442 โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจตีพิมพ์ หนังสือแบบเรียนเร็ว พระนิพนธ์ในกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 10 ซึ่งเป็นหนังสือเรียนภาษาไทยเล่มแรกที่มีมีการกำกับชื่อประกอบตัวอักษรไทย ก ถึง ฮ ครบทั้ง 44 ตัว 

ในช่วงวิกฤตการณ์กบฏบวรเดช โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจเป็นหนึ่งในโรงพิมพ์เอกชนที่อาสาพิมพ์คําแถลงการณ์ของรัฐบาลเพื่อต่อต้านการก่อกบฏแจกจ่ายประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

หลวงดำรงธรรมสารถึงแก่กรรมในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2460 ต่อมาหลวงศรีบัญชา (ทวน ธรรมาชีวะ – ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีบัญชา) บุตรชายได้เข้ามาบริหารกิจการโรงพิมพ์สืบต่อจากบิดา โดยลูกหลานของผู้ก่อตั้งโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจดำเนินกิจการโรงพิมพ์เรื่อยมาจนถึงรุ่นที่สี่ ก่อนปิดตัวลงไปเมื่อราว ๆ ปีพ.ศ. 2530 

ในปี พ.ศ. 2494 ได้เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่บริเวณเสาชิงช้า และลุกลามมายังพื้นที่โรงพิมพ์ด้วย ส่งผลให้ตึกโรงพิมพ์หลังที่สอง และอาคารบางส่วนได้รับผลกระทบไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น รวมทั้งแท่นพิมพ์รุ่นแรก และตัวพิมพ์ตะกั่วเป็นจำนวนมาก แต่อาคารโรงพิมพ์นี้ไม่ได้รับความเสียหาย

หลังเหตุการณ์เพลิงไหม้ ผู้รับช่วงดูแลกิจการโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจก็คือ นายทุน ธรรมาชีวะ บุตรชายคนโต ปรับปรุงกิจการโรงพิมพ์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น มีแท่นพิมพ์ และเครื่องจักรสมัยใหม่หลายเครื่อง และได้ก่อสร้างอาคารโรงพิมพ์หลังใหม่ด้วยอะลูมิเนียมเพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้

ปัจจุบันโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจได้ย้ายออกจากที่ตั้งดั้งเดิม และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพิมพ์ธรรมสาร เพื่อเป็นเกียรติแด่หลวงดำรงธรรมสาร ผู้บุกเบิก และก่อตั้งโรงพิมพ์เป็นคนแรก

ด้านสถาปัตยกรรม ลักษณะภายนอกของอาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจเป็นอาคารหลังคาทรงปั้นหยา ตัวอาคารสร้างแบบก่ออิฐถือปูน มีความสูง 2 ชั้น

  • ชั้นล่าง เป็นโรงพิมพ์ มีแท่นพิมพ์หนังสือ เครื่องจักร และอุปกรณ์การพิมพ์ต่าง
  • ชั้นบน จะเป็นที่อาศัยของคนงาน 

โดยอาคารโรงพิมพ์มีรูปแบบสถาปัตยกรรมการก่อสร้างที่ผสมผสาน (Eclectic Style) ระหว่างสถาปัตยกรรมคลาสสิก และสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย โดยปัจจุบันอาคารนี้มีอายุถึง 127 ปี

สันนิษฐานว่าอาคารหลังนี้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยสถาปนิกชาวยุโรป แต่ใช้ช่างชาวจีนเป็นแรงงานก่อสร้าง ด้านหน้าอาคารประดับด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นลายแบบฝรั่ง และงานไม้ฉลุลายที่ใช้ประดับตกแต่งอาคารเป็นงานฝีมือทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีลายที่เกิดจากการฉาบปูนผสมสีฝุ่นเพื่อทำเลียนแบบหินอ่อน ซึ่งยังเห็นประดับอยู่ด้านหน้าอาคารจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจนั้นฉาบผนังอาคารทั้งภายใน และภายนอกด้วยเทคนิค การขัดปูนตำผสมฝุ่นสีเหลือง ซึ่งถือว่ามีความพิเศษ เนื่องด้วยการฉาบลักษณะนี้มักจะพบเฉพาะอาคารที่มีฐานานุศักดิ์สูง และมีความสำคัญเท่านั้น เพราะใช้เวลานาน และงบประมาณสูงกว่าวิธีอื่น 

ตัวอาคารชั้นล่างเป็นพื้นปูน มีผนังรับน้ำหนักหนา ใช้อิฐก้อนใหญ่ แต่สิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ก็คือเสากลมเหล็กหล่อและคานเหล็กรูปเป็นตัวไอ (I) ซึ่งนำเข้ามาจากบริษัท Dorman Long & Co. เมือง Middleborough ประเทศอังกฤษ สำหรับใช้เพื่อรับน้ำหนักพื้นชั้นบนของอาคาร ซึ่งโครงสร้างเหล็กเช่นนี้แสดงถึงความทันสมัย

ส่วนอาคารชั้นบน การจัดสรรพื้นที่เป็นลักษณะเดียวกับชั้นล่าง แต่พื้นเป็นพื้นไม้ เสาและคานก็เป็นไม้ ไม่ใช่เหล็กหล่อ เพียงแต่ผลิตเสาไม้ให้มีรูปลักษณ์เลียนแบบเสาเหล็กหล่อชั้นล่าง และตั้งอยู่ตรงจุดเดียวกัน เพื่อถ่ายน้ำหนักอาคารจากบนลงล่าง สิ่งที่น่าสนใจคือฝ้าเพดานจะตีซ้อนเกล็ดตามสมัยนิยม ความพิเศษของอาคารนี้คือรอบ ๆ ฝ้าเพดาน จะมีการใส่ตะแกรงระบายอากาศ (Ventilation Grill) ซึ่งทำจากไม้ฉลุเป็นลายงดงาม ตะแกรงระบายอากาศจะช่วยระบายความร้อนจากหลังคาให้กระจายลงมาและออกผ่านหน้าต่างไปอย่างรวดเร็ว ทำให้อยู่สบาย ไม่ร้อน

ด้วยคุณค่า และความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมทั้งหมดที่กล่าวมา กรมศิลปากรจึงประกาศขึ้นทะเบียนตึกโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2542

ในปัจจุบันอาคารโรงพิมพ์ ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน 

  1. ส่วนจัดแสดง
  2. ส่วนพื้นที่คาเฟ่ และบาร์ Craftsman Roastery

ใช้ฉากกั้นคือกระจกทำการยึดกับกรอบอะลูมิเนียม ต้องยึดกรอบเหล่านี้กับพื้น และเพดาน 

โดย Craftsman Roastery จะให้บริการชั่วคราวถึงช่วงเดือนกันยายน ปี 2565 นี้

 

พื้นที่คาเฟ่ Craftsman Roastery

ภาพประกอบจาก 

Craftsman Roastery

Photographer : Wazzadu.com

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  • readthecloud.co/
  • www.bangkokbiznews.com

 

องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ