อาคารชัยพัฒนสิน อดีตโรงงานน้ำอัดลม และโกดังรองเท้า สถาปัตยกรรมเก่าแก่แห่งย่านตลาดน้อย ที่มีอายุกว่า 100 ปี

ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ถ้าหากใครที่ได้ไปเดินชมงาน Bangkok Design Week 2022 ในโซนตลาดน้อย ช่วงถนนเจริญกรุงตัดกับคลองผดุงกรุงเกษม หรือเป็นผู้ที่เดินทางสัญจรผ่านถนนเจริญกรุงอยู่บ่อยครั้ง เชื่อว่าส่วนใหญ่แล้วมักจะได้พบเห็นคุ้นหน้าคุ้นตากับอาคารชัยพัฒนสินที่ตั้งเด่นตระหง่านอยู่ตรงหัวมุมเชิงสะพานพิทยเสถียรอย่างแน่นอน

ซึ่งหลายท่านก็อาจจะไม่ทราบมาก่อนว่าอาคารแห่งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีความสัมพันธ์กับถนนเจริญกรุง และชุมชนย่านตลาดน้อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างไรบ้าง  และเพื่อเป็นการบอกเล่า และเก็บรักษาเรื่องราวของสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าแห่งนี้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้มากขึ้น...วันนี้ Wazzadu จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ อาคารชัยพัฒนสิน สถาปัตยกรรมเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี แห่งย่านตลาดน้อยไปพร้อมๆกันครับ

ที่ปลายสุดถนนเจริญกรุง ย่านตลาดน้อย บริเวณจุดตัดข้ามคลองผดุงกรุงเกษม คือที่ตั้งของสะพานพิทยเสถียร ซึ่งเป็นสะพานที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเป็นสะพานโครงเหล็กที่สามารถเปิดให้แยกออกจากกันได้ โดยชื่อ "สะพานพิทยเสถียร" ตั้งขึ้นเพื่อเป็นให้เกียรติแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ซึ่งมีวังที่ประทับอยู่ในบริเวณใกล้เคียงนั่นเอง

และต่อมาในสมัยรัชกาล 6 ทรงโปรดให้ปรับปรุงสะพานนี้อีกครั้ง โดยปรับปรุงให้เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มีสถาปัตยกรรมแบบเวนีเชียน มีคานล่างเป็นรูปโค้ง สะพานนี้มีลวดลายตกแต่งประณีตงดงามมาก โดยเฉพาะเสาลูกกรง เสาโคมไฟฟ้าทั้ง 8 ต้น ตลอดจนลายหัวสิงห์ที่ปลายรอดสะพาน (ดั่งที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน) เพื่อให้ประชาชนใช้ในการสัญจรข้ามคลองผดุงกรุงเกษม

ซึ่งในอดีตคลองสายนี้ได้กลายเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าที่สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณริมคลองเป็นตลาดสินค้าประเภทต่าง ๆ และโรงสี มีเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาจอดอยู่ตามริมคลองเป็นระยะ ถัดไปจนถึงสะพานพิทยเสถียร มีสินค้าประเภทโอ่ง กระถาง ที่ผลิตในประเทศ และมาจากประเทศจีน อีกทั้งยังมีโรงสี โรงน้ำแข็ง โกดังสินค้าต่าง ๆ ตั้งรายสองฟากคลองไปจนจรดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในยุคปัจจุบันได้มีการสร้างประตูกั้นน้ำที่ต้นคลอง และปลายคลอง เรือจึงไม่สามารถแล่นเข้าออกได้เป็นอิสระ จึงทำให้วิถีชีวิตการค้าขายริมคลองแบบดั้งเดิมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

และในบริเวณโค้งหัวมุมเชิงสะพานก็คือที่ตั้งของ อาคารชัยพัฒนสิน สถาปัตยกรรมเก่าแก่อายุร่วม 100 ปี แห่งย่านตลาดน้อย ที่ตั้งเด่นเป็นตระหง่าน ใครที่สัญจรผ่านไปผ่านมาในบริเวณนี้จะต้องสังเกตเห็นอย่างแน่นอน ซึ่งในปัจจุบันได้มีการชุบชีวิตรีโนเวทอาคารขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หลังจากที่ถูกปล่อยร้างมานานนับสิบๆปี และความทรงจำในอดีตของอาคารแห่งนี้ที่เกือบจะถูกลืมเลือนไป ก็ถูกรื้อฟื้นกลับมาด้วยเช่นกัน

ในอดีตอาคารชัยพัฒนสิน เป็นอาคารขนาด 3 ชั้น ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นโรงงานน้ำอัดลม ซึ่งมีหน้าต่างเพื่อรับแสงธรรมชาติโดยรอบอาคาร และที่พิเศษสุดๆก็คือมีโครงสร้างที่แข็งแรงกว่าอาคารทั่วๆไป เพราะโครงสร้างอาคารจะต้องรองรับน้ำหนักของแทงค์เก็บน้ำที่อยู่ชั้นใต้หลังคา จึงทำให้มีการออกแบบสแปนระยะห่างระหว่างเสา คานหลัก (มีหน้าตัดที่ลึกกว่าปกติ) และคานซอยที่ค่อนข้างถี่ ซึ่งการออกแบบโครงสร้างในลักษณะนี้เอง ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้อาคารแห่งนี้มีอายุมากกว่า 1 ศตวรรษ

ต่อมาอาคารชัยพัฒนสิน ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นโชว์รูม คลังเก็บสินค้า และสำนักงานของแบรนด์รองเท้า Jump Master ที่ในแต่ละวันจะมีพนักงานที่ทำงานในอาคารแห่งนี้ไม่น้อยกว่า 70 ชีวิต โดยแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายอาคารในแต่ละชั้น ดังนี้ 

  • ชั้น 1 เคาน์เตอร์ต้อนรับ โชว์รูม และพื้นที่โกดังเก็บสินค้า (ปัจจุบันถูกรีโนเวทให้เป็นที่จอดรถ)
  • ชั้น 2 พื้นที่สำนักงาน หรือ ออฟฟิศ (ในอนาคตจะถูกรีโนเวทให้เป็นออฟฟิศออกแบบ)
  • ชั้น 3 โกดังเก็บสินค้า (ปัจจุบันถูกรีโนเวทให้กลายเป็นสนามสเก็ต Jump Master Skate Haus)
  • ชั้น 4 หรือชั้นใต้หลังคา ในอดีตเคยเป็นแทงค์เก็บน้ำ

พื้นที่โกดังเก็บสินค้าในอดีต ที่ปัจจุบันถูกรีโนเวทให้เป็นที่จอดรถ

และได้รับเลือกให้เป็นจุดจัดแสดงงานศิลปะ Installation Art ในรูปแบบ Shadow Theatre

โดย ไฮเม่ ฮายอน (Jaime Hayon) ศิลปินชาวสเปน ในงาน Bangkok Design Week 2022

Shadow Theatre ถูกนำเสนอในรูปแบบ 3 มิติ

มีแนวคิดมาจากโรงละครสัตว์ ผสมผสานกลิ่นอายวัฒนธรรมแบบไทย

เมื่อถูกนำมาผสมผสานกันจึงได้แรงบันดาลใจมาจากหนังตะลุงวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้

นอกเหนือจากเรื่องราวความเป็นมาของตัวอาคารชัยพัฒนสินแล้ว อีกเสน่ห์หนึ่งที่ทำให้อาคารแห่งนี้มีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีก ก็คือร่องรอยของการเปลี่ยนผ่านในแต่ละยุค โดยสะท้อนผ่านการตกแต่ง และการใช้วัสดุ ตั้งแต่ชั้นที่ 1-3 ของอาคาร

เริ่มจากสีภายนอกอาคารที่แต่เดิมเป็นสีฟ้าอมเขียว ในปัจจุบันถูกทาสีใหม่ให้เป็นโทนสีส้มอมน้ำตาล และเมื่อเข้ามาในชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นส่วนพื้นที่ต้อนรับ และโชว์รูม เราจะได้พบกับประตูหลักด้านหน้าที่ใช้เฟรมอะลูมิเนียมสีเงิน ซึ่งในอดีตนิยมใช้เฟรมอะลูมิเนียมสีเงิน และสีชาค่อนข้างแพร่หลาย นอกจากนี้ยังมีทีวีสมัยก่อน ชั้นกระจก ตู้โชว์ เคาน์เตอร์ และพื้นกระเบื้อง ซึ่งทั้งหมดเป็นของเดิมที่ใช้งานมาตั้งแต่สมัย Jump Master และในบริเวณชานพักบันไดที่จะขึ้นไปสู่ชั้น 2 ได้มีการนำกล่องรองเท้าที่เป็นลวดลายกล่องที่เคยใช้ในอดีตมาเรียงเป็นตัวอักษร JUMP ซึ่งให้ความรู้สึก Nostalgia ขึ้นมาทันที 

บริเวณชานพักบันไดที่จะขึ้นไปสู่ชั้น 2 ได้มีการนำกล่องรองเท้าที่เป็นลวดลายกล่อง

ที่เคยใช้ในอดีตมาเรียงเป็นตัวอักษร JUMP

เมื่อขึ้นมาที่ชั้น 2 เราจะได้พบกับส่วนของออฟฟิศ หรือ สำนักงาน ของ Jump Master ทันทีที่สอดสายตามองเข้าไป สิ่งที่ดึงดูดให้เกิดความสนใจเป็นสิ่งแรกๆเลย ก็คือ เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีรูปลักษณ์เฉพาะ ซึ่งมันเป็นรูปลักษณ์ที่เราเคยพบเห็นบ่อยๆในอดีต ซึ่งในปัจจุบันอาจมีให้เห็นน้อยมากแล้ว เช่น โต๊ะทำงานลิ้นชักเหล็ก โซฟาหนัง และเครื่องปรับอากาศแบบตั้งพื้น ในยุคสมัยก่อนนิยมใช้แอร์แบบตั้งพื้นค่อนข้างแพร่หลาย

นอกจากนี้วัสดุที่ใช้ตกแต่งส่วนใหญ่ก็ล้วนมาจากยุคสมัยที่ Jump Master ยังคงรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นกรอบหน้าต่างเหล็กดัด พื้นกระเบื้องสีน้ำตาล ฝ้าเพดานฉลุลายสุดคลาสสิก รวมไปถึงผนังกระจกกั้นห้อง และประตูบานเปิดที่ใช้เฟรมอะลูมิเนียมสีเงิน

นอกจากนี้ยังมีลิฟต์สีดำที่ทำจากเหล็ก สำหรับใช้ขึ้นลง ระหว่างชั้น 1-3 ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ยุคดั้งเดิม เป็นลิฟต์เก่าแก่ที่ใช้ประตูเลื่อนเหล็กในการเปิดปิดเท่านั้น ไม่มีระบบเซฟตี้ หรือมีกลไกซับซ้อนเหมือนยุคนี้ ลิฟต์ตัวนี้ถือว่าเป็น Unseen อีกอย่างของที่นี่เลยก็ว่าได้ ถ้าหากนึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงลิฟต์ในเรือจากภาพยนตร์ไททานิค ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน แต่ในปัจจุบันลิฟต์ตัวนี้ในอาคารชัยพัฒนสินถูกใช้สำหรับการขนของเท่านั้น 

ซ้ายมือ คือ ลิฟต์สีดำที่ทำจากเหล็ก สำหรับใช้ขึ้นลง ระหว่างชั้น 1-3 ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่ยุคดั้งเดิม

พื้นที่บริเวณชั้น 3 ที่ถูกรีโนเวทปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสนามสเก็ต ภายใต้ชื่อ Jump Master Skate Haus

ส่วนชั้น 3 ที่ในอดีตในยุคของ Jump Master พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นโกดังสินค้า ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นสนามสเก็ตในปัจจุบัน แม้จะมีการปรับแต่งในชั้นนี้ค่อนข้างมากกว่าชั้นอื่นๆ แต่มีสิ่งหนึ่งจากยุคอดีตที่สามารถเห็นได้ชัดเจนที่สุดเลยก็คือ การโชว์ท้องเพดานเปลือยที่ทำให้ได้เห็นรายละเอียดของคานหลัก และคานซอย ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับน้ำหนักของแทงค์น้ำที่อยู่บนชั้นใต้หลังคาตั้งแต่อาคารเริ่มสร้างแล้วเสร็จ เพื่อใช้เป็นโรงงานน้ำอัดลมในยุคแรกเริ่ม 

เมื่อท้องเพดาน และพื้นอาคารดั้งเดิมถูกทำให้เปลือยเปล่า มันทำให้เห็นร่องรอยในอดีตของอาคารแห่งนี้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรางไฟดั้งเดิมที่ทำจากไม้ ซึ่งมีร่องรอยการเดินไฟด้วยการเจาะทะลุคาน อีกทั้งยังมีร่องรอยที่ปรากฏบนพื้นซึ่งน่าคาดว่าน่าจะเป็นส่วนของระบบส่งน้ำของโรงงานน้ำอัดลมที่ถูกรื้อออกไป ก่อนจะถูกปรับมาเป็นโกดังสินค้าในยุค Jump Master 

นอกจากนี้ด้วยความเปลือยเปล่าของท้องเพดานในชั้น 3 มันยังทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเลเยอร์การทาสีในแต่ละยุคได้มากกว่าทุกชั้นอย่างชัดเจน ถ้าหากสังเกตดีๆที่เลเยอร์ของชั้นสี เราจะพบชั้นสีเก่าในยุคแรกเริ่มสมัยเป็นโรงงานน้ำอัดลมทั้งในส่วนของผนัง และท้องเพดานจะเป็นโทนสีเหลือง และต่อมาในยุคที่ถูกปรับเปลี่ยนเป็นโชว์รูมรองเท้า Jump Master ก็ถูกทาทับด้วยสีเทาโทนอ่อน

ความเปลือยเปล่าของท้องเพดานในชั้น 3

ทำให้เราได้เห็นถึงลักษณะโครงสร้างคานหลัก และคานซอยดั้งเดิมของอาคาร

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเลเยอร์การทาสีในแต่ละยุคได้มากกว่าทุกชั้นอย่างชัดเจน

พื้นที่ชั้น 3 ถูกใช้จัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2022

ปัจจุบันอาคารชัยพัฒนสิน ยังคงถูกรีโนเวทอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาให้กลายเป็นแลนด์มาร์คของย่านตลาดน้อย โดยเป็นการผสมผสานกลิ่นอายความดั่งเดิม ที่เชื่อมประติดประต่อเข้ากับวัฒนธรรมยุคใหม่ เพื่อสร้างสรรค์ให้ตลาดน้อย ซึ่งย่านเก่าแก่ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ให้กลายเป็นอีกหนึ่งใน Destination ใหม่ของชาวกรุง และนานาประเทศในอนาคต 

มุมมองภายนอกของอาคารชัยพัฒนสิน

บริเวณเชิงสะพานพิทยเสถียร ริมคลองผดุงกรุงเกษมในช่วงพลบค่ำ กับกลิ่นอายแบบย้อนยุค

โดยมีอาคารไอคอนสยาม หนึ่งในสัญลักษณ์สถาปัตยกรรมยุคใหม่ของกรุงเทพฯเป็นฉากหลัง

Photographer : Wazzadu.com

องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ