หลักการออกแบบทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา (Pathway design for a person with visually impaired)
แผ่นทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา ที่รู้จักในชื่อของ Braille Block หรือ Tactile Paving ถือเป็นส่วนสำคัญของงานออกแบบพื้นที่สาธารณะแบบ Universal Design หรือการออกแบบโดยคำนึงถึงความสะดวกและปลอดภัยของผู้คน ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยอย่างเท่าเทียมกัน
ซึ่งแผ่นทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสามารถใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะได้อย่างสะดวกสบาย เป็นตัวช่วยในการบอกระยะทาง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเส้นทาง โดยใช้วัสดุผิวและสีวัสดุออกแบบให้สอดคล้องกลมกลืนกับพื้นที่นั้นๆ กลายเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการออกแบบทางเดินในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งก็จะมีข้อกำหนดต่างๆ ที่ถูกระบุไว้ เป็นมาตรฐานในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้เมืองกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกๆ คนในประเทศ
ในส่วนของการออกแบบทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา จะมีข้อกำหนดอะไรที่ควรรู้บ้าง วันนี้ Wazzadu Encyclopedia Detail Design จะพาไปชมกันครับ...
จุดกำเนิดของแผ่นทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา
แผ่นทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา หรือพื้นผิวต่างสัมผัสที่มีขึ้นสำหรับการเตือนให้ผู้พิการทางการมองเห็นสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น
โดยจุดเริ่มต้นมาจากครูตาบอดชาวฝรั่งเศส ชื่อ หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) ซึ่งประสบอุบัติเหตุจนทำให้เขาตาบอดตั้งแต่ยังเด็ก และผลจากการมองไม่เห็น จึงมีนายทหารมาเยี่ยมที่โรงเรียนและสอนวิธีการส่งข่าวสารในเวลากลางคืนของทหาร เรียกว่า night-writing เป็นรหัสจุดโดยจุดทั้ง 12 จุด ซึ่งหลุยส์ เบรลล์คิดว่าใช้งานยาก ทำให้เขาได้คิดค้นสัญลักษณ์แทนตัวอักษรโดยออกแบบให้ใช้เพียง 6 จุด เพื่อให้สามารถวางนิ้วเดียวบนจุดเหล่านั้นและสามารถอ่านอักษรได้ง่ายขึ้น รวมถึงออกแบบจัดวางสลับตำแหน่งไปมาเป็นรหัสแทนตัวอักษร หรือ สัญลักษณ์ จากการคิดค้นในครั้งนี้ ทำให้คนพิการทางสายตา ได้มีโอกาสสื่อสาร เรียนรู้ และเข้าถึงข้อมูลต่างๆ มากยิ่งขึ้น
ต่อมา ในปี ค.ศ.1965 ครูโรงเรียนสอนคนตาบอดชาวญี่ปุ่น ได้คิดค้นทางเท้าที่เรียกว่า Tenji หรือ ที่รู้จักในชื่อของ Braille Block หรือ Tactile Paving ซึ่งเป็นทางเท้าสำหรับผู้พิการทางสายตาในปัจจุบัน การคิดค้นครั้งนี้เริ่มในปีคริสต์ศักราช 1965 สองปีถัดมาตัวอักษรเบรลล์ได้นำมาประยุกต์และจัดสร้างเป็นกระเบื้องสำหรับทางเท้าขึ้น และได้มีการนำมาใช้จริงในครั้งแรกคือ วันที่ 18 มีนาคม ปีคริสต์ศักราช 1967 หน้าโรงเรียนสอนคนตาบอดในเมืองโอกายาม่า ได้รับเสียงตอบรับถึงความชื่นชมในการคิดค้น และถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นในเวลาต่อมา จนกระทั่งทั่วโลกให้ความสำคัญกับการประดิษฐ์คิดค้นและนำมาใช้กันทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน อาทิ เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เป็นต้น
ประโยชน์ของทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา
- ใช้สำหรับนำทางเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนต่างๆ เช่น พาขึ้นลิฟต์ พาเข้าสู่ชานชาลารถไฟ พาไปรอขึ้น ณ ป้ายรถเมล์
- เป็นการออกแบบเพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ให้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย อย่างเท่าเทียมกัน
- นอกจากผู้พิการทางสายตา ผู้สูงอายุที่เริ่มมีปัญหาด้านการมองเห็นก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน
- เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานพื้นที่สาธารณะ
พื้นผิวต่างสัมผัส บนทางสัญจรเท้า
พื้นผิวสัมผัสการเตือน (ทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา)
แบบที่ 1
พื้นผิวต่างสัมผัสเดือน (Warning Tile) มีลักษณะเป็นปุ่มวงกลมนูนต่ําจัดเรียงเป็นแถวเต็มพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสของพื้นผิวเพื่อเตือนให้ระวัง เช่น บริเวณเริ่มและสิ้นสุดบันได บริเวณที่ประตูเปิดและทางข้าม
แบบที่ 2
พื้นผิวต่างสัมผัสบอกตําแหน่ง (Positional Tile) มีลักษณะเป็นปุ่มวงกลมนูนต่ําขนาดเล็ก จัดเรียงเหลื่อมกัน เพื่อบ่งบอกการเปลี่ยนทิศทางการเดิน
แบบที่ 3
พื้นผิวต่างสัมผัสที่บ่งบอกทิศทาง (Directional Tile | Guiding Block) มีลักษณะลายพื้นนูนต่ำเป็นเส้นตรงขนานกัน ชี้ไปตามเส้นทางสัญจรบนพื้นผิวต่างสัมผัส
การปูพื้นผิวต่างสัมผัสการบอกทิศทาง (ชนิดเส้นนูน)
ให้ปูตามแนวการสัญจร โดยวางให้เส้นนูนยาวตามทิศทางการสัญจร
และควรอยู่กึ่งกลางของทางสัญจร
ข้อกำหนดทั่วไปของพื้นผิวสัมผัสการเตือน (ทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา)
- ให้ขอบของพื้นผิวต่างสัมผัสในการเตือน ห่างจากจุดเริ่มของทางขึ้นและทางลงของพื้นต่างระดับ ทางลาด บันได หรือประตู ทั้งด้านหน้าและ ด้านหลังประตูเป็นระยะไม่น้อยกว่า 300 แต่ไม่เกิน 350 โดยมีความยาว เท่ากับความกว้างของช่องทางสัญจร และตั้งฉากกับทิศทางสัญจร
- กรณีต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างที่สามารถเข้าถึงได้จากหลายด้าน เช่น ป้าย ตู้ไปรษณีย์ ฯลฯ ให้ปูพื้นผิวสัมผัสในการเตือน ล้อมทุกด้านที่สามารถเข้าถึงได้
- กรณีสถานีขนส่งมวลชน ให้ขอบของพื้นผิวต่างสัมผัสในการเตือน ห่างจากขอบของชานชาลาไม่น้อยกว่า 600 แต่ไม่เกิน 650 โดยปูขนานตลอดแนว ของชานชาลา ให้ปูพื้นผิวต่างสัมผัสในการเตือน ทุกทางเลี้ยว ทางแยก หรือจุดที่ต้องการ บอกการเปลี่ยนทิศทางในการสัญจร
- พื้นผิวของพื้นทางสัญจร ทางลาด บันไดและประตู จะต้องมีความมั่นคง ป้องกันการลื่นไถล และเป็นไปตามข้อปฏิบัติที่แนะนําไว้ โดยต้องมีพื้นผิวต่างสัมผัสด้วย
- ต้องจัดให้มีพื้นผิวต่างสัมผัสเตือนสําหรับผู้พิการทางการมองเห็นที่บริเวณทางขึ้นและลงของทางลาดหรือบริเวณที่พื้นด้านหน้าและด้านหลังประตูทางเข้าอาคาร และพื้นที่หน้าประตูห้องน้ำ
บริเวณข้างเคียงพื้นผิวต่างสัมผัส
บริเวณข้างเคียงต้องมีพื้นผิวเรียบและมีสีซึ่งแตกต่างจากพื้นผิวต่างสัมผัส
เพื่อให้ผู้พิการทางการมองเห็นสัมผัสได้
ข้อกำหนดในกรณีพื้นต่างระดับ
พื้นผิวสัมผัสการเตือน (ทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา)
- ต้องจัดให้มีพื้นผิวต่างสัมผัสเตือนสําหรับผู้พิการทางการมองเห็นที่พื้นบริเวณต่างระดับกันเกิน 200 มิลลิเมตร
- พื้นต่างระดับที่สูงไม่เกิน 6 มิลลิเมตรไม่ต้องปาดขอบให้ลาดเอียง ส่วนพื้นที่ต่างระดับที่มีความสูง ระหว่าง 6-13 มิลลิเมตร จะต้องปาดขอบให้ลาดเอียง 1:2 และพื้นที่ต่างระดับที่สูงเกิน 13 มิลลิเมตร จะต้องใส่ทางลาดโดยไม่จําเป็นต้องมีพื้นผิวต่างสัมผัสเตือน
ขนาดและการติดตั้ง
พื้นผิวสัมผัสการเตือน (ทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา)
- พื้นผิวต่างสัมผัสเตือนต้องมีขนาดความกว้าง 300 มิลลิเมตร และมีความยาวเท่ากับความกว้างของช่องทางสัญจร และขนานไปกับความกว้างของช่องทางสัญจรของพื้นที่ต่างระดับ ทางลาด บันไดหรือ ประตู และขอบของพื้นผิวต่างสัมผัสเตือนอยู่ห่างจากจุดเริ่มต้นของทางขึ้นหรือทางลงของพื้นต่างระดับ ทางลาด บันไดหรือประตูไม่น้อยกว่า 300 มิลลิเมตร แต่ไม่เกิน 350 มิลลิเมตร
ภาพตัวอย่างการออกแบบทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตาของประเทศญี่ปุ่น
จากภาพตัวอย่าง จะเห็นได้ว่ามีการติดตั้ง Directional Tile / Guiding Block เพื่อบอกทิศทางการเดินไปข้างหน้า จนมาถึงจุดที่จะต้องข้ามถนน จะมีการติดตั้ง Warning Tile พื้นผิวต่างสัมผัสเดือนให้หยุด ซึ่งเป็นการออกแบบที่ช่วยให้ผู้ใช้ทางเท้าและมีความบกพร่องทางการมองเห็นสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย
จากภาพตัวอย่าง จะเห็นว่าทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตา หรือผู้บกพร่องทางการมองเห็น จะเป็นลักษณะทอดยาวไปโดยไม่มีอะไรมาเป็นสิ่งกีดขวาง และมักจะติดตั้งโซนด้านในของทางเดินสาธารณะ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน
ภาพตัวอย่างการออกแบบทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตาที่ไม่ถูกต้อง
และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
จากภาพตัวอย่าง มีการใช้ Braille Block รูปแบบ Directional Tile / Guiding Block ซึ่งเป็นพื้นผิวต่างสัมผัสในการบ่งบอกทิศทางตรงไปข้างหน้า ซึ่งจากในรูปจะเห็นได้ว่า เมื่อเดินตรงไปจะพบกับจุดที่รถจะเลี้ยวเข้ามาในซอย โดยที่บริเวณนั้นไม่ได้ติดตั้ง Warning Tile ซึ่งเป็นพื้นผิวต่างสัมผัสที่ช่วยแจ้งเดือนให้หยุด จึงมีโอกาสที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเวลาที่รถเลี้ยวมาแบบกระทันหัน
ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ
เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก
- มาตรฐานออกแบบ.pdf
>> file:///C:/Users/User/Desktop/Encycropidia/ramp%20universal%20design/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A.pdf
- สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
>> BAEDRFA.pdf
- https://workpointtoday.com/%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%9E%E0%B8%B4/
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม