หลักการออกแบบทางลาดในงานสถาปัตยกรรมสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ (Ramp Universal Design)

การออกแบบด้วยหลักการ Universal Design คือการออกแบบโดยคำนึงถึงทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย ตั้งแต่บุคคลที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตามปกติ เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ไปจนถึงผู้ทุพพลภาพ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้การดำเนินชีวิตมีความสะดวกสบายและปลอดภัยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

ซึ่งหากจะจำแนกหลักการออกแบบ Universal Design ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรานั้น แน่นอนว่ามีด้วยกันหลายรูปแบบมาก วันนี้ Wazzadu Encyclopedia จึงขอหยิบยกหลักการออกแบบ Universal Design ในหัวข้อ "หลักการออกแบบทางลาดในงานสถาปัตยกรรมสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ" โดยในบทความจะพูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดและรูปแบบของทางลาดในงานสถาปัตยกรรมที่น่ารู้ มาฝากทุกคนกันครับ...

ทางลาดเข้าสู่อาคารหรือภายในอาคาร

โดยทั่วไปมีข้อกำหนดดังนี้

  • สถานที่ภายนอกอาคารเหมาะสมกับการมีทางลาดมากกว่าภายในอาคาร เนื่องจากทางลาดจะใช้พื้นที่มาก
  • ทางลาดที่ดีควรอยู่ข้างบันได
  • ควรมีพื้นที่บริเวณหน้าทางลาดเป็นที่ว่างยาว เมื่อวัดจากด้านหน้าทางลาดมีระยะไม่น้อยกว่า 1,500 มิลลิเมตร
  • ทางลาดควรมีการก่อสร้างให้มีความคงทน แข็งแรง สามารถรับน้ำหนักได้อย่างน้อย 300 กิโลกรัม

โครงสร้างของทางลาด

  1. ทางลาดตรง

  2. ทางลาด 90 องศา

  3. ทางลาด 180 องศา

ข้อกำหนดความกว้างทางลาด

ทางลาดควรจะมีความกว้างอย่างน้อย 900 มิลลิเมตร ซึ่งความกว้างทางลาดควรกําหนดโดยพิจารณาถึงจํานวนผู้ใช้ เพราะหากมีความกว้างมากเกินไป อาจจะทําให้เก้าอี้เข็นคนพิการพลิกคว่ำได้ โดยกฎกระทรวงฯ 2548 กําหนดว่า ทางลาดต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 900 มิลลิเมตร ในกรณีที่ทางลาดมีความยาวของทุกช่วงรวมกันตั้งแต่ 6,000 มิลลิเมตร ขึ้นไป ต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 1,500 มิลลิเมตร

ข้อกำหนดความชันของทางลาด

  • ทางลาดควรมีความชันไม่เกิน 1: 12 และมีความยาวแต่ละช่วงไม่เกิน 6,000 มิลลิเมตร (ตามที่ กฎกระทรวงฯ 2548 กําหนดให้มีความยาวของแต่ละช่วงยาวไม่เกิน 6,000 มิลลิเมตรในกรณีที่มีความ ยาวเกินต้องจัดให้มีชานพักยาวไม่น้อยกว่า 1,500 มิลลิเมตร คั่นระหว่างแต่ละช่วงของทางลาด) แต่ทั้งนี้ การกําหนดให้มีความยาวทางลาดแต่ละช่วงไม่เกิน 6,000 มิลลิเมตร จะทําให้พื้นที่ทางลาดยาวมาก จึง มีบางเอกสาร “ กําหนดความยาวช่วงไม่เกิน 10,000 มิลลิเมตร ต้องจัดให้มีชานพัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ระดับความสูง เนื่องจากมีผลต่อความยาวของทางลาด
  • อัตราส่วนความลาดเอียงของทางลาดที่อยู่ในช่วง 1:20 ถึง 1:12 ผู้นั่งเก้าอี้เข็นคนพิการสามารถใช้ เก้าอี้เข็นคนพิการด้วยตนเองได้ หากอัตราส่วนความลาดเอียง 1:10 ต้องอาศัยผู้ช่วยเหลือ และหากมี อัตราส่วนความลาดเอียงมากกว่า 1:10 จะก่อให้เกิดอันตรายได้ (9) (ทั้งนี้ต้องมีความยาวช่วงตามที่ กําหนด)
  • หากระดับพื้นภายในอาคาร ภายนอกอาคารหรือภายในกับภายนอกอาคารมีความต่างระดับกันไม่เกิน 20 มิลลิเมตร ควรทําพื้นลาดให้เชื่อมต่อกันไม่สะดุด โดยมีอัตราส่วนความลาดเอียง 1:24) (กฏ กระทรวงฯ 2548 กําหนดว่าต้องทําพื้นทางลาดให้พื้นเชื่อมต่อกันได้โดยไม่สะดุดไม่เกิน 45 องศาซึ่ง เท่ากับ 1:1)

ข้อกำหนดเรื่อง "พื้น" ของทางลาด

  • พื้นของทางลาดควรจะมีลักษณะแข็งและไม่ลื่น
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้พรม
  • พื้นผิวของจุดต่อเนื่องระหว่างพื้นกับทางลาดต้องเรียบไม่สะดุด
  • พื้นผิวของทางลาดควรมีสีแตกต่างจากพื้นของจุดเชื่อมต่อ
  • ควรมีการแยกสีให้แตกต่างกันระหว่างกําแพงและพื้นทางลาด

ข้อกำหนดเกี่ยวกับ "ชานพัก" ของทางลาด

  • ทางลาดควรจะมีทางราบเพื่อให้หยุดพักหรือหมุนตัว และเพื่อหลีกเลี่ยงการลงจากทางลาดด้วยความเร็ว
  • ทางลาดควรมีทางราบตามกฎกระทรวงกําหนดทุกๆ 6,000 มิลลิเมตร
  • ลาดควรมีทางราบทุกๆ 10,000 มิลลิเมตร และทุกๆ ที่ ที่ทางลาดมีการเปลี่ยนทิศ รวมถึงด้านบนและด้านล่างสุดของทางลาดควรมีทางราบเช่นเดียวกัน
  • ความกว้างของทางราบไม่ควรน้อยกว่า 1,500 มิลลิเมตร
  • ทางลาดด้านที่ไม่มีผนังกั้นให้ยกขอบสูงจากพื้นผิวของทางลาดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิเมตร เพื่อไม่ให้ที่ควบคุมล้อติดกับขอบกันตก
  • ราวกันตกแนวตั้ง ระยะห่างไม่เกิน 1,500 มิลลิเมตร

ข้อกำหนดเกี่ยวกับ "ราวจับ" ของทางลาด

ข้อมูลทั่วไป

  • ในกรณีทางลาดที่มีความยาวตั้งแต่ 2,500 มิลลิเมตร ขึ้นไปต้องมีราวจับทั้งสองด้าน ระยะห่างของราวจับทั้งสองด้านไม่น้อยกว่า 900 มิลลิเมตร แต่ไม่เกิน 1,500 มิลลิเมตร
  • ควรติดตั้งราวจับตรงกลางเพิ่มอีกราว สําหรับทางลาดที่กว้างมากกว่า 3,000 มิลลิเมตร
  • ควรติดตั้งราวจับหรือราวกันตามสถานที่ที่อันตราย เช่น บันได ทางลาด ระเบียงและบริเวณที่ยกสูงขึ้นจากพื้นตั้งแต่ 400 มิลลิเมตร ขึ้นไป
  • ควรมีราวกั้นหรือลูกกรง สําหรับหน้าต่างตรงบริเวณบันได ที่มีความสูงวัดจากวงกบของหน้าต่างกับบันไดอยู่ต่ํากว่า 1,000 มิลลิเมตร
  • ควรติดตั้งราวจับภายในห้องน้ําหรือห้องอาบน้ําของผู้พิการ
  • ระหว่างราวจับแนวตั้งและช่องระหว่างราวจับแนวนอน ควรจะแคบเพื่อความปลอดภัยของเด็ก
  • ราวจับไม่ควรกั้นหรือกีดขวางทางสัญจร

ขนาดของราวจับที่เหมาะสมสำหรับทางลาด

  • เพื่อความสะดวกสบายของผู้พิการและผู้สูงอายุ ราวจับควรจะติดตั้งอยู่ในระดับความสูงไม่น้อยกว่า 800 มิลลิเมตร แต่ไม่ควรเกิน 900 มิลลิเมตร จากพื้น เพื่อประโยชน์ต่อผู้ใช้เก้าอี้เข็นคนพิการ (Wheelchair)
  • ควรติดตั้งราวจับราวที่สองในระดับความสูง ระหว่าง 700 มิลลิเมตร ถึง 750 มิลลิเมตร จากพื้น
  • เพื่อความปลอดภัยของเด็กควรติดตั้งราวจับที่สามระดับความสูง 600 มิลลิเมตรจากพื้น
  • เพื่อการนําทางสําหรับผู้พิการทางการมองเห็นที่ใช้ไม้เท้าและผู้ที่นั่งเก้าอี้เข็นคนพิการ ควรติดตั้งราวหรือขอบทางสัญจรที่มีระดับความสูง 150 มิลลิเมตรจากพื้น เนื่องจากสามารถช่วยในการนํา ทางและห้ามล้อของเก้าอี้เข็นคนพิการได้

ราวจับที่ติดตั้งกับผนัง

  • ราวจับควรจะติดอยู่กับกําแพงหรือโครงสร้างที่แข็งแรง เพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักจํานวนมากได้

ลักษณะและรูปทรงของราวจับ

  • ทําด้วยวัสดุเรียบ มีความมั่นคงแข็งแรง ไม่เป็นอันตรายในการจับและไม่ลื่น
  • ราวจับควรมีลักษณะกลม โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร แต่ไม่เกิน 40 มิลลิเมตร
  • ราวจับด้านที่อยู่ติดผนังให้มีระยะห่างจากผนังไม่น้อยกว่า 50 มิลลิเมตร มีความสูงจากจุดยึดไม่น้อยกว่า 120 มิลลิเมตร และผนังบริเวณราวจับต้องเป็นผนังเรียบ

ตัวอย่างทางลาดในพื้นที่สาธารณะ

ขอบคุณภาพประกอบจาก Pinterest.com

ขอบคุณภาพประกอบจาก Pinterest.com

ขอบคุณภาพประกอบจาก Pinterest.com

Tactiles Surface รูปแบบของแผ่นทางเดินชนิดต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้

1. พื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือน (Warning Tactile/ Block)

  • ให้มีพื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือนในบริเวณพื้นที่ดังต่อไปนี้
  • พื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือน กว้าง 30 เซนติเมตร ความยาวเท่ากับและขนานไปกับความกว้างของช่องทางเดินของพื้นที่ต่างระดับ ทางลาด บันได หรือ ประตู
  • ขอบของพื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือน อยู่ห่างจากจุดเริ่มต้นของทางขึ้นหรือทางลงของพื้นต่างระดับ ทางลาด บันได หรือประตู 30-35 เซนติเมตร
  • ในกรณีของสถานีขนส่งมวลชน ให้ขอบนอกของพื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือนอยู่ห่างจากขอบของชานชาลา ไม่น้อยกว่า 60-65 เซนติเมตร

บริเวณพื้นที่ติดตั้ง

  • ทางขึ้น และ ทางลง ของทางลาด หรือ บันได
  • พื้นด้านหน้าและด้านหลังของ ประตู ทางเข้าอาคาร
  • พื้นด้านหน้าของประตูห้องน้ำ
  • พื้นที่หน้าประตูลิฟท์
  • พื้นบริเวณทางออกฉุกเฉิน
  • บริเวณที่เป็นทางแยกหรือทางเลี้ยวในอาคาร

2. พื้นผิวต่างสัมผัสชนิดนำทาง (Guiding Tactile/Block)

ให้มีพื้นผิวต่างสัมผัสชนิดนำทางในบริเวณพื้นที่ดังต่อไปนี้

  • ควรใช้สำหรับนำทางคนพิการทางการเห็นไปสู่จุดหมายที่สำคัญในพื้นที่ เช่น บริเวณพื้นที่หรือโถงอาคารที่กว้างๆ ไม่สามารถใช้ปลายไม้เท้าขาวแตะขอบผนังอาคารได้ การติดตั้งพื้นผิวต่างสัมผัสชนิดนำทางนี้ ใช้ควบคู่กับพื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือน โดยจะนำทางไปสู่ป้ายให้ข้อมูล เช่นแผนผังต่างสัมผัส หรือ จุดบริการข้อมูล

3. พื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเปลี่ยนทิศทาง (Positional Tactile/Block)

  • ติดตั้งบริเวณจุดทางแยก เปลี่ยนทิศทาง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก >> www.facebook.com/Thailand.Infra/posts/741770056261476/

ตัวอย่างการออกแบบทางลาดในพื้นที่สาธารณะ 

หมายเหตุ** รูปตัวอย่างเป็นรูปแบบทางลาดที่ควรมีผู้ช่วยในการเข็นรถเข็น ในกรณีของผู้พิการที่นั่งวีลแชร์

ขอบคุณภาพประกอบจาก archdaily.com

ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ

เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก

  • มาตรฐานออกแบบ.pdf >> file:///C:/Users/User/Desktop/Encycropidia/ramp%20universal%20design/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%90%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A.pdf
  • โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure >> www.facebook.com/Thailand.Infra/posts/741770056261476/

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ