Biophilic Office Design เทรนด์การออกแบบออฟฟิศยุคใหม่ ที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับธรรมชาติ
จากความเชื่อที่ว่า “ลึกๆ แล้วภายในจิตใต้สำนึกของมนุษย์มีความผูกพันและโหยหาองค์ประกอบทางธรรมชาติและระบบนิเวศอยู่เสมอ” ก่อกำเนิดเป็นแนวคิด Biophilia ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่ถูกคิดค้นโดยคุณ เอ็ดเวิร์ด โอ วิลสัน (Edward O. Wilson) และถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984
ต้นกำเนิดของคำว่า Biophilia มาจากการผสมผสานของรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ คือคำว่า "Bios" ซึ่งหมายถึง "ชีวิต" และคำว่า "Phila" ซึ่งหมายถึงความรักในรูปแบบฉันมิตรหรือความเท่าเทียม ซึ่งโดยรวมแล้วก็จะมีความหมายว่า “ความรักในชีวิต” หรือ "Love of Life" นั่นเอง
และจากความเชื่อที่ว่า มนุษย์นั้นยังโหยหาความเป็นธรรมชาติอยู่เสมอ นำไปสู่การนำเอาแนวคิดเรื่อง Biophilia มาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ที่พักอาศัย พื้นที่สาธารณะ อาคารสถานที่ต่างๆ และที่เราจะมานำเสนอในวันนี้ คือการนำเอาแนวคิด Biophilia มาประยุกต์ใช้เป็นหลักการออกแบบออฟฟิศสำนักงาน เพื่อเชื่อมโยงชีวิตประจำวันของมนุษย์สู่องค์ประกอบทางธรรมชาติและระบบนิเวศน์ จนเกิดเป็นแนวคิดการออกแบบออฟฟิศยุคใหม่ที่มีความน่าสนใจมากในปัจจุบัน
Biophilic Design คืออะไร?
Biophilic Design เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในงานสถาปัตยกรรมหรืองานออกแบบ จะไม่ใช่แค่การออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติ หรือการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงออกแบบเพื่อประสานวิถีชีวิตของผู้คนที่เข้ามาใช้พื้นที่ภายในงานออกแบบนั้นๆ ให้เป็นหนึ่งเดียว หรือมีส่วนร่วมกันไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม ไม่ว่าจะด้านการอยู่อาศัย ทำงานหรือเรียน เชื่อมโยงผู้คนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ โดยมีคอนเซ็ปต์คือ ธรรมชาติเป็นศูนย์กลางในงานออกแบบ
Direct contact นำองค์ประกอบของธรรมชาติมาใช้โดยตรง
เทคนิคนี้เป็นการนำเอาองค์ประกอบหรือวัสดุธรรมชาติมาใช้ในงานออกแบบอย่างตรงไปตรงมา ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือนำเอาพืชพรรณ หรือต้นไม้ต่างๆ มาตกแต่งในพื้นที่การทำงานร่วมด้วย เช่น สร้างฟาซาดที่เต็มไปด้วยพืชพรรณไม้ กำแพงสวนแนวตั้ง (Green wall) สร้างบรรยากาศแห่งความชุ่มชื่น เขียวชะอุ่ม หรือสร้างบรรยากาศทางธรรมชาติผ่านประสาทสัมผัสอื่นๆ เช่น การสัมผัสพื้นผิว อุณหภูมิ กลิ่น รสชาติ เสียง โดยใช้การเปิดเสียงเลียนแบบธรรมชาติ การใช้น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติ ไปจนถึงการรับรู้ทางสายตา จากการเคลื่อนไหวของใบไม้ เงาจากต้นไม้ การเคลื่อนไหวของระรอกน้ำ
- ใช้ต้นไม้หรือพืชพรรณเข้าไปตกแต่งในพื้นที่การทำงานโดยตรง เช่น ตกแต่งฟาซาด หรือกำแพงสวนแนวตั้ง
- สร้างบรรยากาศร่วม ผ่านประสาทสัมผัสอื่นๆ เช่น การเปิดเสียงนก เสียงน้ำไหล หรือใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นธรรมชาติ
- หน้าต่างที่ทำให้สามารถมองเห็นพื้นที่สีเขียวภายนอกอาคารได้
- การใช้บล็อกช่องลมเพื่อรับแสงและลมจากธรรมชาติโดยตรง
Indirect Contact ลดทอนรูปทรงเดิม แต่นำจุดเด่นบางอย่างมาปรับใช้
คือการนำเอาองค์ประกอบบางส่วนของความเป็นธรรมชาติมาปรับใช้ หรือประยุกต์ในงานออกแบบ เช่น การนำเอารูปทรง สี หรือลักษณ์บางอย่างของใบไม้ ต้นไม้ กิ่งไม้ ภูเขา มาตกแต่งร่วมกับวัสดุที่มีลักษณะพื้นผิวแบบธรรมชาติ เช่น ลวดลายของไม้ เปลือกไม้ หิน จนเกิดเป็นรูปแบบการตกแต่งที่จำลองความเป็นธรรมชาติได้อย่างแนบเนียน นอกจากนี้ การใช้ลูกเล่นเรื่องความซับซ้อนของธรรมชาติก็เป็นส่วนสำคัญไม่แพ้กัน เช่น การใช้แสงเงาและและโครงสร้างทางธรรมชาติมาเพิ่มมิติความน่าสนใจในงานออกแบบ
- การจำลององค์ประกอบธรรมชาติ เช่น รูปทรง สี หรือลักษณะเฉพาะบางอย่าง
- การใช้วัสดุทดแทนธรรมชาติ หรือวัสดุที่มีพื้นผิวแบบธรรมชาติ เช่น เปลือกไม้ ลายหิน
- การใช้ลูกเล่นเรื่องแสง เงาที่มีความซับซ้อน เช่น แสงตกกระทบกับฟาซาด เกิดเป็นมิติเงาในอาคาร
Human Spatial Respond ออกแบบพื้นที่ให้ตอบสนองสัญชาติญาณของมนุษย์
การออกแบบพื้นที่โดยให้ความสำคัญกับพฤติกรรมหรือสัญชาติญาณธรรมชาติของมนุษย์ เช่น สัญชาติญาณชอบความท้าทาย ความลึกลับ ความเปิดเผย ความรักสงบ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของจิตใต้สำนึก ซึ่งเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบจะเป็นการออกแบบพื้นที่โดยคำนึงถึงผู้ใช้งานโดยแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบภายในอาคารให้ดูโปร่งโล่ง สามารถมองเห็นบรรยากาศโดยรอบได้โดยง่าย แต่มีมุมทำงานส่วนตัวเป็นพื้นที่แสนสงบเพื่อหลบหลีกความวุ่นวาย สร้างมุมที่หลากหลายโดยตอบสนองจากพฤติกรรมของมนุษย์เป็นหลัก
- ออกแบบพื้นที่ให้มีความโปร่งโล่ง มองเห็นบรรยากาศโดยรอบได้ง่าย
- ออกแบบพื้นที่ซ่อนตัว แต่ยังสามารถมองเห็นส่วนอื่นๆ ของอาคารได้ง่าย เช่น มุมทำงานส่วนตัว
- ออกแบบพื้นที่ให้เกิดความรู้สึกว่าน่าค้นหา หรือลูกเล่นที่แปลกใหม่
- ออกแบบพื้นที่ให้ดูท้าทาย หรือออกแบบมุมหนึ่งโดยอิงจากคอนเซ็ปต์รวม เช่น พื้นที่นั่งเล่นรูปทรงรังนกที่ยื่นออกมาจากส่วนหลักอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งของออฟฟิศในคอนเซ็ปต์ป่าสวน Amazon
ออฟฟิศสำนักงานระดับโลก การแนวคิด Biophilia Design
1. โปรเจค The spheres สำนักงานใหญ่ Amazon
บริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบ : NBBJ
ตั้งอยู่ที่ : เมืองซีแอทเทิล สหรัฐอเมริกา
Area : 67000 ตารางเมตร
แรงบันดาลใจจากการตระหนักได้ว่า...
พื้นที่สำหรับการทำงานในปัจจุบันนั้น ขาดการเชื่อมโยงกับธรรมชาติลงไปเรื่อยๆ ยิ่งอยู่ในเมืองเท่าไหร่ก็ยิ่งห่างไกลจากธรรมชาติเท่านั้น และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์พื้นที่การทำงานเพื่อให้พนักงาน หรือผู้ที่เข้ามาทำงานที่นี่ได้มีส่วนร่วมกับธรรมชาติ เมื่อคุณเข้ามาที่นี่ครั้งแรก จะสัมผัสได้ถึงความเขียวชอุ่มของภายในโดม และเกิดการรับรู้ถึงสุขภาพที่ดีได้โดยอัตโนมัติ เพราะภายในนั้นรายล้อมไปด้วยพืชพรรณนาๆ ชนิด เสมือนจำลองป่าไม้ ให้มาอยู่ในพื้นที่การทำงาน ซึ่งผสานเข้ากันได้อย่างลงตัวเลยทีเดียว
- ภายในโดมแห่งนี้ปลูกต้นได้ราว 40,000 ต้น และมีทั้งหมด 400 สายพันธุ์ !
- ที่นั่งบนชั้นลอย เสมือนรังนกจำลอง
2. โปรเจคการออกแบบออฟฟิศ LENNE
บริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบ : KAMP Arhitektid
ตั้งอยู่ที่ : ประเทศ Estonia (เอสโตเนีย)
Area : 1,100 ตารางเมตร
โปรเจคสำนักงานใหม่ของ LENNE ซึ่งเป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าเด็กของประเทศ Estonia (เอสโตเนีย) ตั้งอยู่ในโรงงานแห่งยุคโซเวียต กับการปรับปรุงในขนาดพื้นที่ 1,100 ตร.ม. เป็นผลงานการออกแบบของบริษัท KAMP Arhitektid ด้วยการออกแบบภายใต้เเนวคิดในนิยามว่า " ป่าฤดูร้อนที่สดใส " เพื่อมาเนรมิตพื้นที่ทำงานให้มีภาพลักษณ์ที่โดดเด่นเเละน่าสนใจ พร้อมกับการสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับสำนักงาน ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญของบริษัทซึ่งยังคำนึงถึงการทำงานที่เป็นมิตรกับสภาพเเวดล้อม
คอนเซ็ปต์การออกแบบออฟฟิศในแบบป่าฤดูร้อนที่สดใส โดยการจำลองเอาต้นไม้หรือสร้างพื้นที่สีเขียวมาเพิ่มสีสันและความเขียวชอุ่มให้กับพื้นที่ทำงานแล้ว ยังได้เพิ่มมิติการทำงานที่แฝงความสนุกสนานด้วยการสร้างระดับทางเดินที่เพิ่มขั้นบันได เเละเน้นวัสดุที่ผสมผสานความเป็น Modern & Tropical ให้ดู active กว่าเดิม
การออกแบบภายในให้สอดคล้องกับแนวคิด Biophilic ประกอบไปด้วย
- อากาศ (Air)
- น้ำ (Water)
- สารอาหาร (Nourishment)
- แสงสว่าง (Light)
- สุขภาพกาย (Fitness)
- ความสบาย (Comfort)
- จิตใจ (Mind)
ตัวอย่างวัสดุทดแทนธรรมชาติที่น่าสนใจ
Beleaf Chair เก้าอี้จากใบไม้แห้ง
ออกแบบโดย : Simon Kern
วัสดุที่ใช้ : ใบไม้แห้ง
แนวคิดการออกแบบหรือเลือกใช้วัสดุ
Simon Kern นักออกแบบชาวสโลวาเกีย ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบผลงาน Beleaf Chair มาจากวงจรการเติบโตและย่อยสลายของต้นไม้ แนวคิดของเขาเกิดจากการสังเกตุว่าต้นไม้จะเติบโตขึ้น ออกใบ และร่วงโรยกลายเป็นใบไม้แห้งตกลงสู่ใต้ต้นไม้ เพื่อย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้อีกครั้ง และนั่นก็เป็นการจุดประกายไอเดียว่า เฟอร์นิเจอร์ก็สามารถมีวงจรแบบนั้นได้เช่นเดียวกัน
หลังจากได้ไอเดียแล้ว เขาจึงนำเอาแรงบันดาลใจจากวงจรการเจริญเติบโตไปจนถึงการย่อยสลายของต้นไม้ มาออกแบบเป็น "เก้าอี้จากใบไม้แห้ง" โดยนำเอาวัสดุหลักอย่างใบไม้แห้งที่มีจำนวนเยอะมากในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ไบโอ-เรซินจากน้ำมันพืชที่ไม่ใช้แล้ว และทราย มายึดติดด้วยกาวหลอม จากนั้นจึงนำไปใส่แม่พิมพ์ และสุดท้ายเขาเลือกใช้โครงสร้างเหล็กเพื่อนำไปเป็นโครงสร้างของเก้าอี้ เพื่อให้แข็งแรง ทนทาน
ความตั้งใจของคุณ Simon Kern คือต้องการให้เก้าอี้ตัวนี้มีอายุการใช้งานไปอีกหลายปี และสามารถย่อยสลาย หรือใช้ใหม่ได้ซ้ำๆ โดยเขากล่าวว่า
“ถ้าหากเก้าอี้ตัวนี้เกิดการเสียหาย เราก็เพียงแค่นำไปวางไปใต้ต้นไม้เพื่อให้เกิดการย่อยสลายไปตามธรรมชาติ หลังจากนั้นก็เพียงแค่เก็บใบไม้แห้งที่ร่วงหล่น แล้วนำมาทำที่นั่งใหม่ได้อีกครั้ง”
วัสดุที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบออฟฟิศ Biophilia Design
บล็อกช่องลม
เป็นวัสดุตกแต่งผนังอาคาร ฟาซาด เพื่อเสริมในเรื่องความเย็นและระบายอากาศให้กับภายในอาคาร หรือช่วยเพิ่มมิติแสงเงาเพิ่มความน่าสนใจ การออกแบบช่องเปิดโดยใช้บล็อกช่องลมบริเวณชั้นล่างของบ้านให้ตรงกับทิศทางของลมและมีช่องเปิดบริเวณเพดานหรือชั้นบนเพื่อเปิดโอกาสให้อากาศเย็นจากชั้นล่างดันอากาศร้อนให้ถ่ายเทออกผ่านช่องเปิดเพดาน ผลคือบ้านจะเย็นขึ้นและไม่อบอ้าว ทำให้เราใช้ไฟฟ้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
กระเบื้องเซรามิค
เป็นกระเบื้องที่ผ่านการเผา 1 หรือ 2 ครั้ง ตามลักษณะการใช้งาน และเคลือบผิวทำลวดลายเป็นกระเบื้องที่มีขนาดหลากหลายและมีโทนสีสไตล์ต่างๆ ให้เลือกใช้มากที่สุด กระเบื้องเซรามิคแบ่งออกเป็น กระเบื้องสำหรับปูพื้น และปูผนัง ซึ่งไม่แนะนำให้เอากระเบื้องเซรามิคสำหรับผนังไปปูพื้น เพราะออกแบบให้รับน้ำหนักต่างกัน นอกจากนี้ ยังแบ่งเป็นแบบผิวมัน และแบบผิวหยาบ สำหรับเลือกใช้งานแบบต่างๆอีกด้วย
ระแนงไม้เทียมพลาสติกคอมโพสิต (Wood Plastic Composite Lath)
ระแนงไม้เทียมพลาสติกคอมโพสิต หรือ WPC คือ วัสดุที่มีส่วนผสมของไม้ และพลาสติก มีทั้งหน้าตัดแบบกลวง และหน้าตัดแบบตัน ซึ่งคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์นั้นๆจะโดดเด่น และโน้มเอียงไปทางไหนก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของไม้ และพลาสติกที่นำมาผสมกันนั่นเอง โดยเฉลี่ยแล้วจะมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 10 ปี
พื้นลามิเนต (Laminate flooring)
มีผิวสัมผัสที่สวยงามให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับไม้จริงข้อดีของพื้นไม้ลามิเนต สามารถเลือกสี หรือลายไม้ตามแบบที่เราต้องการได้ มีน้ำหนักเบาจึงมักถูกนำมาทดแทนการใช้ไม้จริง อีกทั้งยังสามารคติดตั้งได้ง่ายๆ เพราะมักจะใช้ลักษณะการติดตั้งแบบ Click Lock แต่จะมีข้อเสียตรงที่เป็นวัสดุที่ไม่ทนน้ำเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะหากน้ำท่วมและต้องแช่อยู่ในน้ำขังเกิน 12 ชม.ขึ้นไป มีโอกาสที่พื้นจะบวมพองและบิดตัว
ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ
เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
- https://citycracker.co
- www.d1.co.th
- www.bareo-isyss.com
- www.wazzadu.com
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม