วิธีติดตั้งประตูบานเลื่อนไม้โชว์รางเหล็ก สไตล์ลอฟท์หรือวินเทจ

วิธีการติดตั้งประตูบานเลื่อนไม้ โชว์รางเหล็ก สไตล์ลอฟท์หรือวินเทจ และวิธีเปลี่ยนประตูบานเลื่อนอะลูมิเนียมเป็นประตูบานเลื่อนรางเหล็ก

Type: Decorative Material (วัสดุตกแต่ง)

Category: Sliding Barn Doors (ประตูบานเลื่อนแบบโชว์ราง)

 

ข้อดีของประตูบานเลื่อนแบบโชว์ราง

  • สามารถใช้ในพื้นที่จำกัดได้ดีเนื่องจากลักษณะการเปิด-ปิดประตูกินระยะไม่มาก 
  • สวยงาม ทันสมัย มีรูปแบบของรางให้เลือกหลากหลาย 
  • รางเหล็กมีความแข็งแรงทนทาน 
  • ตัวบานประตู มีวัสดุให้เลือกใช้หลายชนิด เช่น ประตูไม้จริง ประตูไม้อัด ประตูไม้เทียม ประตูไม้พลาสวูด 
  • ใช้แรงในการเปิดน้อยกว่าประตูบานเปิด หรือบานสวิงโดยทั่วไป ใช้งานง่ายเหมาะกับผู้สูงอายุ

ข้อเสียของประตูบานเลื่อนแบบโชว์ราง

  • ไม่ควรใช้เป็นประตูหน้าบ้าน เนื่องจากประตูบานเลื่อนลักษณะนี้จะมีช่องว่างระหว่างประตูและผนัง อาจทำให้มีสัตว์เล็กๆ เช่นยุง หรือแมลงต่างๆ เข้ามาในบ้านได้ 
  • ไม่ควรใช้กั้นห้องที่มีการเปิดเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากประตูบานเลื่อนลักษณะนี้จะมีช่องว่างระหว่างประตูและผนัง อาจทำให้เกิดการรั่วไหลของอากาศ และทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนัก
  • หากต้องการติดตั้งมุ้งลวดจะดูไม่กลมกลืนและไม่สวยงาม
  • ส่วนใหญ่แล้วมักไม่ได้ใช้คู่กับอุปกรณ์ล็อคบาน เนื่องจากประตูบานเลื่อนลักษณะนี้จะมีช่องว่างระหว่างประตูกับผนัง และประตูกับพื้นพอสมควร เพราะฉะนั้นการติดตั้งตัวล็อคทั้งที่ผนังหรือที่พื้นจึงทำได้ยากพอสมควร หรือต้องมีดีเทลพิเศษในการติดตั้ง

ประตูบานเลื่อนนั้นสามารถติดตั้งได้ง่ายโดยมีขั้นตอนดังนี้ครับ 

  1. สำรวจโครงสร้างของผนังเดิม
  2. วัดระยะช่องเปิดและตกแต่งให้ได้แนวดิ่ง 
  3. จัดเตรียมบานประตูให้มีขนาดที่เหมาะสม
  4. ติดตั้งรางเลื่อนเหล็ก และตัวเชื่อมรางในกรณีที่เป็นบานเปิดคู่
  5. ติดตั้งมือจับและลูกล้อกับบานประตู 
  6. ติดตั้งตัวบังคับบานที่พื้น และเซาะร่องบานประตู
  7. ติดตั้งตัวหยุดบาน 

1. สำรวจโครงสร้างของผนังเดิมว่าเป็นผนังชนิดใด

  • ผนังก่ออิฐฉาบปูน ผนังอิฐบล๊อค ผนังอิฐมวลเบา จะต้องใช้พุกที่แตกต่างกัน
  • หากผนังเดิมเป็นผนังยิปซัมหรือผนังไม้อัด ให้ตรวจสอบว่าโครงเดิมที่ใช้นั้นเป็นโครงไม้ หรือโครงซีไลน์ และสามารถรับน้ำหนักของประตูได้หรือไม่ เพราะการติดตั้งรางเลื่อนของประตูจะต้องถ่ายน้ำหนักไปที่โครง ไม่สามารถติดตั้งกับวัสดุปิดผิวได้

2. วัดระยะช่องเปิดและตกแต่งให้ได้แนวดิ่ง

  • ต้องวัดระดับน้ำแนวนอนที่ขนานกับพื้นดินให้แม่นยำ ในกรณีที่พื้นไม่เรียบหรือลาดเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง หากเป็นไปได้ควรปรับระยะพื้นให้เรียบตรง เพราะหากพื้นด้านที่จะต้องเลื่อนประตูไปเก็บมีระดับที่สูงกว่าจะทำให้เลื่อนประตูไม่ได้ และหากด้านที่จะต้องเลื่อนประตูไปเก็บมีระดับต่ำกว่าจะทำให้ระดับของตัวบังคับบานต่ำลงไปด้วยทำให้ไม่สามารถบังคับบานให้ไม่แกว่งได้
  • ต้องวัดระดับความตั้งฉากของช่องเปิดให้เป็นแนวดิ่งกับพื้นโลก เพราะประตูบานเลื่อนจะทิ้งตัวตามแรงดึงดูของโลก หากช่องเปิดเอียงอาจทำให้ประตูปิดไม่สนิท ดูไม่สวยงามและใช้ประโยชน์ไม่ได้

3. จัดเตรียมบานประตูให้มีขนาดที่เหมาะสม

  • ความกว้างของบานประตู ควรมีมีขนาดกว้างกว่าช่องประตูข้างละ 5 ซม. เป็นอย่างน้อย เพื่อให้เป็นรยะที่สามารถบังสายตาในการมองไปอีกห้องได้
  • ความสูงของบานประตู ควรให้บานประตูลอยจากพื้นเล็กน้อยเพื่อความสะดวกในการเลื่อนเปิด-ปิด และให้บานประตูสูงกว่าช่องเปิดประมาณ 5 ซม. 
  • ระยะบานเปิดจะเป็น 2 เท่าตัวของความกว้างประตู ดังนั้นความยาวของตัวรางเหล็กจะยาวมากกว่านั้นไปอีกเล็กน้อยทั้งสองด้าน เพื่อเป็นระยะสำหรับติดตั้งตัวหยุดบานและเพื่อความสวยงาม 

4. ติดตั้งรางเลื่อนเหล็ก และตัวเชื่อมรางในกรณีที่เป็นบานเปิดคู่

เนื่องจากตัวบานประตูมีความหนาตัวรางจึงควรยื่นออกมาจากผนังเล็กน้อยเพื่อไม่ให้บานประตูเสียดสีกับผนังเดิม ประตูโดยทั่วไปมีความหนาประมาณ 3.5 ซม. อย่างน้อย ดังนั้นก่อนติดตั้งรางเหล็กให้ทำการวัดระยะและกำหนดจุดที่จะติดตั้งทั้งระยะที่ห่างจากผนัง และระยะห่างระหว่างรูสำหรับขันสกรู ในกรณีที่ติดตั้งบานเลื่อนคู่ต้องมีตัวเชื่อมรางติดตรงกลางด้วย

อุปกรณ์รางเลื่อนเหล็กนั้นมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับมาตรฐานของผู้ผลิต สำหรับรางเหล็กแบบโชว์รางสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือ

  • แบบแผ่นเหล็กที่มีขายื่นไปด้านหลังสำหรับติดตั้งกับผนัง 
  • แบบแผ่นเหล็กที่ไม่มีขา ติดตั้งบนชิ้นไม้เพื่อเสริมให้รางยื่นออกมาจากผนัง  

5. ติดตั้งมือจับและลูกล้อกับบานประตู 

ปกติแล้วลูกล้อบานเลื่อนจะมาพร้อมกับแผ่นเหล็กมีรูสำหรับยึดกับบานประตู กำหนดระยะการติดตั้งให้ติดห่างจากขอบบานอย่างน้อยข้างละ 10 ซม. วัดระยะกำหนดจุด เมื่อเจาะบานประตูแล้วให้ขันสกรูยึดอุปกร์กับตัวบานให้แน่น จากนั้นจึงนำบานประตูที่ติดล้อเลื่อนแล้วไปแขวนที่ราง และที่สำคัญที่สุดคือ อย่าลืมติดตั้งตัวกันบานตกนะครับ อุปกรณ์ตัวนี้มักเป็นชิ้นกลมหรือสี่เหลี่ยมเล็กๆ หนาประมาณ 3 ซม. ใช้ติดบนสันบาน ซึ่งทำให้เราไม่สามารถยกประตูออกจากรางได้ แต่หากต้องการซ่อมแซมบานประตูก็ให้ขันสกรูเอาเจ้าตัวกันบานตกนี้ออกก่อน จึงจะสามารถยกบานประตูออกจากรางได้ครับ

6. ติดตั้งตัวบังคับบานที่พื้น และเซาะร่องบานประตู

เมื่อติดตั้งอุปกรณ์รางแขวนเสร็จเรียบร้อยแล้วอย่าลืมใส่ตัวบังคับบาน (Door guide) นะครับ เพื่อช่วยให้บานไม่แกว่งในระหว่างที่เปิด-ปิดประตู ซึ่งตัวบังคับบานนั้นมีหลายรูปแบบและผลิตจากวัสดุหลายประเภท ตัวบังคับบานที่เหมาะกับประตูไม้มีดังนี้

  • รางรูปตัว T เป็นที่นิยมมากที่สุดเนื่องจากติดตั้งและใช้งานง่าย โดยการกรูฟหรือเซาะร่องบานประตูตรงบริเวณสันด้านล่างที่ติดกับพื้นเพื่อให้บานประตูเลื่อนเปิดไปตามตัวบังคับบานนนี้ได้ วัสดุผลิตจาก ไนลอน หรือเหล็ก 
  • ตัวบังคับบานแบบล้อกลม ใช้งานเหมือนกับรางแบบตัว T แต่แบบลูกล้อจะมีความหนามากกว่า ดังนั้นจึงต้องเซาะร่องประตูให้กว้างกว่าเพื่อให้ใส่ลูกล้อได้ โดยวัสดุส่วนใหญ่ผลิตจาก ไนลอน หรือสเตนเลส
  • รางเหล็กตัว U ส่วนใหญ่จะเป็นการ DIY โดยใช้แผ่นเหล็กเชื่อมประกอบขึ้นมา เป็นราง เนื่องจากความหนาของประตูนั้นมีหลากหลายผู้ผลิตบางรายจึงไม่ได้ให้อุปกรณ์นี้มาด้วย รางที่ทำขึ้นนั้นควรมีความกว้างกว่าความหนาของบานประตูเพียงเล็กน้อยเพื่อป้องกันการแกว่งของบาน 
  • รางแบบติดที่ผนัง ใช้ในกรณีที่ไม่ต้องการเจาะรูที่พื้น เช่นพื้นที่ปูพรม หรือพื้นหินอ่อน รางแบบติดผนังนี้จะเป็นรางตัว U ที่มีขายื่นออกไปด้านหลังสำหรับยึดติดกับผนัง

7. ติดตั้งตัวหยุดบาน 

ปกติจะเป็นเพลทเหล็กรูปตัวซี (C) สำหรับติดบริเวณปลายของรางทั้งสองด้าน และมียางสำหรับกันบานกระแทกติดมาด้วย

วิธีเปลี่ยนประตูเดิมเป็นประตูบานเลื่อนรางเหล็ก 

  • หากประตูเดิมเป็นประตูบานเปิดหรือบานสวิง ให้สำรวจพื้นที่ผนังด้านข้างว่ามีระยะเพียงพอสำหรับให้ประตูเลื่อนเปิดหรือไม่    
  • หากประตูเดิมเป็นประตูอะลูมิเนียมบานเลื่อนแบบรางล่าง โดยปกติแล้วประตูลักษณะนี้จะมีบานตายอีกบานเป็นช่องรับบานเปิดที่เลื่อนมา ดังนั้นหากต้องการเปลี่ยนเป็นประตูบานเลื่อนแบบรางแขวน พื้นที่ในส่วนนี้ก็ต้องทำเป็นผนังทึบก่อน แล้วจึงติดตั้งประตูบานเลื่อนรางเหล็กตามขั้นตอนข้างต้น 

การตกแต่งสไตล์ลอฟท์เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมเสมอมา ประตูสไตล์ลอฟ์ (Barn Door) นั้นในปัจจุบันมีจำหน่ายโดยทั่วไปแม้แต่ในแอพพลิเคชั่นขายของออนไลน์ ในส่วนของการติดตั้งนั้นควรทำตามคำแนะนำของผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะระยะเจาะเหล็กยึดรางเลื่อน และที่สำคัญการติดตั้งตัวกันบานตกเพื่อป้องกันบานประตูตกจากรางซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้ และที่สำคัญควรปรึกษาช่างเรื่องความสามารถในการรับน้ำหนักของผนังเดิมด้วยนะครับ 

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ