หลักการออกแบบระบบโครงสร้างผนังกระจก Glass Rib Structure และ Glass Cable Net Structure มีความต่างกันอย่างไร...?

ในปัจจุบันผนังกระจกเข้ามามีบทบาทในงานสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายในด้านรูปแบบมากขึ้นเรื่อย ๆ อาคารสมัยใหม่หลาย ๆ แห่งได้รับการออกแบบให้มีการใช้ผนังกระจกในรูปแบบที่แปลกใหม่ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงการแข่งขันในเชิงภาพลักษณ์ 

ดังนั้นระบบโครงสร้างผนังกระจกจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่คอยสนับสนุนให้งานผนังมีความงดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาใช้ในส่วนที่เป็นหน้าตาของอาคาร เช่น ทางเข้าหลัก โถงรับรอง ผนังด้านหน้าอาคาร จุดที่มีฟังค์ชั่นสำคัญ ฯลฯ 

InnovatorX Encyclopedia จึงร่วมกับ TYK Glass ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกระจกสำหรับงานสถาปัตยกรรม ได้รวบรวมข้อมูลด้านการออกแบบระบบผนังกระจกโครงเคเบิลขึง (Cable Net System) และ ระบบโครงสร้างผนังกระจกโครงสันกระจก (Glass Rib System) มาฝากท่านผู้อ่าน สำหรับนำไปใช้ศึกษาและประยุกต์ใช้ในงานออกแบบของตัวเอง ซึ่งจะมีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างไรบ้างนั้น ตามมาชมกันเลยครับ

ระบบโครงสร้างผนังกระจกโครงเคเบิลขึง (Cable Net System)

ระบบโครงสร้างผนังกระจกโครงเคเบิลขึง หรือ Cable Net System

เป็นระบบที่มีการใช้เส้นเคเบิลสเตนเลสมาประยุกต์ใช้กับระบบโครงสร้างกระจกทั้งแนวนอน และแนวตั้ง โดยใส่แรงดึงจากจุดปลายทั้งสองเข้าไปจนตัวมันเองแข็งแรงพอที่จะรับภาระน้ำหนักของกระจก และแรงลมได้ ซึ่งถูกกำหนดให้มีลักษณะเป็นช่องกริดแบบมุมฉาก โดยใช้ซิลิโคนเชื่อมรอยต่อกระจกแต่ละแผ่น ระบบผนังกระจกโครงเคเบิลขึงจัดเป็นระบบผนังกระจกที่ให้มุมมองโปร่งโล่งกว่าระบบผนังกระจกแบบอื่นๆ สำหรับประเภทกระจกที่นิยมนำมาใช้งาน อาทิเช่น กระจกลามิเนตกระจกลามิเนตฮีทสเตร็งเท่น, กระจกกันเสียง หรือ กระจกนิรภัยลามิเนตที่สั่งทำพิเศษ

ระบบโครงสร้างผนังกระจก โครงเคเบิลขึง สามารถแบ่งออกเป็นประเภทหลักๆ ได้ 2 รูปแบบ คือ

  • ระบบเคเบิลทางเดียว (Cable Mullion) คือการขึงเส้นเคเบิลตามแนวตั้ง
  • ระบบเคเบิลสองทาง (Double-Curved) ซึ่งใช้เคเบิลทั้งแนวตั้ง และแนวนอนประกอบกัน ซึ่งจะมีคุณสมบัติการโค้งตัว และทำผนังกระจกโค้งที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระบบเคเบิลทางเดียว

ระบบเคเบิลทางเดียว (Cable Mullion System)

ระบบโครงสร้างผนังกระจกแบบเคเบิลทางเดียว เป็นรูปแบบที่ง่ายที่สุดในระบบผนังกระจกโครงเคเบิลขึง โดยเป็นการขึงเส้นเคเบิลตามแนวตั้งให้ตึง ด้วยเส้นเคเบิลสเตนเลสที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่กี่เซนติเมตร โดยใส่แรงดึงจากจุดปลายทั้งสองระหว่างพื้น และหลังคาเข้าไปจนตัวเส้นเคเบิลมีความแข็งแรงมากพอที่จะรับภาระน้ำหนักของกระจก  และต้านทานแรงลมได้

นอกจากนี้ในการติดตั้งแผ่นกระจกนอกจากจะสามารถรองรับการติดตั้งผนังกระจกแบบระนาบเรียบ (Flat) แล้ว ยังสามารถรองรับการติดตั้งผนังกระจกแบบระนาบโค้ง (Curved) ได้ด้วย แต่จะจำกัดอยู่เพียงเส้นโค้งเดียวตามการขึงแบบทางเดียวเท่านั้น

ระบบเคเบิลทางเดียวสามารถรองรับผนังกระจกสำหรับอาคารสูงได้ แต่แรงดึงในการขึงตึง และขนาดของสายเคเบิลอาจต้องปรับเปลี่ยนให้มีความสัมพันธ์กับขนาดของพื้นที่ทั้งความกว้าง x ความสูง รวมถึงลักษณะการยึดของแผ่นกระจกตามรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ออกแบบไว้ด้วย ดังนั้นในแง่ของความแข็งแรงจะต้องได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสมจากสถาปนิก และวิศวกรที่เชี่ยวชาญ 

A 53-storey tower at South Wacker, Chicago, USA

รูปภาพประกอบจาก www.telosgroupllc.com

A 53-storey tower at South Wacker, Chicago, USA

รูปภาพประกอบจาก www.telosgroupllc.com

ระบบเคเบิลสองทาง (Double-Curved System) 

โดยปกติแล้วระบบโครงสร้างผนังกระจก แบบเคเบิลสองทางจะมีลักษณะ หรือ มีรูปแบบที่งดงาม ด้วยเส้นสายที่สามารถทำให้ผืนกระจกเสมือนพริ้วไหวได้ และมีความโปร่งโล่งให้มุมมองที่กว้าง อีกทั้งยังช่วยให้งานสถาปัตยกรรมมีเอกลักษณ์เด่นเฉพาะตัว แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับระบบผนังกระจกแบบทั่วไป 

ระบบโครงสร้างผนังกระจก แบบเคเบิลสองทาง เป็นระบบผนังกระจกที่ใช้เคเบิลขึงตึงทั้งแนวตั้ง และแนวนอนประกอบกันคล้ายโครงตาข่าย ซึ่งจะมีคุณสมบัติการโค้งตัว และสามารถทำมุมระนาบโค้งของกระจกได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับระบบเคเบิลทางเดียว ทั้งในมิติระนาบโค้งแนวตั้ง และมิติระนาบโค้งแนวนอน ซึ่งระบบเคเบิลสองทางสามารถผสานแนวโค้งทั้งสองระนาบให้เกิดขึ้นกับผนังกระจกในรูปแบบกึ่ง Freeform ได้ เราจึงเรียผนังกระจกประเภทนี้ว่า Double-Curved System 

การจะสร้างผนังกระจกเคเบิลสองทางให้ออกมาสวยงามนั้น จะต้องใช้กระบวนการออกแบบและการคำนวณขึ้นรูปฟอร์มที่เหมาะสม และตรงตามความต้องการของเจ้าของโครงการเสียก่อน ซึ่งเป็นการกำหนดรูปทรงเบื้องต้น เพื่อที่จะได้คำนวณการรับน้ำหนักทางวิศวกรรม และกำหนดขนาด รวมถึงระยะห่างของสายเคเบิลที่จะนำมาใช้ขึงทั้งระนาบแนวตั้ง และระนาบแนวนอน ก่อนที่จะเริ่มสร้าง และติดตั้งจริง

นอกจากนี้การออกแบบ และสร้างผนังกระจกโค้งแบบเคเบิลสองทาง สามารถทำได้ 2 วิธี ทั้งการใช้บานกระจกโค้ง หรือ การใช้โครงสร้างเคเบิลเป็นตัวกำหนดความโค้ง ซึ่งจะมีลักษณะภาพรวมคล้ายโครงตาข่าย โดยอาจจะใช้ผสมผสานกับกระจกโค้งด้วยก็ได้เช่นเดียวกัน แต่รายละเอียดในการออกแบบ และการติดตั้งก็จะมีความยาก และซับซ้อนขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

Channel 4 headquarters, London, UK

รูปภาพประกอบจาก www.rshp.com

Channel 4 headquarters, London, UK

รูปภาพประกอบจาก www.rshp.com

ระบบโครงสร้างผนังกระจกโครงสันกระจก (Glass Rib System)

ระบบโครงสร้างผนังกระจกโครงสันกระจก หรือ Glass Rib System

เป็นระบบที่ค่อนข้างเรียบง่ายไม่ซับซ้อนมากนัก เป็นการยึดกระจกด้วยโครงสันกระจก (Rib) ที่ติดตั้งรองรับอยู่ด้านหลังรอยต่อกระจกแต่ละแผ่น โดยโครงสันกระจกจะถูกวางในแนวตั้ง ตั้งแต่พื้นสูงถึงเพดาน เมื่อถูกติดตั้งที่ด้านหลังรอยต่อของกระจกทุกแผ่นอย่างแน่นหนา มันจะทำให้ผนังกระจกทั้งแผงตั้งอยู่ได้เองอย่างคงทนแข็งแรง 

การใช้โครงสันกระจกมีจุดเด่นในด้านการให้ทัศนียภาพที่มีความโปร่งใสทางสายตาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองจากภายนอกอาคารเข้ามาจะให้ความรู้สึกเสมือนว่าผนังกระจกผืนใหญ่มีความโปร่งใสสวยงามโดยไม่มีโครงสร้างที่หนา หรือ ทึบตัน มาบดบัง จึงเหมาะกับการนำไปใช้กับอาคารที่ต้องการโชว์ Space ภายใน และต้องการเทควิวภายนอก หรือ อาคารขนาดใหญ่ เช่น โชว์รูมรถยนต์ ,โรงแรม , อาคารสำนักงาน หรือ ศูนย์การค้า เป็นต้น

แต่ในปัจจุบันการติดตั้งโครงสันกระจก (Rib) ตั้งแต่พื้นสูงถึงเพดาน ในบางครั้งอาจให้ความรู้สึกที่เกะกะ หรือ กีดขวางพื้นที่บางส่วนภายในอาคาร จึงได้มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้โครงสันกระจกให้เกิดความเหมาะสมในการใช้งานที่ดีขึ้น เพื่อให้เป็นโครงสร้างที่สามารถรองรับได้ทั้งผนังกระจก (โครงสันกระจกติดตั้งแนวตั้ง) และหลังคากระจก (โครงสันกระจกติดตั้งแนวนอน) ทั้งในแง่ขนาดที่กระชับขึ้น ความคงทนแข็งแรงตามหลักวิศวกรรมที่เพิ่มขึ้น และมีความสวยงามทันสมัยกลมกลืนไปกับผนังกระจกของงานสถาปัตยกรรมนั้นๆ 

รูปแบบโครงสันกระจก (Rib) ที่ได้รับความนิยมในยุคนี้ค่อนข้างมาก ก็คือการห้อยโครงสันกระจกลงมาจากคานบนแค่ครึ่งเดียว หรือ ห้อยโครงสันกระจกที่ระดับหน้าคานในกรณีที่หน้าคานมีความสูงมากพอประมาณที่จะติดตั้งได้ โดยไม่ต้องยื่นโครงสันกระจกลงมา จากนั้นใช้ตัว Boltedt-Fixed Stainless Steel Fitting หรือ Spider & Paired Bracket Spiders Fitting เข้ามาช่วยในการเพิ่มความแข็งแรง 

ในขณะเดียวกันแต่เดิมแล้วการจะติดตั้งโครงสันกระจก (Rib) จะต้องทำที่ด้านหลังรอยต่อของกระจกทุกแผ่นภายในอาคารเป็นหลักเสียส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันได้มีการประยุกต์วิธีการติดตั้งโครงสันกระจก (Rib) ที่ภายนอกอาคารเพิ่มขึ้นมา เพื่อเพิ่มความสวยงามให้กับผนังกระจกภายนอกที่ต้องการลูกเล่นในการตกแต่งที่แปลกใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีราคาที่สูงตามไปด้วย รวมถึงการดูแลรักษาที่ทำได้ยากกว่าการติดตั้งโครงสันกระจกไว้ภายในอาคาร

สำหรับสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบโครงสันกระจกที่จะต้องห้อยอยู่เหนือระดับศีรษะผู้ใช้งานภายในอาคาร ก็คือเรื่องการแตกเมื่อได้รับความเสียหาย กระจกจะต้องไม่ร่วงหล่นลงมาด้านล่าง เพราะถ้าหากโครงสันกระจกแตกและหล่นลงมา ผนังกระจกทั้งแผงอาจได้รับความเสียหายแล้วพังถล่มตามลงมาด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้อาคาร หรือ ทรัพย์สินได้

ดังนั้นตัวโครงสันกระจก (Rib) จึงถูกกำหนดให้ใช้เป็นกระจกนิรภัยลามิเนตที่มีคุณสมบัติทนต่อแรงดันลมในที่สูง ทนต่อแรงอัดกระแทก และช่วยลดอันตรายจากกรณีที่กระจกปริแตก (ขนาดความหนา ขึ้นอยู่กับการคำนวณความแข็งแรงด้านวิศวกรรมในพื้นที่หน้างานนั้นๆ) เพราะหากมีการแตกเกิดขึ้นโครงสันกระจกก็จะไม่ร่วงหล่นลงมา เนื่องจากมีชั้นฟิล์ม PVB (Poly Vinyl Butyral) หรือ EVA (Ethylene Vinyl Acetate) ที่คั่นกลางระหว่างแผ่นกระจกคอยยึดเศษกระจกที่แตกเอาไว้ไม่ให้ร่วงหล่นลงมานั่นเอง

อีกทั้งยังเป็นการประวิงเวลาในการช่วยพยุงความแข็งแรงของกระจกทั้งระบบไม่ให้แตกหรือพังถล่มลงมา ซึ่งจะทำให้มีเวลาหาวิธีแก้ไข หรือ หาอะไรมาป้องกันได้ก่อนที่จะทำการเปลี่ยนโครงสันกระจก (Rib) แผ่นใหม่

Apple Store Fifth Avenue, New York, USA

รูปภาพประกอบจาก Aaron Hargreaves / Foster + Partners

Apple Store Fifth Avenue, New York, USA

รูปภาพประกอบจาก Aaron Hargreaves / Foster + Partners

ระบบผนังอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ฮวงจุ้ยในการออกแบบบ้าน (Feng Shui Tips For Design)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ