Double-Skin Facade คืออะไร และจะมีผลต่องานสถาปัตยกรรมอย่างไร

ถ้าหากผิวของอาคารเปรียบเสมือนดั่งผิวหนังของมนุษย์ที่คอยป้องกันร่างกายจากสภาพแวดล้อมภายนอก นอกจากนี้ยังทำให้ร่างกายมีความสวยงามเป็นดั่งหน้าตา เรือนร่างของมนุษย์ที่ชวนหลงใหล อนึ่งเราเรียกองค์ประกอบส่วนนี้ในงานสถาปัตยกรรมว่าเปลือกอาคาร หรือ Facade นั่นเอง ซึ่ง Facade เองนอกจากจะทำหน้าที่ป้องกันอาคารจากสภาพแวดล้อมภายนอกแล้ว ยังช่วยสร้างรูปทรงที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ให้งานสถาปัตยกรรมได้อีกด้วย

ในแง่ของการออกแบบนั้นนักออกแบบ หรือ สถาปนิกส่วนใหญ่ จะทราบถึงอิทธิพลของ Facade เป็นอย่างดี เพราะ Facade เป็นองค์ประกอบการออกแบบสุนทรียศาสตร์ทางด้านสถาปัตยกรรมที่สามารถสร้างความต่างระหว่างคำว่า อาคาร และ สถาปัตยกรรม ได้ชัดเจน อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยปกป้องอาคารจากสภาวะต่างๆได้อย่างสมดุล 

ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจถ้าเราจะเห็นนักออกแบบ หรือ สถาปนิก ขมักเขม้นกับการให้ความสำคัญในการออกแบบ Facade หรือ เปลือกอาคาร ไม่ต่างจากองค์ประกอบทางด้านสถาปัตยกรรมส่วนอื่นๆ โดยระบบ Facade ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคหลัง คือ ระบบผนังสองชั้น หรือที่เรียกว่า Double-Skin Facade นั่นเอง 

Double-Skin Facade คืออะไร

Double-Skin Facade หรือ ผนังสองชั้น คือการกรุหรือหุ้มฟาซาดภายนอกอีกชั้นให้กับอาคาร โดยเว้นระยะออกจากผนังภายในเล็กน้อย ซึ่งก็มีรูปแบบที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับลักษณะการออกแบบ และวัสดุที่นำมาใช้ แต่ลักษณะทั่วไปคือเป็นผนังทึบสลับโปร่ง ให้ประโยชน์ในการป้องกันอาคารจากสภาวะบริบทในรูปแบบต่างๆเพื่อให้เกิดความสมดุลต่ออาคารอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ Double-Skin Facade หรือ ผนังสองชั้นยังเป็นนวัตกรรมที่ถูกใช้กับอาคารขนาดใหญ่ เช่น ตึกกระจกสูงระฟ้า และอาคารสาธารณะต่างๆ 

Double-Skin Facade จะประกอบไปด้วยโครงสร้างที่เป็นเหล็ก หรือ อลูมิเนียม เพื่อใช้สำหรับยึดวัสดุที่จะมาติดตั้งทับอีกชั้น เช่น อิฐ ,ระแนงไม้ ,บล็อค ,ตะแกรงเหล็ก ,แผ่นอะลูมิเนียมแคลดดิง ,ระแนงอลูมิเนียม ,กระจก ,แผ่นอะคริลิค ,สวนแนวตั้ง รวมไปถึงระบบผนัง Curtain Wall สำหรับอาคารสูง

Double-Skin Facade มีผลต่องานสถาปัตยกรรมอย่างไร

1.Energy Saving  ช่วยประหยัดพลังงานภายในอาคารมากขึ้น เพราะทำหน้าที่ควบคุมการรั่วไหลของอากาศภายในอาคารให้มีความสมดุล

2. Building Protection ช่วยลดความร้อน และฝุ่นที่จะเข้ามาสู่ภายในอาคารโดยตรง ป้องกันการเสื่อมสภาพของโครงสร้างอาคารจากสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น ฝน ความร้อน หรือ สารพิษจากมลภาวะทางอากาศ ซึ่งจะช่วยยืดอายุโครงสร้าง และวัสดุตกแต่งอื่นๆของอาคารให้มีความคงทนยาวนานขึ้น

3. Lighting control ช่วยควบคุมแสงสว่างจากภายนอกที่จะเข้าสู่ตัวอาคารให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม

4. Stack Effect Ventilation เป็นสภาวะที่จะช่วยให้การใหลเวียนของอากาศมีความสมดุล ด้วยรูปแบบเปลือกอาคารแบบสองชั้น จะทำให้มีช่องว่างอยู่ตรงกลางระหว่างผนังชั้นใน และชั้นนอก ซึ่งช่องว่างที่อยู่ตรงกลางนี้เอง จะทำให้มวลอากาศที่เย็นกว่าจากภายนอกใหลเวียนเข้ามาทดแทนมวลอากาศที่ร้อนกว่าภายใน จึงทำให้เกิดความกดอากาศที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มวลอากาศร้อนที่สะสมอยู่ภายในช่องว่างนี้สามารถลอยตัวขึ้นได้เมื่อมีความดันอากาศที่มากพอ โดยมวลอากาศที่มีความร้อนจะใหลผ่านช่องเปิดหมุนเวียนอากาศที่อยู่ด้านบนออกไปสู่ภายนอกอาคารตามหลักการของ Stack Effect  ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาวะน่าสบายให้พื้นที่การใช้งานภายในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

5. Design Element ช่วยสร้างสุนทรียศาสตร์ทางด้านรูปทรงให้กับงานสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่มีความสวยงามให้กับอาคาร และเป็นการเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่การใช้งานที่ต้องการความสงบเป็นส่วนตัว

ในปัจจุบันอิทธิพลจากระบบผนังสองชั้น หรือ Double-Skin Facade ที่มีต่องานสถาปัตยกรรมนั้น มีความก้าวล้ำไปมากกว่าการเป็นแค่ผนังธรรมดา ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีระบบเปลือกอาคารในยุคนี้ มีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้เปลือกอาคารทำหน้าที่ได้หลากหลายมิติ และมีความสอดคล้องสัมพันธ์กับระบบอาคารในส่วนอื่นๆเพิ่มมากขึ้นอย่างกลมกลืน เป็นการเติมเต็มให้สถาปัตยกรรม กลายเป็นเครื่องจักรแห่งการอยู่อาศัยที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นทั้งในปัจจุบัน และอนาคต 

 

Sponsored By

Wazzadu Academy : ข้อมูลวัสดุศาสตร์ในหมวดอื่นๆที่น่าสนใจ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
ระบบสุขาภิบาลในอาคาร Building sanitary system

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ