ระบบผนัง " Curtain Wall " คืออะไร มีกี่รูปแบบ และมีคุณสมบัติเด่นกับข้อควรระวังอย่างไรบ้าง

Curtain Wall System เปรียบเสมือนกำแพงม่านกระจกขนาดใหญ่ที่คอยห่อหุ้มตัวอาคาร ไม่ต่างจากมนุษย์ที่ต้องห่อหุ้มร่างกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์แบบต่างๆ ซึ่งนอกจากคุณประโยชน์ในการใช้งานแล้ว ยังสะท้อนรสนิยม หรือ รูปแบบสไตล์ที่เหมาะกับช่วงเวลาในยุคๆนั้นได้ชัดเจน ระบบผนัง Curtain Wall ได้รับความนิยมในงานสถาปัตยกรรมอย่างแพร่หลาย โดยออกแบบมาเพื่อป้องกันการซึมผ่านของอากาศ และน้ำ ช่วยดูดซับแรงกระแทกจากแรงดันลมบนที่สูง และแรงกระทำจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นกับตัวอาคาร มีความทนทาน และทนต่อแรงลมความเร็วสูงในภูมิประเทศที่มีสภาพอากาศที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังให้ความสวยงามทันสมัย และเมื่อมองจากภายในออกไปสู่ภายนอกอาคารจะสามารถมองเห็นทัศนียภาพภายนอกได้ชัดเจนกว้างขึ้น

Curtain Wall System เป็นระบบผนังอาคารที่รองรับกำลังน้ำหนักบรรทุกที่ตายตัวของตัวเอง โดยยึด หรือ แขวนผืนผนังกระจกเข้ากับโครงสร้างของอาคารบริเวณหน้าคาน สันของแผ่นพื้น หรือสันของแผ่นพื้นไร้คาน โดยจะติดตั้งแผ่นกระจกเข้ากับโครงเหล็ก หรือ อะลูมิเนียม ซึ่งมีทั้งรูปแบบที่เห็นโครงในแนวตั้ง-นอนทั้งภายใน และภายนอกอาคาร รวมถึงรูปแบบที่นิยมมาก คือ การซ่อนโครงไว้ภายในอาคาร ส่วนภายนอกจะเห็นเป็นกระจกประกอบชนกันอย่างเรียบเนียนไม่สะดุด จึงทำให้ตัวอาคารเปรียบเสมือนแท่งแก้วขนาดใหญ่ ที่สะท้อนรสนิยมความทันสมัย ดังเช่นตึกกระจกระฟ้ายุคใหม่ที่มีให้เราเห็นจนคุ้นตาในปัจจุบัน

รูปแบบของระบบผนัง Curtain Wall 

สามารถแยกออกได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ 

1. แบบธรรมดา (Conventional System)

จะสามารถเห็นเส้นกรอบอะลูมิเนียมได้ 4 ด้าน ทั้งแนวราบ และแนวนอน ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิมในยุคแรกเริ่มของระบบผนัง Curtain Wall

2. แบบ 2-SIDED

จะสามารถเห็นเส้นกรอบอะลูมิเนียมได้เพียง 2 ด้าน ในระนาบใดระนาบหนึ่งเท่านั้น จึงทำให้ผืนกระจกมีความต่อเนื่องกันมากขึ้นโดยปราศจากรอยต่อของเส้นกรอบอะลูมิเนียมในแนวตั้ง โดยราคาจะสูงกว่าแบบแรก 10% - 15% 

3. แบบ 4-SIDED

เป็นแบบที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน โดยให้รูปลักษณ์ที่ทันสมัย ปราศจากการรบกวนสายตาของเส้นกรอบอะลูมิเนียมที่มีการลดทอนขนาด และรายละเอียดลงไปมาก จึงทำให้ผืนกระจกมีความต่อเนื่องกันมากขึ้นเสมือนเป็นม่านกระจกขนาดใหญ่ โดยราคาจะสูงกว่าแบบที่สอง 10% - 15% เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ระบบผนัง Curtain Wall แบบ 4-SIDED ยังมีความเหมาะสมกับอาคารที่มีผนังกระจกสูงต่อเนื่องหลายชั้น ซึ่งอาจมีบางส่วนเป็นเปลือกอาคาร หรือ เป็นผนังอาคารซ้อนกันสองชั้น โดยมีการติดตั้งระบบผนังโครงเบา และฉนวนกันความร้อนไว้ด้านหลัง ในกรณีที่พื้นที่ส่วนดังกล่าวถูกออกแบบเป็นห้องที่มีผนังทึบ เช่น ห้องน้ำ ปล่องลิฟต์ ห้องงานระบบต่างๆ เป็นต้น

ประเภทกระจกที่ใช้ในงาน  Curtain Wall System

กระจกที่เลือกใช้ควรคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดในกรณีที่มีการแตกหักเสียหาย เนื่องจากพื้นที่ในการนำไปใช้งานเป็นพื้นที่ ที่มีความสูง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงกว่าพื้นที่ทั่วไป ฉะนั้นกระจกที่นำมาใช้จึงจำเป็นต้องมีความทนทาน และมีคุณสมบัติที่พิเศษกว่ากระจกทั่วไป โดยสามารถแบ่งประเภทกระจกหลัก ที่ใช้ในระบบผนัง Curtain Wall ออกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้

1. กระจกลามิเนต (Laminated Glass) 

กระจกลามิเนต จัดเป็นกระจกนิรภัยชนิดหนึ่ง ที่เวลาแตกแล้วเศษกระจกจะยังคงยึดติดกันโดยไม่ร่วงหล่น เพราะมีชั้นฟิล์มที่ยึดเกาะระหว่างแผ่นกระจกเหมือนกับใยแมงมุม โดยเป็นการนำเอากระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Safe Glass) หรือกระจกธรรมดา (Annealed Glass / Floated Glass) จำนวน 2 แผ่น หรือ มากกว่า แล้วนำมาประกบติดกันโดยมีชั้นฟิล์มคั่นกลางระหว่างกระจก เราจึงเรียกกระจกที่ผ่านกระบวนการผลิตในลักษณะนี้ว่า กระจกลามิเนต (Laminated Glass) นั่นเอง

คุณสมบัติเด่นของกระจกลามิเนต

- เมื่อกระจกได้รับความเสียหายจนเกิดการแตก เศษกระจกจะไม่ร่วงหล่นลงมา ซึ่งช่วยลดอันตรายได้มากขึ้น 

- ช่วยป้องกันเสียงรบกวนภายนอก และเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา

- ช่วยป้องกันความร้อนได้ดี และกันรังสียูวีได้มากกว่า 90 %

- ทนต่อแรงดันลมในที่สูง ทนต่อแรงอัดกระแทก และช่วยป้องการบุกรุกจากการโจรกรรมได้

- สามารถเคลือบสีได้ตามความต้องการ

2. กระจกฮีทสเตรงค์เท่น ( Heatstrengthened Glass ) 

กระจกฮีทสเตรงค์เท่น เป็นกระจกที่ผลิตด้วยกระบวนการเดียวกับกระจกนิรภัยเทมเปอร์ คือการนำเอากระจกโฟลต (Annealed Glass) มาอบเพื่อให้ได้คุณสมบัติความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ความร้อนในการอบที่ 650-700 องศาเซลเซียส แต่กระบวนการทำให้กระจกเย็นลง จะทำแบบช้าๆด้วยการเป่าลมที่ผิวกระจกทั้ง 2 ด้าน จะมีผลทำให้กระจกเย็นตัวช้าลง ความเครียดที่ผิวกระจกก็จะลดหลั่นลงมาตามลำดับ ซึ่งเมื่อค่าความเครียดที่ผิวกระจกอยู่ระหว่าง 3,500-7,500 PSI เราจะเรียกกระจกชนิดนี้ว่า "กระจกฮีทสเตร็งเท่น" (Heat-Strengthened Glass) โดยสมบูรณ์ จึงทำให้เนื้อกระจกมีคุณสมบัติพิเศษที่แข็งแรงกว่ากระจกธรรมดาถึง 2 เท่า

คุณสมบัติเด่นของกระจกฮีทสเตรงค์เท่น

- มีความแข็งแรงกว่ากระจกโฟลท 2 เท่า ทำให้สามารถร้บแรงกระแทก แรงกด แรงบีบ ได้ดี

- ทนต่อแรงดันของกระแสลมในที่สูงได้ดี (ถ้าใช้เป็นผนังอาคารสูง พื้นกระจก หรือ หลังคากระจก ต้องประกบลามิเนต เพื่อเพิ่มความแข็งแรง และความปลอดภัยขึ้นไปอีก ไม่ควรใช้กระจกฮีทสเตร็งเท่นแผ่นเดียวโดดๆ)

- ทนความร้อนแบบปกติได้สูงถึง 290ºC โดยที่เนื้อกระจกไม่ปริแตก

- ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลันได้ตั้งแต่ 70-100ºC

- เมื่อกระจกปริแตก รอยร้าวจะวิ่งเข้าหาขอบเฟรมกระจก ซึ่งรอยร้าวดังกล่าวจะมีจำนวนไม่มาก จึงทำให้กระจกยังเป็นชิ้นใหญ่ๆ ซึ่งมีขนาดใหญ่มากกว่าการแตกร้าวของกระจกทั่วไป

- ไม่ปริแตกแตกด้วยตัวเอง แบบเดียวกับการปริแตกด้วยตัวเองของกระจกนิรภัยเทมเปอร์

ข้อมูลเชิงลึกของ "กระจกลามิเนต และ กระจกฮีทสเตรงค์เท่น"

องค์ประกอบโครงสร้างกรอบ ของระบบผนัง Curtain wall  

โดยทั่วไปแล้วโครงสร้างกรอบของผนัง Curtain wall จะประกอบด้วย 2 ลักษณะ ได้แก่ 

1. โครงตัวตั้ง (mullion) ทำหน้าที่รับน้ำหนักทั้งหมดของผนัง Curtain wall และส่งถ่ายเข้าสู่โครงสร้างผนังอาคาร มักจะยาวต่อเนื่องกัน 1-2 ชั้นของอาคารเป็นต้นไป

2. โครงตัวนอน (transom) ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างรองรับน้ำหนักของแผ่นลูกฟัก บานหน้าต่าง ตลอดจนแรงโหลดตายตัวของตัวมันเอง

คุณสมบัติเด่นของระบบผนัง Curtain Wall

1.การก่อสร้างทำได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย

2.ผนังมีน้ำหนักเบา ช่วยประหยัดราคาโครงสร้าง

3.ให้ความสวยงามทันสมัย ช่วยสร้างอัตลักษณ์เด่นให้กับตัวอาคาร

4.ดูแลทำความสะอาดได้ง่าย ด้วยการใช้ระบบกระเช้ากอนโดล่าในการเลื่อนขึ้นลงสำหรับทำความสะอาด เช่น ตึกสูงทั่วไป

5.สามารถรับแรงดันลมในที่สูง และดูดซับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้

6.ป้องกันการซึมผ่านของอากาศ และน้ำ

7.เมื่อซิลิโคน ซีล เกิดรอยรั่ว จะสามารถสังเกตเห็น และแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ง่าย และถูกจุด

8.ให้ความปลอดโปร่ง แสงสว่างผ่านได้อย่างเหมาะสม สามารถมองเห็นทัศนียภาพภายนอกได้ชัดเจน

ข้อควรระวังในการใช้ระบบผนัง Curtain Wall

1.การรั่วของน้ำ ต้องระมัดระวังในการติดตั้งโครงและรอยต่อของระบบ

2.ลูกฟักกระจกอาจได้รับความเสียหาย เมื่อมีความแตกต่างของอุณหภูมิที่ผิวกระจกแบบฉับพลัน

3.อาจทำให้แผ่นกระจกหลุดร่วง ถ้าหากใช้ระบบที่ไม่เหมาะสม หรือ ติดตั้งผิดรูปแบบ แม้คลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อย

4.การภ่ายเทความร้อนสูงหากใช้กระจกที่ไม่ช่วยป้องกันความร้อน การออกแบบต้องคำนึงถึงการถ่ายเทความร้อนก่อนเข้าสู่ตัวอาคาร รวมถึงการรักษาสมดุลอุณหภูมิภายในอาคาร เพื่อลดค่าใช้จ่ายของการปรับอากาศ

5.ซิลิโคน ซีล หรือ ยาแนวจะมีอายุจำกัด ต้องมีการเปลี่ยนตามอายุการใช้งาน

แปล และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ข้อมูลอ้างอิงจาก

-  Minimum Design Loads for Buildings and Other Structures American Society of Civil Engineers

-  Design of Buildings to Resist Progressive Collapse

-  www.2e-building.com

การใช้ผนังกระจกสำหรับอาคารสูง ในการตกแต่งสถาปัตยกรรมระฟ้า

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ