เจาะแนวคิดการออกแบบ 3 สถาปัตยกรรมที่สะท้อนการเป็นผู้นำด้าน Green Architecture ของประเทศสิงคโปร์
ในภูมิภาคอาเซียนประเทศสิงคโปร์ถูกจัดให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วมาหลายสิบปี นอกจากการเป็นผู้นำในด้านการเงิน นวัตกรรม และเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้แล้ว อีกหนึ่งองค์ประกอบที่สิงคโปร์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากก็คือธรรมชาติ สภาพแวดล้อม และความยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติที่มีผลต่อการกำเกิดแหล่งน้ำจืด ความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพ การดูดซับมลพิษ และให้อากาศที่บริสุทธิ์ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิตของมนุษย์ และสัตว์พื้นเมืองเป็นอย่างยิ่ง
ถ้าหากท่านใดที่เคยไปประเทศสิงคโปร์จะพบว่าทุกซอกทุกมุมของทั้งเมือง เราจะได้พบเจอต้นไม้ และพื้นที่สีเขียวที่คอยให้ความร่มรื่นสบายตากระจายอยู่ทั่วเมืองเป็นจำนวนมาก หน่อยงานที่ดูแลในด้านการพัฒนาเมืองของสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับต้นไม้เป็นอย่างมาก ละเอียดถึงขั้นมีการเก็บข้อมูลบันทึกประวัติต้นไม้ที่ปลูกเพื่อติดตามการเติบโต และเตรียมการตัดแต่งที่เหมาะสมตามช่วงอายุของต้นไม้ในแต่ละสายพันธ์
นอกจากธรรมชาติ และต้นไม้แล้ว อาคารเขียว หรือ Green Architecture ก็เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญที่จะช่วยส่งเสริม และพัฒนาให้สภาพแวดล้อมของเมือง และคุณภาพชีวิตผู้คนดีขึ้น อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมในด้านการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เพื่อต่อยอดการเติบโตอย่างยั่งยืนของสิงคโปร์ในอนาคต
ในสิงคโปร์เราจะได้พบกับ Green Architecture หรือ Green Building อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายๆ อาคาร คนไทยที่เคยไปเที่ยวสิงคโปร์ก็น่าจะรู้จัก และคุ้นหน้าคุ้นตาอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น
- Park Royal Singapore
- Forest at Gardens by The Bay
- Singapore National Stadium
- Kampung Admiralty
- Khoo Teck Puat Hospital
- SkyTerrace@Dawson
และอื่นๆ อีกมากมาย
ซึ่งในวันนี้ Wazzadu Green Lab ได้คัดผลงานการออกแบบ Green Architecture หรือ Green Building ในประเทศสิงคโปร์ ที่น่าสนใจมาฝากท่านผู้อ่านกันครับ
เจาะแนวคิดการออกแบบ 3 สถาปัตยกรรมที่สะท้อนการเป็นผู้นำด้าน Green Architecture ของประเทศสิงคโปร์ (The Most of 3 Green Architecture in Singapore) ซึ่งทั้ง 3 จะเป็นอาคารอะไร และจะมีความน่าสนใจอย่างไรบ้างนั้น ตามมาชมกันได้เลยครับ
Lee Kong Chian Natural History Museum
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ Lee Kong Chian ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้รับการออกแบบสถาปัตยกรรมโดย W Architects และออกแบบภูมิทัศน์โดย Tierra Design (S) Pte Ltd
Lee Kong Chian Natural History Museum ได้รับรางวัล Excellence Award ในหมวด "Community Facility" และ Skyrise Greenery Awards 2015 มอบให้โดย National Parks Board of Singapore เพื่อยกย่องการพัฒนาพื้นที่สีเขียว และภูมิทัศน์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยหลักเกณฑ์ในการให้รางวัล จะพิจารณาจากองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่
- แนวคิด และกระบวนการออกแบบ
- ฟังก์ชั่นการใช้งาน
- ความอ่อนไหวต่อบริบทสภาพแวดล้อม
- การมีส่วนร่วมกับชุมชน
- การประหยัดพลังงาน และความยั่งยืน
Mr Chew Chin Huat ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าวว่า
รางวัลนี้เป็นการยกย่องความพยายามอย่างต่อเนื่องของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยวิสัยทัศน์ระยะยาวในการสร้างมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เราปรารถนาที่จะผสมผสานความเขียวขจีเข้ากับการออกแบบอาคารของเราในทุกที่ ที่จะทำได้
The Rock Facade
ผนังในส่วนด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ Lee Kong Chian ถูกออกแบบให้คล้ายกับผาหินที่ปกคลุมด้วยมอส เพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีพืชพื้นเมืองที่เพาะปลูกไว้มากกว่า 60 ชนิด และยังมีกระบะปลูกต้นไม้จำนวนมากที่มีตำแหน่งกระจายตามระดับความสูงที่ลดหลั่นของผนังในแต่ละชั้น ซึ่งได้จำลองภูมิประเทศตามธรรมชาติเพื่อกระตุ้นให้สัตว์ในท้องถิ่น เช่น นก กระรอก และผีเสื้อเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ ด้วยลักษณะการออกแบบเช่นนี้จึงทำให้เกิดผนังอาคารที่มีความหลากหลายทางชีวภาพตามธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ขัดแย้งกับบริบทสภาพแวดล้อมโดยรอบ
Green & interactive Design
ความพยายามในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้ จะช่วยให้การใช้พลังงานภายในอาคารมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการออกแบบผนัง หรือ เปลือกอาคารโดยรอบให้ทำหน้าที่เป็นฉากกั้นความร้อน เพื่อช่วยรักษาสมดุลของอุณหภูมิภายในอาคาร ในขณะเดียวกันก็ดึงดูดผู้เข้าชมให้มีปฏิสัมพันธ์กับสวนบนผนังที่มีชีวิต
นอกจากนี้พื้นที่โดยรอบของอาคารก็ถูกจำลองเป็นสภาพแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม
ทางด้านทิศตะวันออกของอาคาร มีสวนพฤกษศาสตร์ที่จัดแสดงพันธุ์ไม้พุ่มแต่ละชนิดที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของพันธุ์พืชพื้นเมือง และทางด้านทิศเหนือของพิพิธภัณฑ์ มีสภาพแวดล้อมชายหาดจำลองที่กว้างขวาง และมีป่าชายเลนที่ถูกออกแบบให้สามารถ interactiveโต้ตอบกับผู้คนได้ รวมไปถึงการจำลองวิวัฒนาการของเกาะป่าดงดิบเส้นศูนย์สูตรเขตร้อน เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญที่มีผลต่อการเกิดแหล่งน้ำกร่อยของสิงคโปร์
Jewel Changi Airport
อาคาร Jewel แห่งนี้ ตั้งอยู่ภายในสนามนานาชาติชางงี ประเทศสิงคโปร์ ได้รับการออกแบบสถาปัตยกรรมโดย Safdie Architects ออกแบบภายในโดย Benoy Architects และออกแบบภูมิทัศน์โดย PWP Landscape Architecture / ICN Design International
Integration of Lush Nature and Urban Energy
การออกแบบอาคาร Jewel ได้มีการผสมผสานอัตลักษณ์ระหว่างธรรมชาติอันเขียวชอุ่มและพลังของเมือง Jewel จะทำหน้าที่เป็นจุดต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนประเทศสิงคโปร์ โดยมีจุดประสงค์ที่สำคัญในการออกแบบก็เพื่อสะท้อนชื่อเสียงของสิงคโปร์ในฐานะเมืองสีเขียว หรือ เมืองในสวน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมจุดเด่นทางด้านการท่องเที่ยว และช่วยยกระดับให้สนามบินชางงีมีชื่อเสียงในระดับโลก
ภายใต้โดมกระจกของอาคาร Jewel ถูกออกแบบให้เป็นสวนในร่มสีเขียวชอุ่มขนาดใหญ่ กินพื้นที่มากกว่า 21,000 ตร.ม. ผู้โดยสารที่รอต่อเครื่องในสนามบินชางงีที่มีจำนวนหลายสิบล้านคนต่อปี สามารถใช้เวลาระหว่างรอได้อย่างเพลิด และพบกับประสบการณ์ที่น่าตื่นต่าตื่นใจกับสวนในร่มแห่งนี้
เมื่อผู้โดยสารเข้ามาในพื้นที่สวนในร่มก็จะได้พบกับ Rain Vortex สุดยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นน้ำตกในร่มที่สูงที่สุดในโลกที่ตั้งเด่นตระหง่านคอยต้อนรับแขกอยู่ใจกลาง Jewel นอกจากนี้ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่โอบล้อมด้วยความเขียวขจีสวยงามจากพันธ์ไม้นานาชนิด ให้ได้เดินลัดเลาะคละเคล้าไปกับเสียงน้ำตกได้อย่างอย่างเพลิดเพลินผ่อนคลาย และยังมีทางวิ่งรถไฟฟ้าที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารระหว่าง Terminal กับอาคาร Jewel วิ่งผ่านใจกลางสวนอีกด้วย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดูแปลกตา และน่าตื่นเต้นสำหรับผู้ที่ได้พบเห็นอยู่ไม่น้อย
Flora Mimics Natural Forest Environment
พื้นที่สีเขียวภายในอาคาร Jewel ถูกเติมเต็มด้วยพันธ์ไม้นานาชนิดเพื่อจำลองสิ่งแวดล้อมของป่าธรรมชาติ ประกอบด้วยต้นไม้และต้นปาล์มมากกว่า 2,000 ต้น ไม้พุ่มกว่า 100,000 ต้น มีสายพันธ์ที่ครอบคลุมกว่า 120 ชนิด โดยมีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย จีน มาเลเซีย สเปน ไทย และสหรัฐอเมริกา
การเลือกพันธ์ไม้แต่ละชนิด จะมีข้อพิจารณาอยู่ 2 ข้อหลักๆ คือ
- สุนทรียศาสตร์ ความสวยงามของพันธ์ไม้
- ความสามารถในการเติบโตภายในอาคารแบบปิด (อาคารลักษณะโดมกระจก) โดยพิจารณาจากระดับแสง อุณหภูมิ และสภาพความชื้น
สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับต้นไม้ทุกต้นที่จะถูกนำมาใส่ไว้ในพื้นที่สีเขียวภายในอาคาร Jewel ก่อนที่พันธ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในออสเตรเลีย จีน มาเลเซีย สเปน ไทย และสหรัฐอเมริกา จะเดินทางมายังสิงคโปร์ จะถูกตัดแต่งให้มีขนาดที่เหมาะสมกับการขนส่ง
เมื่อพันธ์ไม้เหล่านี้มาถึงสิงคโปร์ ก็จะถูกนำไปอนุบาลเพื่อรักษาแผลต่างๆ แล้วเลี้ยงต่ออีกเกือบ 2 ปี เพื่อให้เกิดความเคยชิน และปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศแบบร้อนชื้นของสิงคโปร์ กระบวนการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความมั่นใจว่าพืชจะเจริญเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมในร่มของ Jewel โดยมีระบบการให้น้ำอัตโนมัติที่ถูกคำนวณปริมาณการให้น้ำของพืชแต่ละสายพันธ์ที่อยู่ในโซนต่างกันมาเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำจืดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆ ที่มีน้ำจืดค่อนข้างน้อย ถ้าหากเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน
Key Landscaping Features
Forest Valley เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มอัญมณีอันหลากหลายของ Jewel ให้มีประสบการณ์ที่เหนือระดับ ไม่เหมือนสนามบินแห่งใดในโลก นอกจากร้านค้าปลีก อาหาร และเครื่องดื่มที่ยอดเยี่ยมแล้ว
ผู้โดยสารสามารถ Explore พื้นที่ป่าในร่มภายใน Jewel ได้อย่างเพลิดเพลิน ด้วยการเดินลัดเลาะบนเส้นทางเดินธรรมชาติที่โอบล้อมไปด้วยพันธ์ไม้ที่เขียวชอุ่ม ทางเดินจะถูกแบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง คือ เส้นทางด้านตะวันออก และเส้นทางด้านตะวันตก ทั้ง 2 เส้นทางถูกคั่นด้วยน้ำตกที่ลดหลั่นอย่างงดงาม และมีเมฆหมอกจำลองที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ท่ามกลางหุบเขา
นอกจากนี้ความลาดเอียงทั้ง 4 ชั้นของ Forest Valley ยังมีความสัมพันธ์ และส่งผลโดยตรงต่อ ระดับการรับแสง อุณหภูมิ สภาพความชื้น และลักษณะการจำลองสภาพแวดล้อมของพันธ์ไม้แต่ละประเภทที่นำมาปลูกอีกด้วย
Canopy Park ตั้งอยู่ที่ชั้นบนสุดของ Jewel มีพื้นที่ 14,000 ตร.ม ประกอบไปด้วยโซนเครื่องเล่น สวน และร้านอาหาร ซึ่งจุดเด่นของพื้นที่ Canopy Park ก็คือมีระบบควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะกับลักษณะการใช้งานในแต่ละช่วงของวัน ซึ่งให้สภาวะน่าสบาย ไม่อึดอัด และช่วยประหยัดการใช้พลังงานเครื่องปรับอากาศได้อีกด้วย
Oasia Hotel Downtown
Oasia Hotel Downtown เป็นอาคารโรงแรมที่ตั้งอยู่ในใจกลางย่านธุรกิจที่หนาแน่นของสิงคโปร์ ได้รับการออกแบบโดย WOHA ซึ่งเป็นสตูดิโอออกแบบด้านสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของสิงคโปร์
Oasia Hotel Downtown เป็นต้นแบบของการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนในเมืองเขตร้อน อาคารมีความสูงทั้งหมด 27 ชั้น เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังภายนอกอาคารถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็น Double Skin Facade (ผนัง 2 ชั้น) เพื่อช่วยป้องกันความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวอาคาร
นอกจากนี้ตัว Facade สีแดงสดใสที่ห่อหุ้มทั้งตัวอาคาร ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่สื่อถึงสภาพแวดล้อมเขตร้อน สถาปนิกได้ออกแบบ Detail ให้มีลักษณะเป็นเฟรมตะแกรงอลูมิเนียมที่อากาศ และแสงสามารถส่องผ่านได้ในระดับหนึ่ง เพื่อช่วยให้พืชสามารถเลื้อย และเติบโตได้บนอาคารแห่งนี้
Oasis in The Metropolis
พันธ์ไม้ที่เลื้อยเชื่อมต่อกันรอบๆตัวอาคาร สามารถมีชีวิตเติบโตได้อย่างเหมาะสม ด้วยการใช้ระบบให้น้ำอัตโนมัติ ที่จะมีการให้น้ำตามเวลาที่กำหนดวันละสองครั้ง สวนแนวตั้งขนาดใหญ่ (Vertical Garden Skyscraper) ทำหน้าที่สำคัญในการนำความหลากหลายทางชีวภาพกลับมาสู่เมืองอีกครั้ง และชดเชยการขาดพื้นสีเขียวในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งบ่งบอกถึงความเชื่อมั่นของสถาปนิก ที่ว่าแม้แต่อาคารในพื้นที่ ที่มีความหนาแน่นสูงก็สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง และทำให้ผู้คนได้สัมผัสกับธรรมชาติที่มาอยู่ใกล้ตัวได้มากขึ้น โดยพันธ์ไม้ และ Facade ตะแกรงอลูมิเนียม จะทำหน้าที่ในการกรองแสงแดด ดูดซับความร้อน และให้ร่มเงากับพื้นที่การใช้งานภายในอาคารได้อย่างเหมาะสม ทำให้ช่วยลดการใช้พลังงานภายในอาคารได้เป็นอย่างมาก
นอกจากแกนโครงสร้างหลักแล้ว อาคารแห่งนี้ได้ออกแบบโครงสร้างเสารับน้ำหนักให้กระจายอยู่ที่มุมของอาคารในแต่ละด้าน ทำให้มีพื้นที่ว่างสำหรับออกแบบให้เป็น Outdoor Garden และ Observation Deck ที่เปิดรับลม และแสงตามธรรมชาติให้เข้าสู้พื้นที่ในส่วนห้องพักของโรงแรมได้มากขึ้น
สำหรับพื้นที่ปิดของโรงแรม ได้รับการระบายความร้อนด้วยระบบน้ำเย็นแบบแปรผันที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งมีระบบควบคุมความเร็ว และควบคุมการจ่ายน้ำเย็นเพื่อไประบายความร้อนในส่วนต่างๆ ของอาคารได้อย่างเหมาะสม เพื่อเป็นการลดการใช้ทรัยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
แหล่งอ้างอิง
- https://www.jewelchangiairport.com/content/dam/jca-project/documents/media/FACT_SHEET_Gardens_at_Jewel_FINAL.PDF
- https://news.nus.edu.sg/the-museum-is-green-naturally/
- http://greenhvacrmag.com/2018/oasia-hotel/
ดูเนื้อหาอื่นๆ ด้าน Green & Sustainable Design เพิ่มเติมได้ที่
ผู้เขียนบทความ
ด้วยการเกณฑ์การประเมินคาร์บอนฯ ที่แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. Low Carbon CFO (Carbon Footprint for Organization) : การประเมิน carbon footprint ขององค์กร
2. Low Carbon CFP (Carbon Footprint of Product) : การประเมิน carbon footprint ของผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตและผู้พัฒนาวัสดุที่มีความมุ่งมั่นในการลดคาร์บอนจากวัสดุที่จำหน่าย มุ่งสู่เส้นทาง Low Carbon material ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทางโครงการมีการแบ่งเฟสที่บอกระดับว่าแต่ละองค์กรอยู่ที่จุดไหนแล้วบ้าง ได้แก่
Phase 1 : Committed เข้าร่วมโครงการ Wazzadu Low Carbon Material Library สู่เส้นทาง Low Carbon
Phase 2 : On-Track ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
Phase 3 : Achieved สามารถปล่อยคาร์บอนฯ ต่ำได้แล้วเมื่อเทียบจากครั้งก่อนๆ
หวังว่าห้องสมุดที่รวมวัสดุคาร์บอนฯ ต่ำนี้จะช่วยให้ทุกท่านได้พบกับวัสดุที่สามารถใช้ออกแบบให้เกิดเป็นสถาปัตยกรรมคาร์บอนต่ำได้จริง ... อ่านเพิ่มเติม