ไฟภายนอก หรือโคมไฟสำหรับใช้งานภายนอกอาคาร แบ่งได้กี่ประเภท แต่ละประเภทมีวิธีนำไปใช้งานอย่างไร ?

Lighting Design หรือการออกแบบแสงสว่าง สามารถแยกย่อยได้ทั้ง Interior Exterior Landscape ไปจนถึง Light art installation ความสำคัญของการออกแบบแสงนั้น ไม่ใช่เพียงแค่วัตถุประสงค์ในการให้แสงสว่างเท่านั้น แต่ยังช่วยส่งเสริมคุณค่าของงานสถาปัตยกรรม ไปจนถึงสร้างความรู้สึกอภิรมย์ให้แก่ผู้อยู่อาศัย และวันนี้ Wazzadu Encyclopedia ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโคมไฟสำหรับใช้งานภายนอกอาคารที่นิยมใช้ในงานออกแบบ ว่ามีตัวอย่างที่น่าสนใจอะไรบ้าง และแต่ละประเภทมีวิธีนำไปใช้งานอย่างไร ติดตามในบทความนี้ได้เลยครับ

ประเภทของ "โคมไฟ"

สามารถเลือกมาตรฐานของโคมไฟแต่ละประเภทได้จากการดูค่า IP Standard หรือก็คือค่ามาตรฐานที่บ่งบอกถึงการป้องกันฝุ่นละออง หรือน้ำ ละอองน้ำในระดับความแรงต่างๆ ของอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือ เครื่องจักรกลต่างๆ  

1. โคมไฟ สำหรับใช้งานพื้นที่ภายในอาคาร 100%  สามารถใช้โคมไฟ IP20 ได้เนื่องจากยังมีโอกาสที่จะเจอฝุ่น

2. โคมไฟ สำหรับใช้งานในพื้นที่กึ่งภายนอก เช่น ระเบียงบ้าน ชายคา ห้องน้ำ ทางเดินใต้อาคาร เหมาะกับการเลือกใช้โคมไฟ IP44 ขึ้นไป  มาตรฐานการป้องกันฝุ่นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 มิลลิเมตร และป้องกันปริมาณน้ำสาดกระเด็นหรือพรม จะพบมากในอุปกรณ์ไฟฟ้าจำพวกดาวน์ไลท์LED ที่ใช้ภายในอาคาร

3. โคมไฟ สำหรับใช้งานบริเวณสนามหรือพื้นที่กลางแจ้ง เช่น บริเวณสวน กำแพงบ้าน เหมาะกับการเลือกใช้โคมไฟ IP54 ขึ้นไป ซึ่งคือมาตรฐานการป้องกันฝุ่นได้ แต่อาจมีฝุ่นเล็กน้อยเล็ดลอดเข้าไป โดยฝุ่นที่เล็ดลอดเข้าไปนั้นต้องไม่มีผลใดๆ ต่อการทำงานของอุปกรณ์ และมีความสามารถที่จะป้องกันละอองน้ำที่ตกกระทบตัวอุปกรณ์ได้จากทุกทิศทาง

4. โคมไฟ  สำหรับใช้งานกรณีใช้งานใต้น้ำ กรณีใช้งานใต้น้ำ เช่น สระว่ายน้ำ ควรใช้โคมไฟ IP68 ขึ้นไป ซึ่งเป็นมาตรฐานที่บ่งบอกว่าอุปกรณ์หรือเครื่องมือนั้นๆ สามารถป้องกันฝุ่นได้ และสามารถที่จะป้องกันการแทรกซึมของน้ำจากการแช่ตัวอุปกรณ์ในน้ำได้แบบถาวร

ตัวอย่างของโคมไฟภายนอกอาคาร

โคมไฟสนามหรือโคมไฟเสาเตี้ย (Bollard light)

โคมไฟสนามหรือโคมไฟเสาเตี้ย เป็นโคมไฟติดตั้งบริเวณทางเดินเพื่อให้แสงสว่าง ความสวยงาม และความปลอดภัย โดยทั่วไปมีความสูงประมาณ 0.3-1 เมตร มักจะมีการกำหนดระยะความห่างตามดีไซน์ของผู้ออกแบบ ข้อดีคือไม่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าแสงที่ได้รับไม่สว่างจนแสบตา 

การใช้งาน

  • ติดตั้งบริเวณทางเดินเพื่อให้แสงสว่าง ให้แสงมีลักษณะเป็นจุดๆ

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

  • ควรใช้หลอดไฟ LED เนื่องจากโคมไฟเสาเตี้ย ส่วนใหญ่มักจะเปิดช่วงเวลากลางคืนเป็นเวลานาน
  •  ควรใช้โคมไฟมตรฐาน IP54 ขึ้นไป (มาตรฐานการป้องกันฝุ่นได้ และป้องกันละอองน้ำที่ตกกระทบตัวอุปกรณ์ได้จากทุกทิศทาง)
  • ควรเลือกใช้แบบที่กระจายแสงได้ดี

 

โคมไฟฝังพื้น (In-ground Uplight)

รูปแบบทั่วไปของโคมไฟฝังพื้น มักมีลักษณะเป็นวงกลมและสี่เหลี่ยมจตุรัส เพื่อติดตั้งได้ง่ายและให้ดูกลมกลืนกับบริเวณทางเดิน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดวงโคมเริ่มที่ 10 ซม. ตัวโคมไฟส่วนใหญ่ทำจากวัสดุอลูมิเนียม เป็นการส่องแสงสว่างแบบวงเล็กๆ พอให้มีแสงสว่างเป็นประปราย เน้นสร้างบรรยากาศให้ดูสวยงาม

การใช้งาน

นิยมนำไปใช้สำหรับไฮไลท์วัตถุในรูปแบบแนวตั้ง เช่น บริเวณป้ายที่ตั้งพื้นต่ กำแพงอาคาร หรือตกแต่งบริเวณพื้นระเบียงหรือทางลาดยาว 

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

การเลือกโคมไฟฝังพื้นควรเลือกค่ามาตรฐานที่ IP67 ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่บ่งบอกว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดนั้นสามารถป้องกันน้ำจากการจุ่มลงน้ำในระดับ 1 เมตร ไม่เกิน 30 นาที ซึ่งก็คือโคมไฟที่สามารถป้องกันฝุ่นและน้ำฝนได้

โคมไฟส่องต้นไม้ (Tree Uplight)

ลักษณะของโคมไฟจะมีการกระจายแสงแบบวงกว้างและวงแคบเพื่อเลือกใช้จัดแสงตามทรงของต้นไม้ให้เหมาะสม และให้เห็นสีสันของใบไม้, ลำตัน, รูปทรง ของต้นไม้ได้ชัดเจน โดยทั่วไปมีการให้แสง2แบบ คือแบบแสงกว้างสำหรับต้นไม้ทรงพุ่มกว้าง และแบบแสงมุมแคบสำหรับตันไม้ที่มีลำต้นสูงยาว

การใช้งาน

ใช้ตกแต่งต้นไม้และสวนให้สวยงามยามกลางคืน ให้เห็นสีสันของใบไม้, ลำตัน, รูปทรง ของต้นไม้ได้ชัดเจน 

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

  • ควรใช้หลอดไฟ LED เพื่อลดความร้อนจากไฟที่จะส่องกระทบต้นไม้

โคมไฟดาวน์ไลท์ภายนอก (Downlight)

เป็นโคมไฟที่มีให้เลือกใช้ทั้งแบบภายในอาคารและภายนอกอาคาร โคมไฟดาวน์ไลท์ คือ ไฟที่ใช้ส่องแสงลงพื้นไปในทิศทางเดียว มีรูปแบบหลายชนิดเพื่อปรับให้เข้ากับวิธีติดตั้งตามแต่ละหน้างาน อาทิ แบบลอยตัว, แบบฝัง, แบบห้อยเพดานและแบบกึ่งฝังกึ่งลอยตัว

การใช้งาน

นิยมติดบนผนัง ฝ้าเพดาน หรือติดตั้งกับพื้นที่กึ่งภายนอก (Semi outdoor) เช่น ระเบียง, ที่จอดรถ, สวนหย่อม, บริเวณลานกว้างที่มีกันสาดหรือหลังคาบังแดด

โคมไฟฝังผนัง 

เทคนิคการติดตั้งโคมไฟฝังผนัง หากอยากให้บริเวณที่ติดตั้งดูโล่ง มักจะใช้วิธีทำช่องว่างเพื่อใส่ตัวโคมไฟเข้าไป ผลลัพธ์ที่ได้คือบริเวณที่ติดตั้งจะไม่มีโคมไฟโผล่ออกมา ดูกลมกลืนไปกับรอบข้าง ซึ่งแสงของโคมติดผนังมีหลายแบบเช่นโคมไฟกิ่งส่องขึ้นและลง หรือโคมไฟกิ่งให้แสงสว่างรอบโคม มีรูปแบบดวงโคมให้เลือกหลากหลายทั้งแบบ ทันสมัยและคลาสสิก

การใช้งาน

เป็นโคมไฟที่ใช้สำหรับติดบริเวณผนัง เพื่อเป็นแสงนำทาง ส่วนใหญ่มักติดตั้งตามแนวกำแพงเลียบทางเดินและบริเวณบันได

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

พื้นที่ที่ต้องใช้งานตลอดทั้งคืนควรเลือกใช้หลอดไฟ LED เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน

โคมไฟใต้น้ำ (Underwater light)

โคมไฟใต้น้ำเป็นโคมไฟที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานในน้ำโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่ต้องต่อผ่านหม้อแปลงเพื่อแปลงกระแสไฟฟ้าให้เหลือ 12V หรือ 24v เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้ที่สัมผัสน้ำโดยตรงในกรณีที่เกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว สำหรับตัวโคมไฟใต้น้ำจะใช้วัสดุเป็นสเตนเลสเพื่อป้องกันการกัดกร่อนของน้ำในสระ และมียางกันน้ำไม่ให้มีรูรั่วซึมเข้าไฟ โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ แบบฝังผนังกับติดลอย

การใช้งาน

ใช้ตกแต่งตามสระน้ำ, บ่อน้ำตก, บ่อปลาและสระว่ายน้ำ เพื่อความสวยงามและความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานในเวลากลางคืน 

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

การเลือกรูปแบบการใช้งานควรพิจารรณาตามความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ เช่น หากเป็นการใช้งานในสระว่ายน้ำที่มีคนว่าย ไม่ควรใช้แบบติดลอยเพราะอาจเกิดอันตรายกับผู้ใช้งานได้

ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ

เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ข้อมูลอ้างอิงจาก

https://www.ligman.com/

https://www.ledlighting.in.th/

https://www.floodlightled.net/

www.omi.co.th

https://dreamaction.co/

ขอบคุณภาพประกอบจาก Pinterest .com

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ