เปรียบเทียบสเปคพื้นไม้ระหว่าง “ไม้สัก” กับ “ไม้มะค่า”
น่าจะเป็นคำถามที่ใครหลายคนสงสัยและอยากรู้ว่าหากเปรียบเทียบพื้นไม้จริงที่ส่วนใหญ่นิยมกันนั้น อย่าง “ไม้สัก” กับ “ไม้มะค่า” จะมีความแตกต่าง มีข้อดี-ข้อเสียและที่สำคัญคือมีราคาเริ่มต้นที่เท่าไหร่ เพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการตกแต่งพื้นภายในบ้าน ทั้งนี้วัสดุพื้นไม้จริง (Wood Flooring) ที่ยังคงได้รับความนิยมมายาวนาน ด้วยพื้นฐานแล้วไม้จริงเป็นวัสดุที่ใช้ก่อสร้างมาช้านาน เพราะมีความสวยงามแบบธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งสี ลายไม้ ผิวสัมผัส กระทั่งคุณสมบัติการใช้งานที่ทนทาน เหตุผลเหล่านี้ต่างสะท้อนคุณค่าของไม้จริงทำให้คนเลือกใช้เสมอมา
Wazzadu.com จึงนำเรื่องราวของพื้นไม้จริงแบบเทียบสเปค มาสรุปให้เพื่อนๆ เห็นจุดแตกต่างครับ สำหรับใครที่กำลังเลือกอยู่ว่าจะนำไม้ประเภทไหนมาปูพื้นที่บ้านดี ก่อนอื่นขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของไม้ก่อนนะครับว่ามีกี่แบบ
ไม้เนื้อแข็ง (Hardwood)
ส่วนใหญ่เป็นประเภทไม้ที่อยู่ในป่าของประเทศไทย มีวงปีที่มากกว่าไม้เนื้ออ่อนเพราะเจริญเติบโตช้ากว่า ลักษณะผิวสัมผัสของเนื้อไม้จะมีความมัน มีลวดลายไม้ที่ละเอียด เนื้อแน่น ตัวไม้ออกสีเข้ม บ้างก็ออกสีแดงถึงดำ มีน้ำหนักมาก ที่สำคัญมีความแข็งแรงทนทาน ทำให้สามารถใช้งานปูพื้นได้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร ทำเป็นชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์ และงานโครงสร้างไม้ อาทิ พื้น คาน ตง ขื่อ และเสา
ตัวอย่างไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้ตะเคียน ไม้เต็ง ไม้แดง ไม้มะค่า ไม้ประดู่ ไม้ตะแบก
ไม้เนื้ออ่อน (Softwood)
มักพบไม้ประเภทนี้ในแถบที่สูงที่มีอากาศเย็นหรือในประเทศที่มีอากาศหนาว เป็นไม้ที่มีวงปีแบบกว้าง เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว ลักษณะลำต้นใหญ่และมีเนื้อค่อนข้างเหนียว มีน้ำหนักเบา เนื้อไม้มีสีจางหรือ ค่อนข้างซีด ด้านความทนทานมีขีดจำกัด ไม่สามารถรับน้ำหนักได้มากเท่าที่ควร จึงเหมาะกับงานออกแบบในพื้นที่ร่มและการแปรรูปมากกว่าไม้เนื้อแข็ง
ตัวอย่างไม้เนื้ออ่อน ได้แก่ ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ฉําฉา ไม้จำปา ไม้มะม่วง ไม้ขนุน
และไม้ที่ถูกนำมาใช้เป็นวัสดุปูพื้นอย่างไม้สักกับไม้มะค่า เป็นอย่างไรบ้างมาชมกันครับ
เปรียบเทียบสเปคพื้นไม้ระหว่าง “ไม้สัก” กับ “ไม้มะค่า”
พื้นไม้สัก (Teak Wood Flooring)
ลักษณะของเนื้อไม้สักมีความอ่อนถึงความแข็งปานกลาง ตัวไม้มีลายสวยงามและสีออกน้ำตาลทอง ไม้สักเป็นรู้จักกันอย่างแพร่หลายและมีความเชื่อว่าปลอดภัยจากปลวก ทว่าในความเป็นจริงนั้นไม้สักที่มีอายุนานเกิน 10 ปี จะมีการผลิตน้ำมันโดยธรรมชาติออกมา ซึ่งเป็นกลิ่นที่ปลวกและแมลงต่างๆ ไม่ชอบ ทำให้หลีกเลี่ยงการกัดแทะไม้สักอย่างที่เรามีความเชื่อว่าปลวกไม่กินนั่นเอง โดยไม้สักที่นิยมใช้ปูพื้นกัน คือ ไม้สักทอง, ไม้สักขึ้ควายหรือสักป่าปลูก ฯลฯ
ข้อดี :
- มีจุดเด่นที่ลวดลายไม้สวยงาม มีโทนสีเหลืองทองและไล่ไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม
- สำหรับเป็นไม้สักที่มีอายุหลายสิบปี นอกจากจะช่วยป้องกันเรื่องปลวกและแมลง ไม้สักที่ยิ่งเก่ายิ่งมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น
ข้อเสีย :
- เกิดรอยขีดข่วนง่ายและจะบิดตัวหรืองอตัวเล็กน้อยตามสภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนแห้งมากๆ
- สำหรับไม้สักที่อายุน้อย มาจากป่าปลูกมีระยะเวลาการปลูกยังไม่ยาวนานพอที่จะทำให้เกิดการสะสมของน้ำมันตามธรรมชาติ จะไม่มีน้ำมันที่ช่วยป้องกันปลวกและแมลงสะสมอยู่ในเนื้อไม้ จึงเป็นเหตุที่ปลวกกัดแทะไม้สักกลุ่มนี้ได้ ควรอาบน้ำยากันปลวกเพื่อป้องกันพื้นไม้เสียหาย
การใช้งาน : เหมาะกับการปูพื้นแบบภายในอาคาร (indoor) โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10 ปี ขึ้นไป
ราคาเฉลี่ย : เริ่มต้นที่ตารางเมตรละ 1,500 บาทขึ้นไป
*หมายเหตุ - ราคาขึ้นอยู่กับขนาดหน้ากว้างและความหนาของพื้นไม้
พื้นไม้มะค่า (Makha Wood Flooring)
ลักษณะของเนื้อไม้มะค่าเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรงมาก เนื้อไม้มีความหยาบแต่พื้นผิวก็มีความราบเรียบอยู่ในตัว ลวดลายไม้คล้ายกับไม้สัก แต่โทนสีออกสีเหลืองอ่อนกับสีเหลืองอมชมพู อมส้ม โดยสีจะเข้มขึ้นตามอายุการใช้งาน และถ้าหากไม้มะค่าโดนแดด หรือ โดนน้ำ ก็อาจจะทำให้สีเข้มขึ้นได้เช่นกัน
ข้อดี :
- มีความแข็งแรง ทนต่อการขูดขีด ผุพังได้ยากและสามารถรับน้ำหนักได้ดี
- เป็นไม้ที่ทนต่อปลวก มอด เชื้อราและความชื้น
ข้อเสีย :
- เพราะเป็นมีเนื้อไม้ที่หนักแน่น จึงทำให้มีน้ำหนักค่อนข้างมากและยังมีโอกาสที่จะยืดหรือหดตัวตามสภาพอากาศ
- ยากต่อการตัดแต่งหรือเจาะ เช่น เวลาตอกตะปูจะต้องเอาสว่านเจาะนำก่อน จึงจะตอกตะปูได้
การใช้งาน : เหมาะกับการปูพื้นทั้งภายในและภายนอกอาคาร แต่ส่วนใหญ่เป็นที่นิยมสำหรับงานตกแต่งแบบ outdoor โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยราวๆ 10 -15 ปี
ราคาเฉลี่ย : เริ่มต้นที่ตารางเมตรละ 3,000 บาทขึ้นไป
*หมายเหตุ :
- เนื่องจากไม้มะค่าหาซื้อยากกว่าไม้สักและค่อนข้างราคาสูง เพราะนำเข้ามาจากต่างประเทศ
- ราคาขึ้นอยู่กับขนาดหน้ากว้างและความหนาของพื้นไม้
เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia
ข้อมูลอ้างอิงจาก
- http://forprod.forest.go.th
- http://designtechnology.ipst.ac.th
- http://www.suwannaphumkhamai.com
- https://www.nocnoc.com
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม