รวมข้อมูลคุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย พื้นไม้จริงแต่ละประเภท

" รวมข้อมูลวัสดุศาสตร์ และข้อดี - ข้อเสีย พื้นไม้จริง 8 ประเภท " ซึ่งจะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น วันนี้ wazzadu.com ย่อยมาให้แล้ว มาชมกันเลยครับ

พื้นไม้จริง (Wood Flooring) ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุค กี่สมัยก็ยังได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย ด้วยลวดลายของผิวสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ในแบบธรรมชาติ จึงทำให้คุณค่าของไม้จริง ยังไม่มีวัสดุใดๆมาทดแทนได้แบบ 100% ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีวัสดุทดแทนไม้จริง ผลิตออกมาใช้กันมากมายในตลาด  

ชาวไทยนิยมใช้ไม้มาตั้งแต่สมัยอดีตกาลมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องด้วยไม้ในอดีตเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ถึงแม้ในปัจจุบันเราจะไม่สามารถนำไม้ในป่าธรรมชาติมาแปรรูปใช้งานได้เหมือนเช่นยุคก่อนๆแล้ว แต่ก็มีการป่าปลูกทดแทนเพื่อนำไม้มาใช้งานโดยเฉพาะ ซึ่งไม้ที่นิยมนำมาใช้ทำพื้นอาคารส่วนใหญ่จะเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เต็ง ,ไม้แดง ,ไม้มะค่า ,ไม้สัก เป็นต้น โดยสามารถนำมาใช้ปูพื้นได้ทั้งบ้านโครงสร้างไม้ และบ้านโครงสร้างปูน

ในกรณีที่เป็นบ้านโครงสร้างไม้จะใช้วิธีตอกยึดกับคานไม้ แต่ปัจจุบันนิยมสร้างบ้านโครงสร้างปูนกันมาก โดยทำการเทพื้นคอนกรีตก่อน จากนั้นปูพื้นไม้ทับด้วยกาวสำหรับงานปูพื้น 

สำหรับในประเทศไทย ไม้ที่นำมาแปรรูปใช้ทำพื้นอาคาร ได้มีการแยกประเภทไม้ให้ละเอียดยิ่งขึ้นตามลักษณะความแข็งแรงของไม้ ดังนี้

- ไม้เนื้ออ่อน เป็นไม้ที่มีวงปีกว้างมาก เนื่องจากเป็นไม้โดเร็ว ลำต้นใหญ่ เนื้อค่อนข้างเหนียว แต่แปรรูปได้ง่าย เนื้อไม้มีสีจาง หรือ ค่อนข้างซีด ความทนทานมีขีดจำกัดไม่สามารถรับน้ำหนักได้มากเท่าที่ควร จึงเหมาะกับงานในที่ร่ม หรือ งานชั่วคราวมากกว่าการนำมาปูพื้น 

- ไม้เนื้อแข็ง เป็นไม้ที่มีวงปีมากกว่าไม้เนื้ออ่อน เพราะมีการเจริญเติบโตช้ากว่า โดยเฉลี่ยมีอายุหลายสิบปี จึงจะนำมาใช้งานได้ ลักษณะทั่วไปของไม้เนื้อแข็ง ผิวสัมผัสของเนื้อไม้จะมีความมัน ลวดลายละเอียด เนื้อแน่น สีเข้ม (แดงถึงดำ) มีน้ำหนักมาก แข็งแรงทนทาน เหมาะสำหรับงานปูพื้น งานเฟอร์นิเจอร์ และงานโครงสร้างไม้

- ไม้เนื้อแกร่ง เป็นไม้ที่มีการเจริยเติบโตช้ามากที่สุด จึงทำให้มีวงปีถี่มากกว่าไม้สองชนิดแรก โดยมีอายุเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 60-70 ปีขึ้นไป จึงจะนำมาใช้งานได้ เนื้อไม้มีสีเข้มค่อนข้างแดง น้ำหนักไม่มากแต่แข็งกว่าไม้เนื้อแข็ง ไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักเป็นไม้ที่ใช้ในงานโครงสร้างเป็นหลัก อาทิ พื้น คาน ตง ขื่อ และเสา 

พื้นไม้สัก (Teak Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้สัก เป็นไม้เนื้ออ่อนถึงแข็งปานกลาง มีลวดลายสวยงาม และคุณภาพดีที่สุดเมื่อเทียบกับไม้หลายๆประเภท เนื้อไม้ละเอียดมีสีน้ำตาลทอง มีความนิ่ม ง่ายต่อการแปรรูป ไม้มีกำลัง และมีความแข็งแรง ไม้สักที่ดีจะต้องใช้เวลานานมากในการเจริญเติบโต ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าไม้สักไม่โดนปลวกกิน แท้จริงแล้วคือไม้สักที่มีอายุมากๆจะผลิตน้ำมันธรรมชาติของสัก ซึ่งมีกลิ่นที่ปลวก และแมลงต่างๆไม่ชอบนั่นเอง  

แต่หากเป็นสักปลูกที่โตเร็ว จะไม่มีน้ำมันชนิดนี้สะสมอยู่ในเนื้อไม้ ปลวกจึงเลือกกินไม้สักชนิดนี้ได้ ไม้สักที่ได้จากป่าปลูกมีระยะเวลาการปลูกยังไม่ยาวนานพอที่จะทำให้เกิดการสะสมของน้ำมันตามธรรมชาติ จึงแก้ปัญหาด้วยการอาบน้ำยากันปลวกแทน ซึ่งก็สามารถช่วยป้องกันปลวกได้อีกทางหนึ่ง โดยไม้สักที่นิยมนำมาใช้ในงานปูกันอย่างแพร่หลาย คือ สักทอง ,สักขึ้ควาย หรือ สักป่าปลูก ฯลฯ โดยพื้นไม้สักจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10 ปี ขึ้นไป

Benefit : ข้อดี

- ไม้สักมีความแข็งแรงทนทาน แต่เนื้อไม้ก็ยังมีความนิ่มสามารถแปรรูปได้ง่าย

- ไม้สักเป็นวัสดุปูพื้นที่มีคุณภาพดี ให้ผิวสัมผัสที่ละเอียดสวยงาม 

- ไม้สัก ปลวกไม่ชอบกิน เพราะไม้สักที่มีอายุมากๆจะผลิตน้ำมันสักที่ปลวก และแมลงต่างๆไม่ชอบออกมา (นอกจากพื้นไม้สัก ที่ทำมาจากไม้สักป่าปลูกจึงจะไม่สามารถผลิตน้ำมันสักได้)

- ไม้สัก ยิ่งเก่ายิ่งมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น

Disadvantage : ข้อเสีย

- พื้นผิวไม้สัก จะเป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย

- ไม้สักที่มีอายุมาก ก็จะยิ่งมีราคาสูงตามไปด้วย 

- ไม้สักจะบิดตัว และงอตัวเล็กน้อยตามสภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนแห้งมากๆ

- ช่างฝีมือที่มีความชำนาญในงานไม้ โดยเฉพาะงานไม้สักในปัจจุบันนั้นหายาก ถ้าหากได้ช่างไม่ดีอาจจะเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว

พื้นไม้เต็ง (Shorea​​ Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้เต็ง เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ หรือน้ำตาลออกเทา (ถ้าตัดทิ้งไว้นานสีจะเข้มขึ้น) จัดเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรงทนทานมาก เนื้อไม้มีความแข็งและเหนียว มีผิวหยาบ และเสี้ยนลายไม้ไม่ค่อยสวยงาม นิยมใช้กับงานโครงสร้างภายนอก อย่างเช่น คาน เสา และพื้น เพราะทนต่อสภาพอาอาศได้ดีกว่าไม้ชนิดอื่นๆ 

ไม้เต็ง ถือเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีขนาด และคุณสมบัติที่เหมาะสมในการนำไปทำพื้นไม้ เพื่อช่วยลดอัตราที่พื้นไม้จะบิด หรือ โก่งตัวเมื่อโดนน้ำ หรือ ความชื้น โดยไม้เต็งที่นำมาปูพื้น ควรจะเป็นไม้ที่ผ่านการอบแห้งให้มีความชื้นไม่เกิน 12% และจะต้องมีการทาสีรักษาเนื้อไม้ เพื่อให้พื้นไม้เต็งสามารถทนทานต่อการขูดขีด และลดการสูญเสียความชื้นจากในเนื้อไม้ ซึ่งจะช่วยให้พื้นไม้เต็งมีความเงางาม และยังช่วยป้องกันการรบกวนของปลวกที่จะเจาะพื้นไม้เต็งได้ด้วย แม้ว่าโดยธรรมชาติของไม้เต็งแล้ว ปลวกจะไม่ค่อยมารบกวนก็ตาม โดยพื้นไม้เต็งจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10-15 ปี

Benefit : ข้อดี

- ไม้เต็ง เป็นพื้นที่มีความคงทนแข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี

- ไม้เต็ง ทนต่อสภาพอาอาศได้ดีกว่าไม้ชนิดอื่นๆ จึงสามารถนำไปทำเป็นพื้นภายนอกอาคารได้

- ไม้เต็ง มีอัตราการบิดตัว หรือ โก่งตัวเมื่อโดนน้ำ และความชื้นค่อนข้างต่ำ

- ไม้เต็ง มีปัญหาเรื่องปลวก และแมลงค่อนข้างน้อยกว่าไม้ชนิดอื่นๆ

Disadvantage : ข้อเสีย

- พื้นผิวของไม้เต็ง ค่อนข้างหยาบ และลวดลายไม่สวยงามเท่ากับไม้ชนิดอื่นๆ 

- ไม้เต็งเป็นไม้เนื้อแข็ง จึงทำให้ตัดแต่ง และลงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้ค่อนข้างยาก

- ถ้าหากนำไปทำสี แล้วทำไม่ค่อยดี จะทำให้สีแตกลอกล่อนค่อนข้างเร็ว

พื้นไม้แดง​ (Iron Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้แดง เป็นไม้เนื้อแข็งที่เนื้อไม้ค่อนค้างแน่น ทนทาน และสามารถรับน้ำหนักได้ดี (เจาะตัดได้ยากกว่าไม้ชนิดอื่นๆ)  เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมแดง โดดเด่นด้วยลายเส้นสีเข้มสวยงาม และมีจุดดำแทรกในเนื้อไม้ เมื่อใช้ไปนานๆจะมีสีแดงที่เข้มขึ้น ไม้แดงเป็นไม้ที่มีความแข็งแรง และมีราคาไม่สูงมากนัก นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างทั้งภายใน และภายนอกอาคาร เช่น ไม้ปูพื้น ,เสา ,คาน ,ตง ฝาบ้าน ฝ้าชายคา และรั้วไม้

ด้วยความที่เนื้อไม้แดงมีความแข็งค่อนข้างมาก จึงทำให้ไม้แดงมีโอกาสยืดหดตัวสูง ดังนั้นการใช้งานไม้แดงจึงควรตีเว้นร่องเพื่อป้องกันการขยายตัวของไม้จนทำให้เกิดการปริแตกได้ อีกทั้งยังไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวก หรือ แมลง และยังเป็นไม้ที่ต้านทานไฟในตัว โดยพื้นไม้เเดงจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10 -15 ปี

Benefit : ข้อดี

- ไม้แดง เป็นไม้เนื้อแข็งที่เนื้อไม้ค่อนค้างแน่น มีความทนทาน และสามารถรับน้ำหนักได้ดี

- ไม้แดง มีความโดดเด่นด้วยลายเส้นสีเข้มสวยงาม ในโทนสีน้ำตาลอมแดง

- ไม้แดง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวก หรือ แมลงรบกวน

Disadvantage : ข้อเสีย

- ด้วยความที่เนื้อไม้แดงมีความแข็งค่อนข้างมาก จึงทำให้ไม้แดงมีโอกาสยืดหดตัวตามสภาพอากาศพอสมควร อีกทั้งยังเป็นไม้ที่มีอัตราการยืดหดตัวสูง

- ไม้แดง มีเนื้อไม้ค่อนข้างแน่น จนทำให้การตัดแต่ง หรือการเจาะทำได้ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างเช่น เวลาตอกตะปูจะต้องเอาสว่านเจาะนำก่อน จึงจะตอกตะปูได้

พื้นไม้รัง​ (Sal​ Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้รัง เป็นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ ลักษณะเนื้อไม้มีความหยาบ หรือ ละเอียดปานกลาง มีสีน้ำตาลอมเหลือง มีความแข็งแรงคงทนค่อนข้างมาก เมื่อเนื้อไม้แห้งจะมีความแข็งแรง และคุณสมบัติคล้ายไม้เต็ง แต่ความแข็งแรงนั้นมีน้อยกว่าไม้เต็ง แต่ก็ยังพอที่จะสามารถใช้ทดแทนไม้เต็งได้ 

โดยนิยมนำไปใช้ในงานก่อสร้างในส่วนที่จำเป็นต้องรับน้ำหนัก เช่น เสา พื้น และคาน แต่ในปัจจุบันไม้รังเริ่มหายาก และมีราคาแพงมาก นอกจากจะเป็นไม้รังที่มาจากป่าปลูกโดยเฉพาะ แต่ก็ยังมีค่อนข้างน้อย โดยพื้นไม้รังจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10 ปีขึ้นไป

Benefit : ข้อดี

- ไม้รัง มีความแข็งแรงทนทาน สามารถรับน้ำหนักได้ดี

- ไม้รัง เป็นไม้ที่ทนต่อสภาพอาอาศได้ดี จึงสามารถนำไปทำเป็นพื้นภายนอกอาคารได้ (คล้ายไม้เต็ง)

- ไม้รัง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวก และแมลง (คล้ายไม้เต็ง)

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม้รัง เป็นไม้เนื้อแข็ง จึงทำให้ตัดแต่ง และลงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้ค่อนข้างยาก (คล้ายไม้เต็ง)

- พื้นผิวของไม้รังค่อนข้างหยาบ และลวดลายไม่สวยงามเท่ากับไม้ชนิดอื่นๆ

พื้นไม้ตะแบก​ (Tabek Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้ตะแบก เป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง มีลายเสี้ยนค่อนข้างตรง เนื้อไม้สีเทา หรือ น้ำตาลอมเหลืองอ่อนๆ ความเข้มของสีไม้ค่อนข้างอ่อนจึงสามารถนำไม้ไปย้อมสีตามที่ต้องการได้ง่าย นอกจากนี้เนื้อไม้ยังมีความละเอียดใส และขึ้นเงา มีลวดลายชัดเจน และให้ความสวยงามใกล้เคียงกับไม้สัก

เนื่องจากไม้ตะแบกเป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง จึงมีเนื้อไม้ที่ไม่อ่อนไม่แข็งจนเกินไป ซึ่งช่วยให้การไสตกแต่งทำได้ง่าย ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวกมอด และแมลงรบกวน จึงนิยมนำมาใช้ในการตกแต่งที่อยู่อาศัยกันเป็นจำนวนมาก ทั้งภายในและภายนอก (ส่วนใหญ่นิยมใช้ภายในมากกว่า) อาทิเช่น ไม้ปูพื้น ,บานประตู ,ไม้บันได ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันถ้าหากเนื้อไม้ตะแบกโดนความร้อน หรือ ความชื้น ก็สามารถบิด และโก่งตัวได้ง่ายด้วยเช่นกัน โดยพื้นไม้ตะแบกจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 12-15 ปี

Benefit : ข้อดี

- ไม้ตะแบก มีโทนสีไม้ค่อนข้างอ่อน จึงสามารถนำไม้ไปย้อมสีตามที่ต้องการได้ง่าย

- ไม้ตะแบก มีเนื้อไม้ที่ไม่อ่อนไม่แข็งจนเกินไปจึงช่วยให้การไสตกแต่งสำหรับงานปูพื้นทำได้ง่าย

- ไม้ตะแบก ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวกมอด และแมลงรบกวน

- เนื้อไม้ตะแบกมีความละเอียดใส และขึ้นเงา มีลวดลายชัดเจน และให้ความสวยงามใกล้เคียงกับไม้สัก

Disadvantage : ข้อเสีย

- ถ้าหากเนื้อไม้ตะแบกโดนน้ำ หรือ ความชื้น  อาจเกิดอาการบิดงอ และโก่งตัวได้ง่าย

- ไม้ตะแบกมีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก ไม่ควรนำไปใช้ปูพื้นในพื้นที่ ที่จะต้องรับน้ำหนักมากๆ เพราะจะทำให้แอ่นเมื่อใช้งานไปนานๆ

- ไม้ตะแบก เป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง จึงอาจมีการยืด-หดตามสภาพอากาศได้

พื้นไม้ประดู่​ (Rose​ Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้ประดู่ เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีกลิ่นหอม เนื้อละเอียดปานกลาง มีความแข็งแรงทนทานสูงพอๆ กับไม้แดงแต่มีอัตราการหดตัวน้อยกว่า เนื้อไม้มีหลายเฉดสีตั้งแต่สีชมพูอมส้ม สีแดงอมเหลือง ไปจนถึงสีอิฐแก่ ลักษณะสีเส้นเสี้ยนจะแก่กว่าสีพื้น ลายเสี้ยนสับสนเป็นริ้วสวยงาม อีกทั้งยังสามารถไสกบตกแต่ง และชักเงาได้ดี จึงนิยมนำไปใช้ในงานปูพื้น หรือ ใช้ทำเป็นวงกบประตูและหน้าต่าง โดยพื้นไม้ประดู่จะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 15 ปีขึ้นไป

Benefit : ข้อดี

- ไม้ประดู่มีความเเข็งแรง ทนทานต่อรอยขีดข่วน และสามารถรับน้ำหนักได้ดีมาก

- เนื้อไม้ประดู่ค่อนข้างละเอียด จึงสามารถนำไปไสกบตกแต่ง และขัดเงาได้ดี

- ลักษณะสีเส้นเสี้ยนจะแก่กว่าสีพื้น ลายเสี้ยนสับสนเป็นริ้ว มีลวดลายที่สวยงาม

- ไม้ประดู่มีอัตราการหดตัวค่อนข้างน้อย

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม้ประดู่เป็นไม้ที่อมความร้อน 

- ไม้ประดู่ มีเนื้อไม้ค่อนข้างแน่น จนทำให้การตัดแต่ง หรือการเจาะทำได้ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างเช่น เวลาตอกตะปูจะต้องเอาสว่านเจาะนำก่อน จึงจะตอกตะปูได้

- ถึงไม้ประดู่จะมีอัตราการยืดหดตัวค่อนข้างน้อย แต่ก็มีโอกาสยืด-หดตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันได้ 

พื้นไม้มะค่า​ (Makha​ Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้มะค่า เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรงทนทานสามารถรับน้ำหนักได้ดี เนื้อไม้มีความหยาบหนักแน่นแต่ก็มีความราบเรียบสม่ำเสมอ มีลวดลายไม้ที่สวยงามคล้ายลายไม้สัก เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อน และสีเหลืองอมชมพู โดยสีจะเข้มขึ้นตามอายุการใช้งาน และถ้าหากไม้มะค่าโดนแดด หรือ โดนน้ำ ก็อาจจะทำให้สีเข้มขึ้นได้เช่นกัน ไม้มะค่าเป็นไม้ที่ทนต่อปลวก มอด ความชื้น และเชื้อรา อีกทั้งยังผุพังได้ยาก โดยพื้นไม้มะค่าจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยราวๆ 10 -15 ปี

ไม้มะค่าถือเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในงานตกแต่งทั้งภายใน และภายนอก (ส่วนใหญ่นิยมใช้ภายในอาคาร) อาทิเช่น ไม้พื้น ,ไม้บันได ,ไม้ฝ้า ,บัวไม้ ,วงกบ ,ประตู ,หน้าต่าง ,คานไม้ หรือ ส่วนโครงสร้างในบ้านที่ต้องการโชว์ให้เห็นผิวไม้ที่มีความสวยงาม เป็นต้น 

ในปัจจุบันไม้มะค่าหายาก และมีราคาแพง ไม้มะค่าบางส่วนจึงนำเข้ามาจากทางแอฟริกา ซึ่งภูมิอากาศแถบนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศไทย แต่สีของไม้จะไม่สวย และเข้มเท่าไม้มะค่าในประเทศไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม้มะค่าจะมีราคาแพงกว่าไม้แดง

Benefit : ข้อดี

- ไม้มะค่า เป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานมาก จึงสามารถรับน้ำหนักได้ดี

- เนื้อไม้มีความหยาบหนักแน่นแต่ก็มีความราบเรียบสม่ำเสมอ

- ไม้มะค่ามีลวดลายไม้ที่สวยงามคล้ายลายไม้สัก

- ไม้มะค่าทนต่อปลวก มอด ความชื้น และเชื้อรา อีกทั้งยังผุพังได้ยาก

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม้มะค่าเป็นไม้ที่หายาก และราคาสูง

- ไม้มะค่า มีเนื้อไม้ที่หนักแน่น จึงทำให้มีน้ำหนักค่อนข้างมาก

- ไม้มะค่า มีเนื้อไม้ที่ค่อนข้างแน่น จนทำให้การตัดแต่ง หรือการเจาะทำได้ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างเช่น เวลาตอกตะปูจะต้องเอาสว่านเจาะนำก่อน จึงจะตอกตะปูได้

- ถึงแม้ไม้มะค่าจะเป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ก้ยังมีโอกาสที่จะยืด-หดตัวตามสภาพอากาศได้เช่นกัน

พื้นไม้ยางพารา (Rubber Wood Flooring​) คืออะไร

ไม้ยางพารา เป็นไม้เนื้ออ่อน เสี้ยนใหญ่ เนื้อหยาบ และมีความอ่อนตัวค่อนข้างมาก จึงทำให้การตัดแต่งสามารถทำได้ง่าย อีกทั้งยังมีราคาไม่แพง สามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด นอกจากนี้ไม้ยางพารายังมีโทนสีอ่อน จึงสามารถนำไปทำสีได้ง่ายตามที่ต้องการ จึงนิยมนำไปใช้ในงานตกแต่งภายใน เช่น ไม้พื้นบันได ,ประตู ,วงกบ ,ประตู หรือ เฟอร์นิเจอร์

แต่ในขณะเดียวกันไม้ยางพาราก็ยังเป็นไม้ที่มีอัตราการยือหดตัวสูง เมื่อหดตัวยางไม้จะปะทุออกจากเนื้อไม้ เมื่อตอกตะปูเนื้อไม้จะแตกได้ง่าย ภายในเนื้อไม้ยางพารานั้นจะมีสารอาหารของปลวก และเชื้อรา จึงทำให้บิดงอ และขึ้นราง่าย ดังนั้นจึงต้องอัดน้ำยากันปลวก และอบแห้งเพื่อให้เนื้อไม้คงทนแข็งแรง โดยพื้นไม้ยางพาราจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยราวๆ 7 -10 ปี

Benefit : ข้อดี

- ไม้ยางพารา มีความอ่อนตัวค่อนข้างมากจึงทำให้การตัดแต่งทำได้ง่าย

- ไม้ยางพารา มีโทนสีอ่อน จึงสามารถนำไปทำสีได้ง่ายตามที่ต้องการ

- ไม้ยางพารา มีราคาที่ไม่แพง และสามารถหาซื้อได้ง่าย

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม้ยางพารา เป็นไม้ที่มีอัตราการยือหดตัวสูง และบิดงอได้ง่าย

- เมื่อนำไม้ยางพาราไปแปรรูป ตัด-ซอยออกมาเป็นท่อน-แผ่น จะมีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก

- ไม้ยางพารา มีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก เพราะมีเนื้อไม้ที่ค่อนข้างอ่อน

- ภายในเนื้อไม้จะมีสารอาหารของปลวก และเชื้อรา จึงทำให้ไม่ค่อยทนต่อปลวก ความชื้น และเชื้อรา

- เมื่อตอกตะปูเนื้อไม้จะแตกได้ง่าย

ทั้งนี้ก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้พื้นไม้ประเภทใดๆนั้น เราควรพิจารณาดูว่าพื้นไม้ประเภทนั้นๆมีความเหมาะสมกับบริบทสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ที่เราจะนำไปตกแต่งมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นด้าน ราคา ,ความสวยงาม และความคงทน 

ซึ่งพื้นไม้แต่ละประเภทจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากน้อยขนาดไหนนั้น ล้วนขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา และการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเช่นกัน ถ้าเราหมั่นดูแลรักษาพื้นไม้อย่างสม่ำเสมอด้วยวิธีที่เหมาะสม พื้นไม้ก็จะสามารถใช้งานได้ยาวนานหลายสิบปี

ถ้าหากบทความนี้ให้ความรู้ และเป็นประโยชน์กับทุกๆท่าน กรุณาช่วยแชร์ต่อเพื่อเป็นกำลังใจให้ wazzadu.com ด้วยนะครับ

ผู้สนับสนุน

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ