The Spheres สำนักงานใหม่ของ Amazon.com กับแนวคิดในการออกแบบ และการเลือกใช้วัสดุที่น่าสนใจ
จะเป็นอย่างไร หากคุณได้นั่งทำงานในพื้นที่ซึ่งเหมือนกับคุณได้นั่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ?
วันนี้ Wazzadu.com ขอพาท่านผู้อ่านไปชม The spheres สำนักงานใหญ่ Amazon ซึ่งก่อตั้งโดย เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ที่เสมือนจำลองป่าไม้มาไว้ในโดมขนาดใหญ่ กับแนวคิดการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุที่น่าสนใจ
The spheres เป็นสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Amazon.com ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองซีแอทเทิล สหรัฐอเมริกา ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่และสถาปัตยกรรมที่มีรูปทรงเหมือนกับการจำลองโดมสวนป่าขนาดใหญ่มาไว้ใจกลางเมือง แต่สถานที่แห่งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมหรือสำนักงานที่มีเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากแนวคิดอันลึกซึ้ง ที่ผู้ออกแบบต้องการให้ผู้มาเยี่ยมชมเกิดความรู้สึกว่าสถานที่แห่งนี้มีความพิเศษและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เพียงเท่านั้น ยังถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้พนักงานหรือผู้ที่มาเยี่ยมชมเกิดความมีส่วนร่วมกับพื้นที่ กระตุ้นให้เกิดไอเดียดีๆ หรืออยากที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน
โปรเจค : The spheres สำนักงานใหญ่ Amazon
บริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบ : NBBJ
ตั้งอยู่ที่ : เมืองซีแอทเทิล สหรัฐอเมริกา
Area : 67000 ตารางเมตร
โปรเจคแล้วเสร็จปี : 2018
งบประมาณ : 4-5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขอบคุณช่างภาพ : Sean Airhart Photography, Bruce Damonte Architectural Photographer, Stuart Isett
ขอบคุณภาพประกอบจาก : Archdaily.com
แนวคิดการออกแบบรูปทรงของสถาปัตยกรรม...
ที่มีแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงหลายเหลี่ยมที่มีจุดเชื่อมเป็นมุม 5 มุม ของนักคณิตศาสตร์ชาวเบลเยี่ยม เออแฌน ชาร์ล กาตาล็อง (Eugène Charles Catalan) เกิดเป็นงานสถาปัตยกรรมโครงเหล็กที่มีจุดเชื่อมโยงกันมากมายของรูปทรงหลายเหลี่ยม (Icosahedron Structure) จนเกิดเป็นโดมกระจกใสขนาดใหญ่ คล้ายกับเรือนกระจกที่มีรูปทรงล้ำสมัย ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก NBBJ ซึ่งทำงานร่วมกับวิศวกรโครงสร้างที่ Magnusson Klemencic Associates
นอกจากแนวคิดการออกแบบของรูปทรงทางสถาปัตยกรรมซึ่งมีที่มาที่ไป การเลือกคอนเซ็ปต์เรื่องการจำลองป่าไม้มาไว้กลางเมืองเองก็มีที่มาที่ไปเช่นกัน...
แรงบันดาลใจจากการตระหนักได้ว่า...
พื้นที่สำหรับการทำงานในปัจจุบันนั้น ขาดการเชื่อมโยงกับธรรมชาติลงไปเรื่อยๆ ยิ่งอยู่ในเมืองเท่าไหร่ก็ยิ่งห่างไกลจากธรรมชาติเท่านั้น และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์พื้นที่การทำงานเพื่อให้พนักงาน หรือผู้ที่เข้ามาทำงานที่นี่ได้มีส่วนร่วมกับธรรมชาติ เมื่อคุณเข้ามาที่นี่ครั้งแรก จะสัมผัสได้ถึงความเขียวชอุ่มของภายในโดม และเกิดการรับรู้ถึงสุขภาพที่ดีได้โดยอัตโนมัติ เพราะภายในนั้นรายล้อมไปด้วยพืชพรรณนาๆ ชนิด เสมือนจำลองป่าไม้ ให้มาอยู่ในพื้นที่การทำงาน ซึ่งผสานเข้ากันได้อย่างลงตัวเลยทีเดียว
ความพิเศษและจุดเด่นของสถาปัตยกรรม The spheres ที่น่าสนใจ
ภายในโดมแห่งนี้ปลูกต้นได้ราว 40,000 ต้น และมีทั้งหมด 400 สายพันธุ์ !
นอกจากเรื่องการออกแบบที่แปลกใหม่แล้ว The spheres ยังมีความพิเศษของการจัดสรรพืชพรรณต่างๆ ที่อยู่ภายในโดมแห่งนี้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะมีการปลูกต้นไม้ราว 40,000 ต้น รวมทั้งหมดกว่า 400 สายพันธุ์ ซึ่งหลายๆ ชนิดเป็นพืชพรรณที่หายาก โดยการสร้างป่าจำลองนี้ อยู่ในความดูแลของแลของคุณ Ron Gagliardo นักพืชสวนของ Amazon.com โดยเฉพาะ ซึ่งก่อนหน้านี้เขามีประสบการณ์ในการทำงานที่สวนพฤกษศาสตร์แอตแลนตามาก่อน
ที่นั่งบนชั้นลอย เสมือนรังนกจำลอง
เพื่อให้เข้าธีมกับความเป็นธรรมชาติภายใน ทางผู้ออกแบบจึงได้สร้างที่นั่งซึ่งหากมองจากด้านล่างขึ้นไป จะเหมือนกับรังนกขนาดใหญ่ซึ่งคนสามารถนั่งตรงนี้ได้ เป็นจุดชมวิวหรือบรรยากาศโดยรอบภายในโดมที่สามารถนั่งทำงาน พูดคุย หรือพักผ่อนได้
วัสดุที่เกี่ยวข้องในงานโปรเจค
1. กระจกใสพิเศษ (LOW IRON GLASS)
วัสดุหลักๆ ที่โปรเจคนี้เลือกมาใช้และแน่นอนว่าเป็นวัสดุที่สร้างความตระการตาให้กับงานสถาปัตยกรรมนี้ นั่นก็คือ "กระจก" หากสังเกตดูจะเห็นว่ากระจกที่ถูกนำมาใช้จะมีความใสมากเป็นพิเศษ อีกทั้งยังผ่านการติดฟิล์มเพื่อป้องกันความร้อนและช่วยประหยัดพลังงาน กระจกที่ถูกเลือกใช้คือกระจกประเภท LOW IRON GLASS หรือ "กระจกใสพิเศษ" ขึ้นชื่อว่ากระจกใสพิเศษ ก็ต้องมีความแตกต่างจากกระจกทั่วไป เพราะในสูตรของส่วนผสมสำหรับหลอมกระจกโดยทั่วไป ต้องมีการใส่ส่วนผสมของโลหะ (Iron Oxide) เข้าไปด้วย แต่สำหรับวัสดุอย่าง "กระจกใสพิเศษ" จะเป็นการใส่โลหะลงไปในปริมาณที่น้อยลงกว่าเดิม เพื่อให้เนื้อกระจกมีความใสกว่าปกติ ซึ่งแน่นอนว่าต้นทุนต้องสูงตามไปด้วย
กระจกใสธรรมดาที่ความหนา 6 มม. จะมีค่าการส่องผ่านของแสง (VLT) อยู่ที่ประมาณ 83-89% ในขณะที่กระจกใสพิเศษจะให้ค่าการส่องผ่านของแสงได้มากขึ้นถึง 91% โดยประมาณ จึงทำให้ถ่ายทอดสีสันได้เหมือนจริงและมีความกระจ่างใส เมื่อมองผ่านเนื้อกระจกได้มากขึ้น
2. โครงสร้างเหล็ก
เหล็กจำนวนมากถูกนำมาออกแบบเป็นโครงสร้างที่มีความเป็นเอกลักษณ์พิเศษสำหรับงานสถาปัตยกรรมนี้โดยเฉพาะ ซึ่งหากจะพูดถึงเหล็กที่ถูกนำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมหรืองานตกแต่งทั่วไป ก็จะถูกจำแนกออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน ตัวอย่างเช่น
- เหล็กรูปพรรณรีดร้อน
คือ เหล็กที่มีการรีด ตอนที่เหล็กยังมีอุณหภูมิสูงประมาณ 1,200 องศา เพื่อให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ เช่น เหล็ก H-Bean, I-Beam, Channel ซึ่งในการรีดเหล็กในขณะที่มีอุณหภูมิสูงนี้ เป็นกรรมวิธีที่ให้ความร้อนแก่เหล็กและทำให้เหล็กเย็นตัวลงเป็นลำดับ เพื่อลดความเครียดในเนื้อเหล็กและทำให้ผลึกเหล็กมีความละเอียดมากขึ้น ซึ่งทำให้เหล็กมีกำลังและความเหนียวสูงขึ้น ซึ่งสามารถรีดเหล็กที่มีความหนาที่มากๆได้ ส่งผลให้เมื่อมีการนำไปออกแบบใช้งาน จะสามารถใช้งานได้หลากหลาย
- เหล็กรูปพรรณขึ้นรูปเย็น
คือ เป็นการขึ้นรูปจากเหล็กแผ่นที่มีอุณหภูมิปกติ โดยเป็นการพับ แผ่นเหล็กและเชื่อมให้กลายเป็น เหล็กกล่อง เหล็กท่อกลม หรือนำแผ่นเหล็กมาพับเป็นตัว Z ซึ่งการนำเหล็กแผ่นมาพับหรือม้วนนั้น จะต้องมีการเชื่อมเหล็กเข้าด้วยกัน และต้องมีการตรวจสอบรอยเชื่อมดังกล่าว จัดเป็นกรรมวิธีที่ทำให้เกิด strain-hardening ในเหล็ก และทำให้เหล็กมีกำลังและความแข็งของผิวต่อการกดสูงขึ้นมากกว่าเหล็กรูปพรรณรีดร้อน แต่จะมีผลทำให้ความเหนียวของเหล็กลดลง
ประเภทการใช้งานของเหล็กรูปพรรณขึ้นรูปเย็น มักนิยมใช้กันมากในงานตกแต่งสถาปัตยกรรม เช่น เหล็กกล่อง ,เหล็กท่อกลม ฯลฯ
3. วัสดุปูพื้นประเภทพื้นไม้
พื้นไม้ (wood flooring) แบ่งชนิดของไม้ออกเป็น 2 ประเภท คือ ไม้เนื้อแข็ง หรือ Hard wood และไม้เนื้ออ่อน หรือ Soft wood โดยไม้ที่มีใบกว้างเราจะเรียกว่าเป็นไม้เนื้อแข็ง ในขณะที่ไม้ที่มาจากพืชตระกูลสนเราจะเรียกว่า ไม้เนื้ออ่อน ซึ่งในความเป็นจริง ไม้ในกลุ่มหลังนี้ก็มีความแข็งที่สามารถจัดเข้ากลุ่มแรกได้ สำหรับในประเทสไทยได้มีการแยกประเภทไม้ให้ละเอียดยิ่งขึ้นตามลักษณะความแข็ง แรงของไม้ดังนี้
- ไม้เนื้ออ่อน
เป็นไม้ที่มีวงปีกว้างมาก เนื่องจากเป็นไม้โดเร็ว ลำต้นใหญ่ เนื้อค่อนข้างเหนียว แต่ทำงานได้ง่าย เนื้อไม้มีสีจางหรือ ค่อนข้างซีด อาทิ ไม้กระบาก ไม้ยาง ไม้ฉำฉา ไม้เหียง ไม้โมก ไม้กระท้อน ไม้ยมหอม ไม้จำปาป่า ไม้สนต่างประเทศ เหมาะกับงานในที่ร่มหรืองานชั่วคราว งานตกแต่ง และเครื่องมือเครื่องใช้
- ไม้เนื้อแข็ง
เป็นไม้ที่มีวงปีมากกว่าไม้เนื้ออ่อน เพราะมีการเจริญเติบโตช้ากว่า คือต้องมีอายุหลายสิบปี จึงจะนำมาใช้งานได้ ลักษณะทั่วไปของไม้จะมีเนื้อมัน ลายละเอียด เนื้อแน่น สีเข้ม (แดงถึงดำ) มีน้ำหนักมาก แข็งแรงทนทาน เช่น ไม้สัก ไม้ตะแบก ไม้ประดู่ ไม้มะเกลือ เป็นต้น เหมาะสำหรับงาน เฟอร์นิเจอร์ งานก่อสร้างบ้าน และเครื่องมือ
- ไม้เนื้อแกร่ง
เป็นไม้ที่มีการเจริยเติบโตช้ามาก จึงทำให้ วงประจำปีถี่มากกว่าไม้สองชนิดแรก คือ ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 60-70 ปีขึ้นไปจึงจะนำมาใช้งานได้ เนื้อไม้มีสีเข้มค่อนข้างแดง น้ำหนักไม่มาก แต่แข็งกว่าไม้เนื้อแข็ง ไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มักเป็นไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างหรือเป้นโครงสร้าง อาทิ คาน ตง เสา ได้แก่ ไม้แดง ไม้ชิงชัน ไม้ตะเคียน ไม้มะค่าโมง ไม้พยุง ไม้เต็ง
4. ผนังปูนเปลือย
บางส่วนของผนังภายในเป็นปูนเปลือย หรือผนังที่โชว์เนื้อแท้ของงานปูนโดยไม่ทาสีทับ ซึ่งผนังปูนเปลือยแบบดั้งเดิม จะทำโดยการนำปูนไปหล่อในแม่พิมพ์ไม้ หรือโลหะ แล้วทิ้งให้ปูนเซ็ทตัว เมื่อถอดแบบออกจะมีร่องรอยของแบบตามวัสดุที่เลือกใช้บนผิวของผนังปูน เช่น รอยน็อต รอยตะปู หรือลายของไม้ มีความดิบเท่ที่หลายคนชื่นชอบ ซึ่งวิธีนี้ค่อนข้างยุ่งยาก และใช้งบประมาณมาก ปัจจุบันช่างส่วนมากจึงนิยมก่ออิฐแดงฉาบปูนธรรมดา แล้วฉาบตกแต่งผิวให้มีลักษณะตามที่ต้องการ ซึ่งผนังจะออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับเทคนิคการฉาบ วัสดุที่ใช้ และฝีมือของช่าง
ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ
เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
- www.seattlespheres.com/explore-the-building
- https://www.archdaily.com/
- https://www.wazzadu.com/
- https://krajok.com/low-iron-glass/
- https://itdang2009.com
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม