รูปแบบฉากกั้นอาบน้ำในงานสถาปัตยกรรม (Shower Enclosures)

ฉากกั้นอาบน้ำ (Shower Enclosures) คือ

ฉากกั้นอาบน้ำ คือ อุปกรณ์ส่วนประกอบที่นำมากั้นแบ่งภายในห้องน้ำ เพื่อแยกพื้นที่ส่วนเปียกและส่วนแห้งออกจากกันอย่างเหมาะสมถูกสุขลักษณะ เมื่อแบ่งพื้นที่ด้วยฉากกั้นอาบน้ำแล้วภายในห้องน้ำ จะแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วนหลักๆด้วยกัน คือ

- พื้นทีส่วนเปียก (สำหรับอาบน้ำ)

- พื้นที่ส่วนแห้ง (สำหรับทำกิจวัตรส่วนตัว)

นอกจากนี้ฉากกั้นอาบน้ำยังเป็นส่วนเติมเต็มให้ห้องน้ำธรรมมดาๆดูสมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งช่วยให้การตกแต่งภายในห้องน้ำดูสวยเป็นสัดส่วน เพิ่มความสะดวกสะบาย และช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน

จะเห็นได้ว่าอาคารที่พักอาศัย เช่น โรงแรม บ้าน หรือคอนโด มักนิยมใช้ฉากกั้นอาบน้ำมาเป็นส่วนกั้นพื้นที่เปียก และแห้ง โดยเป็นการจัดสรรพื้นที่อันจำกัดของห้องน้ำให้มีอรรถประโยชน์ในการใช้งานสูงสุด ซึ่งข้อดีของการใช้ฉากกั้นอาบน้ำแบ่งสัดส่วนพื้นที่ภายในห้องน้ำมีดังนี้ 

- เพิ่มความปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการลื่นล้มในห้องน้ำ

- ทำหน้าที่แบ่งพื้นที่ส่วนเปียก และแห้งให้เป็นสัดส่วนอย่างถูกสุขลักษณะ จึงทำให้ง่ายต่อการทำความสะอาด

- ให้ความสวยงาม ดูทันสมัย ช่วยให้ห้องน้ำธรรมดาๆ ดูน่าใช้งานมากขึ้น

ประเภทฉากกั้นอาบน้ำ (Shower Enclosures Type)

***แบ่งตามลักษณะบานกั้น

ฉากกั้นอาบน้ำแบบบานเปลือย (Frameless Glass Shower Enclosures)

ฉากกั้นอาบน้ำประเภทนี้ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในงานออกแบบตกแต่งสถาปัตยกรรมภายในสมัยใหม่ (Interior Design) เพราะรูปลักษณ์ที่ดูเรียบหรูทันสมัย ให้ความรู้สึกน้อยแต่สวยปัง ด้วยจุดเด่นของฉากกั้นแบบบานเปลือยที่ไม่มีรอยต่อของวัสดุอื่นๆนอกจากกระจก หรือ วัสดุโปร่งแสงมาบดบังสายตา จึงทำให้ห้องน้ำดูกว้างปลอดโปร่ง อีกทั้งยังให้ความแข็งแรงทนทาน สามารถทำความสะอาดได้ง่าย และสามารถสั่งทำ หรือ ติดตั้งได้ตามลักษณะงานออกแบบที่ต้องการ ดังนั้นฉากกั้นอาบน้ำแบบบานเปลือยจึงมีราคาสูงตั้งแต่หลักหมื่นขึ้นไป ซึ่งวัสดุที่นิยมนำมาใช้ในการทำบานกั้นมีดังนี้

- แผ่นอะครีลิคใส หรือ โปร่งแสง (Acrylic)

วัสดุอะครีลิคใส เป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่น และมีน้ำหนักเบากว่าเมื่อเทียบกับกระจก ซึ่งราคาก็จะถูกกว่ากระจกด้วยเช่นกัน โดยความหนาที่เหมาะกับการนำมาทำฉากกั้นจะอยู่ที่ประมาณ 6 มม.ขึ้นไป ข้อดีของอะคลีริคนอกจากราคาจะถูกกว่ากระจกแล้ว ในระยะสั้นยังดูแลรักษาง่ายกว่า กระจก แต่ในระยะยาวจะเกิดอาการซีดมัว หรือ มีคราบฝังได้ง่ายกว่ากระจก

- กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass)

กระจกนิรภัยเทมเปอร์  คือ กระจกที่ได้มาจากกระบวนการนำกระจกธรรมดาไปผ่านกระบวนการอบที่ความร้อนสูงประมาณ 650 องศาเซลเซียส แล้วนำมาเป่าด้วยลมแรงดันสูงให้เย็นตัวลงทันที เพื่อให้กระจกเกิดความแข็งแกร่งกว่าเดิม 3-5 เท่า ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และมีความปลอดภัยมากขึ้น ในกรณีที่กระจกเทมเปอร์เกิดการแตกหัก จะแตกออกเป็นเม็ดคล้ายเม็ดข้าวโพด ซึ่งมีความแหลมคมไม่มาก ทำให้มีโอกาสเกิดอันตรายน้อยกว่ากระจกธรรมดา เหมาะสำหรับงานที่มีความเสี่ยงต่อการแตกร้าว และต้องการความปลอดภัยที่เกิดจากกระจกแตกร้าว (Safety Design)

- กระจกลามิเนต (Laminated Glass)

กระจกลามิเนต คือ การนำกระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Safe Glass) หรือกระจกธรรมดา (Annealed Glass / Floated Glass) ตั้งแต่ 2 ชิ้นขึ้นไป มาทำการ "ลามิเนต" ทำเป็นชั้นๆ โดยประกบคั่นกลางระหว่างแผ่นกระจกด้วยฟิล์ม PVB (Poly Vinyl Butyral) หรือ EVA (Ethylene Vinyl Acetate) เพื่อจุดประสงค์ในการใช้งานที่ต้องการความแข็งแกร่งมากขึ้น และตอบสนองการใช้งานในด้านความปลอดภัยที่สูงกว่ากระจกประเภทอื่น

แต่สำหรับการใช้งานในห้องน้ำจำเป็นต้องเปลี่ยนชั้นฟิล์มที่คั่นกลางระหว่างกระจากจากฟิล์ม PVB เป็นฟิล์ม SentryGlas ซึ่งเป็นฟิล์มที่มีคุณสมบัติพิเศษกว่าฟิล์ม PVB ทั้งในด้านความทนทาน และการป้องกันความชื้นจากน้ำ 

***ข้อควรระวังในการใช้งาน

ไม่ควรใช้กระจกธรรมดา (Annealed Glass) ในการทำบานกั้นแบบเพียวๆเนื่องจากในกรณที่กระจกแตกเศษกระจกจะเป็นแฉกคม ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน เพื่อความปลอดภัยควรใช้วัสดุที่เป็นแผ่นอะคริลิคใส หรือกระจกนิรภัยเทมเปอร์ (เมื่อแตกจะเป็นเม็ดข้าวโพดเล็ก จึงช่วยลดความอันตรายได้มาก)

แต่ถ้าหากในกรณีที่ฉากกั้นมีความสูงมากกว่า 2.50 เมตร และมีความกว้างมากกว่าปกติ (Over Space) ควรใช้เป็นกระจกลามิเนต เนื่องจากเมื่อกระจกแตก เศษกระจกจะยังคงยึดติดกันโดยไม่ร่วงหล่น เพราะมีชั้นฟิล์มที่ยึดเกาะระหว่างแผ่นกระจกเหมือนกับใยแมงมุม 

แต่การใช้งานในห้องน้ำจำเป็นต้องเปลี่ยนชั้นฟิล์มที่คั่นกลางระหว่างกระจากจากฟิล์ม PVB เป็นฟิล์ม SentryGlas ซึ่งเป็นฟิล์มที่มีคุณสมบัติพิเศษกว่าฟิล์ม PVB ทั้งในด้านความทนทาน และการป้องกันความชื้นจากน้ำ นอกจากนี้ฟิล์ม SentryGlas ยังช่วยป้องกันปัญหาอาการแยกตัวของกระจกลามิเนตที่รอยบากเมื่อโดนความชื้นได้อีกด้วย

ฉากกั้นอาบน้ำแบบบานมีกรอบเฟรม (Shower Enclosures Frame)

ฉากกั้นอาบน้ำแบบบานมีกรอบเฟรม สามารถใช้วัสดุในการทำบานกั้นแบบเดียวกับฉากกั้นอาบน้ำบานเปลือยได้ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น แผ่นอะครีลิคใส กระจกนิรภัยเทมเปอร์ และกระจกลามิเนต แต่จะมีความแตกต่างตรงที่จะมีกรอบเฟรม และมีอุปกรณ์ล้อเลื่อนสำหรับเลื่อนเปิด-ปิดเพิ่มเข้ามา ซึ่งวัสดุที่นิยมนำมาใช้ทำกรอบเฟรม มีดังนี้

- เฟรมอลูมิเนียม (Aluminium Frame)

เฟรมอลูมิเนียม เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมมากด้วยรูปลักษณ์ที่เรียบง่ายทันสมัย เพราะหาได้ง่ายในท้องตลาด ในปัจจุบันมีเฉดสีให้เลือกหลายหลายทั้งสีเงิน สีดำ สีขาว หรือสีสั่งทำพิเศษ 

นอกจากนี้ยังโดดเด่นด้วยคุณสมบัติที่มีน้ำหนักค่อนข้างเบา ทนต่อความชื้น ไม่ผุกร่อน ไม่บวม หรือ เปลี่ยนรูป (ถ้านำมาใช้ในห้องน้ำเวลาเข้ามุมควรใช้วิธีการซีลด้วยซิลิโคนเท่านั้น) ในส่วนจุดด้อยที่ชัดเจน ก็คือไม่ได้เป็นฉนวนกันความร้อน/เย็นที่ดีเท่าใหร่นัก และไม่ค่อยทนต่อแรงกระแทก หรือ แรงกดทับ ซึ่งทำให้เกิดรอยขูดขีด ถลอก หรือรอยบุบได้ง่าย

- เฟรมสเตนเลส (Stainless Frame)

เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมมากเช่นกัน เพราะรูปลักษณ์ที่เงางามหรูหราทันสมัย หาได้ง่ายในท้องตลาด มีคุณสมบัติที่ทนทานต่อความชื้น และทนต่อการกัดกร่อนได้ดีในระดับหนึ่ง ไม่เป็นสนิม  อีกทั้งยังทนต่อการเปลี่ยนของอุณหภูมิโดยฉับพลันได้ดี ติดตั้งได้ง่าย ให้ความทนทานในการใช้งานที่ยาวนาน ในส่วนจุดด้อยนั้นจะมีน้ำหนักที่มากกว่าอลูมิเนียม และราคาสูงกว่า

***ข้อควรระวังในการใช้งาน

ฉากกั้นอาบน้ำประเภทนี้ หากใช้งานไปนานๆโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป กรอบเฟรมอาจเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ล้อเลื่อนอาจสะดุดติดขัดเป็นปัญหาได้ ซึ่งฉากกั้นแบบนี้เหมาะกับห้องน้ำที่มีเนื้อที่จำกัด และไม่สะดวกในการเปิด-ปิด นอกจากนี้ยังมีมุมซอก ซึ่งอาจทำความสะอาดได้ยากกว่าแบบบานเปลือย

ฉากกั้นอาบน้ำแบบตู้สำเร็จรูป (Shower Box)

ตู้อาบน้ำสำเร็จรูป ได้รับความนิยมในการนำไปใช้งานในอาคารประเภทพักอาศัยเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ซึ่งมีจุดเด่นในด้านการใช้งานที่เหมาะกับห้องน้ำที่มีขนาดจำกัด หรือ มีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก โดยทำหน้าที่แบ่งส่วนเปียกส่วนแห้งเพื่อป้องกันน้ำกระเด็นได้อย่างเหมาะสมเป็นสัดส่วน

ซึ่งให้พื้นที่การใช้งานภายในห้องถูกใช้งานได้อย่างสะดวกสบายเต็มประสิทธิภาพจากการแบ่งสัดส่วนที่ชัดเจน นอกจากนี้ภายในตู้อาบน้ำจะมีอุปกรณ์ครบชุด ทั้งกระจกกั้น ถาดรอง และอุปกรณ์อย่าง เก้าอี้นั่ง ชั้นวางของ มีทั้งพลาสติกชนิดหนา หรือ แบบกระจกสวยหรู และในปัจจุบันก็มีรูปแบบตู้ใน Design และขนาดที่หลากหลายให้เลือกมากขึ้น

- ข้อควรระวัง

อาจไม่ใช่ข้อควรระวังเสียทีเดียว ตู้อาบน้ำสำเร็จรูป Shower Box อาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปทรง หรือ ขยับขยายอะไรได้มากนัก แต่ก็มีบางรุ่นที่สามารถติดอุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติมเข้าไปได้ แต่ก็ทำได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น

(เพิ่มเติม)

ฉากกั้นอาบน้ำแบบม่านพลาสติก (Plastic Curtain Shower Enclosures)

เป็นฉากกั้นอาบน้ำแบบดั้งเดิมที่นิยมใช้กันมานาน ซึ่งมีความแตกต่างกับฉากกั้นอาบน้ำทั้ง 3 รูปแบบที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ค่อนข้างมากทั้งในแง่ของการใช้วัสดุ และการติดตั้ง

ฉากกั้นอาบน้ำแบบม่านพลาสติกทำหน้าที่ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำกระเด็นไปทั่วห้องน้ำ โดยสามารถถอดเปลี่ยน และเลื่อนเปิด-ปิดได้ง่าย มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน ด้วยน้ำหนักที่เบากว่าวัสดุประเภทอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด ด้วยราคา และสีสันลวดลายที่มีให้เลือกหลากหลายตามความต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่ราคาจะไม่สูงมาก 

ฉากกั้นอาบน้ำประเภทนี้ผลิตจากพลาสติก ซึ่งเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติในด้านน้ำหนักที่เบากว่าฉากกั้นอาบน้ำทุกประเภท มีความเหนียว ทนความชื้นไม่เปื่อยยุ่ย ถ้าหมั่นทำความสะอาดก็จะสามารถใช้งานได้ยาวนาน และช่วยลดปัญหาเชื่อราลงได้ในระดับหนึ่ง

***ข้อควรระวังในการใช้งาน

ฉากกั้นอาบน้ำแบบม่านพลาสติก เป็นฉากกั้นที่สกปรกง่าย เมื่อใช้ไปนานๆจะปรากฎคราบไคล และเชื้อรา อย่างเห็นได้ชัด เพื่อความสะอาดถูกสุขลักษณะควรเปลี่ยนอันใหม่ทันที เมื่อเทียบกับฉากกั้นอาบน้ำประเภทอื่นๆฉากกั้นแบบม่านพลาสติกจึงเป็นฉากกั้นอาบน้ำที่เปลี่ยนบ่อยที่สุด

ขนาดพื้นที่ฉากกั้นอาบน้ำตามหลักสรีรศาสตร์  (Shower Enclosures Dimension)

สามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบ ดังนี้

ขนาดมาตรฐานของพื้นที่ฉากกั้นอาบน้ำแบบเข้ามุมสมมาตร คือ

90 x 90 ซม.

100 x 100 ซม.

110 x 110 ซม. 

120 x 120 ซม.

และขนาดสั่งทำพิเศษที่กว้าง และยาวมากกว่า 120x120 ซม.

***ขนาดความกว้างxยาว อาจจะไม่ได้ Fix ตามขนาดที่กล่าวมาเสมอไป สามารถปรับขนาดให้มีความเหมาะสมตามบริบทพื้นที่ ลักษณะการใช้งาน และรูปแบบที่ต้องการได้ ซึ่งความกว้าง และความยาวจะไม่เท่ากันก็ได้ แต่จะต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 90 x 90 ซม.(ขนาดมาตรฐานขั้นต่ำที่เล็กที่สุดของพื้นที่ฉากกั้นอาบน้ำแบบเข้ามุมสมมาตร)

ขนาดมาตรฐานของพื้นที่ฉากกั้นอาบน้ำแบบเข้ามุมไม่สมมาตร คือ

100 x 80 ซม.

110 x 80 ซม.

120 x 80 ซม.

110 x 90 ซม.

120 x 90 ซม.

ขนาดสั่งทำพิเศษที่กว้าง และยาวมากกว่า 120 x 90 ซม.

***ขนาดความกว้างxยาว อาจจะไม่ได้ Fix ตามขนาดที่กล่าวมาเสมอไป สามารถปรับขนาดให้มีความเหมาะสมตามบริบทพื้นที่ ลักษณะการใช้งาน และรูปแบบที่ต้องการได้ ซึ่งความยาวจะไม่เท่ากันก็ได้ แต่จะต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 100 x 80 ซม.(ขนาดมาตรฐานขั้นต่ำที่เล็กที่สุดของพื้นที่ฉากกั้นอาบน้ำแบบเข้ามุมไม่สมมาตร)

รูปแบบฉากกั้นอาบน้ำ (Shower Enclosures  Layout) ที่นิยมนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายทั้งในไทย และในระดับสากล

***ขนาดความกว้างที่แนะนำในภาพ คือ ขนาดมาตรฐานที่ไม่เล็กจนเกินไป และเป็นขนาดที่อยู่ในสภาวะน่าสบายในการใช้งาน ซึ่งในการใช้งานจริงสามารถออกแบบให้มีขนาดที่ใหญ่กว่านี้ได้ ตามบริบทพื้นที่ และลักษณะการใช้งาน

ฉากกั้นอาบน้ำแบบม่านพลาสติก

ฉากกั้นอาบน้ำแบบบานกั้นดานเดียว

รูปแบบบานกั้นมีทั้งแบบบานเปลือย และแบบบานมีกรอบเฟรม

ฉากกั้นอาบน้ำแบบบานกั้นสองด้าน

รูปแบบบานกั้นมีทั้งแบบบานเปลือย และแบบบานมีกรอบเฟรม

ฉากกั้นอาบน้ำแบบบานกั้นสามด้าน

รูปแบบบานกั้นมีทั้งแบบบานเปลือย และแบบบานมีกรอบเฟรม

ฉากกั้นอาบน้ำแบบบานเลื่อนเดี่ยว

รูปแบบบานกั้นมีทั้งแบบบานเปลือย และแบบบานมีกรอบเฟรม

ฉากกั้นอาบน้ำแบบบานเลื่อนสลับ

รูปแบบบานกั้นมีทั้งแบบบานเปลือย และแบบบานมีกรอบเฟรม

ฉากกั้นอาบน้ำแบบบานเลื่อนคู่

รูปแบบบานกั้นมีทั้งแบบบานเปลือย และแบบบานมีกรอบเฟรม

ฉากกั้นอาบน้ำแบบบานเลื่อนทางเดียวแบ่งสอง

รูปแบบบานกั้นมีทั้งแบบบานเปลือย และแบบบานมีกรอบเฟรม

ฉากกั้นอาบน้ำแบบบานเลื่อนคู่เข้ามุมสมมาตร

รูปแบบบานกั้นมีทั้งแบบบานเปลือย และแบบบานมีกรอบเฟรม

ฉากกั้นอาบน้ำแบบบานเลื่อนคู่เข้ามุมโค้งไม่สมมาตร

(ฉากกั้นอาบน้ำลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นตู้อาบน้ำสำเร็จรูป)

รูปแบบบานกั้นมีทั้งแบบบานเปลือย และแบบบานมีกรอบเฟรม (ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก)

ฉากกั้นอาบน้ำแบบบานเปิดเข้ามุมไม่สมมาตร

รูปแบบบานกั้นมีทั้งแบบบานเปลือย และแบบบานมีกรอบเฟรม

ฉากกั้นอาบน้ำแบบบานเปิดปกติ (เป็นรูปแบบที่นิยมใช้แพร่หลาย)

รูปแบบบานกั้นมีทั้งแบบบานเปลือย และแบบบานมีกรอบเฟรม

การออกแบบฉากกั้นอาบน้ำ หรือ การเลือกใช้ฉากกั้นอาบน้ำให้มีความเหมาะสมกับห้องน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพถูกสุขลักษณะ อาจไม่มีรูปแบบที่ Fix ตายตัว 100% ซึ่งยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการออกแบบโดยจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ซึ่งขนาด และรูปแบบของฉากกั้นอาบน้ำ จะขึ้นอยู่กับบริบทพื้นที่ติดตั้ง ลักษณะในการใช้งาน และความต้องการของผู้ใช้งานเป็นสำคัญ ในการออกแบบ หรือ การเลือกใช้ฉากกั้นอาบน้ำ บางครั้งก็จะต้องปรับให้มีความยืดหยุ่นในบางจุด เพื่อความเหมาะสมในการใช้งาน และสัมพันธ์กับปัจจัยต่างๆได้อย่างเหมาะสม และได้มาตรฐานความปลอดภัยตามหลักการออกแบบทางสถาปัตยกรรม โดยเป็นการต่อยอดจากมาตรฐานขนาดพื้นที่ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ทั้งฉากกั้นอาบน้ำแบบเข้ามุมสมมาตร และไม่สมมาตร

ข้อมูล Wazzadu Encyclopedia  อื่นๆที่น่าสนใจ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ