ระบบสุขาภิบาล ในงานสถาปัตยกรรม (Building Sanitary System)

ระบบสุขาภิบาล (Sanitary System) คือ

ระบบสุขาภิบาลถือได้ว่ามีความสำคัญต่อตัวอาคารในแง่การจัดการระบบน้ำภายใน และภายนอกอาคารทุกรูปแบบให้เป็นสัดส่วน ใช้งานได้สะดวก และมีความปลอดภัยไม่เป็นอันตราย อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อผู้ใช้งานภายในอาคารในด้านปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีในการอยู่อาศัย 

ดังนั้นการจะนําน้ํามาใช้ หรือ การจัดการน้ำเสียทั้งภายในอาคาร และภายนอกอาคารนั้น จะต้องคำนึงถึงการจัดวางระบบระบบสุขาภิบาลที่เป็นกิจลักษณะ ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม และหลักสุขอนามัย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีในการใช้งาน  และสะดวกต่อการบํารุงรักษาตลอดอายุการใช้งาน

ตัวอย่างระบบจ่ายน้ำดี หรือน้ำประปา

ระบบสุขาภิบาล มีกี่ประเภท (Types of Sanitary System)

ตามมาตรฐานการออกแบบที่ใช้ในระดับสากล และในประเทศไทย ระบบสุขาภิบาล สามารถแบ่งออกได้ 7 ระบบ ได้แก่

1. ระบบน้ำดี หรือน้ำประปา (Cold water pipe system)

คือ ระบบท่อที่ใช้งานในการลำเลียงน้ำสะอาดไปใช้งานตามจุดต่างๆ ภายในอาคาร เช่น ระบบน้ำประปาสำหรับห้องน้ำ ห้องครัว ห้องซักล้าง หรือ ระบบน้ำดับเพลิงภายในอาคาร เป็นต้น

2. ระบบระบายน้ำโสโครก (Soil pipe system)

คือ ระบบท่อที่นำน้ำเสียที่ถูกใช้งานจากโถส้วม หรือโถปัสสาวะออกจากพื้นที่และนำเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียก่อนระบายออกนอกอาคาร

3. ระบบระบายน้ำทิ้ง (Waste pipe system)

คือ ระบบท่อที่นำน้ำเสียที่ถูกใช้งานจากกิจกรรมอื่นๆ ออกจากพื้นที่ และนำเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียก่อนระบายออกนอกอาคาร

4. ระบบบำบัดน้ำเสีย (Water treatment system) 

คือ ระบบที่ใช้บำบัดน้ำจากการใช้งานภายในอาคาร ให้มีค่าดัชนีวัดค่าคุณสมบัติต่างๆของน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดก่อนระบายออกสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ

5. ระบบท่อระบายอากาศ หรือท่ออากาศ (Vent pipe system)  

คือ ระบบท่อที่จะติดตั้งเข้ากับระบบท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาสูญญากาศในเส้นท่อระบายน้ำ ซึ่งจะทำให้ระบบระบายน้ำในเส้นท่อสามารถระบายน้ำได้สะดวก

6. ระบบท่อระบายน้ำฝน (Rain drainage pipe system)

คือ ระบบท่อที่ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำฝนที่เกิดขึ้นกรณีฝนตกออกจากตัวอาคาร

7. ระบบระบายน้ำภายนอกอาคาร (Building sewer system) 

คือ ระบบท่อระบายน้ำบริเวณโดยรอบของอาคาร ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำออกจากบริเวณอาคารเข้าสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ

ตัวอย่างระบบระบายน้ำทิ้ง และน้ำโสโครก

ตัวอย่างลักษณะการแยกไขมันจากระบบระบายน้ำทิ้ง

องค์ประกอบของงานระบบสุขาภิบาล สามารถแบ่งได้ดังนี้

- ท่อประเภทต่างๆ

- บ่อดักไขมัน 

- บ่อเกรอะ บ่อซึม

- ถังบําบัดน้ำเสียสําเร็จรูป

- ช่อง และตะแกรงระบายน้ำทิ้ง 

- ช่องล้างท่อ

- ท่อระบายอากาศ

- บ่อตรวจระบายน้ำ

- บ่อดักขยะ

- ประตูเปิดปิดน้ำ หรือ วาล์วน้ำ

- มาตรวัดน้ำ

- ปั๊มน้ำ

- สุขภัณฑ์ประเภทต่างๆ

ท่อประเภทต่างๆในงานระบบสุขาภิบาล  (Types of Sanitary Pipe)

สำหรับงานระบบสุขาภิบาลแล้ว ท่อถือเป็นวัสดุหลัก และเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มีส่วนทำให้ระบบสุขาภิบาลทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งในด้านการออกแบบ และการเลือกใช้วัสดุท่องานระบบสุขาภิบาลในประเทศไทย สามารถแบ่งประเภทท่อที่ใช์ในงานระบบสุขาภิบาล ออกได้ดังนี้

- ท่อประปาเหล็กอาบสังกะสี

หรือที่เรียกว่าแป๊บน้ำ แป๊บประปา เป็นท่อที่เหมาะกับการใช้งานในระบบส่งน้ำ งานสาธารณูปโภค (งานท่อประปา) และงานท่อในระบบชลประทาน

มีลักษณะเป็นท่อเหล็กกล้ากลมชุบกัลป์วาไนซ์ และชุบสังกะสี มีทั้งเป็นปลายเกลียว คาดเหลือง, คาดน้ำเงิน, ปลายเรียบ คาดแดง มีคุณสมบัติที่แข็งแรง รับน้ําหนักได้ดี ทนทานต่อแรงกระแทกไม่หักงอ ทนทานการกัดกร่อนได้ ทนต่อความดันและอุณหภูมิที่สูงๆได้ 

- ท่อพีวีซีสีต่างๆ (Polyvinyl chloride or PVC)

ท่อพีวีซีสีฟ้า เป็นท่อที่เหมาะสําหรับใช้งานภายในอาคาร หรือในที่ร่มเท่านั้น มีความหนาตามระดับการรับแรงกดดันได้ของท่อ นิยมใช้ในงานสุขาภิบาล เช่น ใช้เป็นท่อประปาสําหรับระบบน้ําดื่ม หรือใช้กับระบบปั๊มน้ํา หรืองานท่อระบายน้ํา  

ท่อพีวีซีสีเทา เป็นท่อที่ใช้สําหรับการเกษตร หรือน้ําทิ้งเท่านั้น มีขีดจำกัดในด้านความแข็งแรง เหมาะกับการใช้งานแบบเดินลอย ไม่ควรฝังดิน เพราะอาจแตกหักชํารุดได้ง่าย

- ท่อโพลีเอทิลีน (Polyethylene)

มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าท่อ P.E. เป็นท่อน้ําสีดํา ตัวท่อมีความยืดหยุ่นสูง เนื่องจากใช้ความร้อนในการเช่ือมต่อ มีความทนทาน และสามารถดัดให้โค้งงอได้ง่ายโดยไม่ต้องมีข้อต่อ ซึ่งใช้แทนท่อน้ําเหล็ก หรือท่อ PVC ได้ 

- ท่อโพลีบิวทีลีน (Polybutylene)

มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าท่อ P.B. มีลักษณะโดยทั่วไปคล้ายท่อ P.E. มีคุณสมบัติทนความร้อน สามารถนําไปใช้เป็นท่อน้ําร้อน

- ท่อ HDPE (High Density Polyethylene)

เป็นท่อที่มีนํ้าหนักเบา ไม่แตกหักง่าย ดัดให้โค้งงอได้ ติดตั้งง่ายโดยไม่ต้องใช้กาวต่อ สามารถใช้เป็นท่อนํ้าเย็น และท่อน้ําร้อนได้ มีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน แต่อาจเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้นถ้าหากได้รับ แสงอัลตราไวโอเลต กับแสงแดดจัดเป็นเวลานานๆดังนั้นจึงนิยมใช้งานในร่ม หรือ พื้นที่ ที่แดดไม่จัดมากเกินไป

- ท่อ PP-R 80 (Random Copolymer Polypropylene 80)

เป็นท่อที่ผลิตจากพลาสติกสะอาด ปราศจากสารปนเปื้อน หรือ พิษที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 30 ปี สามารถใช้งานร่วมกับท่อชนิดอื่นได้ ใช้เป็นท่อน้ําร้อน และนํ้าอุณหภูมิปกติได้ มีราคาค่อนข้างสูง และต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้ง

- ท่อเหล็กบุ PE ผลิตจากเหล็กชุบสังกะสี

เป็นท่อที่ปราศจากสารปนเปื้อน มีความคงทนแข็งแรง ป้องกันสนิมได้ สามารถรับแรงดันน้ําได้ดี สามารถใช้เป็นท่อน้ําร้อน และนํ้าอุณหภูมิปกติได้ ติดต้ังง่าย แต่มีราคาค่อนข้างสูง

- ท่อทองแดง

เป็นท่อที่ไม่มีตะเข็บ ลักษณะทางกายภาพของตัววัสดุไม่มีรูพรุน เนื่องจากเป็นโลหะบริสุทธิ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ทองแดง 99.99% สามารถป้องกันการดูดซึมของเชื้อแบคทีเรีย และทนการกัดกร่อน ไม่เป็นสนิม นิยมใช้เป็นท่อน้ําร้อน เพราะทนทาน และเก็บความร้อนได้ดี นอกจากนี้ยังมีอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างต่ำ ทนต่อแรงดันได้ดี มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน 

- ท่อซีเมนต์ หรือท่อกระเบื้องกระดาษ 

เป็นท่อที่มีลักษณะเป็นเน้ือเดียวกันตลอด ไม่มีตะเข็บ ซึ่งไม่ค่อยทนต่อแรงดันมากนัก นิยมใช้ในงานระบายน้ําโสโครก งานส่งนํ้าตามโรงงานอุตสาหกรรม และงานส่งน้ําเพื่อการเกษตร

นอกจากเนื้อหาข้างต้นที่กล่าวมา การออกแบบระบบสุขาภิบาลให้มีความเหมาะสมกับตัวอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพอาจไม่มีรูปแบบที่ตายตัว 100% ซึ่งยังมีปัจจัยอื่นๆอีก ที่มีผลต่อการออกแบบโดยจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ซึ่งขนาด และความซับซ้อนหลากหลายของระบบสุขาภิบาล จะขึ้นอยู่กับรูปแบบความต้องการในการใช้งาน ประเภทอาคาร ขนาดอาคาร และบริบทตำแหน่งที่ตั้งอาคารเป็นสำคัญ ในการออกแบบบางครั้งจะต้องปรับให้มีความยืดหยุ่นในบางจุด เพื่อความเหมาะสมในการใช้งาน และสัมพันธ์กับปัจจัยต่างๆได้อย่างเหมาะสม และได้มาตรฐานปลอดภัยตามหลักการออกแบบทางสถาปัตยกรรม และวิศวกรรม

ข้อมูล Wazzadu Encyclopedia  อื่นๆที่น่าสนใจ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)
...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ