เทคนิคการต่อลายวัสดุ กับตัวอย่างรูปแบบที่น่าสนใจ
การต่อลายวัสดุ ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบนั้นมีรากฐานมาจากเทคนิค Marquetry ซึ่งก็คือการสร้างภาพลงบนไม้ หรือคล้ายๆ กับวิธีการทำงานโมเสก ซึ่งทำได้โดยใช้การนำเอาวัสดุชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ มาต่อกันจนเกิดเป็นลวดลายหรือภาพใหม่ๆ เป็นการนำเอาวัสดุแผ่นบาง เช่น แผ่นลามิเนต แผ่นวีเนียร์ หรือวัสดุอื่นๆ มาตัดต่อเป็นลวดลายต่างๆ ตามความต้องการของผู้ออกแบบ โดยเทคนิคนี้เริ่มต้นมาจากรูปแบบของงานศิลปะ ซึ่งนิยมในหมู่ช่างฝีมือแถบยุโรป อย่างเช่นในฝรั่งเศสและอิตาลี่ ช่วงศตวรรษที่ 17-18 ก่อนจะถูกประยุกต์ใช้ในงานตกแต่งต่างๆ ในเวลาต่อมา เช่น การต่อลายวัสดุเพื่อนำไปปิดผิวเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง และอื่นๆ อีกมากมาย
เทคนิคการต่อลายวัสดุ
เนื่องจากการต่อลายวัสดุมีจุดเริ่มต้นมาจากการสร้างสรรค์งานศิลปะ แน่นอนว่าในช่วงแรกนั้นต้องใช้ฝีมือและความประณีตในการทำล้วนๆ เริ่มจากการออกแบบลวดลาย เลือกวัสดุที่จะใช้ และต้องใช้อุปกรณ์ในการตัดวัสดุแต่ละชิ้นเพื่อนำมาต่อลายให้ได้แบบที่ออกแบบไว้ แต่ปัจจุบันนี้มีเครื่องจักรและเทคโนโนยีการต่อลายวัสดุเป็นอีกทางเลือกในวงการอุตสากรรมงานออกแบบ เพราะมีความรวดเร็วและสามารถผลิตได้จำนวนมาก ซึ่งรูปแบบก็จะแตกต่างจากเทคนิคการต่อลายแบบแฮนด์เมด ที่ต้องใช้ความประณีตสูงกว่า และมีความเป็นเอกลักษณ์ของลวดลาย ซึ่งแน่นอนว่าในการตัดต่อลายวัสดุจำเป็นต้องออกแบบ Pattern ทั้งสีและลวดลายที่ต้องการเอาไว้ก่อน เพื่อป้องกันการผิดพลาด
วัสดุใดบ้างที่สามารถนำมาต่อลายได้ ?
การตัดต่อลายด้วยแผ่นลามิเนต
แผ่นลามิเนตปิดผิว HPL หรือ แผ่นลามิเนตอัดแรงดันสูง (High-Pressured Laminated Sheet) ทำมาจากวัสดุสังเคราะห์ที่ให้ความรู้สึก และผิวสัมผัสใกล้เคียงกับไม้จริง
การต่อลายด้วยวัสดุปิดผิวประเภทลามิเนต เป็นการนำเอาแผ่นลามิเนตสีและลายต่างๆ ที่ต้องการมาทำการตัดต่อให้เกิดเป็นลวดลายโดยใช้เครื่องจักรคุณภาพสูงในการตัดแผ่นลามิเนตแล้วนำมาต่อกันบนแผ่นไม้ MDF ดังนั้นความหนารวมของแผ่นลามิเนตตัดต่อลายจะมากกว่าแผ่นไฮเพรสเชอร์ลามิเนตทั่วไป
การตัดต่อลายด้วยแผ่นวีเนียร์ (Veneer)
แผ่นวีเนียร์ ทำมาจากเยื่อไม้แผ่นบางๆซึ่งได้จากการกระบวนการผลิต โดยการนำไม้ซุงท่อนมาฝานเป็นแผ่นบางๆ ด้วยความหนาตั้งแต่ 0.3 มม.ไปจนถึง 3 มม. ซึ่งวิธีการฝานไม้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะกลั่นกรองความสวยงามของลายไม้ให้ปรากฏออกมา ทั้งปัจจัยในด้านความสวยงาม เช่น สีสัน ลวดลาย หรือปัจจัยในด้านรอยตำหนิของไม้ธรรมชาติ เช่น เกรนไม้ (Grain) หรือ ฟิคเกอร์ไม้ (Figure) จากนั้นจึงนำเยื่อไม้แผ่นบางๆไปเข้าเครื่องอบเพื่อนำความชื้นออกจากไม้ แล้วจึงนำแผ่นวีเนียร์ที่มีขนาดหน้ากว้างที่ไม่มากนักมาต่อลวดลายเป็นแผ่นที่ใหญ่ขึ้น
แผ่นวีเนียร์นั้นเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมในการนำมาต่อลายเพื่อทำเป็นวัสดุปิดปิวสำหรับงานตกแต่งหรืองานศิลปะ เนื่องจากความบางและสีที่ดูเป็นธรรมชาติ มักนำไปกรุปิดผิวเฟอร์นิเจอร์ ทำบรรจุภัณฑ์ หรือของตกแต่งต่างๆ อีกมากมาย
การตัดต่อลายด้วยแผ่นคริสตัลบอร์ด (Crystal Board)
แผ่นคริสตัลบอร์ดเป็นวัสดุที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ตกแต่งแทนกระจกพ่นสี (Glass Coat) ซึ่งมีปัญหาในเรื่องการหลุดล่อนของสีเนื่องจากผลิตโดยการพ่นสีลงบนกระจก แผ่นคริสตัลบอร์ดทนทานกว่าเนื่องจากตัววัสดุมีอะคลิลิค 2 ชั้นแบ่งเป็นชั้นของอะคลิลิคที่เป็นชั้นเนื้อสี และอะคลิลิคที่เป็นผิวหน้ามันวาวสำหรับป้องกันรอยขูดขีด
น้ำหนักของแผ่นคริสตัลบอร์ดเบากว่ากระจกทั่วไปประมาณครึ่งหนึ่ง สามารถทนอุณภูมิได้ตั้งแต่ 77 - 95 องศาเซลเซียส ใช้ตกแต่งเคาน์เตอร์ครัว หน้าบานตู้บิ้วท์อิน (Built-in) ผนังบริเวณเตากระทะ ผนังห้องทั่วไป รวมถึงผนังห้องน้ำก้สามารถใช้ได้
การต่อลายด้วยแผ่นคริสตัลบอร์ดนิยมนำไปตกแต่ง เป็นวัสดุกรุผนัง ฝ้า หรือเสาก็ได้ และหากใช้เทคนิคการเชื่อมลายจากผนังไปยังฝ้า หรือเชื่อมลายรอบเสา ก็จะทำให้พื้นที่บริเวณนั้นดูมีมิติและความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
แพทเทิร์นยอดนิยมที่มักถูกนำมาใช้ในการตัดต่อลวดลาย
ลายรูปทรงเลขาคณิต (Geometric)
ลักษะการต่อลายแบบรูปทรงเรขาคณิตนั้น จะเรียกว่า Geometric Marquetry โดยเป็นการตัดวัสดุเป็นชิ้นในลักษณะเดียวกันนำมาต่อกันดูคล้ายภาพสามมิติ ด้วยการสลับสีไม้ เป็นเทคนิคที่เรียบง่าย เพราะชิ้นส่วนทุกชิ้นขนาดเท่ากัน เช่น รูปวงกลมที่มีสามเหลี่ยมอยู่ข้างใน โดยใช้เทคนิคการตัดแบบสลับสี หรือทับซ้อนลายให้ดูตัดกัน
ลาย Hexagon (เฮค-ซะก็อน)
ลาย Hexagon เป็นรูปแบบลวดลายของการนำเอาหกเหลี่ยมมาเรียงต่อกัน เป็นรูปแบบพื้นฐานที่นิยมนำไปใช้กับงานออกแบบต่างๆ เช่น รูปแบบของกระเบื้อง ลวดลายวอลเปเปอร์ หรือแม้แต่การต่อลายวัสดุ ซึ่งสามารถเพิ่มเทคนิคที่น่าสนใจได้ด้วยการต่อลายแบบสลับสี หรือสลับลวดลาย ก็จะเพิ่มลูกเล่นที่น่าสนใจไปได้มาก
ลายเฮอร์ริ่งโบน (Herringbone)
ลายเฮอร์ริ่งโบนจัดเรียงแพทเทิร์นเหมือนก้างปลา หรือเป็นการนำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีหน้ากว้างแคบๆ มาต่อกันในลักษณะมุมฉาก เทคนิคการใช้รูปแบบนี้คือการนำเอาวัสดุที่มีสีหรือลวดลายต่างกันมาวางสลับเพื่อให้เกิดความแปลกใหม่และมีความน่าสนใจ
รูปแบบไดมอนด์ (Diamond)
รูปแบบการต่อลายที่ได้แรงบรรดาลใจจากรูปทรงความมีมิติของเพชร รูปแบบการต่อลายนี้ จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจ ทำให้การต่อลายดูเหมือนรูปทรงสามมิติ หากใช้เทคนิคการเล่นแสงเงา หรือการนำเอาวัสดุที่มีสีอ่อน กลาง เข้ม มาต่อลายกัน เช่น นำแผ่นวีเนียร์ไล่โทนสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงน้ำตาลเข้ม มาต่อลายกัน
ตัวอย่างรูปแบบการต่อลายวัสดุที่น่าสนใจ
ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ
เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
- https://www.flofurniture.com/
- https://www.wazzadu.com/
- http://www.tcdc.or.th/
- https://www.dezeen.com/
- https://firstsheet.co.th/
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม