ข้อมูลวัสดุศาสตร์ เก้าอี้ทำงานเพื่อสุขภาพตามหลักการยศาสตร์ หรือ Ergonomic Chair Design
ที่มาของคำว่า Ergonomics (เออร์โกโนมิคส์)
คำว่า Ergonomics เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2492 โดยนักการยศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ KFH Murrell ซึ่งคำว่า Ergonomics เกิดจากการนำเอาคำจากภาษากรีก 2 คำมาสนธิกัน นั่นก็คือคำว่า "ergon" ซึ่งหมายถึง "งาน" หรือ "work" และคำว่า nomos ซึ่งหมายถึง "กฎ" หรือ Law เมื่อรวมแล้วจะเกิดคำใหม่ขึ้นมาคือ Ergonomics หรือ Law of work นั่นเอง
Ergonomics หรือ การยศาสตร์ คืออะไร ?
Ergonomics หรือ การยศาสตร์ คือหลักการที่มีขึ้นเพื่อศึกษา และพัฒนาสภาพการทำงานที่มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงาน และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของการทำงาน โดยมีหลักพิจารณาว่าสถานที่ทำงานดังกล่าว ได้มีการออกแบบ หรือ มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้มีความเหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติงานอย่างไรบ้าง มีความเหมาะสมถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะมีความไม่ปลอดภัย หรือ มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยทั้งร่างกาย และจิตใจในการทำงาน รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานของพนักงานให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้หลัก Ergonomics ยังถูกนำไปใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มีความสัมพันธ์กับมนุษย์ เช่น เครื่องมืออุปกรณ์ หรือระบบงานต่างๆ เพื่อให้มนุษย์สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลเสียกับสุขภาพร่างกายและจิตใจให้น้อยที่สุด
แม้หลายๆ คนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆแล้วหลัก Ergonomics หรือ การยศาสตร์ นั้นวนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราแทบจะ 24 ชั่วโมง
หลัก Ergonomics มีความสำคัญอย่างไร ?
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ว่าทุกวันนี้คนส่วนมากใช้เวลาในชีวิตประจำหมดไปกับการทำงาน และหากผลิตภัณฑ์หรือเฟอร์นิเจอร์ที่เราใช้เป็นประจำ ไม่ได้ผ่านการออกแบบโดยคำนึงถึงหลัก Ergonomics ก็จะทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ สุดท้ายแล้วก็จะส่งผลเสียไปถึงคุณภาพในการทำงานที่ลดลง เช่น โต๊ะทำงานที่ขนาดไม่เหมาะกับผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น สูงเกินไป เตี้ยเกินไป หรือแม่แต่เก้าอี้ ที่ไม่สมดุลกับร่างกายของผู้ใช้งาน ส่งผลให้เกิดผลเสียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
- การทำงานที่ช้าและประสิทธิภาพที่ลดลง
- การเจ็บป่วยร่างกาย ทั้งปวดเมื่อยทั่วไป ไปจนถึงการเกิดโรคเรื้อรัง
- ความเจ็บป่วยทางจิตใจ เบื่อ เซ็ง ความเครียดสะสม
ความเจ็บป่วยของร่างกายที่มาจากการทำงาน เกิดได้จากสาเหตุอะไรบ้าง ?
- การนั่งติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
- การนั่งในท่าที่ผิดติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
- การใช้ร่างกายทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
- เก้าอี้ที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการนั่งในท่าที่ผิด
- โต๊ะทำงานที่ไม่สมดุลต่อร่างกาย
ความเจ็บป่วยทางร่างกาย ที่เกิดจากการใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ได้คำนึงถึงผู้ใช้งาน จนนำไปสู่การนั่งแบบผิดๆ ส่งผลกระทบและพบเห็นได้มากที่สุดในวัยทำงาน เก้าอี้เพื่อสุขภาพ ที่ออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ใช้งานด้วยหลัก Ergonomics จะเป็นตัวช่วยให้ช่วงเวลาในการนั่งทำงานเป็นช่วงเวลาที่ดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ส่งผลดีไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานที่มากขึ้นอีกด้วย
ดังนั้น Ergonomics หรือ การยศาสตร์ จึงเป็นเรื่องของการประยุกต์ใช้หลักการทางด้านชีววิทยา จิตวิทยา กายวิภาคศาสตร์ และสรีรวิทยา เพื่อขจัดสิ่งที่อาจเป็นสาเหตุทำให้พนักงานเกิดความไม่สะดวกสบาย ปวดเมื่อย หรือมีสุขภาพอนามัยที่ไม่ดีทั้งร่างกาย และจิตใจ อันเนื่องมาจากการทำงานในสภาพแวดล้อมนั้น ๆ หลักการยศาสตร์จะถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไข หรือ ป้องกันเพื่อไม่ให้มีการออกแบบพื้นที่การทำงาน เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน หรือ เครื่องมืออุปกรณ์การทำงานต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมกับพฤติกรรมของพนักงาน
ในปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญทางด้านการยศาสตร์ ( Ergonomist ) ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในยุคที่ Smart Office และ Coworking Space เฟื่องฟู ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมผู้ปฏิบัติงาน กับอุปกรณ์การทำงาน หรือ ลักษณะพื้นที่การทำงานเพื่อหาปัญหา และแนวทางการปรับปรุงแก้ไข ตลอดจนการพัฒนารูปแบบ วิธีการออกแบบสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพนักงานในยุคนี้
Sponsored by
ข้อกำหนด และลักษณะเก้าอี้ทำงานตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomic Chair)
- พนักพิงด้านหลังมีส่วนเว้าเพื่อรองรับเอวช่วงล่าง/หลังให้แนบกับเก้าอี้ และสามารถปรับการล็อคเอนได้ (Backrest tilt angle adjustment)
- ปรับระดับความสูงของที่รองคอได้ (Headrest height adjustment)
- ปรับระดับขององศาที่รองคอได้ (Headrest angle adjustment)
- ที่รองคอเป็นตาข่ายโปร่ง ไม่เก็บฝุ่น ทำความสะอาดง่าย
- ปรับความหยืดหนุ่นของพนักพิงได้ (Backrest flexible tilt tension adjustment)
- ที่วางแขนสามารถปรับเข้า-ออกได้ (Arm-pad inward&outward adjustment) และสามารถปรับระดับความสูงได้ (Armrest height adjustment)
- ปรับรองนั่งสามารถปรับเบาะเข้า-ออกได้ (Seat depth adjustment)
- สามารถปรับเบาะรองนั่งเข้า-ออกได้ (Seat height adjustment)
การใช้วัสดุที่เหมาะสม
- ที่รองคอทำจากตาข่าย (Mesh) ที่มีความคงทน และยืดหยุ่น
- พนักพิงทำจากตาข่าย (Mesh) ที่มีความคงทน และยืดหยุ่น
- เบาะรองนั่งหุ้มด้วยผ้า หนานุ่มนั่งสบาย และกระชับอย่างเหมาะสมต่อสรีระ
- โช๊คที่ปรับระดับเก้าอี้ แข็งแรง ทนทาน รับน้ำหนักได้ดี
- ล้อผลิตจากพลาสติก PU เป็นพลาสติกคุณภาพสูง นิ่ม ทนทาน และไม่ทำลายพื้นผิวให้เกิดรอย
สรีระศาสตร์ กับลักษณะท่านั่งที่เหมาะสมตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomic Chair)
- ศรีษะ ตั้งตรง หรือ ก้มเล็กน้อย ทำมุม 10-15 องศา สายตาขนานกับพื้น
- คอ อยู่ในระดับสายตา ไม่เอียง หรือ โน้มำปด้านใดด้านหนึ่ง
- หลัง ชิดติดพนักพิง เอนไปทางด้านหลังเล็กน้อย 120 องศา ตัวตรง ไม่แอ่นหรือก้ม
- ก้น ต้องแนบกับบริเวณมุมฉากของพนัก ลงน้ำหนักที่กล้ามเนื้อก้นซ้าย และขวาให้เท่ากัน
- ข้อศอก วางแนบชิดลำตัว หรือ วางบนที่พักแขนทำมุม 90 องศา ข้อมือ และศอกอยู่ในแนวเส้นตรง
- ต้นขา วางราบกับที่นั่ง และแนบชิดกับเบาะรองนั่ง
- เข่า ข้อพับแนบชิดเบาะรองนั่ง ทำมุม 90 องศา
- เท้า วางราบกับพื้นแบบเต็มฝ่าเท้า
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง :
รัตนาภรณ์ อมรรัตนไพจิตร และสุดธิดา กรุงไกรวงศ์. การยศาสตร์ในสถานที่ทำงาน. กรุงเทพฯ : บริษัท เรียงสาม กราฟฟิค ดีไซน์ จำกัด, 2544.
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม