หลักการและเทรนด์การออกแแบบออฟฟิศ ภายใต้แนวคิด WORK-LIFE BALANCE

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลของการใช้ชีวิต หรือ Work-life balance เป็นอย่างมาก หลายๆ คนลาออกจากงานประจำเพื่อทำงาน Freelance โดยมีภาพในใจว่าสามารถนั่งทำงานนอกสถานที่โดยเฉพาะร้านกาแฟ หรือ Co-working space ได้ สิ่งที่ได้รับคือบรรยากาศอันแสนรื่นรมย์ ความสะอาดสบายตาของสถานที่ เพราะต้องการหลุดออกจากที่นั่งทำงานแบบเดิมๆ หรือที่หลายคนเรียกว่า "คอก" นั่นเอง

 

แต่หากลองพิจารณาในเรื่องของเวลาในการทำงานอิสระ หลายคนกลับค้นพบว่า ตนเองนั้นใช้เวลาไปกับการทำงานมากกว่าเดิมเสียอีก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการรักษาสมดุลของชีวิตส่วนตัวและการทำงานนั้นควรเป็นเรื่องของการจัดการกับเวลามากกว่าการเปลี่ยนสถานที่ทำงานมิใช่หรือ ดังนั้นหากเรามีวินัยและพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอแล้ว การรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ในส่วนของผู้ประกอบการต่างก็เริ่มตั้งโจทย์ให้กับตนเองและองค์กรเช่นกันว่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้พนักงานมีความสุข และเกิดประสิทธิภาพการทำงานสูงสุดไปพร้อมๆ กัน เนื่องด้วยการแข่งขันที่สูงมากในปัจจุบัน ดังนั้นทรัพยากรมนุษย์จึงนับว่ามีมูลค่ามากที่สุด และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้มุ่งไปสู่เป้าหมายได้ นอกเหนือจากสวัสดิการแล้ว การปรับเปลี่ยนรูปแบบของออฟฟิศหรือสำนักงานก็เป็นคำตอบอันดับต้นๆ ที่จะช่วยดึงดูดบุคลากรที่มีประสิทธิภาพให้เข้ามาร่วมงานกับหน่วยงานนั้นๆ 

 

งานวิจัยหลายชิ้นบ่งบอกว่า ความสุขในการทำงานนั้นคือเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานมากกว่า รายได้ ตำแหน่ง หรือชื่อเสียงเสียอีก ดังนั้นวัฒนธรรมองค์กรจึงเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการสร้างความสุขให้เกิดขึ้น

 

ในมุมมองของผู้ออกแบบก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า "สถานที่" สามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้เช่นกัน ความรู้สึกของผู้ใช้งานสามารถแปรผันไปได้ตาม สเปซ และสภาพแวดล้อม เพราะฉะนั้นการจัด Working space ที่ดีจะสามารถเอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ หรือสร้างประสบการณ์ให้พนักงานมาทำงานแล้วมีความสุขได้ ซึ่งหลักการและเทรนด์การออกแบบ Working space จะมีอะไรบ้างนั้น ไปชมกันเลยครับ

Project: Stu/D/O OFFICE by Stu/D/O

Photo: Stu/D/O

1. Adaptable Flexible Space: พื้นที่ทำงานที่ปรับเปลี่ยนได้

ทำให้พื้นที่สำนักงานมีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องของการใช้สอยและจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่น ออกแบบให้พื้นที่นั้นให้สามารถใช้เป็นห้องทำงานและปรับเป็นห้องประชุมได้ สถานที่ทำงานแบบเดิมๆ นั้นมักแยกพื้นที่ทำงานและห้องประชุมออกจากกัน เมื่อเวลาทำงานห้องประชุมก็โล่งไม่มีคนใช้งาน และหากมีการประชุมทุกคนก็ย่อมต้องมาใช้ประชุมและไม่มีใครอยู่ที่โต๊ะทำงาน จะดีกว่าหรือไม่หากเราใช้ Space ให้คุ้มค่ากว่าด้วยการออกแบบพื้นที่ให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ มีเก้าอี้สำนักงานล้อเลื่อนที่ขยับไปมาได้สะดวก และใช้ Space ที่เหลือเป็นพื้นที่สันทนาการหรือพักผ่อนแทน

การใช้ประตูบานเลื่อน หรือผนังกั้นห้องแบบบานเฟี้ยมเก็บเสียง ก็เป็นตัวช่วยที่ดีที่สามารถทำให้พื้นที่ปรับเปลี่ยนการใช้งานตามต้องการได้ 

การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน หรือชุดโต๊ะทำงานที่มีการออกแบบด้วยระบบโมดูลาร์ (Modular) ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมต่อกันได้ เช่น Modular sofa ซึ่งสามารถใช้แบบตัวเดียวหรือวางต่อกันเป็นชุดก็ได้ หรือเฟอร์นิเจอร์แบบที่มีโครงปรับขนาดได้  (Adjustable Beam) ในกรณีที่มีการเพิ่มจำนวนพนักงานก็สามารถยืดโครงสร้างของโต๊ะออกไปและเพิ่มเติมเฉพาะส่วนของ Top table ได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องซื้อโต๊ะใหม่ทั้งตัว 

Project: RABBIT'S TALE OFFICE by MUN ARCHITECTS

Photo: aday magazine / Duangsuda Kittivattananon 

2. Unconventional Space: พื้นที่แบบไม่เป็นทางการ

เราจะเห็นออฟฟิศสมัยใหม่มีจัดวาง Zoning ในลักษณะที่ไม่มีรูปแบบตายตัวมากขึ้น โดยการสร้างสรรค์สเปซหรือฟังก์ชันที่แปลกใหม่ เช่น มีสไลด์เดอร์ให้พนักงานสไลด์ตัวลงมาจากชั้นสองได้อย่างรวดเร็วเพื่อความสนุกสนานหรือสามารถใช้ในกรณีเร่งรีบก็ได้เช่นกัน หรือมี Ramp เพื่อให้พนักงานเล่นสเก็ตบอร์ด โดยสามารถปรับเปลี่ยนเป็นเวที หรือ Amphitheater ขนาดเล็กสำหรับจัดกิจกรรมอื่นๆ ได้ มีงานวิจัยกล่าวไว้ว่าการที่พนักงานได้ทำงานในบรรยากาศที่ผ่อนคลายนั้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น และยังมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานมากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ยอดนิยมของบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลก เช่น Google, Airbnb

ออกแบบให้ทุกๆ จุดของอาคารสำนักงานสามารถกลายเป็นพื้นที่นั่งทำงานได้ เช่น ปรับพื้นที่บริเวณใต้บันได หรือพื้นที่ริมทางเดินให้น่านั่งโดยนำโซฟาหรือเก้าอี้สำนักงานไปวางไว้บริเวณนั้นเพื่อให้เกิดความคล่องตัว เนื่องจากไลฟ์สไตล์ที่ต้องการความกระฉับกระเฉงมากขึ้น พนักงานสามารถทำงานจุดใดของออฟฟิศก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องอดทนกันเพื่อนร่วมงานโต๊ะข้างๆ ที่สร้างความน่ารำคาญตลอดเวลา และทำให้เราเสียสมาธิในการทำงานอีกต่อไป เพราะสามารถเลือกที่จะนั่งตรงไหนก็ได้ 

การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีรูปทรงแปลกใหม่ เช่น นำ Bean bag มาใช้แทนเก้าอี้ทำงานแบบเก่า นอกเหนือจากการสร้างความรู้สึกอยากทำงานให้พนักงานแล้ว ยังเป็นการสร้างสรรค์บรรยากาศของออฟฟิศให้ดู Welcome สำหรับลูกค้าหรือแขกผู้มาเยือนอีกด้วย

Project: RONG NUM KAENG (Premium Ice) by TA-CHA DESIGN

Photo: TA-CHA DESIGN

3. Outside In: ผสานพื้นที่กับธรรมชาติ

Biophilic design (ไบโอฟิลิก ดีไซน์) คืองานวิจัยที่พบว่า คนเรานั้นหากได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติจะช่วยให้มีความสงบทางด้านจิตใจ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น  การดึงธรรมชาติเข้ามาตกแต่งออฟฟิศโดยสามารถทำได้แบบตรงไปตรงมา เช่น ใช้ต้นไม้มาวางประดับ หรือเลือกใช้วัสดุตกแต่งที่ผลิตจากธรรมชาติ เช่น พื้นไม้คอร์กที่ผลิตโดยการเลาะเปลือกของต้นสนโดยที่ไม่ได้ตัดโค่นทั้งต้น ซึ่งนอกจากจะได้วัสดุที่ทำจากไม้จริงแล้วนั้น ยังไม่เป็นการรบกวนสมดุลของธรรมชาติอีกด้วย

การใช้แสงธรรมชาติเข้ามาช่วยให้บรรยากาศสดใสไม่อึมครึม การออกแบบให้มีแสง Direct light จะช่วยให้บรรยากาศโดยรวมดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการเลือกใช้สี เช่น กราฟิกดีไซเนอร์ เนื่องจากแสงธรรมชาตินับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก หลายๆ อาคารมักถูกออกแบบโดยคำนึงถึง รูปด้านและความสวยงามของอาคารมากกว่าการคำนึงถึงเรื่องปริมาณแสงที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งาน

Picture: OFFICEINTREND

4. Wellbeing Workplace: สถานที่ทำงานเพื่อสุขภาพ

ทำอย่างไรให้พนักงานทำงานให้กับองค์กรอย่างมีคุณภาพควบคู่ไปกับการมีสุขภาพที่ดี สุขภาพเป็นสิ่งที่พวกเราควรคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ ดังคำกล่าวที่ว่า "ไม่ว่าคุณจะมีเงินทองมากแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่คุณจะหาซื้อมาทดแทนไม่ได้นั่นก็คือ สุขภาพ" สิ่งที่สำคัญกว่าบรรยากาศ นั่นก็คือการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์สำนักงานที่ช่วยซัพพอร์ตสรีระร่างกายได้เป็นอย่างดี  หลายๆ ท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า Ergonomic หรือ Ergotrend นั่นคือศาสตร์หนึ่งที่เป็นการศึกษาเกี่ยวกับสรีระร่างกาย ซึ่งผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มีคุณภาพจะต้องคำนึงถึงรายละเอียดในส่วนนี้เพื่อใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์สำนักงาน 

จัดให้มีพื้นที่ที่ผ่อนคลายอิริยาบถ หรือสามารถทำงานในท่าอื่นๆ ได้ เช่น โต๊ะสำหรับยืนทำงาน (Sit to Stand) หรือโซฟาสำหรับนั่งประชุมแบบไม่เป็นทางการ สืบเนื่องจากงานวิจัยที่บอกว่าการนั่งทำงานในท่าเดียวนานเกินไปนั้นจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งโรคที่คนวัยทำงานเป็นกันมาก ได้แก่ โรคคอยื่น หมอนรองคออักเสบ ข้อมืออักเสบ และไหล่ตึง

Project: THAILAND DEVELOPMENT RESEARCH INSTITUTE FOUNDATION by PAPERSPACE

Photo: PAPERSPACE

5. Tearing Down the Wall: พื้นที่ทำงานแบบเปิดโล่ง

พื้นที่นั่งทำงานและส่วนอื่นๆ เปิดโล่งเชื่อมหากันได้หมด เป็นการสร้างค่านิยมให้พนักงานในองค์กรมีความเปิดเผย เปิดกว้างในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่หยุดนิ่ง เน้นการทำงานที่รวดเร็ว และยังสามารถใช้สร้างคุณค่าให้กับบริษัทในเรื่องของความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจได้เช่นกัน 

การกั้นห้องระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องนั้นจะทำให้การทำงานช้าลง การประสานงานระหว่างแผนกไม่มีความสะดวก หากจัดพื้นที่ให้เป็นแบบเปิดโล่งจะช่วยให้การติดต่อประสานงานรวดเร็วและง่ายขึ้น เช่น หากพนักงานมีปัญหาแล้วคุยกันจะทำให้หัวหน้าหรือผู้บริหารสามารถรับรู้และช่วยแก้ปัญหาได้ทันที หรืออาจจะได้รับความคิดเห็นหรือแนวทางในการแก้ปัญหาที่ดีจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นก็ได้

หากต้องการคงไว้ซึ่งความเป็นสัดส่วน สามารถใช้ชั้นวางของหรือระแนงที่ทำจากไม้หรือเหล็กแบบโปร่งมาช่วยกั้นพื้นที่ ซึ่งสามารถช่วยให้บริเวณนั้นมีความโปร่งโล่งแต่ก็ยังมีความเป็นส่วนตัว การทำพื้นยกระดับหรือใช้วัสดุปูพื้นที่แตกต่างกันในการแบ่งพื้นที่ก็เป็นอีกไอเดียหนึ่งในการแบ่งสัดส่วนของพื้นที่ทำงานได้เช่นกัน 

Project: KBTG Smart Office by PBM

Photo: art4d magazine/Spaceshift Studio

6. Opened-Collaborative Area: พื้นที่ประชุมแบบเปิดโล่ง

เพื่อสร้างสรรค์บรรยากาศของการทำงานร่วมกัน ทำให้คนในองค์กรรู้สึกถึงความมีส่วนร่วม จากเดิมที่เป็นห้องประชุมแบบปิดและค่อนข้างเป็นทางการ เป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนที่ผ่านไปมาสามารถนำเสนอไอเดียได้ แม้ว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ประชุมนั้นโดยตรง 

ในบางครั้งหากพนักงานมีไอเดียเล็กๆ ขึ้นมาก็สามารถพูดคุยกับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานได้ทันที โดยใช้โต๊ะประชุมแบบไม่เป็นทางการนั้น ช่วยให้ Flow งานเร็วขึ้นในบรรยากาศเปิดโล่งและเป็นกันเอง การจัดห้องประชุมแบบปิดนั้นทำให้พนักงานมีความเกรงใจในการขอใช้งาน ซึ่งอาจทำให้ไม่เกิดการต่อยอดของความคิดเพราะความยากลำบากในการขอใช้สถานที่ 

พื้นที่นั้นควรมีการเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้งานไว้ด้วย เช่น ไวท์บอร์ด โปรเจคเตอร์หรือจอขนาดใหญ่สำหรับประชุม เฟอร์นิเจอร์ใช้โซฟาแทนโต๊ะและเก้าอี้สำนักงานแบบปกติ เพื่อเพิ่มความรู้สึกเป็นกันเอง ช่วยให้กล้าพูดคุยกันมากขึ้น ที่สำคัญคือการเลือกใช้โทนสีที่สดใสเพื่อให้เกิดความรู้สึกสนุกสนานและช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

Project: PHILIP MORRIS

Photo: PAPERSPACE

7. Color Pop-Enliven the Space: สร้างสีสัน ให้มันส์และสนุก

สีที่แตกต่างกันนั้นจะส่งผลต่อความรู้สึกที่แตกต่างกัน หลายท่านคงได้เคยศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีสีมาพอสมควร เช่น สีเหลืองช่วยให้เกิดความกระตือรือร้นในการทำงาน หากต้องการให้พนักงานมีความสงบในการทำงานสามารถเลือกใช้สีฟ้า หรือ เขียว สีส้มจะช่วยกระตุ้นพลังในการทำงาน 

หลายๆ องค์กรจะใช้ Corperate color (สีของแบรนด์) เพื่อตอกย้ำและสะท้อนภาพลักษณ์ให้เป็นที่จดจำ ลูกค้าที่มายังออฟฟิศก็สามารถรับรู้ถึงบรรยากาศและค่อยๆ ซึมซับคุณค่าของแบรนด์ไปด้วย ซึ่งสัดส่วนของการใช้สีนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม 

การตกแต่งผนังให้มีสีสันสดใสนั้นสามารถใช้วิธีการทาสีหรือปิดผิวด้วยแผ่นลามิเนตได้ ในส่วนของฝ้าอาจจะเลือกใช้ฝ้าไวนิลพิมพ์ลายและซ่อนไฟก็สามารถช่วยเพิ่มมิติของสีสันได้ดีทีเดียว สำหรับพื้นสามารถเลือกกระเบื้องที่มีสีสันหรือหากต้องการความรู้สึกที่อบอุ่นมากขึ้นก็สามารถเลือกใช้พรมหรือไวนิลถักทอทดแทนพรมได้ 

การผสมผสานเฟอร์นิเจอร์สำนักงานที่มีสีสันสดใสเข้าไปก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่นิยมใช้กัน โดยอาจใช้หมอนสีพาสเทลหวานแหว๋วแมตซ์กับโซฟาหนังสีน้ำตาลที่สะท้อนถึงความเคร่งขรึมก็น่าสนใจไปอีกแบบ

การเลือกใช้แสงที่มีสีสันสดใสก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่กรณีนี้ต้องระวังไม่ให้แสงนั้นเป็นมลพิษทางสายตาของผู้ใช้งาน หากสามารถออกแบบให้แสงนั้นอยู่ถูกที่ถูกเวลาได้ก็นับว่าน่าสนใจมากเลยทีเดียว ซึ่งอาจจะเป็นการเลือกใช้กระจก Tint ในบางส่วนเพื่อให้แสงธรรมชาติส่องผ่านเข้ามาทำให้เกิดมิติของแสงโดยมีความงามที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของวัน

Project: TRANSFERWISE by PAPERSPACE

Photo: PAPERSPACE

8. Recharging Area: มุมเติมพลัง

เป็นแนวคิดที่คำนึงถึง User หรือพนักงานเป็นหลัก ในความเป็นจริงแล้วคนเราไม่สามารถมีความคิดสร้างสรรค์หรือมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีได้ในช่วง 9 - 18 น.ตามเวลางานเท่านั้น ในกรณีที่พนักงานเกิดไอเดียและทำงานจนดึกดื่นทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าในช่วงกลางวันของวันถัดมา พื้นที่บริเวณนี้จะช่วยให้พนักงานได้พักผ่อนเติมพลังชั่วครู่ก่อนที่จะเริ่มต้นทำงานต่อไป ผลวิจัยพบว่าผู้ที่อดนอนนั้นจะมีอาการคล้ายกับคนเมาแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงไปด้วย

นอกจากพื้นที่งีบหลับหรือนั่งพักผ่อนแล้ว ในบางบริษัท เช่น e-Bay หรือ Google  ยังจัดให้มีมุมกาแฟ มีโซนบริการอาหารหรือ Snack bar ไว้ให้กับพนักงานอีกด้วย การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้ก็เพื่อเป็นการดึงดูดพนักงานเก่งๆ ให้มาร่วมงานกับองค์กร รวมทั้งเป็นการรักษาบุคลากรเหล่านั้นให้อยากทำงานต่อไปอีกด้วย

นอกจากนั้นคือ มีพื้นที่ออกกำลังกาย เล่นฟิตเนส หรือมีอุปกรณ์กีฬา เช่นโต๊ะปิงปอง จัดเตรียมไว้เพื่อให้พนักงานได้มีกิจกรรมที่ผ่อนคลาย และยังช่วยสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีของบุคคลากรได้อีกด้วย

Project: WAVEMAKER by PAPERSPACE

Photo: PAPERSPACE

9. Home Sweet Office: ที่ทำงานคือวิมานของเรา

เชื่อว่าหลายๆ คนนั้นใช้เวลาในที่ทำงานมากเสียยิ่งกว่าที่บ้านของตัวเองเสียอีก การจัดสรรพื้นที่ทำงานให้เหมือนอยู่บ้านนั้นจะช่วยให้พนักงานเกิดความรู้สึก อบอุ่น คุ้นเคย สบายใจ ช่วนสร้างความผ่อนคลายทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นไปด้วย นอกเหนือจากการออกแบบตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ที่นั่งสบายแล้ว สิ่งสำคัญคือวัฒนธรรมองค์กรที่ดีจึงจะสามารถช่วยสร้างความรู้สึกนี้ให้เกิดขึ้นจริงได้ 

Project: TRANSFERWISE by PAPERSPACE

Photo: PAPERSPACE

10. Old Meets New: เก่าผสานใหม่

การรีโนเวทโดยเก็บบรรยากาศเดิมบางอย่างไว้คือรูปแบบที่นิยมมากที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นการแสดงอัตลักษณ์ของพื้นที่แล้ว ยังเป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่เดิมให้มีคุณค่าอีกด้วย ในต่างประเทศเรามักเห็นการรีโนโวทอาคารเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยการเก็บรูปทรงด้านนอกไว้เหมือนเดิมและปรับปรุงพื้นที่ภายในให้ทันสมัย โปร่ง โล่งขึ้น แต่สำหรับการรีโนเวทอาคารในบ้านเรามักเป็นการปรับปรุงฟาซาดของตึกแถวให้ดูสะอาดสวยงาม โดยใช้เทคโนโยีของวัสดุก่อสร้างและไอเดียการออกแบบเข้ามาช่วย หรืออีกแนวทางหนึ่งคือการประยุกต์ใช้โกดังเก่ามาปรับเป็นอาคารสำนักงาน โดยเก็บโครงสร้างเหล็กเดิมของโกดังไว้ และเพิ่มเติมในส่วนของการตกแต่ง เช่นเฟอร์นิเจอร์แนวลอฟท์ ผสมกับการตกแต่งด้วยวัสดุพรมและสิ่งทอ เพื่อให้บรรยากาศมีความนุ่มนวลมากขึ้น จุดสำคัญของการตกแต่งสไตล์นี้คือการสร้างความบาลานซ์

มีหลายอาคารที่เป็นการออกแบบและสร้างขึ้นมาใหม่แต่เลือกที่จะใช้เฟอร์นิเจอร์ วัสดุตกแต่ง หรือลวดลายแพทเทิร์น แบบย้อนยุคมาช่วยให้บรรยากาศดูน่าค้นหา ไม่จำเจ และยังดูโดดเด่นอีกด้วย

Photo: TRANDAR

11. Sound Control System: การจัดการเสียงที่ดี

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่า การออกแบบพื้นที่ทำงานมีแนวโน้มไปทาง Open space เป็นส่วนใหญ่ เสียงรบกวนที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่เราต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ บางคนชอบพูดคุยเพื่อต่อยอดไอเดีย ในขณะที่บางคนต้องการความเงียบสงบเพื่อสร้างสมาธิในการทำงาน การจัดให้มีห้องสำหรับคุยโทรศัพท์ หรือมีห้องทำงานที่เป็นพื้นที่ปลอดเสียงก็ช่วยเติมเต็มความต้องการที่ต่างกันได้ 

เลือกใช้วัสดุสำหรับกันเสียง และวัสดุสำหรับลดการการสะท้อนของเสียง โดยต้องแยกแยะระหว่างสองเรื่องนี้ให้ได้ก่อน การกันเสียงคือการป้องกันไม่ให้เสียงเดินทางผ่านไปยังพื้นที่หนึ่ง เช่น ใช้กระจกใสกั้นห้องเพื่อช่วยกันเสียงรบกวนในขณะเดียวกันยังมีความเชื่อมต่อพื้นที่ทางการมองเห็นอยู่ สำหรับการลดการสะท้อนของเสียงนั้นต้องใช้วัสดุที่มีรูพรุนเพื่อช่วยดูดซับเสียงและลดเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้น เช่น การใช้ฝ้าอะคูสติกในห้องประชุมเพื่อช่วยดูดซับเสียง ทำให้เกิดสภาวะที่สบายหู และไม่ก่อให้เกิดความหงุดหงิดใจ

ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ดังนั้นการสร้างสรรค์บรรยากาศในการทำงานให้พนักงานรู้สึกอยากมาทำงานและมีเป้าหมายของชีวิตในทุกๆ วันที่ตื่นมาจึงเป็นเรื่องสำคัญ เรียกได้ว่าทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและพร้อมที่จะสร้างสรรค์คุณค่าให้กับงานที่ทำ เป็นการเน้น Emotional มากกว่า Functional นั่นเอง

เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกัน

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ