ทราบหรือไม่ "กัญชง" ใช้ทำวัสดุปิดผิวได้

กัญชงแข็งแรงกว่าไม้โอ๊คถึง 20 เท่าและยังโตเร็วกว่าไม้โอ๊คถึง 100 เท่า กัญชงจึงนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนไม้เนื้อแข็งชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาดได้อย่างน่าจับตามองเลยทีเดียว

 

ก่อนอื่นต้องขออธิบายความแตกต่างระหว่างกัญชงและกัญชาก่อน

กัญชง (Hemp ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannnabis sativa L. Subsp. sativa) จะมีลำต้นสูงมากกว่า 2 เมตร ปล้องหรือข้อยาว ให้เส้นใยยาวคุณภาพสูง ใบมีแฉกประมาณ 7-9 แฉก มีสาร tetrahydrocannabinol (THC) หรือสารที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา น้อยกว่า 0.3% เมื่อนำใบมาสูบจะมีกลิ่นหอมน้อย ทำให้ผู้เสพปวดหัว

กัญชา (Marijuana ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis sativa L. Subsp. indica (Lam.) E. Small & Cronquist) จะมีความสูงไม่ถึง 2 เมตร ปล้องหรือข้อสั้น ให้เส้นใยสั้นมีคุณภาพต่ำ ใบมีประมาณ 5-7 แฉก มีสารที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา หรือ tetrahydrocannabinol (THC) ประมาณ 1-10% ในบางสายพันธ์มีสูงถึง 30% เลยทีเดียว 

 

แผ่นกัญชงอัดแข็งถูกคิดค้นโดยนาย Gregory Wilson ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของบริษัท FIBONACCI เดิมประกอบธุรกิจค้าไม้แปรรูป และไม้เอ็นจิเนียร์ เขาได้ต่อยอดธุรกิจทันทีที่ได้มีร่างผ่านกฎหมายให้สามารถการปลูกกัญชงได้ ด้วยการพัฒนาเส้นใยกัญชงอัดแข็งขึ้นเพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง โดยการอัดเส้นใยขึ้นรูปแล้วเชื่อมด้วยกาว (Soy-based glue) ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกันกับการอัดไม้ไผ่ขึ้นรูป และจดสิทธิบัตรภายใต้ชื่อ Hempwood โดยมีจำหน่ายทั้งรูปแบบบล็อค แผ่นบอร์ด ไม้พื้น และสเก็ตบอร์ด

 

หากมองดูเผินๆ ไม้กัญชงอัดแข็งอาจจะมีหน้าตาคล้ายไม้ปาร์ติเคิลบอร์ดทั่วๆ ไปซึ่งไม้ปาร์ติเคิลคือเศษไม้ที่นำมาอัดขึ้นรูป ส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัสดุปิดผิวไม่นิยมใช้ทำโครงสร้างหรือใช้ในการรับน้ำหนัก แต่สำหรับ Hempwood มีการทดสอบว่าแข็งแรงกว่าไม้โอ๊คซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งถึง 20 เท่าเลยทีเดียว กัญชงและกัญชาเป็นพืชตระกูลเกี่ยวกับ ปอ หรือ ป่าน ซึ่งเรานิยมนำมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและก่อสร้างอยู่แล้ว เนื่องจากพืชในตระกูลนี้มีการเรียงตัวของเส้นใยที่ค่อนข้างถี่และเส้นยาว เมื่อนำมาประกอบกับกระบวนการแปรรูปที่ได้มาตรฐานจึงทำให้ได้วัสดุปิดผิวชนิดใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิมนั่นเอง

 

นอกจากนี้ระยะเวลานับตั้งแต่ปลูกจนถึงพร้อมใช้งานก็แตกต่างกันมาก ต้นโอ๊คใช้เวลาปลูกประมาณ 60 ปีจึงสามารถตัดไปใช้งานได้ แต่ต้นกัญชงนั้นใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้นก็สามารถนำไปแปรรูปและพร้อมใช้งานได้แล้ว นั่นแสดงว่ากัญชงสามารถปลูกทดแทนได้ในเวลาอันสั้น เราไม่ต้องตัดต้นไม้ใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่สำคัญเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากระยะเวลาการปลูกที่สั้นทำให้ช่วยลดราคาต้นทุนในการผลิตได้อีกด้วย

 

สำหรับในประเทศไทยครม.ได้อนุมัติให้ปลูกกัญชงได้ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งสามารถปลูกได้ในพื้นที่ๆ กำหนดจำกัดพื้นที่ 6 จังหวัด คือ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.น่าน จ.ตาก จ.เพชรบูรณ์ และ จ.แม่ฮ่องสอน โดยกำหนดให้ปลูกได้เฉพาะในบางอำเภอเท่านั้น สำหรับสายพันธุ์ที่นำมาปลูกได้นั้นจะต้องมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทหรือสารทีเอชซี (THC) ไม่เกิน 1% หากตรวจพบว่าแปลงใดมีต้นกัญชงที่มีสารดังกล่าวเกินจะถือว่ามีความผิด 

 

ในยุคที่โลกเรากำลังประสบปัญหาทางด้านสภาวะแวดล้อมเนื่องจากอัตราการตัดไม้ทำลายป่าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ กัญชงจึงนับเป็นพืชทดแทนทางเลือกใหม่ที่น่าจับตามมองและมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจที่ดีเลยทีเดียว

อ้างอิงโดย

https://returntonow.net/2019/04/14/americas-first-hemp-wood-factory-is-being-built/

https://en.wikipedia.org/wiki/Cannabis_indica

https://medium.com/cbd-origin/hemp-vs-marijuana-the-difference-explained-a837c51aa8f7 

https://hempwood.com/about-the-company/

https://www.hanf-magazin.com/news/diese-firma-aus-den-usa-plant-einen-holz-ersatz-aus-hanf/

https://www.wkms.org/post/hempwood-ribbon-cutting-highlights-potential-hemp-made-flooring#stream/0

ดูข้อมูลวัสดอื่นๆ เพิ่มเติม

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ