รวมข้อมูลคุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย วัสดุปูพื้นแต่ละประเภท

" รวมข้อมูลวัสดุศาสตร์ และข้อดี - ข้อเสีย วัสดุปูพื้น 7 ประเภท " ซึ่งจะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น วันนี้ wazzadu.com ย่อยมาให้แล้ว มาชมกันเลยครับ

พื้นไม้ลามิเนต (Laminate Wood Flooring​) คืออะไร

พื้นไม้ลามิเนต คือ พื้นไม้ที่ถูกผลิตขึ้นด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ โดยมีไม้เป็นส่วนประกอบแค่บางส่วน ในปัจจุบันพื้นประเภทนี้กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความทนทาน สวยงามเหมือนไม้จริง และติดตั้งง่าย อีกทั้งมีระบบล๊อกที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นไม้ การเปลี่ยนจากการเชื่อมต่อด้วยกาวมาเป็นการเชื่อมโดยใช้กลไกเล็กๆน้อยๆก็ทำให้การติดตั้งเป็นไปได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว

สำหรับความหนาที่นิยมนำไปใช้งาน จะมีความหนาตั้งแต่ 6 -12 มิลลิเมตร โดยขนาดความกว้าง x ยาว ที่นิยมนำไปใช้งาน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 195 x 1200  มิลลิเมตร และในส่วนอายุการใช้งานนั้น เกรดธรรมดาจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10-15 ปี และเกรดพรีเมี่ยม มีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลัก

พื้นไม้ลามิเนต ผลิตมาจากผงไม้ หรือ ฝุ่นไม้ ที่ได้มาจากไม้เนื้อแข็ง โดยผ่านกระบวนการบีบอัด หรือบดอย่างละเอียดโดยผสมสารเคมีชนิดต่างๆ เช่น เมลามีน และสารป้องกันความชื้น เพื่อทำปฏิกิริยาให้ตัววัสดุมีประสิทธิภาพ และมีความคงทนเพิ่มมากขึ้น จนได้ออกมาเป็นแผ่นไม้ ที่มีการแบ่งเลเยอร์ส่วนประกอบได้ 4 ชั้น ดังนี้

ชั้นที่ 1. Overlay หรือ Wear Layer  

เป็นชั้นที่มีความทนทานสูง ทนต่อรอยขีดข่วนบนพื้นไม้ เพื่อให้ทนทานต่อการเกิดรอย นอกจากนี้ยังเคลือบด้วยเรซินที่ทนทานอีกด้วยค่ะ

ชั้นที่ 2. Decorative Paper หรือ Decorative Film 

เป็นลวดลายบนพื้นไม้ลามิเนตมีคุณสมบัติทนความร้อน และสามารถต้านทานรังสีอัลตร้าไวโอเลตได้ และสุดท้ายคือจะมีผลเรื่อง Fading คือสีไม่ซีดจางตามกาลเวลา ลวดลายนั้นมาจากการใช้ภาพถ่ายลายไม้เสมือนจริง หรือออกแบบโดยคอมพิวเตอร์ และนำไปเคลือบทับด้วย เมลามีน ,ลามิเนต และเคลือบด้วยเรซิน เพื่อให้ลวดลาย หรือ ผิวสัมผัสเหล่านี้ทนทานต่อรอยขีดข่วน 

ชั้นที่ 3. Core Board

จะเป็นชั้นที่หนาที่สุดในพื้นไม้แบบลามิเนต และทำจากไม้ที่ย่อยเป็นผงแล้วมาอัดเข้าแผ่นด้วยความดันสูง หรือที่เรียกกันว่า HDF Board มีการผสมกาว และสารเคมีอื่นๆ เข้าไปเพื่อให้มีความแข็งแรง อย่างไรก็ตามสารเคมี ที่ระเหยออกมาก็ไม่มากเกินไปจนเกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค

ชั้นที่ 4. Backing or Stabilizing Film 

จะเป็นชั้นที่ป้องกันความชื้น โดยการเคลือบด้วยเมลามีน หรือ สารผสมอื่นๆ เพื่อให้เกิดความแข็งแรง และป้องกันความชื้นได้ดียิ่งขึ้น รักษาความสมดุลของแผ่นไม้ไม่ให้โก่งคดงอ พร้อมทั้งช่อยป้องกันความชื้นจากชั้นคอนกรีตด้วย

Benefit : ข้อดี

- มีผิวสัมผัสที่สวยงามให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับไม้จริง

- สามารถเลือกสี หรือลายไม้ตามแบบที่เราต้องการได้

- มีความทนทานต่อการรับน้ำหนัก และแรงกระแทกขีดข่วน 

- มีน้ำหนักเบา

- ติดตั้ง หรือ เปลี่ยนแผ่นแบบเฉพาะจุดโดยไม่ต้องรื้อใหม่ทั้งหมดเวลาเเผ่นใดแผ่นนึงเกิดความเสียหาย ซึ่งทำได้ง่ายรวดเร็วด้วยระบบกลไกการล๊อกที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นไม้ หรือที่เรียกว่า Click Lock

- สามารถปูทับ พื้นกระเบื้อง เซรามิค ได้เลย

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม่ทนน้ำ และความชื้นสูง ถ้าหากโดนน้ำขังนานเกิน 12 ชั่วโมงขึ้นไป จะทำให้เกิดการพองบวม และบิดตัว

- มีโอกาสโดนปลวกกินถ้าเลือกใช้เกรดไม่ดี

- มักจะเกิดความเสียหายเวลาที่รับน้ำหนักวัตถุที่มีลักษณะเป็นเดือยแหลมคม เช่น ส้นของรองเท้าส้นแหลม เป็นต้น

- ไม่สามารถทำความสะอาดด้วยการใช้แว๊กซ์ น้ำยาขัดเงา หรือ น้ำยาที่มีส่วนผสมของสบู่ เพราะจะทำให้พื้นลามิเนตเกิดความเสียหายได้

Application : การนำไปใช้งาน

เหมาะกับการนำไปใช้ปูพื้นภายในอาคารเท่านั้น (ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานภายในอาคารสาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน หรือ พื้นที่ ที่มีการขนลำเลียงสิ่งของ และลากจูงสิ่งของที่มีน้ำหนักมากบนพื้นบ่อยๆ เช่น ล๊อบบี้โรงแรม ,โถงสนามบิน ,ทางเดินในห้างสรรพสินค้า หรือ ทางเดินในโรงพยาบาล เป็นต้น)

 

พื้นกระเบื้องเซรามิก (Ceramic Tile Flooring) คืออะไร

กระเบื้องเซรามิก คือ วัสดุที่ผลิตมาจากส่วนประกอบ หรือ วัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ดิน หิน และแร่ต่างๆ กระเบื้องเซรามิกที่ใช้สำหรับปูพื้นนั้นมีทั้งชนิดเคลือบมัน และชนิดที่ไม่เคลือบมัน โดยในส่วนผิวหน้าเคลือบนั้นสามารถแบ่งได้ คือ ผิวมัน (Glossy) และผิวธรรมดา (Matt) ซึ่งชนิดผิวธรรมดานี้ก็ยังสามารถแบ่งอีก 2 ชนิด นั่นก็คือเป็นกระเบื้องแบบผิวไม่หยาบ (Satin) และผิวหยาบ (Rustic)

สำหรับขนาดความกว้าง x ยาว ที่นิยมนำไปใช้งาน มีตั้งแต่ขนาด 8 x 8 นิ้ว, 12 x 12 นิ้ว, 16 x 16 นิ้วไปจนถึง 20 x 20 นิ้ว และในส่วนอายุการใช้งานนั้นจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลัก

กระเบื้องเซรามิก ทำมาจากส่วนประกอบ หรือ วัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ดิน หิน และแร่ต่างๆ โดยนำมาเข้ากระบวนการเผาด้วยความร้อนสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความทนทานให้กับตัววัสดุ

นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตอาจมีการใส่สารผสม หรือ วัตถุดิบอื่นๆเข้าไปเพิ่มเพื่อให้ได้คุณสมบัติ หรือ ลักษณะต่างๆที่ดีขึ้น และแตกต่างออกไป เช่น 

วัตถุดิบประเภทสารช่วยหลอม (Fluxes)  เป็นแร่ที่ประกอบด้วยอัลคาไลน์หรืออัลคาไลน์เอิร์ทซึ่งจะหลอมตัวระหว่างเผาและทำปฏิกิริยากับสารประกอบตัวอื่น ๆ เพื่อฟอร์มตัวเป็นแก้วซึ่งจะทำหน้าที่ให้ความแข็งแรงกับชิ้นงานหลังการเผา 

วัตถุดิบประเภทตัวเติม (Fillers) : โดยทั่วไปแล้วทรายแก้ว ที่ใช้ในส่วนผสมของเนื้อดิน จะทำหน้าที่หลักในการควบคุมค่าการขยายตัวจากความร้อนของเนื้อดินหลังการเผา

นอกจากวัตถุดิบใน กลุ่มหลักข้างต้นแล้ว ปูนปลาสเตอร์ ,สารเคลือบ และสีผสมต่าง ๆ ก็จัดว่าเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตผลิตกระบื้องเซรามิกด้วยเช่นกัน

Benefit : ข้อดี

- มีความแข็งแรงทนทาน สามารถใช้งานได้ยาวนานหลายสิบปี

- เป็นรอยขีดข่วนยาก

- ไม่กลัวปลวก ทนต่อความชื้นในสภาพอากาศเขตร้อนชื้น

- ทนต่อความร้อนสูง ไม่ติดไฟ ไม่มีกลิ่น และไม่นำไฟฟ้า 

- ติดตั้งได้ง่าย และรวดเร็ว

- มีลวดลาย และโทนสีให้เลือกอย่างหลากหลาย

- ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับคุณภาพ และหาซื้อได้ง่าย

- ผิวสัมผัสมีความเย็น จึงช่วยสร้างสภาวะอากาศที่เย็นสบายภายในอาคาร แม้ด้านนอกอาคารจะร้อนก็ตาม

- ง่ายต่อการทำความสะอาด

Disadvantage : ข้อเสีย

- เวลาเปียกน้ำมักจะดูดซึมน้ำสูง และมีความลื่นเสี่ยงเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน

- เมื่อรื้อแล้ว ไม่สามารถนำกลับมาปูใช้ใหม่ได้

- ไม่เหมาะกับพื้นที่ ที่จะต้องรับน้ำหนักมาก เพราะกระเบื้องเซรามิกอาจปริแตก หรือ ร้าวได้

- อุณหภูมิของผิวสัมผัสมีความเย็น ไม่เหมาะกับการนำไปใช้งานในห้องของผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้

Application : การนำไปใช้งาน

สามารถนำไปใช้ปูพื้นได้ทั้งภายใน และภายนอกอาคาร (ภายนอกใช้แบบผิวหยาบ เพื่อป้องกันการลื่น)

 

พื้นไม้จริงสำเร็จรูป (Solid Wood Flooring)​ คืออะไร

พื้นไม้สำเร็จ ถือเป็นวัสดุที่ให้ความสวยงามมากที่สุดประเภทหนึ่งในอุตสาหกรรมตกแต่งพื้น ไม้พื้นชนิดนี้ทำจากไม้จริงทั้งชิ้น โดยนำมาแปรรูปเป็นแผ่นๆแล้วทำรางลิ้นรอบตัว จากนั้นจึงชุปสารกันแมลง และเคลือบผิวหน้าเพื่อให้มีความคงทน ซึ่งลวดลายที่เกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่ผ่านการตกแต่งลวดลายใดๆ จึงให้ความรู้สึกในการสัมผัสที่ดี และเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติ

สำหรับขนาดที่นิยมนำไปใช้งานนั้น จะมีความหนาประมาณ 18 มิลลิเมตร มีหน้ากว้างประมาณ 90 มิลลิเมตร ส่วนความยาวนั้นจะ Random ตามความเหมาะสม โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10-15 ปี 

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลัก

ไม้พื้นชนิดนี้ทำจากไม้จริงทั้งชิ้น ด้วยการเอาไม้ธรรมชาติอย่าง ไม้สัก ,ไม้โอ๊ค ,ไม้มะค่า ,ไม้ประดู่ หรือ ไม้แดง นำมาเข้าขั้นตอนการอบไล่ความชื้นในเนื้อไม้ แล้วแปรรูปให้กลายเป็นแผ่นๆ และทำรางลิ้นร่อบตัว จากนั้นจึงนำมาชุปสารผสมกันแมลง แล้วเคลือบสำเร็จด้วย UV Acrylic Lacquer และทำผิวหน้าให้มีความคงทนสูงด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ พร้อมขัดผิวหน้าให้เรียบร้อยสวยงาม 

Benefit : ข้อดี

- การติดตั้งรวดเร็ว เพราะไม่ต้องรอขัดทำสี

- มีรางลิ้นรอบตัว จึ่งทำให้การปูพื้นมีความราบเรียบสม่ำเสมอ

- ลวดลายที่เกิดขึ้นเป็นไปตามสีสันของธรรมชาติ โดยไม่ผ่านการตกแต่งลวดลายใดๆ ถึงแม้สีและลายเสี้ยนอาจจะไม่สม่ำเสมอ หรือ สมบูรณ์แบบ แต่ก็มีเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางด้านความงดงามในแบบที่ไม่เหมือนใคร

- เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง หากผิวหน้าไม้เป็นรอยเยอะ ไม่เงางาม ก็สามารถขัดหน้าผิวไม้เพื่อทำสีใหม่ได้หลายครั้ง เนื่องจากไม้มีความหนามากกว่าไม้พื้นในโครงสร้างแบบอื่นๆ

- ให้บรรยากาศที่อบอุ่น และสบายตา

Disadvantage : ข้อเสีย

-  มีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับไม้ปูพื้นแบบอื่นๆ

-  ไม่ทนไฟ ไม่สามารถป้องกันการลามไฟได้

-  ไม่ทนน้ำ และปลวก

- ในกรณีที่ไม้ได้รับความชื้นสูงเกินไป ไม้พื้นโครงสร้างแบบ Solid จะมีโอกาสยืด หด บิด หรือห่อตัวได้มากกว่าพื้นไม้ในโครงสร้างแบบอื่นๆ เนื่องจากเป็นโครงสร้างของไม้ชิ้นเดียวทั้งแผ่น ที่ไม่มีการประกอบชั้นแบบขวางเสี้ยน เพื่อยึดแต่ละชั้นของไม้เข้าด้วยกัน

- ส่วนมากไม้ Solid หรือ ไม้พื้นรางลิ้นรอบตัว ใช้วิธีการปูแบบ knock down คือปูไม้อัดก่อน แล้วยิงตะปู ฉะนั้นเวลารื้อ ต้องรื้อทั้งแผง ต่างจากไม้ Engineered ที่ปูแบบลอยตัวหรือปูกาว เมื่อเสียหายสามารถรื้อเพื่อซ่อมแซมเป็นบางส่วนได้

Application : การนำไปใช้งาน

เหมาะกับการนำไปใช้ปูพื้นภายในอาคารเท่านั้น (ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานภายในอาคารสาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน หรือ พื้นที่ ที่มีการขนลำเลียงสิ่งของ และลากจูงสิ่งของที่มีน้ำหนักมากบนพื้นบ่อยๆ เช่น ล๊อบบี้โรงแรม ,โถงสนามบิน ,ทางเดินในห้างสรรพสินค้า หรือ ทางเดินในโรงพยาบาล เป็นต้น)

พื้นกระเบื้องยาง​ (Rubber Tile Flooring) คืออะไร

กระเบื้องยาง คือ วัสดุที่ผลิตมาจากวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติ และวัตถุดิบโพลิเมอร์ที่ได้จากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จัดเป็นวัสดุปูพื้นอีกประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในยุคปัจจุบัน เพราะมีให้ลวดลาย และโทนสีให้เลือกอย่างหลากหลาย สามารถทำการติดตั้งได้ง่าย (ติดตั้งเองโดยไม่ต้องใช้ช่างก็ทำได้) เนื่องจากมีระบบคลิ๊กเพื่อล๊อค และแผ่นกาวในตัว จึงทำให้ติดตั้งได้รวดเร็ว และสามารถรื้อไปใช้ที่อื่นได้ภายหลัง อีกทั้งยังให้บรรยากาศคล้ายการตกแต่งด้วยพื้นไม้อีกด้วย

สำหรับความหนาของกระเบื้องยางจะมีความหนาตั้งแต่ 2 -12 มิลลิเมตร ( 2 - 4 มิลลิเมตร เป็นความหนาที่นิยมนำไปใช้งานมากที่สุด) โดยมีขนาดความกว้าง x ยาว ที่นิยมนำไปใช้งานสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

- แบบเส้นยาว 15 x 90 เซนติเมตร

- แบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 15×15 และ 30×30  เซนติเมตร

- แบบม้วน หน้ากว้างประมาณ 1.0 -1.20 เมตร ยาว 10 -15 เมตร

และในส่วนอายุการใช้งานนั้นจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 10-15 ปี 

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลัก

กระเบื้องยางที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน วัตถุดิบที่ใช้ผลิตจะแบ่งออกเป็น หมวดหลัก 2 ดังนี้

- ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ยางพารา ฯลฯ

- ผลิตจากวัตถุดิบโพลิเมอร์ที่ได้จากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น สารสังเคราะห์ไวนิล (กระเบื้องไวนิลนิยมใช้กันมากในปัจจุบัน) ,ยางพีวีซี ,โพลียูรีเทน ฯลฯ

Benefit : ข้อดี

- มีพื้นผิวให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ใช้ภายใน และภายนอกอาคาร

- ให้การยึดเกาะที่ดี ช่วยลดการลื่น ให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้งาน

- ทนทานต่อสภาวะอากาศ และสิ่งแวดล้อมปกติ

- มีความคงทน เหนียว และคงรูปได้ดี

- มีทนต่อความชื้นได้ดี

- หมดปัญหาเรื่องปลวก และทำความสะอาดง่าย

- ใช้เวลาติดตั้งไม่นาน ไม่เกิดฝุ่น ไม่เสียงดังขณะติดตั้ง

- กระเบื้องยางที่ใช้ภายในอาคารบางประเภท ผู้ใช้งานสามารถติดตั้งได้ด้วยตนเอง

- รอยต่อระหว่างแผ่นสนิท ลดปัญหาความสกปรกของร่องยาแนว ที่มักจะพบได้จากการปูกระเบื้องแบบทั่วๆไป

Disadvantage : ข้อเสีย

- เกิดรอยขีดข่วนง่าย ไม่ทนต่อการลากถูสิ่งของบนพื้นผิว

- ไม่ทนต่อกรด ด่าง และสารเคมีบางประเภท 

- ไม่ทนต่อรถเข็นล้อยาง หากใช้ในสถานที่มีรถเข็นที่ใช้ล้อเลื่อนเป็นยางจะทำให้ผิวหน้าเสียหาย ควรเลือกใช้ล้อประเภทพลาสติก หรือ ล้อในล่อน

- อาจเกิดการยืดหดตัวมากกว่าเกณฑ์ปกติ ถ้าหากเลือกใช้กระเบื้องยางเกรดไม่ดี 

- อาจเกิดความเสียหายจากความชื้นสูง หรือ โดนน้ำท่วมขัง ถ้าหากเลือกใช้กระเบื้องยางเกรดไม่ดี

- การติดตั้งทับพื้นกระเบื้องเซรามิค ต้องปรับตรงยาแนวให้เรียบก่อน ถ้าปูทับโดยไม่ปรับระดับยาแนวให้เรียบจะทำให้กระเบื้องยางเป็นลอนคลื่นอย่างชัดเจน

Application : การนำไปใช้งาน

มีทั้งแบบปูพื้นภายใน และภายนอกอาคาร

พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ (Engineered Wood Flooring) คืออะไร

พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ คือ นวัตกรรมใหม่ของไม้พื้นที่มีโครงสร้างเลเยอร์มากกว่า 1 ชั้น ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการบิดงอ หรือ การขยายตัวของไม้จริง ด้วยวิธีการนำผิวหน้าไม้จริงที่ต้องการมาประกบเข้ากับไม้ชั้นอื่นๆที่มีความแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นไม้อัด ไม้สน หรือไม้ยางพารา โดยออกแบบให้การยืดหดตัวของไม้มีความสมดุลตามหลักการของวัสดุศาสตร์ เพื่อที่จะต้านทานการบิดตัว โก่งงอ หรือ การยืดขยายของไม้ผิวหน้า 

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลัก

พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ ได้มาจากการนำเอาไม้จริงในป่าปลูก มาแปรรูปด้วยเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมขั้นสูง โดยการนำไม้ผิวหน้าที่มีความหนาประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มาอัดกับไม้เสี้ยนประสานสลับชั้นกันกับน้ำกาวคุณภาพสูงจนได้ขนาด 14 มิลลิเมตร แล้วนำไปอบควบคุมความชื้นไม่เกิน 12 % แล้วเคลือบผิวด้วย UV Acrylic Lacquer เพื่อให้ได้ลายไม้ที่สวยงามชัดเจน และมีความแข็งแรง 

โครงสร้างเลเยอร์ของพื้นไม้เอ็นจิเนียร์ สามารถแบ่งออกได้ 3 ส่วน ดังนี้

- ชั้นบนสุด เป็นชั้นเคลือบผิวด้วย UV Acrylic Lacquer เคลือบหนา 6 ชั้น

- ชั้นกลาง เป็นผิวหน้าหน้าไม้ ที่มีความหนาประมาณ 3-4 มิลลิเมตร เป็นการนำไม้จริงที่ต้องการมาใช้ อาทิเช่น ไม้โอ๊ก (Oak) ไม้แอ๊ส (Ash) ไม้แดง ไม้มะค่า (Jatoba) ไม้เมอร์เบาว์ (Merbau) ไม้บีช (Beech) ไม้เมเปิ้ล (Maple) ไม้เค็มปัส (Kempas) หรือ ไม้สัก (Teak) เป็นต้น

- ชั้นล่าง มีความหนาประมาณ 8-11 มิลลิเมตร เป็นชั้นไม้ยางพารา ไม้อัด หรือ ไม้สน ฯลฯ

Benefit : ข้อดี

- มีสีสัน ลวดลาย และชนิดเนื้อไม้ ให้เลือกอย่างหลากหลาย 

- ให้บรรยากาศที่อบอุ่น เป็นธรรมชาติ

- หากชำรุดเสียหาย ก็สามารถเปลี่ยนเฉพาะแผ่นที่มีปัญหาได้ทันที 

- เนื่องจากพื้นไม้เอ็นจิเนียร์นั้นได้ผ่านการทำสี และเคลือบผิวหน้าไม้มาแล้ว ในส่วนของการติดตั้งจึงสามารถทำได้ง่าย และรวดเร็ว เพราะไม่ต้องมีขั้นตอนของการขัดทำสี 

- ทนต่อแรงกระแทก และทนต่อรอยขูดขีดได้ดี ซึ่งจะทนได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ผิวหน้าว่าเป็นไม้เนื้อแข็ง หรือ ไม้เนื้ออ่อน

- ให้ผิวสัมผัสที่เรียบ สบายเท้า เพราะไม้ผิวหน้าเป็นไม้ธรรมชาติ 

- เดินแล้วรู้สึกแน่น ไม่มีเสียงแครก หรือ เสียงกลวง เพราะติดตั้งด้วยกาว

Disadvantage : ข้อเสีย

- ในกรณีที่ใช้งานไปนานๆ แล้วอยากจะขัดทำสีใหม่นั้น จะมีข้อจำกัดที่ว่าสามารถทำได้ไม่เกิน 2 ครั้ง เนื่องจากไม้ผิวหน้าค่อนข้างบาง ผู้ใช้งานส่วนมากจึงนิยมเปลี่ยนแผ่นใหม่ หรือเปลี่ยนสีพื้นไปเลย

 - ไม่ทนต่อน้ำ และความชื้น ถ้าแช่น้ำนานๆจะเกิดอาการบวม พอง

 - มีราคาค่อนข้างแพง

Application : การนำไปใช้งาน

เหมาะกับการนำไปใช้ปูพื้นภายในอาคารเท่านั้น (ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานภายในอาคารสาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน หรือ พื้นที่ ที่มีการขนลำเลียงสิ่งของ และลากจูงสิ่งของที่มีน้ำหนักมากบนพื้นบ่อยๆ เช่น ล๊อบบี้โรงแรม ,โถงสนามบิน ,ทางเดินในห้างสรรพสินค้า หรือ ทางเดินในโรงพยาบาล เป็นต้น)

พื้นไม้คอร์ก (Cork Wood Flooring) คืออะไร

ไม้คอร์กที่นำมาทำเป็นวัสดุปูพื้นนั้น ทำมาจากเปลือกไม้ชั้นนอกของต้นโอ๊ก โดยชั้นเนื้อไม้ที่ลอกออกมาจะประกอบไปด้วยเซลล์ขนาดเล็กที่รวมตัวกันในลักษณะรวงผึ้ง จึงทำให้มีน้ำหนักเบา พื้นผิวมีความยืดหยุ่น อีกทั้งยังสามารถกันความชื้น และดูดซับเสียงได้ดี พื้นประเภทนี้จึงมีคุณสมบัติพิเศษที่ค่อนข้างแตกต่างจากพื้นไม้ชนิดอื่นๆ อย่างชัดเจน

ในด้านความสวยงามของพื้นไม้คอร์กนั้น นอกจากจะดูนุ่มนวลด้วยสายตา ( Visualize ) แล้ว ยังให้ความนุ่มนวลถึงการสัมผัส ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ( Sensory ) ตั้งแต่ ตา, หู, จมูก ,รวมถึงการสัมผัสในรูปแบบต่างๆตั้งแต่เหยียบ, เดิน, นั่ง และนอน ซึ่งให้สัมผัสที่นุ่มนวลแตกต่างจากพื้นไม้ประเภทอื่นๆ จึงเป็นวัสดุที่ตอบโจทย์การใช้งานสำหรับปูพื้นห้องเด็กเล็ก ,ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ในรูปแบบ Universal Design นอกจากนี้พื้นไม้คอร์กยังจัดเป็นวัสดุธรรมชาติ 100% และเป็น ECO Material ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย 

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลัก

พื้นไม้คอร์ก ทำมาจากเปลือกไม้ชั้นนอกของต้นโอ๊ก 2 สายพันธุ์ได้แก่ คอร์กโอ๊ก กับไลฟ์โอ๊ก โดยชั้นเนื้อไม้ที่ลอกออกมาจะประกอบไปด้วยเซลล์ขนาดเล็กที่รวมตัวกันในลักษณะรวงผึ้ง จึงทำให้มีน้ำหนักเบา โครงสร้างทางกายภาพมีความยืดหยุ่น และง่ายต่อการบีบอัดเป็นแผ่น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความแข็งแรงทนทาน 

โดยของเหลว และก๊าซจึงไม่สามารถซึมผ่านได้ นอกจากจากนี้ยังสามารถปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิ และความดันได้ดี รวมถึงสามารถป้องกันความชื้น (ไม้คอร์กที่ผสมสารประกอบพิเศษ จะสามารถกันน้ำได้) และดูดซับเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทนไฟได้ดีในระดับหนึ่งอีกด้วย

Benefit : ข้อดี

- ทำให้ห้องเงียบ เพราะมีการดูดซับเสียงที่ดีกว่าวัสดุพื้นประเภทอื่นๆ 

- ช่วยลดแรงกระแทก เนื่องจากพื้นที่มีความนุ่มนวล และยืดหยุ่นสูง ทำให้ลดแรงกระแทกในการเดิน นั่งนอน โดยเฉพาะลดการเกิดอันตรายต่อเด็ก และผู้สูงวัย

- สามารถปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิ และความดันได้ดี จึงทำให้อุณหภูมิของร่างกายไม่เย็นจนเกินไป เพราะเนื่องจากพื้นไม้คอร์กจะรักษาอุณหภูมิภายในตัววัสดุให้มีความอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา มือเท้าที่สัมผัสไม่เย็นจนเกินไป ทำให้เกิดสภาวะสบายในการอยู่อาศัย

- มีความทนทาน ของเหลว และก๊าซจึงไม่สามารถซึมผ่านได้ 

- จัดเป็นวัสดุธรรมชาติ 100% และเป็น ECO Material ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการตัดไม้จริงจากป่าธรรมชาติ

- ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อน และรักษาอุณหภูมิให้คงที่อยู่ตลอดเวลา

- ไม้คอร์กบางชนิดมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถป้องกันน้ำ และคราบสกปรกได้ จึงสามารถนำไปใช้กับห้องน้ำได้

- สามารถรีไซเคิลนำกลับไปใช้ใหม่ได้

- ชั้นเนื้อไม้ประกอบไปด้วยเซลล์ขนาดเล็กที่รวมตัวกันในลักษณะรวงผึ้ง จึงทำให้มีน้ำหนักเบา และง่ายต่อการบีบอัด

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ในกรณีที่เกิดความเสียหาย ซึ่งจะต้องเปลี่ยนทั้งแผง

- การป้องกันความชื้นมีข้อจำกัด

- ราคาค่อนข้างสูง การดูแล ระมัดระวังจะมากกว่าพื้นทั่วไป

Application : การนำไปใช้งาน

เหมาะกับการนำไปใช้ปูพื้นภายในอาคารเท่านั้น

พื้นหินอ่อน (Marble Flooring) คืออะไร

พื้นหินอ่อน คือ พื้นหินที่ได้มาจากวัตถุดิบในธรรมชาติ จัดเป็นวัสดุที่สะท้อนถึงความสง่างาม หรูหราอย่างมีระดับ ในอดีตจึงนิยมนำหินอ่อนมาใช้งานกันอย่างแพร่หลาย แต่ในปัจจุบันมีการนำมาใช้งานน้อยลง เพราะมีวัสดุทดแทนที่ให้คุณสมบัติ และความสวยงามที่ใกล้เคียง หรือ ดีกว่าเพิ่มมากขึ้น 

หินอ่อนถือเป็นหินที่มีเนื้อละเอียดที่เกิดจากการตกผลึกตามธรรมชาติ อันเนื่องมาจากการทับถมของชั้นแคลเซียมคาร์บอเนต(หินปูน) ที่ตกตะกอนสะสมอยู่ในท้องทะเล หรือมหาสมุทร กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ หรือ ทางธรณีวิทยา โดยมีการเคลื่อนไหวของพื้นดินใต้ท้องทะเลเกิดการยุบตัว สลับกับการดันตัวขึ้นในบริเวณนั้น 

จึงทำให้บริเวณท้องทะเลดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ ที่โผล่พ้นน้ำ บางจุดมีลักษณะเป็นภูเขา หรือ ผาหินขนาดใหญ่จนกลายเป็นแหล่งหินอ่อน (หรือกล่าวอย่างง่ายๆก็คือ พื้นที่ ที่เคยอยู่ในน้ำทะเลจะดันตัวขึ้นมาจนโผล่พ้นน้ำอยู่บนบก พื้นที่ ที่เคยอยู่บนบก จะยุบตัวลงกลายเป็นท้องทะเล) ซึ่งหินอ่อนที่เกิดจากการตกตะกอนของแคลเซียมคาร์บอเนตเพียงอย่างเดียวจะมีลวดลายสีขาว เทา น้ำตาล ชมพู เขียวผสมขาว ฯลฯ โดยอาจมีก้อนสี หรือ เส้นสีที่เกิดจากสายแร่ หรือคาร์บอนเจือปน จึงทำให้หินอ่อนในประเทศสวยสู้หินอ่อนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศไม่ได้ ซึ่งหินอ่อนที่เกิดจากลักษณะเช่นนี้จะพบมากทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และบางจังหวัดของภาคใต้ ในประเทศไทย

แต่การที่จะทำให้เกิดหินอ่อนธรรมชาติที่มีลวดลายสวยงาม เนื้อหินมีความละเอียด หรือ มีผลึก รวมถึงสีขาวขุ่นที่พิเศษแตกต่างจากหินอ่อนที่เกิดจากการตกตะก่อนเพียงอย่างเดียว จะต้องมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆประกอบด้วย เช่น ผ่านกระบวนการทางธรณีวิทยาโดยถูกแมกมาจากภูเขาไฟใต้ทะเลไหลออกมาทับชั้นตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนตที่ตกตะกอนสะสมอยู่ในท้องทะเล ซึ่งแมกมาที่ไหลออกมานั้นเต็มไปด้วยความร้อน ความดัน และก๊าซต่างๆ เมื่อทำปฏิกิริยากับแคลเซียมคาร์บอเนตจึงทำให้เกิดการละลายตกผลึกเป็นหินอ่อนที่มีลักษณะเฉพาะตัวขึ้นมาได้ในที่สุด

ดังนั้นเราจึงมักจะพบว่ามีการสั่งหินอ่อนเข้ามาจากประเทศอิตาลี เนื่องจากสีของหินอ่อนที่มาจากอิตาลีเกิดจากปัจจัยแวดล้อมทางธรณีวิทยาที่มีความหลากหลายผสมผสานกัน จึงทำให้มีผลึก และลวดลายที่งดงามต่างจากหินอ่อนในประเทศไทย หรือหินอ่อนที่มาจากแหล่งอื่นๆที่มักจะเกิดจากการตกตะกอนแบบธรรมดาเพียงอย่างเดียว ประกอบกับหินอ่อนในประเทศไทยมีลวดลายไม่ชัดเจน มักมีหินอื่นเจือปนอยู่เป็นจำนวนมาก สีของลายจึงไม่สม่ำเสมอ เมื่อนำมาปูพื้นเป็นพื้นที่สเกลใหญ่ๆ มักเกิดการเพี้ยนของสี แม้จะเป็นหินอ่อนที่มาจากแหล่งเดียวกัน ดังนั้นเวลาใช้หินอ่อนปูพื้น ในขนาดสเกลใหญ่ๆจึงมีผู้นิยมใช้หินอ่อนที่สั่งจากต่างประเทศมากกว่าในไทย

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลัก

เนื้อหินอ่อนมีแคลเซียมคาร์บอเนต(หินปูน) เป็นส่วนประกอบหลัก โดยอาจมีเศษหิน ,เส้นคาร์บอน และสายแร่อื่นๆเจือปนรวมอยู่ด้วยในอัตราส่วนเล็กน้อย ซึ่งแหล่งหินอ่อนบางแห่งของโลกอาจมีแมกมาที่เย็นแล้วผสมอยู่ในเนื้อหินอ่อนด้วย เนื่องจากอยู่ใกล้รัศมีภูเขาไฟที่กำลังปะทุตามกระบวนการทางธรณีวิทยา โดยสามารถจำแนกหินอ่อนตามลักษณะทางธรณีวิทยา ได้ดังนี้

- โทนสี 

หินอ่อนโดยทั่วไปมีหลายสี เช่น สีขาว ,เทา ,น้ำตาล ,ชมพู ,เขียวผสมขาว ,สีชมพูเจือขาว ,สีขาวขุ่นมีเส้นสีเทาเจือเล็กๆ ,สีเขียวเข้ม ฯลฯ 

- ลวดลาย

ลวดลายนั้น มีลักษณะเป็นลายเส้น หรือ มีผลึกผสม ในอัตราส่วนมากน้อยไม่เท่ากัน  ซึ่งหินอ่อนบางแผ่นอาจมีแค่โทนสีอย่างเดียวโดยไม่มีลวดลายเลยก็ได้

- เนื้อหิน 

ความหนาแน่นของเนื้อหินอ่อนมีค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมีรูพรุนอยู่บ้างตามลักษณะทางธรรมชาติ มีคุณลักษณะที่ไม่ดูดซับน้ำ ไม่เก็บความร้อน แต่ชอบดูดซับความเย็น

- ลวดลายหินอ่อนในประเทศไทย

ที่นิยมใช้กัน ได้แก่ ดำไทย ,เขางอบ ,ชมพูพรานกระต่าย ,ทราเวอร์ทีน ,แดงปราจีน ,ตาหวาน ,ขาวสระบุรี และชมพูทับกวาง

- ลวดลายหินอ่อนต่างประเทศ (ที่นิยมนำเข้ามาใช้งาน)

ที่นิยมใช้กัน ได้แก่ ขาวคาราร่า ,เขียวอิตาลี ,ครีมมาเฟิล ,โกลเด้นดราก้อน และเอ็มเพอราโด้

Benefit : ข้อดี

- เป็นวัสดุที่ให้ความเงางาม หรูหรา ด้วยลวดลายที่เป็นธรรมชาติ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

- มีความทนทาน มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน (ไม่ผุ ไม่บวม ไม่กรอบ ไม่ขึ้นสนิม เหมือนวัสดุอื่นๆ ถ้าดูแลอย่างสม่ำเสมอ และเหมาะสมหินอ่อนจะเป็นวัสดุที่สามารถมีอายุการใช้งานได้นับ 100 ปี ดังที่เรามักจะเห็นการนำหินอ่อนไปตกแต่งปราสาท หรือพราะราชวัง ถึงตัวอาคารจะมีอายุนับร้อยปี แต่วัสดุอย่างหินอ่อนก็ยังคงทนทานไม่บุบสลาย)

- ช่วยให้บรรยากาศภายในอาคารมีความเย็นสบาย

- ติดตั้ง และทำความสะอาดได้ง่าย

Disadvantage : ข้อเสีย

- ไม่ทนต่อกรด ถ้าโดนน้ำส้มสายชูก็จะเกิดรอยด่าง ถ้าเป็นหินอ่อนสีขาวจะด่างเป็นสีเหลือง 

- หินอ่อน (เพียงบางชนิดเท่านั้น) ไม่เหมาะสมกับการนำไปใช้ตกแต่งอาคารที่อยู่ชายทะเล เพราะไอเค็มของน้ำทะเลจะกัดกร่อนผิวหน้าของหินอ่อน (ส่วนใหญ่จะมีโอกาสเกิดขึ้นสูงมากๆกับหินอ่อนราคาถูก เพราะคุณภาพที่ถูกตามไปด้วย จึงไม่สามารถป้องกันไอเค็มทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ)

- ความร้อนของแสงแดดสามารถทำให้สีของหินอ่อนซีดจางได้ จึงไม่เหมาะที่จะนำไปตกแต่งในพื้นที่โดนแสงจัด (ส่วนใหญ่มักจะนิยมใช้หินอ่อนสีขาวเพราะถึงแม้สีจะซีดจางลงบ้างแต่ก็เห็นไม่ชัดเจนนัก)

- ควบคุมลวดลาย และสีสัน รวมไปถึงตำหนิต่างๆได้ยากเนื่องจากเป็นวัสดุธรรมชาติ และต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญในการติดตั้ง ซึ่งหาได้น้อย

- มีน้ำหนักค่อนข้างมาก และมีราคาแพง

- ไม่ค่อยทนต่อรอยขีดข่วนมากนัก

- อุณหภูมิพื้นผิวมีความเย็น

- ผิวสัมผัสมีความลื่นเมื่อโดนน้ำ อาจเป็นอันตรายได้

Application : การนำไปใช้งาน

เหมาะกับการนำไปใช้ปูพื้นภายในอาคาร 

(ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานภายในอาคารสาธารณะที่มีคนพลุกพล่าน หรือ พื้นที่ ที่มีการขนลำเลียงสิ่งของ และลากจูงสิ่งของที่มีน้ำหนักมากบนพื้นบ่อยๆ)

พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต (Wood Plastic Composite Flooring หรือ WPC) คืออะไร

พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต คือ วัสดุปูพื้นที่มีส่วนผสมของไม้ และพลาสติก มีทั้งหน้าตัดแบบกลวง และหน้าตัดแบบตัน ซึ่งคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์นั้นๆจะโดดเด่น และโน้มเอียงไปทางไหนก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของไม้ และพลาสติกที่นำมาผสมกันนั่นเอง

ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเห็นพื้นไม้พลาสติกคอมโพสิตถูกนำไปใช้งานภายนอกอาคารเสียเป็นสวนใหญ่ เช่น พื้นรอบๆสะว่ายน้ำ พื้นทางเดินในสวน หรือ พื้นระเบียงภายนอก ฯลฯ โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 10 ปี 

Raw Material : วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลัก

โดยทั่วไปแล้วขั้นตอนการผลิตพื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต จะมี 2 ขั้นตอนหลักๆ คือ

- การนำไม้ และเม็ด พลาสติกมาผสมกัน

- การขึ้นรูปพื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต โดยใช้วิธีต่างๆกัน เช่น การอัด รีดขึ้นรูป (Extrusion) ,การฉีดขึ้นรูป (Injection) และการใช้เครื่องนาบหรือเครื่องกดความร้อนขึ้นรูป (Hot Press)

นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตยังสามารถแบ่งประเภทของส่วนผสมต่างๆ ได้ดังนี้

- ไม้สังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของ Polyethylene (PE based ) ผสมกับผงไม้

- ไม้สังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของ Polypropylene (PP based ) ผสมกับผงไม้

- ไม้สังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของ Poly vinyl chrolide (PVC based ) ผสมกับผงไม้

Benefit : ข้อดี

- ไม่มีมอด และแมลงรบกวน

- มีความแข็งแรงทนทาน และมีน้ำหนักเบากว่าไฟเบอร์ซีเมนต์ที่ขนาดความหนาเท่ากัน

- ทนทานต่อความชื้น (ขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างไม้กับพลาสติกว่าอันไหนสัดส่วนมากน้อยกว่ากัน)

- มีสีภายในตัว ลดขั้นตอนในการทาสี

- ติดตั้งง่าย สามารถตัดแต่งได้เหมือนไม้จริง

- สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้

- ไม่ลามไฟ และไม่ติดไฟ

- มีความเหนียวกว่าไม้เทียมประเภทไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยสามารถทำโครงสร้างรับน้ำหนักบางประเภทได้

Disadvantage : ข้อเสีย

-  เมื่อใช้งานไปนานๆหลายปี และโดนแดดจัดๆ สีจะซีดจางลง และอาจมีอาการเหี่ยว

- ไม่ค่อยเหมือนไม้จริงทั้งสีสัน และผิวสัมผัส

- พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิตหลายรุ่นไม่สามารถทาสีทับได้ ดังนั้นเมื่อเกิดรอยใหญ่และลึกจึงซ่อมแซมได้ยาก

Application : การนำไปใช้งาน

พื้นไม้พลาสติกคอมโพสิตที่มีส่วนผสมของ PVC จะเหมาะกับการใช้งานภายในอาคารมากกว่า 

ส่วนพื้นไม้พลาสติกคอมโพสิตที่มีส่วนผสมของ PP และ PE  จะเหมาะกับการใช้งานภายนอกอาคารมากกว่า เนื่องจากทนแดด ทนฝนได้ดีกว่า (ส่วนใหญ่แล้วพื้นไม้พลาสติกคอมโพสิตมักนิยมนำไปใช้ภายนอกอาคารมากกว่าภายในอาคาร)

ทั้งนี้ก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้วัสดุปูพื้นประเภทใดๆนั้น ควรไตร่ตรองดูอย่างละเอียดในทุกๆมิติ เนื่องจากมีองค์ประกอบในการตัดสินใจที่หลากหลาย นอกจากข้อมูลคุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย ของวัสดุปูพื้นแต่ละประเภท​ ชุดนี้แล้ว 

เราควรพิจารณาดูว่าวัสดุปูพื้นประเภทนั้นๆมีความเหมาะสมกับบริบทสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ที่เราจะตกแต่งมากน้อยเพียงใด รวมถึงปัจจัยอื่นๆอีก เช่น ความปลอดภัยในการใช้งาน ,ความสวยงาม ,การดูแลรักษา ,การทำความสะอาด ,การซ่อมบำรุง หรือ อายุการใช้งาน เพราะเมื่อตัดสินใจไปแล้วมันจะอยู่กับคุณไปอีกนาน และคงไม่มีใครอยากจะแก้ไข หรือ ปรับปรุงบ่อยๆแน่นอน

ถ้าหากบทความนี้ให้ความรู้ และเป็นประโยชน์กับทุกๆท่าน กรุณาช่วยแชร์ต่อเพื่อเป็นกำลังใจให้ wazzadu.com ด้วยนะครับ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ