รวมข้อมูลวัสดุศาสตร์ คุณสมบัติและข้อดี-ข้อเสีย ของกระจก 15 ประเภท ที่ใช้ทำประตูกระจกหน้าบ้าน
Type: Decorative Material (วัสดุตกแต่ง)
Category: Glass Door (ประตูกระจก)
Summary Product Data: ข้อมูลที่น่าสนใจของกระจกที่นำมาใช้ทำประตู
กระจกนั้นมีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็มีความแตกต่างกันทั้งทางด้านรูปลักษณ์ คุณสมบัติ และการใช้งาน โดยในบทความนี้เราได้คัดมาเฉพาะกระจกที่นิยมนำมาทำเป็นประตูหน้าบ้านหรือประตูทางเข้าอาคาร ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น Wazzadu ย่อยมาให้แล้วไปชมกันเลยครับ
1. กระจกโฟลตใส (Clear Annealed Glass/ Clear Floated Glass)
กระจกโฟลต คือกระจกที่มีความโปร่งแสงสูง ผิวเรียบสนิท มีความแข็งแรงพอสมควร กระจกโฟลตในท้องตลาด ที่นิยมนำไปใช้งานจะมีขนาดความหนาตั้งแต่ 2 มม. ไปจนถึง 19 มม.ในกรณีที่ต้องการทำกระจกสีตัดแสง จะมีการผสมโลหะออกไซด์เข้าไปในส่วนผสม (Batch Mix) ในขั้นตอนการผลิตกระจก เพื่อให้เกิดสีสัน และคุณสมบัติในการดูดกลืนความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ส่องมากระทบผิวกระจก และช่วยลดปริมาณแสงที่ผ่านกระจก จึงทำให้ได้แสงที่นุ่มนวล และเกิดความสบายตาในการมอง ซึ่งปริมาณแสงที่จะทะลุผ่านกระจกสีนั้นจะขึ้นอยู่กับความเข้มของสี ความหนา และสีของกระจก
การกระจกโฟลตใสมาเป็นส่วนประกอบของประตูหน้าบ้านนั้น จะช่วยให้แสงสว่างสามารถผ่านได้เต็มที่ แต่ความร้อนก็ผ่านได้เต็มที่เช่นกัน โดยค่าส่งผ่านความร้อนสูงถึง 81% เลยทีเดียว แต่ข้อดีคือช่วยในเรื่องของการมองเห็น สิ่งที่มองผ่านกระจกนั้นจะเห็นเป็นสีจริงไม่ผิดเพี้ยน หากต้องการกันความร้อนสามารถติดตั้งม่านได้
Advatage: ข้อดี
- โปร่งใส ให้แสงส่องผ่านได้สูง
- สามารถนำไปเคลือบโลหะเป็นกระจกสะท้อนแสง และกระจกประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี
- ทนการขูดขีด ผิวเรียบ ให้มิติการสะท้อนที่สมบูรณ์
- สามารถนำไปแปรรูปในการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระจกเทมเปอร์, กระจกลามิเนต, กระจกฉนวนความร้อน, กระจกเคลือบสี, กระจกเงา, กระจกดัดโค้ง, กระจกพ่นทราย, กระจกแกะสลัก, กระจกพิมพ์ลาย และอื่นๆ เป็นต้น
Disadvantage: ข้อเสีย
- ปริแตกง่ายจึงเสี่ยงต่อความปลอดภัย เนื่องจากลักษณะการแตกที่เป็นปากฉลามมีความแหลมคม
- ไม่ทนต่ออุณหภูมิสูง
- มีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก และไม่สามารถทนต่อแรงดันลมในที่สูงได้
2. กระจกโฟลตสีเขียว (Green Floated Glass)
กระจกโฟลตสีเขียว เป็นกระจกตัดแสงประเภทหนึ่งที่ให้แสงสว่างส่องผ่านได้มากถึง 75% รองจากกระจกโฟลตใส และให้ความร้อนผ่านได้แค่ 49% เท่านั้น ด้วยคุณสมบัตินี้กระจกโฟลตสีเขียวจึงเป็นที่นิยมใช้มากกที่สุด ซึ่งช่วยให้ได้ทั้งความเย็น และความสว่างปลอดโปร่งไปพร้อมกันเหมาะกับการใช้งานในอาคารพักอาศัยโดยทั่วไป เมื่อนำไปใช้เป็นประตูกระจกหน้าบ้านจะช่วยกรองแสงได้ดี ลดปริมาณความร้อนที่เข้าสู่ตัวอาคารได้
Advatage: ข้อดี
- โปร่งใส ให้แสงส่องผ่านได้สูง รองจากกระจกโฟลตใส
- เป็นกระจกที่ช่วยประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี
- ทนการขูดขีด ผิวเรียบ ให้มิติการสะท้อนที่สมบูรณ์
- มีหลากหลายความเข้มของสีให้เลือกใช้
- นำไปแปรรูปเป็นกระจกลามิเนตได้
Disadvantage: ข้อเสีย
- ปริแตกง่ายจึงเสี่ยงต่อความปลอดภัย เนื่องจากลักษณะการแตกที่เป็นปากฉลามมีความแหลมคม
- ไม่ทนต่ออุณหภูมิสูง
- มีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก และไม่สามารถทนต่อแรงดันลมในที่สูงได้
- ทัศนวิสัยที่ได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากมีสีเขียวเจืออยู่
3. กระจกโฟลตสีฟ้า (Blue Floated Glass)
กระจกโฟลตสีฟ้าเป็นกระจกตัดแสงที่ดีขึ้นมามากว่ากระจกสีเขียว โดยความร้อนจะผ่านได้เพียง 43% และเปิดรับแสงธรรมชาติอย่างพอเหมาะที่ 58% ทั้งนี้ราคาจะสูงกว่ากระจกสีเขียว ซึ่งความเข้มและเฉดของสีนั้นก็มีให้เลือกหลากหลายขึ้นอยู่กับมาตรฐานของผู้ผลิตแต่ละราย นิยมนำไปเป็นส่วนประกอบของประตูกระจกอาคารโมเดิร์น มากกว่าประตูกระจกหน้าบ้าน
Advatage: ข้อดี
- เป็นกระจกที่ช่วยประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี
- ทนการขูดขีด ผิวเรียบ ให้มิติการสะท้อนที่สมบูรณ์
- มีหลากหลายความเข้มของสีให้เลือกใช้
- นำไปแปรรูปเป็นกระจกลามิเนตได้
Disadvantage: ข้อเสีย
- ปริแตกง่ายจึงเสี่ยงต่อความปลอดภัย เนื่องจากลักษณะการแตกที่เป็นปากฉลามมีความแหลมคม
- ไม่ทนต่ออุณหภูมิสูง
- มีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก และไม่สามารถทนต่อแรงดันลมในที่สูงได้
- ทัศนวิสัยที่ได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากมีสีฟ้าเจืออยู่
- ราคาสูงกว่ากระจกโฟลตใส และโฟลตเขียว
4. กระจกโฟลตสีชา (Bronze Floated Glass)
กระจกโฟลตสีชาเป็นสีที่ความร้อนผ่านได้น้อยมากสุดนั่นประมาณ 34% แต่มีข้อเสียคือแสงสว่างผ่านได้น้อยมากเช่นกัน ประมาณ 22% จึงเหมาะสำหรับพื้นที่ที่แสงแดดส่องจัดมาก จึงควรมีการออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่างเสริม ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศโดยรวมดูดีขึ้นมาได้
นิยมใช้เป็นส่วนประกอบของประตูกระจกหน้าบ้าน โดยกรอบบานที่ใช้มักเป็นไม้หรืออลูมิเนียม ซึ่งเน้นประโยชน์ของการกรองแสงเป็นหลัก
Advatage: ข้อดี
- ช่วยกรองแสงและความร้อนได้มาก
- เป็นกระจกที่ช่วยประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี
- ทนการขูดขีด ผิวเรียบ ให้มิติการสะท้อนที่สมบูรณ์
- มีหลากหลายความเข้มของสีให้เลือกใช้
Disadvantage: ข้อเสีย
- ปริแตกง่ายจึงเสี่ยงต่อความปลอดภัย เนื่องจากลักษณะการแตกที่เป็นปากฉลามมีความแหลมคม
- มีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก และไม่สามารถทนต่อแรงดันลมในที่สูงได้
- ทัศนวิสัยที่ได้ไม่ชัดเจน เนื่องจากมีชาค่อนข้างเข้มหากใช้กับประตูกระจกหน้าบ้านบานใหญ่ๆ ผู้อยู่อาศัยอาจรู้สึกอึดอัดได้
- ไม่เหมาะกับการใช้เป็นประตูกระจกหน้าบ้านที่เป็นร้านค้า
5. กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass)
กระจกเทมเปอร์ คือการนำกระจกธรรมดาไปผ่านกระบวนการอบที่ความร้อนสูงประมาณ 650 องศาเซลเซียส แล้วนำมาเป่าด้วยลมแรงดันสูงให้เย็นตัวลงทันที เพื่อให้กระจกเกิดความแข็งแกร่งกว่าเดิม 3-5 เท่า ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และมีความปลอดภัยมากขึ้น
ในกรณีที่กระจกเทมเปอร์เกิดการแตกหัก จะแตกออกเป็นเม็ดคล้ายเม็ดข้าวโพด ซึ่งมีความแหลมคมไม่มาก ทำให้มีโอกาสเกิดอันตรายน้อยกว่ากระจกธรรมดา เหมาะสำหรับงานที่มีความเสี่ยงต่อการแตกร้าว และต้องการความปลอดภัยที่เกิดจากกระจกแตกร้าว (safety) โดยขนาดความหนาของกระจกนิรภัยเทมเปอร์ ที่นิยมผลิตในท้องตลาด คือ 4, 5, 6, 8, 10, 12, 15, 19 มิลลิเมตร
นิยมใช้เป็นประตูกระจกหน้าบ้าน โดยเฉพาะประตูกระจกบานเปลือยซึ่งมีบานฟิกซ์ด้านข้างเป็นกระจกเทมเปอร์เช่นกัน ส่วนใหญ่ใช้กับอาคารพาณิชย์ที่เปิดเป็นร้านค้าด้านล่าง และใช้ควบคู่กับประตูเหล็กบานม้วนเพื่อความปลอดภัย
Advatage: ข้อดี
- มีความแข็งแรงกว่ากระจกโฟลท 4-5 เท่า ทำให้สามารถรับแรงกระแทก แรงกด และแรงบีบได้ดี
- ทนความร้อนได้สูงถึง 290ºC โดยกระจกไม่แตก
- ทนการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลันได้ถึง 150ºC
- เมื่อกระจกแตก จะแตกเป็นชิ้นเล็กๆ คล้ายเม็ดข้าวโพดทั่วทั้งแผ่น จะไม่แตกเป็นปากฉลามแบบเดียวกับการแตกของกระจกธรรมดา จึงมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
- ถ้าหากตัดกระจกบนโต๊ะตัดที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ความเที่ยงตรงสูง จะสามารถตัดได้หลากหลายรูปแบบ
Disadvantage: ข้อเสีย
- กระจกเทมเปอร์จะไม่สามารถ ตัด เจาะ เจียร บาก ในภายหลังได้ ต้องกำหนดขนาดของแผ่น รวมทั้งระบุตำแหน่งและขนาดที่ต้องการเจาะให้ครบถ้วนก่อนนำไปอบ ดังนั้นการวัดพื้นที่ติดตั้งงานจำเป็นต้องวัดอย่างระมัดระวัง และควรใช้เป็นหน่วยมิลลิเมตรในการวัดเพื่อความแม่นยำ
- เนื่องด้วยกระจกนิรภัยเทมเปอร์ เป็นกระจกที่ผ่านกระบวนการความร้อนสูงจนทำให้กระจกนิ่มและกลิ้งไปกับลูกกลิ้ง จึงทำให้กระจกมีโอกาสเกิดเป็นคลื่น และมีความโก่งตัวเล็กน้อย
- กระจกนิรภัยเทมเปอร์มีโอกาสปริแตกด้วยตัวเอง หากเนื้อกระจกที่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิต มีสารปนเปื้อน คือ สารนิเกิ้ลซัลไฟล์ (NiS) ในกระบวนการผลิตกระจก โดยจะมีอัตราการแตกด้วยตัวเองเฉลี่ย 8 แผ่นใน 1,000 แผ่น
6. กระจกลามิเนต (Laminated Glass)
กระจกลามิเนต จัดเป็นกระจกนิรภัยชนิดหนึ่ง ที่เวลาแตกแล้วเศษกระจกจะยังคงยึดติดกันโดยไม่ร่วงหล่น เพราะมีชั้นฟิล์มที่ยึดเกาะระหว่างแผ่นกระจกเหมือนกับใยแมงมุม โดยเป็นการนำเอากระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass) หรือกระจกโฟลต (Annealed Glass / Floated Glass) จำนวน 2 แผ่น หรือมากกว่า นำมาประกบติดกันโดยมีชั้นฟิล์มคั่นกลางระหว่างกระจก ซึ่งสามารถเลือกสีของฟิล์มได้ ส่วนใหญ่ใช้ฟิล์ม PVB
เหมาะสำหรับบ้านโมเดิร์นที่ประตูกระตกหน้าบ้าน หรือประตูกระจกภายในตัวบ้านเป็นอะลูมิเนียมบานใหญ่ เพื่อช่วยในการกรองแสง และเหมาะที่จะใช้เป็นส่วนประกอบของประตูกระจกหน้าบ้านที่ต้องการกันเสียงรบกวนจากภายนอก เช่น เสียงดังจากการจราจร
Advatage: ข้อดี
- เมื่อกระจกได้รับความเสียหายจนเกิดการแตก เศษกระจกจะไม่ร่วงหล่นลงมา ซึ่งช่วยลดอันตรายได้มากขึ้น
- ช่วยป้องกันเสียงรบกวนภายนอก และเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา
- ช่วยป้องกันความร้อนได้ดี และกันรังสียูวีได้มากกว่า 90 %
- ทนต่อแรงดันลมในที่สูง ทนต่อแรงอัดกระแทก และช่วยป้องการบุกรุกจากการโจรกรรมได้
- สามารถเปลี่ยนสีได้โดยใช้สีของฟิล์ม
Disadvantage: ข้อเสีย
- เมื่อเทียบความหนาในขนาดเดียวกัน กระจกนิรภัยลามิเนตจะรับแรงได้น้อยกว่ากระจกธรรมดา เช่น กระจกลามิเนต 4 มม. + ฟิล์ม + 4 มม. จะรับแรงกระแทกได้น้อยกว่า กระจกใสธรรมดาที่หนา 8 มม.
- ฟิล์ม PVB มีคุณสมบัติดูดความชื้น จึงทำให้ถ้าใช้กระจกนี้บริเวณที่มีความชื้นสูง จะทำให้การยึดเกาะระหว่างกระจกและฟิล์มไม่ดี และอาจเกิดการแยกตัวออกจากกันได้
- เมื่อใช้งานไปนานๆ จะเกิดการแยกตัวของกระจกลามิเนต โดยมีศัพท์ที่เรียกว่า Delamination ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณขอบกระจก, บริเวณรอยบาก หรือขอบที่เจาะรูยึดกับฟิตติ้งในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัญหาลักษณะนี้จะค่อยๆเกิดขึ้นหลังจากใช้งานไปแล้วสักระยะ(ตั้งแต่ 1 หรือ 2 ปีขึ้นไป) ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุหลัก เช่น ตัวฟิล์มที่เสื่อมสภาพหรือมีการดูดซับความชื้นเข้าไป หรือเกิดจากการใช้งานเช่นการติดตั้งกับฟิตติ้งที่มุมกระจกที่มีแรงบิดมากระทำจึงทำให้เกิดการแยกตัวของกระจกและชั้นฟิล์ม
7. กระจกฝ้าพ่นทราย (Frosted Glass)
กระจกพ่นทรายคือกระจกที่ผ่านกรรมวิธีการทำลวดลาย โดยวิธีพ่นทราย ซึ่งทำให้เกิดลวดลายบนกระจกได้โดยทรายที่ใช้คืออะลูมินัมออกไซด์ (Aluminum Oxide) มีลักษณะเป็นผงละเอียด แต่ละเม็ดจะมีความแข็งและมีความคมสูง เมื่อถูกพ่นลงบนผิวแก้วด้วยความเร็วสูงจะสามารถกัดกร่อนผิวแก้วให้เกิดเป็นรอยฝ้าลึกลงไปเนื้อแก้ว ทรายที่ใช้นอกจากจะใช้อะลูมินัมออกไซด์แล้ว ยังสามารถใช้ทรายจากธรรมชาติได้โดยการร่อนเอาเฉพาะทรายที่ละเอียดมาก และต้องใช้เครื่องพ่นทรายที่มีแรงพ่นสูงมากขึ้น เพราะทรายจากธรรมชาติจะมีความแข็งและความคมน้อยกว่าอะลูมินัมออกไซด์
เหมาะสำหรับใช้ทำประตูกระจกที่ต้องการกั้นพื้นที่และเน้นความเป็นส่วนตัวเนื่องจากผิวพ่นทรายทำให้ไม่สามารถมองผ่านกระจกไปอีกด้านได้ แต่ยังสามารถเห็นเป็นเงาลางๆ เพื่อให้เห็นว่าอีกด้านยังมีผู้ใช้งานอยู่ เหมาะสำหรับเป็นประตูกระจกหน้าบ้าน หรือประตูกระจกสำหรับห้างร้าน ที่ต้องการเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจากกระจกพ่นทรายสามารถทำลวดลายหรือเป็นโลโก้ตามที่ต้องการได้
Advatage: ข้อดี
- สามารถสลักลวดลายลงบนผิวกระจกอย่างถาวร ตามแบบ ตามดีไซน์ได้
- ช่วยบังสายตาโดยใช้ลวดลาย ซึ่งสามารถออกแบบให้มีทั้งส่วนทึบสลับกับส่วนโปร่งใสได้
Disadvantage: ข้อเสีย
- เมื่อใช้ไปวักพักจะเกิดรอยคราบนิ้วมือ และคราบสกปรกที่ผิวกระจกได้ แต่ปัจจุบันก็มีน้ำยาเคลือบผิวเพื่อป้องกันในส่วนของผิวกระจกที่หยาบๆ เกิดความลื่น เกิดคราบสกปรกต่างๆ ได้ยากขึ้น แต่น้ำยาเหล่าเมื่อใช้งานไปซักพักคุณภาพจะค่อยๆลงไป
- หากใช้น้ำยาเคลือบกระจกร่วมด้วยจะทำให้ราคาสูงขึ้น
8. กระจกฝ้าซาติน (Satin/Acid-etched Glass)
กระจกฝ้าซาตินหรือกระจกกัดกรด คือกระจกที่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้กระจกนั้นหมดความใส โดยใช้กรดชนิดรุนแรงกัดบนผิวกระจกบางๆ ซึ่งกรดนี้จะทำปฏิกริยากัดผิวกระจก ทำให้เนื้อกระจกถูกกัดจนกลายจากใสเป็นฝ้า ผิวกระจกที่ได้จะไม่เป็นขุยและเรียบเนียนกว่ากระจกฝ้าที่เกิดจากขบวนการพ่นทราย วัตถุประสงค์คือช่วยลดการมองผ่านทะลุแต่ไม่มืดในทีเดียว กล่าวคือแสงยังสามารถผ่านกระจกเข้ามาเพื่อทำให้พื้นที่ภายในสว่างขึ้นแต่ไม่สามารถมองเห็นภาพข้างหลังกระจก ได้ชัดเจน สิ่งที่เห็นมีเพียงเงาลางๆ เท่านั้น
เหมาะสำหรับใช้ทำประตูกระจกที่ต้องการกั้นพื้นที่และเน้นความเป็นส่วนตัวเนื่องจากผิวพ่นทรายทำให้ไม่สามารถมองผ่านกระจกไปอีกด้านได้ แต่ยังสามารถเห็นเป็นเงาลางๆ เพื่อให้เห็นว่าอีกด้านยังมีผู้ใช้งานอยู่ สามารถใช้เป็นประตูกระจกหน้าบ้าน หรือกั้นห้องภายในบ้านก็ได้
Advatage: ข้อดี
- ช่วยบังสายตาได้โดยที่มีแสงบางส่วนลอดเข้ามาได้
- ไม่เกิดคราบยึดติดหรือฝังในผิวได้ง่าย ไม่ทิ้งคราบรอยนิ้วมือเมื่อสัมผัสผิวกระจก สามารถทำความสะอาดเช็ดถูคราบต่างๆ ออกได้อย่างง่ายดาย
Disadvantage: ข้อเสีย
- กระจกซาตินราคาสูงกว่ากระจกพ่นทรายประมาณ 20-35%
- ปิดกั้นทัศนวิสัยในการมองเห็น ในขณะที่ยังส่งผ่านความร้อนได้อยู่
9. กระจกลวด (Wired Glass)
ช่วยต้านทานการแตกหลุดร่วงของแผ่นกระจก และช่วยในการชะลอลุกลามของเปลวไฟและควันไฟนอกจากนี้เส้นลวดที่ฝังอยู่ในเนื้อกระจกทำให้สามารถป้องกันขโมย ปกติจะใช้กับประตูหนีไฟเนื่องจากกระจกเสริมลวดสามารถเป็นผนังที่ต้านทานความร้อนได้สูงถึงเกือบ 1000 องศาเซลเซียสในระยะเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง เส้นลวดที่ฝังอยู่ใน กระจก ดังกล่าวยังช่วยยึด กระจก ไม่ให้แตกขณะเกิดอัคคีภัย เมื่อ กระจก ไม่แตก เปลวไฟและควันไฟจะไม่สามารถผ่าน กระจก เข้ามาทำอันตรายผู้คนในห้องถัดไปได้แต่ปัจจุบันนำมาใช้การตกแต่งแนว Industry โดยกระจกที่นำมาทำกระจกลวดนั้นมีทั้งแบบใส และแบบมีลวดลาย
นิยมใช้เป็นประตูกระจกหน้าบ้าน ร้านค้า หรือโรงแรม โดยใช้คู่กับบานกรอบที่เป็นไม้หรือเหล็ก นอกจากสวยงามแล้วยังช่วยในเรื่องความปลอดภัยอีกด้วย
Advatage: ข้อดี
- ป้องกันขโมยได้เนื่องจากมีความทนทานแข็งแรง
- ป้องกันการลุกลามของไฟและควันไฟได้
- มิติมุมมองที่ชวนหลงไหลผสานเข้ากับสไตล์วินเทจ
- สามารถเลือกกระจกใส หรือกระจกขุ่นก็ได้
Disadvantage: ข้อเสีย
- ราคาสูง
- ต้องกำหนดขนาดตั้งแต่ตอนสั่งซื้อ
10. สเตนกลาส รางตะกั่ว (Leaded Stained glass)
Stained glass คือการนำกระจกสีหรือกระจกเทกซ์เจอร์ ที่มีความประณีตสวยงามนำมาเรียงต่อกันกับรางโลหะที่ทำช่องสำหรับเสียบกระจกไว้ทั้งสองข้าง วิธีการทำคือค่อยๆ เชื่อมรางและชิ้นกระจกที่ถูกตัดตามลวดลายที่ออกแบบไว้ไปพร้อมๆกัน โดยตัวรางจะทำหน้าที่เป็นตัวยึดให้กระจกอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ และเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้างภายใน นิยมใช้ตกแต่งในส่วนต่างๆ โดยเฉพาะประตูและหน้าต่าง ช่วยทำให้อาคารบ้านเรือนมีความโดดเด่น สวยงาม สะดุดตา นอกจากใช้ทำประตูแล้วสามารถนำไปใช้ได้กับส่วนต่างๆ เช่น ฝ้าเพดาน ฉากกั้นห้อง โดม เป็นต้น อีกทั้งตัวกระจกยังมี ความแข็งแรง ทนทาน ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัยยังช่วยให้ประหยัดพลังงานอีกด้วย
กระจกสเตนกลาสเดิมทีนั้นใช้กับอาคารประเภทศาสนา ปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้งานกับอาคารประเภทรีสอร์ท และบ้านเรือนมากขึ้น สะท้อนความงามจากยุคเรเนซองซ์
Advatage: ข้อดี
- สวยงาม หรูหรา โดดเด่น และแสดงถึงความมีสไตล์
Disadvantage: ข้อเสีย
- ราคาสูง เนื่องจากเป็นงานฝีมือ
- ซ่อมแซมได้ยาก หากเกิดการเสียหายต้องเปลี่ยนใหม่
11. สเตนกลาส รางเงิน (Silver Stained glass)
เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความหรูหราแต่ทันสมัยแบบเรียบๆ เหมาะกับบ้าน ที่ต้องการความสวยงาม ทันสมัย และการออกแบบที่โดดเด่นสะดุดตา มักใช้กับบ้านพักอาศัยสไตล์โมเดิร์นคลาสสิค
กระจกสเตนกลาส โดยเฉพาะกระจกสเตนกลาสรางเงิน นับว่าเป็นกระจกที่นิยมนำมาทำเป็นประตูกระจกหน้าบ้านมากที่สุดเนื่องจากความละเมียดละไมของลวดลาย เหมาะกับงานตกแต่งอาคารบ้านเรือนต่างๆ ที่ต้องการความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความคลาสสิคและความโมเดิร์น
Advatage: ข้อดี
- สวยงาม หรูหรา โดดเด่น และแสดงถึงความมีสไตล์
- แข็งแรงทนทาน เนื่องจากรางเหล็กช่วยเป็นเหมือนประตูเหล็กดัดไปในตัว
Disadvantage: ข้อเสีย
- ราคาสูง เนื่องจากเป็นงานฝีมือ
- ซ่อมแซมได้ยาก หากเกิดการเสียหายต้องเปลี่ยนใหม่
12. สเตนกลาส รางทองเหลือง (Brass Stained glass)
ด้วยความโดดเด่นของทองเหลือง จึงให้ความรู้สึกหรูหรา มีระดับมากกว่ารางชนิดอื่นๆ เหมาะสำหรับการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ละเอียดอ่อนได้ดี และให้อารมณ์ความรู้สึกแบบศิลปะทรงคุณค่า สามารถกำหนดลูกเล่นได้หลากหลายรูปแบบ มีอายุการใช้งานที่ยาวนานเหมาะกับงานที่ต้องการความเป็นศิลปะแบบคลาสสิค
กระจกสเตนกลาสรางทองเหลืองเหมาะสำหรับนำมาทำเป็นประตูกระจกหน้าบ้านที่เน้นสไตล์หรูหรา ลักชูรี่ มากที่สุดเนื่องจากสีของวัสดุทองเหลืองที่สะท้อนถึงความคลาสสิค โดยมักใช้กับกระจกเจียรปลี (กระจกที่มีการปาดขอบเพื่อเพิ่มมิติการสะท้อนแสง) วัสดุที่นำมาใช้เป็นอุปกรณ์มือจับ ตัวล็อคบานหรือ ฟิตติ้ง ควรเป็นทองเหลืองด้วยเช่นกันเพื่อความกลมกลืน
Advatage: ข้อดี
- สวยงาม หรูหรา โดดเด่น และแสดงถึงความมีสไตล์
- แข็งแรงทนทาน เนื่องจากรางทองเหลืองช่วยเป็นเหมือนประตูเหล็กดัดไปในตัว
Disadvantage: ข้อเสีย
- ราคาแพงที่สุดในบรรดากระจกสเตนกลาส เนื่องจากรางเป็นวัสดุทองเหลืองและการผลิตนั้นเป็นงานฝีมือ
- ซ่อมแซมได้ยาก หากเกิดการเสียหายต้องเปลี่ยนใหม่
13. กระจกลวดลาย (Figured Glass/Patterned Glass)
เป็นกระจกที่มีลวดลายพิมพ์ลึกลงบนแผ่นกระจก ที่ให้คุณสมบัติกึ่งทึบกึ่งใส จะสามารถมองผ่านได้เพียงสลัวๆ เท่านั้น กระจกแพทเทิร์นหรือกระจกลวดลายผลิตโดยการนำกระจกที่ยังไม่แข็งตัวเข้าไปสู่แถวของลูกกลิ้ง เพื่อให้ได้ความหนาที่ต้องการ และพิมพ์ด้วยลวดลายที่ติดอยู่กับลูกกลิ้งลงบนผิวด้านใดด้านหนึ่งของกระจกหรือทั้งสองด้านก็ได้ ลวดลายมีให้เลือกหลากหลาย โดยจะทำให้มีคุณสมบัติที่โปร่งแสงแต่ไม่โปร่งใส จึงทำให้เกิดภาพที่ดูนุ่มนวลสายตา แต่ไม่สามารถมองผ่านได้ชัดเจนเหมือนกับกระจกใสธรรมดาทั่วไป เหมาะกับงานการนำมาใช้สำหรับกั้นพื้นที่ในบริเวณเดียวกันออกจากกันแต่ยังคงให้ความรู้สึกที่ต่อเนื่องอยู่
นิยมนำมาใช้ทำประตูกระจกหน้าบ้านเนื่องจากตัวกระจกนั้นแสงสามารถส่องผ่านได้ แต่มีลวดลายที่ช่วยปิดกั้นการมองเห็นช่วยให้มีความเป็นส่วนตัว
Advatage: ข้อดี
- มีหลากหลายลวดลายให้เลือกใช้
- มีทั้งแบบใสและแบบฝ้า
- เหมาะสำหรับอาคารที่ต้องการความโดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
Disadvantage: ข้อเสีย
- หากเกิดการเสียหายแล้วต้องเปลี่ยนใหม่ อาจไม่มีลายเดิม ส่งผลให้ไม่เข้าคู่กับชุดกระจกที่เหลือ
- บดบังทัศนวิสัย ไม่เหมาะสำหรับประตูกระจกร้านค้า
14. กระจกลายดอกพิกุล (Patterned Glass)
กระจกลายดอกพิกุลเป็นลายหนึ่งในบรรดาเป็นกระจกหลอมลวดลายที่นิยมใช้มากที่สุด โดยเฉพาะในงานแนวย้อนยุค หรืองานศาสนสถาน
นิยมใช้เป็นประตูกระจกหน้าบ้านโดยเน้นสไตล์ย้อนยุค หรืออาคารที่ต้องการความโดดเด่น กระจกลายดอกพิกุลมี 4 สียอดนิยมให้เลือกใช้งาน คือ สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีใส
Advatage: ข้อดี
- มีหลายสีให้เลือกใช้
- มีทั้งแบบใสและแบบฝ้า
- มีหลายความหนาให้เลือกใช้
- เหมาะสำหรับอาคารที่ต้องการความโดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
Disadvantage: ข้อเสีย
- กระจกบาง แตกหักง่าย
- ไม่สามารถนำไปทำกระจกลามิเนตได้
15. กระจกมู่ลี่ (Internal Blinds Glass)
กระจกมู่ลี่ คือการรวมกระจกฉนวนแบบอากาศแห้งกับม่านปรับแสงให้เป็นชิ้นเดียวกัน หรือ พูดง่ายๆก็คือ มู่ลี่ถูกประกบด้วยกระจกทั้ง 2 ด้าน ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดปัญหาที่พบทั่วไปในครัวเรือน ซึ่งมักจะเกิดคราบสกปรกสะสม โดยเฉพาะบ้านที่ใช้ผ้าม่าน หรือ มู่ลี่แบบปกติ ซึ่งความสะอาดได้ยาก โดยเฉพาะตามซี่ หรือ ช่องซอกของมูลี่แบบเดิม กลายเป็นแหล่งสะสมฝุ่น คราบสกปรก หรือ เชื้อโรคเอาไว้ได้ง่ายอีกด้วย ซึ่งจะทำให้มีอายุการใช้งานได้ไม่นานเท่าที่ควร
การที่มีวัสดุอย่างกระจกประกบมู่ลี่เอาไว้ จึงช่วยป้องกันคราบสกปรก และฝุ่นไม่ให้เข้าไปเกาะมู่ลี่ภายในช่องว่างระหว่างแผ่นกระจกได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ได้หลาย Solution ทั้งการเปิดบานหน้าต่างเพื่อรับลม เปิดมู่ลี่รับแสง หรือปิดเพื่อความเป็นส่วนตัวก็ได้ หากติดตั้งบริเวณประตู หรือ หน้าต่างในห้องครัว กระจกที่ประกบมู่ลี่เอาไว้ทั้ง 2 ด้าน จะช่วยป้องกันคราบมันสกปรกจากการทำอาหารได้ โดยสามารถเช็ด หรือ ทำความสะอาดได้ง่ายอีกด้วย
เหมาะสมในการนำมาใช้เป็นประตูกระจกหน้าบ้าน เนื่องจากสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานให้สามารถเปิดโล่งหรือปิดทึบกันการมองเห็นได้ มู่ลี่นอกจากจะช่วยบังสายตาแล้วยังช่วยป้องกันความร้อนได้อีกด้วย ไม่เก็บฝุ่นและยังไม่เปลืองงบประมาณในการซื้อและติดตั้งผ้าม่านอีกด้วย
Advatage: ข้อดี
- ประหยัดงบประมาณในการซื้อและติดตั้งผ้าม่าน
- ไม่สะสมฝุ่น และคราบสกปรก เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นภูมิแพ้
- มีความแข็งแรงทนทาน
- ทำความสะอาดได้ง่ายกว่ามู่ลี่ทั่วไป
- ช่วยลดแสง UV และป้องกันความร้อน
- ป้องกันน้ำ ไอน้ำ และป้องกันการเกิดฝ้าเกาะกระจก
- ช่วยลดเสียงรบกวน
Disadvantage: ข้อเสีย
- มีขนาดความหนา และน้ำหนักมากกว่ากระจกทั่วไป
- เมื่อกลไกภายในเสียหาย จะต้องรื้อออกสถานเดียว จึงจะทำการซ่อมแซมได้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงกระจกส่วนหนึ่งที่นิยมยำมาใช้ประกอบเป็นประตูหน้าบ้านเท่านั้น ซึ่งประเภทของกระจกนั้นยังมีอีกหลากหลายมาก เช่น กระจกเคลือบสี (Color Coated Glass) ซึ่งนิยมใช้ในการตกแต่งพื้นที่ภายในเพราะมีลักษณะทึบแสงและมีสีสันให้เลือกหลากหลาย หรือจะเป็นกระจกที่นิยมใช้กับอาคารสูง เช่น กระจกตัดแสงยูวี (Reflective), กระจก 2 ชั้น (Insulate), กระจกสะท้อนแสง (Low-E) เนื่องจากคุณสมบัติในด้านการกันความร้อนและ การทนทานต่อแรงลมเป็นหลัก ทั้งนี้เราชาว Wazzadu จะนำมาย่อยให้อ่านกันต่อไปครับ
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม