การออกแบบ "คอร์ตยาร์ด" เพิ่มพื้นที่พักผ่อนสำหรับที่พักอาศัย
คอร์ตยาร์ด (Courtyard) คือ ลานโล่งที่ล้อมรอบด้วยกำแพงสูงหรืออาคาร คอร์ตยาร์ดที่มักนิยมตั้งอยู่ใจกลางอาคารหลากหลายประเภท ตั้งแต่ บ้านพักอาศัย อาคารทั่วไป พื้นที่สำนักงาน มหาวิทยาลัย และมักจะถูกตกแต่งด้วยงานแลนด์สเคปเพื่อเพิ่มความสวยงาม หรือเพื่อประโยชน์ด้านการใช้งานต่างๆ เช่น ตกแต่งเป็นพื้นที่สวน ลานสำหรับรับประทานอาหาร พื้นที่ออกกำลังกาย หรือจัดงานสังสรรค์เล็กๆ มักจะใช้วัสดุตกแต่งต่างๆ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้สามารถใช้งานพื้นที่คอร์ตยาร์ดได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด เช่น ประตูบานเลื่อนกระจกขนาดใหญ่ พื้นไม้เพิ่มความเป็นธรรมชาติ เพิ่อการออกแบบที่เชื่อมต่อระหว่างกัน
คอร์ตยาร์ด (Courtyard) มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน เท่าที่ถูกระบุไว้ในฐานข้อมูลคือถูกพบในงานสถาปัตยกรรมของหุบเขาจอร์แดน ตั้งแต่ 6400 ปีก่อนคริสตศักราช (โดยประมาณ) มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมอิฐที่เป็นลานโล่ง ถูกรายล้อมไปด้วยห้องเล็กๆ จำนวนหลายห้อง ก่อนที่คอร์ตยาร์ดจะแพร่หลายไปสู่หลายๆ ประเทศ ที่พบเห็นได้บ่อยเมื่อหลายปีก่อน คือในประเทศจีน อินเดีย หรือญี่ปุ่น เรามักคุ้นเคยกันดีเมื่อดูหนังหรือซีรี่ส์จีนย้อนยุค ภาพจำของสถาปัตยกรรมที่มีคอาร์ตยาร์ด ลายร้อมไปด้วยสวนและที่พักอาศัย หรือแม้กระทั่งบ่อน้ำบริเวณคอร์ตยาร์ด
ปัจจุบันรูปแบบของคอร์ตยาร์ดก็ยังได้รับความนิยม โดยเฉพาะเมืองที่เป็นโซนร้อนของอเมริกา อย่างเช่น California หรือ Florida ในประเทศฝั่งเอเชียเองก็นิยมทำคอร์ตยาร์ดเช่นกัน อย่างในญี่ปุ่น หรือเกาหลี ที่มักจะทำคอร์ตยาร์ดเพื่อรับแสงจากธรรมชาติเข้ามาภายในที่พักอาศัย หรือทำขึ้นเพื่อเป็นลานกิจกรรม พื้นที่สำหรับการใช้งานของผู้อยู่อาศัย
ลักษณะของคอร์ตยาร์ด
คอร์ตยาร์ดในอาคาร (Inner Courtyard)
ลักษณะของคอร์ตยาร์ดจะอยู่ตรงกลางของอาคาร โอบล้อมด้วยส่วนสำหรับเป็นที่พักอาศัย มีด้วยกันหลายรูปแบบ แต่เมื่อประกอบกันออกมาจะมีลักษณะคล้ายกับบล็อก คอร์ตยาร์ดที่อยู่ตรงกลางของอาคารมักจะถูกตกแต่งให้เป็นสวนขนาดย่อม เป็นมุมพักผ่อนที่เป็นส่วนตัว หรือเป็นส่วนที่มีช่องแสงส่องลงมา เพื่อเพิ่มความโปร่งโล่งให้กับที่พักอาศัย
คอร์ตยาร์ดนอกอาคาร (Outdoor Courtyard)
ลักษณะของคอร์ตยาร์ดที่อยู่ภายนอกอาคารจะมีพื้นที่มากกว่าแบบภายในอาคาร มักตกแต่งเป็นงานแลนด์สเคป หรือเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม ข้อดีคือจะมีมุมมองหลากหลายมุมมองขึ้น ความกว้างขวางของคอร์ตยาร์ดนอกอาคารนี้ จะทำให้ลมธรรมชาติสามารถไหลเวียนผ่านเข้าภายในอาคารได้
ประโยชน์ของคอร์ตยาร์ด (Courtyard)
1. เป็นวิธีในการเปิดรับแสงธรรมชาติได้อย่างดีเยี่ยม
แสงจากธรรมชาติ เป็นปัจจัยพื้นฐานส่วนหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ของอาคารที่พักอาศัยดูกว้างขวางโปร่งโล่งมากขึ้น การมีคอร์ตยาร์ดทำให้แสงจากธรรมชาติ สาดส่องเข้ามาถึงภายในที่พักอาศัย ทำให้เกิดแสงสว่างโดยธรรมชาติ และสามารถทำเป็นสวนเพื่อปลูกต้นไม้เพิ่มความร่มรื่นให้กับบริเวณอาคาร เป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อนสำหรับผู้พักอาศัย
2. เป็นช่องทางการไหลเวียนของลมธรรมชาติ
เนื่องจากบริเวณที่เป็นคอร์ตยาร์ดเป็นพื้นที่เปิดโล่ง จึงทำให้ทิศทางของลมและอากาศสามารถหมุ่นเวียนและถ่ายเทได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการออกแบบโดยคำนึงถึงทิศทางลม และการติดตั้งบานประตูหรือหน้าต่างให้สัมพันธ์กับทิศทางลม ก็จะช่วยให้ภายในอาคารหรือบ้านพักอาศัยมีลมผ่าน โดยเฉพาะเมื่อปลูกต้นไม้หรือมีสวนขนาดย่อมบริเวณคอร์ตยาร์ด ก็จะช่วยลมที่ผ่านนั้นเป็นลมที่เย็นมากขึ้นอีกด้วย
3. เป็นพื้นที่สำหรับการผ่อนคลายหรือพักผ่อนได้อย่างดีเยี่ยม
แน่นอนว่าประโยชน์ของพื้นที่บริเวณคอร์ตยาร์ด นอกจากเรื่องความสวยงามแล้ว ยังมีข้อดีในเรื่องของการเป็นโซนสำหรับการพักผ่อนหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยเฉพาะบ้านพักอาศัยที่ต้องการทำกิจกรรมต่างๆ โดยต้องความเป็นส่วนตัว ก็สามารถเลือกรูปแบบของคอร์ตยาร์ดให้ตอบโจทย์การใช้งานได้
รูปแบบของคอร์ตยาร์ด (Courtyard)
คอร์ตยาร์ดระหว่างอาคาร : คอร์ตยาร์ดที่มีลักษณะอยู่ตรงกลางและขนาบด้วยอาคาร 2 ฝั่ง
คอร์ตยาร์ดรูปตัว H : คอร์ตยาร์ดที่มีลักษณะพื้นที่โอบล้อมพื้นที่แบบตัวยูสองฝั่ง
คอร์ตยาร์ดรูปตัว U : คอร์ตยาร์ดที่มีลักษณะเป็นรูปคล้ายตัว U เป็นพื้นที่โอบล้อมที่มองเห็นได้สามด้าน
คอร์ตยาร์ดรูปกากบาท : มีลักษณะคอร์ตที่มุมอาคารทั้งสี่ด้าน สามารถออกแบบมุมมองให้เห็นแต่ละคอร์ตได้ เพิ่มพื้นที่การใช้งานได้หลากหลาย
คอร์ตยาร์ดรูปตัว O : มีลักษณะคอร์ตที่มีพื้นโอบล้อมที่สามารถมองเห็นได้สี่ด้าน ทำให้ส่วนคอร์ตเป็นพื้นที่ส่วนตัวได้อย่างดี
คอร์ตยาร์ดรูปตัว L : คอร์ตรูปแบบตัว L เป็นลักษณะที่พบเห็นได้บ่อยเพราะออกแบบได้ไม่ยาก และคอร์ตลักษณะนี้จะไม่ทำรู้สึกว่าดูทึบตันเกินไป
ข้อมูลวัสดุศาสตร์ และหลักการออกแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia
ข้อมูลอ้างอิงจาก
บ้านและสวน
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม