Jim Thompson Art Center พื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์ที่ใครก็มาสัมผัสวิถีไทยภายในอาคารโมเดิร์นได้
ลัดเลาะเข้าซอยมาไม่ไกลจากสถานี BTS สนามกีฬาแห่งชาติ เราพบ Jim Thompson Art Center เป็นจุดหมายปลายทาง ที่มีอาคารโมเดิร์นผสมอิฐโทนส้มสดใสโผล่มาทักทายอย่างเห็นเด่นชัด และด้วยฟังก์ชันของการเป็นอาคารมิกซ์ยูสสาธารณะที่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามที่รักในศิลปะเข้ามาเยี่ยมเยือน พื้นที่แห่งนี้จึงดูเชื้อเชิญให้คนเมืองเข้ามานั่งเสพย์ศิลป์ พักผ่อนหย่อนใจ หรือมานั่งทำงานจิบกาแฟในวันสบายๆ
ซึ่งไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นพื้นที่สาธารณะลักษณะนี้ในกรุงเทพฯ ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ยังตั้งอยู่ใจกลางย่านสำคัญ อย่างสี่แยกแยกปทุมวัน และ MBK สยามสแควร์ โดยได้ทีมสถาปนิกคนสนิทจาก Design-qua มารับหน้าที่ดูแลโปรเจกต์
Tropical Architecture บรรยากาศของบ้านเรือนไทยสมัยเก่า
เชื่อว่าพูดถึง Jim Thompson ทุกคนคงต่างคุ้นหูกับพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรักษาของเก่าที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นถ้วยชาม หรือผ้าไทย ซึ่งไม่ใกล้ไม่ไกลก็เป็นที่ตั้งของ Jim Thompson House Museum กลุ่มบ้านไทยโบราณที่แทรกตัวอยู่ในพื้นที่ร่มรื่นสีเขียวใจกลางกรุง เมื่อต้องมาออกแบบ Jim Thompson Art Center สถานที่ใหม่ ทีมสถาปนิกจึงไม่ลังเลที่จะเก็บรักษาความสัมพันธ์ระหว่างอาคารใหม่ที่กำลังจะสร้าง และอาคารบ้านเรือนไทยเก่าที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
“บ้าน มีความสวยงามแบบโบราณ เราจะทำยังไงให้มันเชื่อมโยงถึงกัน เพราะเราก็รู้สึกว่า Jim Thompson เองก็มีความน่าสนใจตรงนี้ เราออกแบบอาคารใหม่ให้มีรูปลักษณ์โมเดิร์นเพื่อให้เกิดความแตกต่างและเข้าถึงบริบทสมัยใหม่ โดยส่วนนี้ก็เป็นโจทย์ที่ทาง Jim Thompson ตั้งใจไว้ แต่ในความโมเดิร์นนั้น เราสอดแทรกเรื่อง Tropical Architecture เอาไว้ภายใน ซึ่งหลายๆ องค์ประกอบมาจากเรือนไทยเก่า อย่างเชิงชายกันแดดและฝน ทำยังไงให้อากาศมันถ่ายเทได้ทั่วถึง” สถาปนิกเล่า
“ส่วนมากตึกจะเปิดแอร์และให้ผู้คนมาอยู่ข้างในกันมากกว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับเราในการออกแบบตึกนี้ เลยเป็นการเชิญชวนให้ผู้คนมาอยู่ข้างนอกแทน เพราะคนเราต้องออกไปสูดอากาศ ไปโดนแดดจะทำให้สุขภาพใจ กายดี สัดส่วนของพื้นที่ทั้งหมดของคาร (Usable Floor Area) จึงมีเพียง 1 ใน 3 ที่ติดแอร์เท่านั้น ซึ่งมันมาจากปรัชญาการออกแบบเรือนไทย มีชาน มีใต้ถุน เราพยายามเอาบรรยากาศเหล่านั้นมาใส่ เพราะเรามองว่านี่คือวิธีที่จะเชื่อมโยงกับอาคารโบราณพวกนี้ โดยไม่ใช่แค่การโปะรูปฟอร์มให้เหมือน แต่คือแก่นของการออกแบบที่อยู่ข้างใน ซึ่งถ้าสถาปนิกช่วยกันออกแบบคนละนิดคนละหน่อย อาคารอาจจะไม่ใช่ตึกร้อนๆ ที่เปิดแอร์เพียงอย่างเดียว”
‘Connection’ ความสำคัญของการเชื่อมโยงพื้นที่เข้ากับบริบท
บริบทที่รายล้อมอาคารเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้พิเศษ ด้วยพื้นที่ด้านหลังที่เป็นออฟฟิศของ Jim Thompson เดิม รวมถึงด้านข้างเป็นพิพิธภัณฑ์ Jim Thompson House Museum ซึ่งเริ่มต้น สถาปนิกเข้ามารับโจทย์ในการออกแบบแกลลอรี่สเปซจำนวน 2 ห้อง พื้นที่จอดรถ 50 คัน พื้นที่คาเฟ่ ส่วนออฟฟิศ และห้องสมุด แต่ในโจทย์นั้นจะสามารถออกแบบอย่างไรก็ได้แต่ต้องอยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้
หนึ่งในโจทย์หลักที่สถาปนิกมองเห็นจึงเป็นการวางผังโดยเชื่อมโยงอาคารใหม่และอาคารเก่าด้านหลังเข้าหากัน โดยเปิดให้เป็นทางโปร่งโล่ง หากเข้าถึงจากบริเวณด้านหน้าก็ยังมี Visual Connection บางส่วนที่สามารถมองเห็นอาคารด้านหลังได้ ในขณะที่แบ่งแยกสัดส่วนเป็นส่วนตัวอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีลมพัดผ่านจากด้านหน้าถนนเข้าสู่พื้นที่อาคารที่อยู่ลึกเข้าไป หรือแม้แต่ลานเปิดโล่งบริเวณชั้น 3 ก็ยังเป็นลานกว้างเอาท์ดอร์ที่มีระยะเชื่อมต่อกับทางเดินของออฟฟิศด้านหลังพอดิบพอดี อีกทั้งยังสามารถมองเห็นหลังคาบ้านโบราณของ Jim Thompson House Museum ได้อย่างชัดเจน
ไล่ระดับจาก Public สู่ Private
พื้นที่ภายในของอาคารมิกซ์ยูส 5 ชั้นเองก็ให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงพื้นที่ไม่ต่างกัน โดยออกแบบค่อยๆ ไล่ระดับจากความเป็นสาธารณะสู่พื้นที่ที่เป็นส่วนตัวและต้องการความเงียบสงบมากขึ้น เริ่มตั้งแต่บริเวณชั้น 1 ที่ออกแบบคล้ายใต้ถุน เปิดให้ลมธรรมชาติถ่ายเท และมีฟังก์ชันเป็นที่จอดรถอัตโนมัติที่ช่วยประหยัดงบประมาณและประหยัดพื้นที่ไปพร้อมกัน เมื่อขึ้นสู่บริเวณชั้น 2 เป็นส่วนของคาเฟ่ที่มีพื้นที่ให้เลือกนั่งทั้งภายในห้องแอร์ และแบบเอาท์ดอร์ ซึ่งเราก็เห็นภาพผู้คนมาใช้งานพื้นที่ภายนอกเป็นจำนวนไม่น้อย
ถัดไปจากคาเฟ่ ภายนอกจะมีบันไดคั่นกลาง แต่เราสามารถเลือกเดินเชื่อมด้วยทางเดินด้านภายในร้านคาเฟ่ไปถึงร้านค้าที่ขายของทำมือจากแบรนด์สร้างสรรค์เจ้าต่างๆ ของไทย และยังเปิดทะลุพื้นที่เชื่อมกับห้องสมุดบริเวณชั้น 3 ทำให้คนที่ใช้งานห้องสมุดสามารถเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นบางส่วน
บริเวณชั้น 3 เป็นพื้นที่ห้องสมุด เชื่อมต่อสู่พื้นที่ Multi-function Space ที่เป็นลานกว้าง เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานได้มานั่งพักผ่อน รับลมและแดดธรรมชาติบ้างในบางช่วงเวลาของวัน ส่วนบริเวณชั้น 4 เริ่มมีการแบ่งสัดส่วนเป็นห้องอย่างจริงจัง โดยแบ่งเป็นพื้นที่ออฟฟิศของทีมงาน Jim Thompson และพื้นที่แกลลอรี่จัดแสดงจำนวน 2 ห้อง ที่แตกต่างกันด้วยขนาด เพื่อรองรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ บริเวณช่องเปิดของแกลลอรี่ทั้งสองห้อง ยังมีกิมมิคของอาคารที่ยื่นออกเป็นครีบเล็กๆ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เปิดมุมมองไปยังบ้านโบราณของ Jim Thompson House Museum ได้พอดิบพอดี
ส่วนชั้นบนสุด เป็นดาดฟ้าที่รวมพื้นที่เซอร์วิสงานระบบต่างๆ รวมถึงมีพื้นที่บางส่วนที่เปิดโล่ง สำหรับการจัดกิจกรรม หรืออาจปล่อยเช่าเป็นพื้นที่ค้าขายในอนาคต
กลิ่นอายไทยที่ซ่อนตัวในงานวัสดุ
บรรยากาศของความเป็นไทยยังถูกถ่ายทอดลงในงานวัสดุ อย่างฟาซาดตะแกรงเหล็กเจาะรูที่ขึงกับโครงลวดพับไปมา ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการทักทอผืนผ้าไทยโบราณ ผสมผสานกับงานอิฐซึ่งเป็นวัสดุที่คนไทยคุ้นเคยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นวัสดุหาง่าย จับต้องได้ และราคาไม่แพง โดยอิฐในแต่ละส่วนของกำแพงยังนำมาเล่นแพทเทิร์นที่แตกต่าง สร้างความน่าจดจำ อีกทั้งยังนำเสนอโทนสีที่สะท้อนและไปด้วยกันได้ดีกับหลังคาบ้านไทยโบราณในโทนสีส้มแดง
ทุกวันนี้ Jim Thompson Art Center กลายเป็นหมุดหมายใหม่ของทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือแม้แต่คนเมืองกรุงเทพฯ ด้วยบรรยากาศของพื้นที่ง่ายๆ เป็นกันเอง และเชื้อเชิญ ทำให้ใครก็ได้สามารถเข้าถึงศิลปะ วัฒนธรรมโดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลา เสียเงินจำนวนมากมาย นับเป็นอีกหนึ่งงานสถาปัตยกรรมที่น่ายินดีที่ในกรุงเทพฯ สามารถมีพื้นที่สาธารณะดีๆ ในรูปแบบใหม่ที่แตกต่าง ซึ่งเชื่อว่าหลายคนก็คงตั้งตารอที่จะเห็นพื้นที่สาธารณะดีๆ แบบนี้อีกในอนาคต
Architect : Design-qua
Structure Engineer : JET Structure
MEP Engineer : Power Plus The Design Consultants
Lighting Designer : Lighting Studio โชติมา พจนานุวัตร
Landscape consultant : ปวีณา ดำเด่นงาม
Construction & Project Manager : Currie&Brown
Main Contractor : CES
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม