กระจกกันเสียง มีคุณสมบัติ และวิธีการเลือกใช้งานอย่างไร ?

กระจกกันเสียง (Acoustic Glass) คืออะไร...?

กระจกกันเสียง คือ กระจกที่มีคุณสมบัติในการป้องกันเสียงรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะนำกระจกประเภทใดมาทำก็จะต้องมีความหนารวมไม่น้อยกว่า 12 มม.(ในกรณีที่ใช้กระจกแบบสองชั้น จะต้องมีช่องว่างระหว่างกระจก 70 มม.ขึ้นไป) และควรมีค่า Sound Transmission Class หรือค่า STC ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป ถ้าหากกระจกมีความหนามากกว่า 12 มม. ก็จะยิ่งมีค่า STC สูง ยิ่งค่า STC สูงมากเท่าใด ก็จะยิ่งป้องกันเสียงรบกวนได้มากขึ้นตามไปด้วย

ขอบคุณภาพประกอบจาก cosascool.tumblr. com / www.archdaily. com

ส่วนประกอบของกระจกกันเสียง (Acoustic Glass Raw Material) 

ในการทำกระจกกันเสียงนั้น ประเภทกระจกที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนประกอบมีอยู่ 3 ประเภท ดังนี้

1. กระจกชั้นเดียว (Single Glazing) คือ กระจกที่มี Layer เดียวแบบเพียวๆไม่ว่าจะเป็นกระจกใส หรือ กระจกนิรภัยเทมเปอร์ฯลฯ

2. กระจกลามิเนต (Laminated Glass) คือ การนำกระจก 2 แผ่นขึ้นไป มาประกบกันแบบสนิท โดยมีชั้นฟิล์ม PVB (Polyvinyl Butyral) ,EVA (Ethylene-vinyl acetate) หรือ SentryGlas ขั้นกลางระหว่างกระจกทั้งสองแผ่น ซึ่งฟิล์มจะช่วยยึดเกาะแผ่นกระจกไม่ให้ร่วงหล่นเวลาแตก

3. กระจกสองชั้น (Double Glazing) คือ การนำกระจก 2 แผ่น (จะใช้กระจกชั้นเดียว หรือ กระจกลามิเนต ก็ได้) มาประกบกันโดยเว้นช่องว่างระหว่างกระจกไว้

ค่า STC คืออะไร และมีความสัมพันธ์กับการเลือกกระจกกันเสียงอย่างไร ?

ค่า STC หรือที่เรียกเต็มๆ ว่า Sound Transmission Class เป็นค่ามาตรฐานที่ใช้กันในระดับสากล โดยค่า STC จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าค่าที่อยู่ในระดับใดจึงจะเหมาะสมกับการป้องกันเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสอดคล้องกับประเภทพื้นที่การใช้งานแบบใดบ้างนั่นเอง

ค่า STC เป็นค่าที่ได้จากการทดสอบในห้องทดลอง ด้วยการแบ่งห้องว่างออกเป็น 2 ห้อง ห้องแรกจะเป็นห้องที่มีผนังหนามิดชิดเพื่อป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก จากนั้นก็จะนำวัสดุที่ต้องการทดสอบ เช่น ประตู แผ่นผนังสำเร็จรูป แผ่นฝ้าเพดาน หรือ กระจก มาติดตั้งขั้นกลางระหว่าง 2 ห้อง จากนั้นจะปล่อยพลังเสียงที่มีความดัง แล้วทำการวัดเสียงแบบแยกความถี่ทั้ง 2 ห้อง เพื่อหาส่วนต่าง หรือเรียกว่าค่า Transmission Loss คือ ค่าที่วัสดุที่ทำการทดสอบสามารถป้องกันเสียงได้นั่นเอง

จากนั้นจะนำค่า Transmission Loss หรือ TL ออกมาแยกความถี่ในระดับต่างๆ เพื่อดูความสัมพันธ์ระว่างความถี่ (Hz) และค่าเดซิเบลที่ได้ จากนั้นจะนำความสัมพันธ์ในระดับต่างๆไปคำนวนด้วยกราฟเพื่อหาค่า Sound Transmission Class หรือค่า STC ที่เหมาะสมต่อไป

ค่า STC นั้นสามารถแบ่งได้หลายระดับ ซึ่งแต่ละระดับจะมีความสัมพันธ์กับลักษณะเสียงรบกวนแบบต่างๆ มีดังนี้

  • STC 30-39 ลดความดังของเสียงพูดคุยปกติได้ แต่ยังเข้าใจเนื้อหาการสนทนา 
  • STC 40-49 สามารถป้องกันเสียงพูดคุยปกติได้ จนไม่เข้าใจ หรือ จับใจความเนื้อหาการสนทนาไม่ได้
  • STC 50-59 ลดความดังของเสียงคนทะเลาะได้ แต่ยังจับใจความเข้าใจบทสนทนาได้ 
  • STC 60-69 ป้องกันเสียงรบกวนจากคนทะเลาะกัน และเสียงรถวิ่งได้เกือบ 100%
  • STC 70-74 ลดความดังของเสียงดนตรีที่เล่นอีกฝั่งได้ แต่ยังได้ยินอยู่บ้าง 
  • STC 75 ขึ้นไป ป้องกันเสียงรบกวนจากการเล่นดนตรีได้เกือบ 100%

ประเภทของกระจกกันเสียง (Acoustic Glass)

มี 4 ประเภท ดังนี้

1. กระจกชั้นเดียว (Single Glazing) กระจกประเภทนี้ยิ่งมีความหนามาก ยิ่งป้องกันเสียงได้ดี ส่วนใหญ่ใช้เป็นกระจกสำหรับประกอบทำกระจกกันเสียง ไม่นิยมนำไปติดตั้งแบบเดี่ยวๆ เนื่องจากกระจกชั้นเดียวเวลาแตกจะร่วงหล่น และมีความแหลมคมเป็นอันตราย 

2. กระจกลามิเนต (Laminated Glass) เป็นกระจกที่นิยมใช้กันค่อนข้างมากเพราะให้ความปลอดภัยสูง เวลากระจกแตกชั้นฟิล์มที่อยู่ตรงกลางระหว่างกระจกทั้งสองแผ่นจะยึดเกาะแผ่นกระจกเอาไว้ไม่ให้ร่วงหล่นลงมา กระจกลามิเนตถ้าหากมีความหนาใกล้เคียงกับกระจกชั้นเดียว กระจกลามิเนตจะกันเสียงได้ดีกว่า เช่น กระจกลามิเนต 6 + 0.38 + 6 มม. (กระจก+ชั้นฟิล์ม+กระจก) = ความหนารวม 12.38 มม. จะหนา และกันเสียงได้ดีกว่ากระจกชั้นเดียว 12 มม. และจะมีค่า STC ที่สูงกว่า อีกทั้ง กระจกลามิเนต ยังสามารถกันเสียงได้ดีกว่า กระจกอินซูเลทหรือกระจก 2 ชั้น ยกตัวอย่างเช่น กระจกลามิเนตที่ความหนา 8.38 มม. มีค่า STC (Sound Transmission Class) ที่ 35 ส่วนกระจกอินซูเลทที่ความหนารวม 24 มม. มีค่า STC เท่ากับ 33* ซึ่งจะน้อยกว่ากระจกลามิเนตข้างต้นประมาณ 2

3. กระจกสองชั้น (Double Glazing) กระจก 2 ชั้นที่จะกันเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องมีช่องว่างตรงกลางระหว่างกระจกไม่น้อยกว่า 70 มม. (7 ซม.) ถึงจะได้ค่า STC ที่สูงขึ้น

4. กระจกสองชั้น แบบผสมผสาน (Double Glazing Mix & Match) ลักษณะจะคล้ายกับข้อ 3 แต่จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันเสียงที่เพิ่มขึ้น โดยแผ่นกระจกจะเปลี่ยนจากกระจกชั้นเดียว เป็นกระจกลามิเนตแทนในส่วนที่เป็นผนังด้านใน หรือ ด้านที่ใกล้ชิดกับผู้ใช้งาน เพราะเวลากระจกแตกจะให้ความปลอดภัยโดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน จึงกลายเป็นกระจกกันเสียงอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำไปใช้งาน แต่ค่อนข้างราคาสูง

การนำกระจกกันเสียง (Acoustic Glass)​ ไปใช้ในงานสถาปัตยกรรม

โดยส่วนใหญ่แล้วกระจกกันเสียงจะถูกนำไปติดตั้งเป็นผนัง ประตู หรือ หน้าต่าง เป็นหลัก การนำกระจกกันเสียงไปใช้งาน ค่า STC จะต้องมีความสัมพันธ์เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่การใช้งานแบบต่างๆ ดังนี้

  • STC 30-39 เหมาะกับอาคารที่พักอาศัยทั่วไป
  • STC 40-49 เหมาะกับร้านค้า ร้านอาหาร และอาคารสาธารณะทั่วไป
  • STC 50-59 เหมาะกับห้องประชุม พื้นที่สำนักงาน พิพิธภัณฑ์ หรืออาคารพักอาศัยที่ต้องการความเป็นส่วนตัว 
  • STC 60-69 เหมาะกับห้องโฮมเธียเตอร์ ห้องคาราโอเกะ ห้องอัดเสียงจัดรายการ หรือ สนามบิน
  • STC 70-74 เหมาะสำหรับโรงภาพยนตร์  โรงละคร หรือ เธียเตอร์สำหรับจัดงานคอนเสิร์ต
  • STC 75 ขึ้นไป เหมาะกับสถานบันเทิง

คุณสมบัติเด่นของกระจกกันเสียง (Acoustic Glass)​

  • มีความแข็งแรง ทนต่อการบุกรุก หรือ โจรกรรม มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน
  • สามารถทำความสะอาดได้ง่าย 
  • ช่วยลดรังสียูวี และป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลผลิตภัณฑ์กระจกกันเสียง

  • กระจกนิรภัยลามิเนตใสกันเสียง

    กระจก และวัสดุโปร่งแสง กระจกสำหรับอาคารสูง

    215 บาท/ตารางฟุต

    Online

เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ข้อมูลอ้างอิงจาก

  • Allard Double Glazing Blog
  • http://www.zen-acoustic.com

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ