เปรียบเทียบคุณสมบัติกระเบื้องพอร์ซเลน กระเบื้องดินเผา และกระเบื้องหินอ่อน

หากกล่าวถึงวัสดุที่ใช้ตกแต่งพื้น ตกแต่งผนังให้ดูสวยงามมากขึ้น มีความแข็งแรงทนทาน สามารถติดตั้งได้ทั้งกับภายในอาคารและภายนอกอาคาร อย่างเช่น “กระเบื้อง” ทว่าในแต่ละประเภทของกระเบื้องนั้นแตกต่างกันอย่างไรบ้าง สำหรับบทความตอนนี้ Wazzadu.com มีการเทียบสเปคให้เห็นความแตกต่างของ 3 ประเภทด้วยกัน ก็คือ กระเบื้องพอร์ซเลน กระเบื้องดินเผา และกระเบื้องหินอ่อน ครับ จะเป็นอย่างไรติดตามกันต่อได้เลย

กระเบื้องพอร์ซเลน (Porcelain Tile)

กระเบื้องประเภทนี้ทำมาจากดินพอร์ซเลนหรือดินขาวที่มีความละเอียดในเนื้อดินสูง เผาไฟในอุณหภูมิ 1,200°c ขึ้นไป จึงมีความแข็งแกร่งและทนทานมากที่สุด อีกทั้งการเผาไฟที่อุณหภูมิสูงมากทำให้กระเบื้องพอร์ซเลนมีอัตราการดูดซึมน้ำไม่ถึง 1% จึงใช้งานติดตั้งบริเวณโซนเปียกของห้องน้ำได้ เพื่อป้องกันความชื้นที่อาจสะสมอยู่ตามพื้นและผนังของห้อง

นอกจากนี้กระเบื้องพอร์ซเลนยังมีอีกหลายชื่อ อาทิ Granite (แกรนิต), Granito (แกรนิตโต้), Homogeneous (โฮโมจีเนียส) ซึ่งทั้งหมดผลิตมาจากดินพอร์ซเลนเช่นเดียวกัน

 

คุณสมบัติของกระเบื้องพอร์ซเลน :

- มีความแข็งแรงและความทนทานสูง สามารถรับน้ำหนักได้มากจนใช้ปูพื้นที่จอดรถได้

- พื้นผิวทนต่อการขีดข่วนเป็นรอยและยังทำความสะอาดง่าย

- เนื่องจากมีการดูดซึมน้ำที่น้อยมาก จึงไม่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค เชื้อราและความชื้น อีกทั้งไม่เกิดคราบตะไคร่น้ำรวมถึงตัววัสดุไม่บิดตัวหรือบวมพอง

- มีลวดลายและสีสันให้เลือกหลากหลาย โดยมีลวดลายส่วนใหญ่คล้ายหินธรรมชาติ แต่ปัจจุบันกระเบื้องพอร์ซเลนสามารถพิมพ์ลายเลียนแบบวัสดุอื่นได้

 

การนำไปใช้งาน : สามารถใช้งานตกแต่งพื้น ผนังได้ทั้งภายในอาคารและภายนอกอาคาร

กระเบื้องดินเผา (Earthenware Tile)

ประเภทกระเบื้องที่ใช้มาตั้งแต่สมัยก่อน ใช้ติดตั้งตามหลังคาและพื้นบริเวณระเบียงบ้าน กระเบื้องดินเผามีลักษณะเป็นสีแดงส้มหรือสีออกคล้ายๆ อิฐมอญ กระเบื้องดินเผาทำมาจากกลุ่มดินเหนียว ใช้วิธีการเผาด้วยเทคนิคแบบดั้งเดิมที่อุณหภูมิไฟ 1,000°c ขึ้นไป มีความแข็งแรงที่น้อยกว่ากระเบื้องพอร์ซเลนและมีอัตราการดูดซึมน้ำสูง ราวๆ 15-22%

ลักษณะโครงสร้างของวัสดุมีรูพรุนมากจึงทำให้เกิดโอกาสยืดตัวหรือหดตัวสูง หากโดนความชื้นและความร้อนเป็นเวลานาน รวมถึงแตกหักง่าย ผุกร่อนและถูกกัดเซาะได้ง่าย

 

คุณสมบัติของกระเบื้องดินเผา :

- มีความแข็งแรงและความทนทานปานกลาง แนะนำให้เลือกใช้ปูพื้นในพื้นที่ที่ไม่รับน้ำหนักมากนัก

- พื้นผิวมีทั้งแบบผิวเคลือบเงาและพื้นผิวสีธรรมชาติ

- เนื่องจากมีการดูดซึมน้ำที่สูงมาก มีโอกาสทำให้กระเบื้องล่อนได้ง่ายและถ้าเว้นระยะห่างในการปูกระเบื้องไม่ดี อาจทำให้กระเบื้องบวมและแตกได้

- ทำความสะอาดยากและสกปรกง่าย

 

การนำไปใช้งาน : นิยมใช้ปูพื้นตามโซนนอกอาคาร อย่าง ระเบียง เฉลียง สวนหย่อม เพื่อตกแต่งให้เข้ากับธรรมชาติ

กระเบื้องหินอ่อน (Marble Tile)

สำหรับกระเบื้องประเภทสุดท้าย กระเบื้องหินอ่อนทำมาจากหินอ่อน ซึ่งหินอ่อน คือหินเนื้อละเอียดที่เกิดจากการตกผลึกตามธรรมชาติ จากการทับถมของชั้นแคลเซียมคาร์บอเนต (หินปูน) ที่สะสมอยู่ตามแหล่งธรรมชาติ เป็นกระเบื้องที่แสดงถึงลวดลายแบบดั้งเดิมของหินที่ตัดแบ่งมาทำกระเบื้อง ให้ความรู้สึกที่หรูหราและดูทันสมัย

กระเบื้องหินอ่อนมีความแข็งแรงมากที่สุด เมื่อเทียบกับกระเบื้องอีก 2 ประเภทก่อนหน้านี้ และหินอ่อนเป็นวัสดุที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ถ้าดูแลอย่างสม่ำเสมอจะใช้งานได้หลายร้อยปี ตามที่พบเห็นในสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น นำหินอ่อนไปตกแต่งปราสาทหรือพระราชวัง เป็นต้น

 

คุณสมบัติของกระเบื้องหินอ่อน :

- มีความแข็งแรงสูงมาก ตัววัสดุไม่ผุ ไม่บวม ไม่กรอบ ไม่ขึ้นสนิม

- มีความทนทานปานกลาง ไม่ค่อยทนต่อรอยขีดข่วนและไม่เหมาะในการติดตั้งบริเวณที่โดนแสงแดดจัด เพราะแสงแดดสามารถทำให้สีของหินอ่อนซีดจางลง

- พื้นผิวเงางาม มีลวดลายของหินอ่อนจากธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

- ติดตั้ง และทำความสะอาดได้ง่าย

 

การนำไปใช้งาน : สามารถใช้งานตกแต่งพื้น ผนังได้ทั้งภายในอาคารและภายนอกอาคาร แต่ควรเลี่ยงบริเวณกลางแจ้งที่โดนแดดจัดๆ

 

นอกจากเรื่องคุณสมบัติของกระเบื้องแล้ว หากคุณอยากรู้ข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุอื่นๆ และองค์ความรู้ด้าน Architectural เพิ่มเติม คลิกเข้าไปอ่านตอนอื่นๆ ได้ที่ เพจ Encyclopedia ครับ 

เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ข้อมูลอ้างอิงจาก :

https://casarocca.co.th

http://www.dfineconsultant.com

https://zmyhome.com

http://phueansang.com

http://www.thaiceramicsociety.com

 

รูปประกอบจาก :

https://www.archdaily.com

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ