สะพานข้ามคลองจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แห่งแรกของโลก
ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิตินั้นได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด MX3D ได้เปิดตัวสะพานเหล็กที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติแห่งแรกของโลก ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
โดยตั้งอยู่บริเวณเหนือคลอง Oudezijds Achterburgwal ที่เป็นคลองที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงอัมสเตอร์ดัม และในตอนนี้ได้กลายเป็น landmark และสถานที่ท่องเที่ยวของเมืองไปในทันที ที่สำคัญแม้ว่าสะพานแห่งนี้จะเปิดให้ประชาชนใช้ได้ แต่จะอนุญาตให้เฉพาะคนเดินเท้าและนักปั่นจักรยานเท่านั้น เพื่อไม่ให้สะพานต้องรับน้ำหนักที่มากเกินไปนั่นเองครับ
สะพานแห่งนี้ถูกออกแบบโดย Joris Laarman นักออกแบบชาวดัตช์ มีความยาวถึง 12 เมตร กว้าง 6.3 เมตร มีการออกแบบให้ตัวสะพานนั้นมีลักษณะที่ดูโดดเด่น พร้อมกับมีการใช้โครงสะพานที่ดูทันสมัย โดยมี MX3D เป็นผู้สนับสนุนด้านเทคนิคการพิมพ์ 3 มิติ และมีการใช้หุ่นยนต์ในการประกอบและเชื่อมต่อสะพาน โดยใช้เวลาเพียง 6 เดือน และใช้สแตนเลสในการสร้างสะพานกว่า 4,500 กิโลกรัม
นอกเหนือจากรูปทรงที่โดดเด่น การผลิตที่น่าอัศจรรย์แล้ว มันยังเป็นสะพานอัจฉริยะที่ทันสมัยอีกด้วย โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Imperial College London ได้ติดตั้งเซ็นเซอร์ที่ช่วยในการตรวจสอบสถานะของโครงสร้างสะพานแบบเรียลไทม์ เพื่อดูว่าสะพานมีส่วนไหนทรุด ชำรุด หรือต้องซ่อมบำรุง รวมถึงมีเซ็นเซอร์ที่วัดความหนาแน่นของการจราจรบนสะพานแบบเรียลไทม์ด้วย เพื่อดูเรื่องของการรับน้ำหนักของสะพานจากการสัญจรข้ามสะพานไป-มาได้อีกด้วย
การสร้างสะพานนี้ไม่เพียงแต่เป็นการพิสูจน์การพัฒนาของเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ แต่ยังเป็นการประหยัดงบประมาณในการสร้างนำไปสู่ความยั่งยืนของการใช้งานวัสดุในงานสถาปัตยกรรมต่างๆ ในอนาคตอีกด้วย
อ้างอิงจาก
- https://www.techoffside.com/2021/07/mx3d-world-first-3d-printed-steel-bridge/
- https://www.designboom.com/design/world-first-3d-printed-steel-bridge-amsterdam-canals-mx3d-07-16-2021/?fbclid=IwAR1I7GlmL2xGO0LZ7yh1KGPliXMC62mTu9wJd4yS1Fd9Y5o6OkBl-Q4X5aw
- https://www.newscientist.com/article/2283934-worlds-first-3d-printed-steel-bridge-opens-in-amsterdam/?fbclid=IwAR3bki041SHv9lnmfdKNFl5JEb9vU54cf24hlFBCvsZPztyOYmDeGxh_sjM
เรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia ซึ่งเป็นทีมวิจัย และพัฒนาความรู้ด้านการออกแบบ และวัสดุศาตร์ทางด้านสถาปัตย์ฯ
สำหรับท่านที่สนใจในนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม สามารถติดต่อเพื่อโปรโมตผลงานของท่านเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั้งการออกแบบ, เทคโนโลยี, วัสดุศาสตร์ เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คนได้แล้วที่ wazzadu .com. โดย inbox เข้ามาได้ที่ www.facebook.com/Wazzadu
ผู้เขียนบทความ