ชื่อเรียกไฟภายนอก หรือโคมไฟสำหรับใช้งานภายนอกอาคาร แต่ละประเภท
การออกแบบแสงสว่างหรือ lighting design ที่ให้ความสว่างกำลังพอดี มีทิศทางของแสงที่ไม่กวนสายตาแต่ทว่าส่องไปยังองค์ประกอบที่ต้องการเน้นได้สวยงาม ล้วนเกิดจากการเลือกใช้ประเภทของไฟติดตั้งภายนอกที่เลือกใช้อย่างเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่และแต่ละจุดที่ติดตั้งไฟ แล้วไฟพวกนั้นกี่แบบ มีโคมไฟกี่ประเภท กับจะใช้ติดตรงไหนของภายนอกอาคารได้บ้าง
วันนี้จึงรวบรวมประเภทของไฟภายนอกที่ใช้ตกแต่งรอบๆ อาคารและบริเวณล้อมแวด ไม่ว่าจะเป็นทางเดิน สวนหย่อมหรือสระว่ายน้ำ มาบอกต่อให้เพื่อนๆ รู้จักกันครับ
Wazzadu.com จะขอแบ่งออกเป็นกลุ่มการใช้งานที่เห็นภาพง่ายๆ คือ ไฟที่ติดบนพื้น บนผนังและบริเวณภายนอกอาคารนะครับ มาเริ่มกันที่ไฟติดตั้งบริเวณพื้นแนวราบกันเลย
1. โคมไฟฝังพื้น (In-ground Uplight)
- สำหรับพื้นระเบียงหรือทางลาดยาว จะใช้โคมไฟฝังพื้นติดตั้งเป็นจุดๆ เป็นการส่องแสงสว่างแบบวงเล็กๆ พอให้มีแสงสว่างเป็นประปราย เน้นสร้างบรรยากาศให้ดูสวยงาม
- รูปแบบทั่วไปของโคมไฟฝังพื้น มักมีลักษณะเป็นวงกลมและสี่เหลี่ยมจตุรัส เพื่อติดตั้งได้ง่ายและให้ดูกลมกลืนกับบริเวณทางเดิน
- มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดวงโคมเริ่มที่ 10 ซม. ตัวโคมไฟส่วนใหญ่ทำจากวัสดุอลูมิเนียม
2. โคมไฟสนามหรือโคมไฟเสาเตี้ย (Bollard light)
- ใช้ติดตรงทางเดินในสนามและสวนหย่อมเพื่อเพิ่มความสว่างตอนกลางคืน ให้ผู้ใช้งานเห็นถนนทางเดินชัดเจนและปลอดภัยจากความมืด โคมไฟสนามมีกระจายแสงเป็นจุดๆ สามารถให้แสงสว่างในพื้นที่โดยรอบได้ 1-4 ตารางเมตร และควรตั้งระยะห่างขั้นต่ำไว้ที่ 4 เมตรต่อดวง เพื่อให้แสงไฟเพียงพอต่อระยะทางทั้งหมด
- โคมไฟสนามมีความสูงเฉลี่ย 20 ซม. – 1.20 ม. ตัวโคมไฟส่วนใหญ่ทำจากวัสดุอลูมิเนียมเพราะไม่เป็นสนิม มีความทนแดด ทนฝน จึงเป็นที่นิยมในการทำออกแบบเป็นตัวบอดี้ของโคมไฟ
3. โคมไฟเสาสูง (Post top light หรือ Pole Light)
- ลักษณะคล้ายกับไฟสนามแต่มีความสูงมากกว่าจึงเรียกเป็นโคมไฟเสาสูง จุดเด่นคือการกระจายแสงในวงที่กว้างกว่า เห็นสภาพแวดล้อมโดยได้ทั่วถึงกว่าแบบโคมไฟสนามหรือโคมไฟเสาเตี้ย แต่ต้องออกแบบตำแหน่งติดตั้งให้ดี ไม่ให้รบกวนสายตาหรือกีดขวางบริเวณรอบๆ ทางเดิน
- เหมาะกับติดตั้งทางเดินและถนนที่มีความกว้าง 3-10 เมตร ไว้ส่องแสงให้ทั่วถึง ซึ่งถ้าโคมไฟอยู่ตำแหน่งที่สูงจะมากเท่าไหร่จะช่วยกระจายแสงได้รัศมีที่กว้างขึ้น เห็นบริเวณรอบไกลขึ้น การตั้งระยะห่างต่อกันควรอยู่ที่ 6 เมตรเป็นขั้นต่ำ
- โคมไฟเสาสูงมีความสูงเฉลี่ย 2-4 เมตร ตัวโคมไฟส่วนใหญ่ทำจากวัสดุอลูมิเนียมและมักมีดีไซน์ของดวงไฟที่มีให้เลือกหลายแบบมากกว่าโคมไฟสนาม
และไฟที่ติดตั้งบนผนัง ได้แก่
1. โคมไฟฝังผนัง (Wall Recessed Light, Step Light) และโคมไฟติดผนัง (Wall mount light)
- โคมไฟสองประเภทนี้มีความต่างตรงที่การโชว์ตัวโคมไฟ ถ้าอยากให้บริเวณที่ติดตั้งดูโล่งๆ จะทำช่องว่างเพื่อใส่ตัวโคมไฟเข้าไป ผลลัพธ์ที่ได้คือบริเวณติดตั้งจะไม่มีโคมไฟโผล่ออกมา ดูกลมกลืนไปกับรอบข้างซึ่งแบบนี้เป็นการใช้โคมไฟฝังผนัง แต่หากเป็นแบบติดผนัง ตัวโคมไฟจะอยู่บนผนังที่ติดตั้งซึ่งเห็นอย่างเด่นชัด
- ลักษณะการกระจายแสงไฟจะส่องขนาบข้างลงบนผนังและพื้นเหมือนกันทั้งคู่ สามารถให้แสงสว่างได้ทั้งระดับที่สูงและต่ำในคราวเดียวกัน
- โคมไฟฝังผนังและโคมไฟติดผนังนิยมใช้ติดตรงผนังอาคาร, ผนังทางเดิน, กำแพงรั้วและบริเวณทางบันได
2. โคมไฟสาดแสง (Flood Light)
- หรือบางคนอาจเรียกว่า สปอร์ตไลท์ (Spotlight) เป็นไฟที่ใช้ส่องเฉพาะจุดในพื้นที่ขนาดใหญ่ เรามักจะเห็นตามป้ายโฆษณาบิลบอร์ดตามทางด่วนที่ใช้โคมไฟสาดแสงหรือสปอร์ตไลท์ส่องที่อาคารตอนกลางคืน
- เป็นโคมไฟที่ควรเลี่ยงการติดตั้งที่ส่องไฟในระดับสายตา เพราะค่อนข้างใช้กำลังวัตต์ที่สูงกว่าโคมไฟประเภทอื่นๆ
- โคมไฟสาดแสงใช้สำหรับประกอบป้ายโฆษณา, ให้ความสว่างเพื่อป้องกันภัยตอนกลางคืน, ใช้แสงไฟเน้นบริเวณใดบริเวณหนึ่งเพื่อความโดดเด่นของอาคาร
3. โคมไฟดาวน์ไลท์ภายนอก (Downlight)
- ชื่อที่หลายคนได้ยินบ่อยๆ อย่างดาวน์ไลท์ ซึ่งที่จริงแล้วมีให้เลือกใช้ทั้งแบบภายในอาคารและภายนอกอาคาร โคมไฟดาวน์ไลท์ คือ ไฟที่ใช้ส่องแสงลงพื้นไปในทิศทางเดียว มีรูปแบบหลายชนิดเพื่อปรับให้เข้ากับวิธีติดตั้งตามแต่ละหน้างาน อาทิ แบบลอยตัว, แบบฝัง, แบบห้อยเพดานและแบบกึ่งฝังกึ่งลอยตัว
- ความพิเศษของโคมไฟดาวน์ไลท์อยู่ที่เลือกใช้งานได้หลายแบบ ติดตั้งได้ง่าย นอกจากติดบนผนังแล้วยังสามารถติดตั้งตามฝ้าเพดานได้ด้วย จึงสะดวกกว่าโคมไฟประเภทอื่น บวกกับขนาดที่เล็กกว่าและประหยัดพลังงานจึงใช้ติดตั้งกับพื้นที่กึ่งภายนอก (Semi outdoor) เช่น ระเบียง, ที่จอดรถ, สวนหย่อม, บริเวณลานกว้างที่มีกันสาดหรือหลังคาบังแดดซึ่งสามารถติดตั้งโคมไฟดาวน์ไลท์ตามที่เพดานเหล่านี้ได้
และสุดท้ายจะเป็นไฟติดตั้งภายนอกที่อยู่นอกเหนือบริเวณอาคาร ได้แก่
1. โคมไฟใต้น้ำ (Underwater light)
- ใช้ตกแต่งตามสระน้ำ, บ่อน้ำตก, บ่อปลาและสระว่ายน้ำ เพื่อความสวยงามเป็นหลัก
- สำหรับตัวโคมไฟใต้น้ำจะใช้วัสดุเป็นสแตนเลสเพื่อป้องกันการกัดกร่อนของน้ำในสระและมียางกันน้ำไม่ให้มีรูรั่วซึมเข้าไฟ มี 2 รูปแบบคือ แบบฝังผนังกับติดลอย
2. โคมไฟส่องต้นไม้ (Tree Uplight)
- ใช้ตกแต่งต้นไม้และสวนให้สวยงามยามกลางคืน
- ลักษณะของโคมไฟจะมีการกระจายแสงแบบวงกว้างและวงแคบเพื่อเลือกใช้จัดแสงตามทรงของต้นไม้ให้เหมาะสม และให้เห็นสีสันของใบไม้, ลำตัน, รูปทรง ของต้นไม้ได้ชัดเจน
- สำหรับโคมไฟประเภทนี้ที่แนะนำเป็นพิเศษว่าควรใช้หลอดไฟ LED เพื่อลดความร้อนจากไฟที่จะส่องกระทบต้นไม้ ป้องกันไม่ให้ต้นไม้เสียหายได้ดีกว่าหลอดไฟทั่วไป
3. โคมไฟบันได (Step Light)
- ใช้เพิ่มความสว่างตามขั้นบันได ซึ่งมีให้เลือกใช้ทั้งแบบภายนอกและภายในอาคาร
- เป็นการส่องแสงที่มีลักษณะเป็นแนวขวาง ไม่ได้มีการกระจายเป็นจุดๆ เท่าไหร่นัก เพื่อให้แสงกระทบเรียงตามแนวขั้นบันไดที่มีความยาว
และถ้าคุณกำลังมองหาข้อมูลเรื่องโคมไฟหรือไฟตกแต่งประเภทต่างๆ Wazzadu.com ยังมีบทความอีกมากมายให้คุณได้ศึกษาเพิ่มและเพลิดเพลินไปกับองค์ความรู้งานออกแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ ติดตามชมที่เพจ Encyclopedia
เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia
ข้อมูลอ้างอิงจาก
https://www.ledlighting.in.th/โคมภายนอกประเภทต่างๆ/
https://www.outdoorlight.in.th/?fbclid=IwAR36ICvrX-H7Q6bJq5a177MOkl6TA2d-o-0-xwR1VNkBuqtCH7o8P_el7bg
https://www.solarhousethai.com/16837515/5เทคนิคการแต่งสวนสวยด้วยโคมไฟ-สไตล์โรงแรม-5-ดาว-
https://www.loungelovers.com/blogs/news/article-34
https://www.loungelovers.com/blogs/news/step-light
รูปประกอบจาก :
https://www.archdaily.com
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม