อิสระแห่งเส้นสายสถาปัตยกรรมยุคใหม่ ที่สะท้อนกลิ่นอายความเป็นไทยได้อย่างแยบยล "Central Embassy"

ถ้าหากใครที่เคยผ่านไปแถวๆชิดลม ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS ชิดลม หลายๆคนอาจจะเคยเห็นอาคารทรงโค้งสีเงินที่สะท้อนแสงระยิบระยับ ซึ่งรู้จักกันในนาม Central Embassy ศูนย์การค้าที่หรูหราที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย แม้หลายๆคนจะมองว่าอาคารแห่งนี้ทั้งภายนอก และภายในจะดูเรียบๆจนเกินไป แต่ในขณะเดียวกันในความเรียบง่ายนี้เอง ถ้าหากมองในแง่สถาปัตยกรรมกลับมีความไม่ธรรมดาซ่อนอยู่  ซึ่ง Central Embassy จัดเป็นสถาปัตยกรรมในลักษณะ Iconic Building ที่สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่พิเศษ โดดเด่น แตกต่างได้ในระดับเมือง จนทำให้ Skyline ในย่านชิดลมมีมิติที่เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก

Central Embassy ศูนย์การค้าระดับ Super Luxury แห่งนี้เป็นผลงานการออกแบบของสถาปนิกชาวอังกฤษ นามว่า Amanda Levete ซึ่งออกแบบให้อาคารขนาด 37 ชั้น แห่งนี้ ให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ซึ่งก็คือส่วนของศูนย์การค้า มีจำนวน 8 ชั้น และส่วนทาวเวอร์เป็นที่ตั้งของโรงแรมปาร์คไฮแอท โดยสถาปนิกผู้ออกแบบได้ผสานทั้ง 2 ฟังก์ชั่นหลัก เข้าด้วยกันอย่างลงตัวในทุกมิติ ด้วยแนวคิดการออกแบบเชิงสัญญะ จากการดึงเอาสัญลักษณ์อินฟินิตี (Infinity) มาใช้ในการสร้างรูปฟอร์มทางสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงความเป็นอิสระไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยการใช้เส้นสายที่มีความลื่นใหล โค้งมน และกลมกลืนเข้าหากันในทุกมิติทั้งภายนอก และภายใน ซึ่งแนวคิดการออกแบบนี้เอง จึงทำให้ Central Embassy กลายเป็น Iconic Building ที่แปลกใหม่ และยกระดับ Skyline ความเป็นเมืองของกรุงเทพมหานครให้มีความสวยงาม มีระดับขึ้นไปอีกขั้น โดยสามารถสังเกตุความเป็น Iconic Building ได้อย่างแจ่มชัดที่สุดจากมุมมองแบบ Exterior และ Bird Eye View ในระยะใกล 

นอกจากนี้ผู้ออกแบบ ยังดึงเอาเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็น Iconic Building  ด้วยการหยิบนำเอกลักษณ์เด่นของพื้นผิวผ้าไหมไทย และหลังคาพระอุโบสถที่เป็นกระเบื้องแล้วตกแต่งด้วยเกล็ดแก้วจำนวนมาก พอยามกระทบกับแสงแดด ก็จะเป็นประกายระยิบระยับสวยงาม โดยได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในการออกแบบผนัง ที่เป็นเปลือกหุ้มอาคารทั้งหมด โดยประยุกต์ถ่ายทอดผ่านการเลือกใช้วัสดุประเภทอลูมิเนียม ชิงเกิลส์ (Aluminium Shingles) ที่มีคุณสมบัติคงทน มีความเงาวาว และเป็นประกายระยิบระยับ จำนวนกว่า 300,000 เกล็ด โดยติดตั้่งด้วยการนำเทคนิคการเข้าสลักของกระเบื้องว่าวมาปรับใช้ เนื่องจากรูปทรงของอาคารมีลักษณะเป็นเส้นสายที่โค้งมนทั้งหมด จึงไม่สามารถติดตั้งเกล็ดแบบตรงๆ ธรรมดาได้

ภาพที่เห็นของอาคาร Central Embassy จึงเป็นเลื่อมเงาในเฉดสีเทาเงินที่ต่างกันไปเสมือนเป็นพื้นผิวของผ้าไหมไทยที่เลื่องชื่อ และจะเป็นประกายระยิบระดับในยามกระทบกับแสงแดดดุจดั่งเอกลักษณ์ของหลังคาพระอุโบสถ ขณะเดียวกันในอีกมิติหนึ่งก็จะสะท้อนแสงสีอันหลากหลากหลายของเมืองในยามค่ำคืนได้อย่างมีชีวิตชีวา ซึ่งสะท้อนความเป็นไลฟ์สไตล์ของกรุงเทพมหานครได้อย่างแจ่มชัด

จุดเด่นในการเลือกใช้วัสดุอีกจุดหนึ่งที่จะพลาดไม่ได้เลยก็คือ การเลือกใช้กระจกโค้ง แบบซูเปอร์เคลียร์ ซึ่งให้ความกระจ่างใส ไม่เปลี่ยนสี และที่สำคัญทำให้มิติเส้นสายที่ลื่นใหล โค้งมนของรูปทรงอาคาร มีความสมูทสมดุล แสดงออกถึงความประณีตสวยงามในทุกๆรายละเอียดของการออกแบบ นอกจากนี้พื้นภายในอาคาร ได้เลือกใช้พื้นที่มีพื้นผิวแบบเทอราซโซ ซึ่งเป็นหินขัดชนิดพิเศษที่นำเข้าจากอังกฤษ

นอกจากนี้ในบริเวณด้านหน้าอาคาร ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือประติมากรรมขนาดยักษ์สีบรอนซ์เข้ม  ม้า Freddie Horse งานศิลปะแนว Boterismo เป็นผลงานของศิลปินระดับโลก Fernando Botero

บริเวณพื้นที่ด้านนอกของตัวอาคาร มีการตกแต่งภูมิทัศน์ด้วยเส้นสายที่เรียบง่ายเป็นธรรมชาติ โดยสร้างบรรยากาศที่ปลอดโปร่ง ร่มรื่น สบายตา ด้วยการปลูกหญ้า และต้นไม้ในบางจุด

#WAZZADU #CentralEmbassy #AmandaLevete

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ