ไม้เนื้อแข็งมีกี่ชนิด? (Types of Hardwood)

ไม้เนื้อแข็งตามมาตรฐานของกรมป่าไม้

ในการกำหนดมาตรฐานว่าไม้ชนิดนั้นเป็นไม้เนื้อแข็งหรือไม่ ไม่ได้ดูเรื่องความแข็งแรงในการรับน้ำหนักเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของความทนทานเข้ามาประกอบการพิจารณาอีกด้วย ซึ่งมีไม้อยู่หลายชนิดที่คนรุ่นก่อนให้การยอมรับว่าเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เต็ง รัง ประดู่ แดง มะค่าโม่ง ตะเคียน บุนนาค และกันเกรา เป็นต้น

หลักในการวัดระดับความเป็นไม้เนื้องแข็ง จึงใช้การทดลองเพื่อทดสอบค่าความแข็งแรง อย่างเช่นในกรณีของไม้เนื้อแข็ง จะมีค่าความแข็งแรงสูงกว่า 1,000 กก./ลบ.ม. ขึ้นไปทั้งสิ้น และเมื่อพิจารณาด้านความทนทานตามธรรมชาติ จากการทดลองนำส่วนที่เป็นแก่นของไม้ไปปักดิน ปรากฎกว่ามีค่าความทนทานตามธรรมชาติโดยเฉลี่ยสูงกว่า 10 ปีทั้งสิ้น ยกเว้นไม้ตะเคียนทอง ที่มีค่าความทนทานตามธรรมชาติโดยเฉลี่ย 7.7 ปี  

ในส่วนของข้อมูลเจาะลึกว่า ไม้เนื้อแข็งมีกี่ชนิด และแต่ละชนิดมีข้อดีและข้อเสียอะไรบ้าง วันนี้ Wazzadu Encyclopedia Material Wisdom จะพาไปดูกันครับ...

ไม้มะค่า​ (Makha​ Wood​) 

ไม้มะค่า เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรงทนทาน สามารถรับน้ำหนักได้ดี เนื้อไม้มีความหยาบหนักแน่นแต่ก็มีความราบเรียบสม่ำเสมอ มีลวดลายไม้ที่สวยงามคล้ายลายไม้สัก เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อน และสีเหลืองอมชมพู โดยสีจะเข้มขึ้นตามอายุการใช้งาน และถ้าหากไม้มะค่าโดนแดด หรือ โดนน้ำ ก็อาจจะทำให้สีเข้มขึ้นได้เช่นกัน ไม้มะค่าเป็นไม้ที่ทนต่อปลวก มอด ความชื้น และเชื้อรา อีกทั้งยังผุพังได้ยาก โดยพื้นไม้มะค่าจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยราวๆ 10 -15 ปี

ไม้มะค่าถือเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในงานตกแต่งทั้งภายใน และภายนอก (ส่วนใหญ่นิยมใช้ภายในอาคาร) อาทิเช่น ไม้พื้น ไม้บันได ไม้ฝ้า บัวไม้ วงกบ ประตู หน้าต่าง คานไม้ หรือ ส่วนโครงสร้างในบ้านที่ต้องการโชว์ให้เห็นผิวไม้ที่มีความสวยงาม เป็นต้น 

ในปัจจุบันไม้มะค่าหายาก และมีราคาแพง ไม้มะค่าบางส่วนจึงนำเข้ามาจากทางแอฟริกา ซึ่งภูมิอากาศแถบนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศไทย แต่สีของไม้จะไม่สวย และเข้มเท่าไม้มะค่าในประเทศไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม้มะค่าจะมีราคาแพงกว่าไม้แดง

Benefit : ข้อดี

  • ไม้มะค่า เป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานมาก จึงสามารถรับน้ำหนักได้ดี
  • เนื้อไม้มีความหยาบหนักแน่นแต่ก็มีความราบเรียบสม่ำเสมอ
  • ไม้มะค่ามีลวดลายไม้ที่สวยงามคล้ายลายไม้สัก
  • ไม้มะค่าทนต่อปลวก มอด ความชื้น และเชื้อรา อีกทั้งยังผุพังได้ยาก

Disadvantage : ข้อเสีย

  • ไม้มะค่าเป็นไม้ที่หายาก และราคาสูง
  • ไม้มะค่า มีเนื้อไม้ที่หนักแน่น จึงทำให้มีน้ำหนักค่อนข้างมาก
  • ไม้มะค่า มีเนื้อไม้ที่ค่อนข้างแน่น จนทำให้การตัดแต่ง หรือการเจาะทำได้ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างเช่น เวลาตอกตะปูจะต้องเอาสว่านเจาะนำก่อน จึงจะตอกตะปูได้
  • ถึงแม้ไม้มะค่าจะเป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ก้ยังมีโอกาสที่จะยืด-หดตัวตามสภาพอากาศได้เช่นกัน

พื้นไม้ประดู่​ (Rose​ Wood​)

ไม้ประดู่ เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีกลิ่นหอม เนื้อละเอียดปานกลาง มีความแข็งแรงทนทานสูงพอๆ กับไม้แดงแต่มีอัตราการหดตัวน้อยกว่า เนื้อไม้มีหลายเฉดสีตั้งแต่สีชมพูอมส้ม สีแดงอมเหลือง ไปจนถึงสีอิฐแก่ ลักษณะสีเส้นเสี้ยนจะแก่กว่าสีพื้น ลายเสี้ยนสับสนเป็นริ้วสวยงาม อีกทั้งยังสามารถไสกบตกแต่ง และชักเงาได้ดี จึงนิยมนำไปใช้ในงานปูพื้น หรือ ใช้ทำเป็นวงกบประตูและหน้าต่าง โดยพื้นไม้ประดู่จะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 15 ปีขึ้นไป

Benefit : ข้อดี

  • ไม้ประดู่มีความเเข็งแรง ทนทานต่อรอยขีดข่วน และสามารถรับน้ำหนักได้ดีมาก
  • เนื้อไม้ประดู่ค่อนข้างละเอียด จึงสามารถนำไปไสกบตกแต่ง และขัดเงาได้ดี
  • ลักษณะสีเส้นเสี้ยนจะแก่กว่าสีพื้น ลายเสี้ยนสับสนเป็นริ้ว มีลวดลายที่สวยงาม
  • ไม้ประดู่มีอัตราการหดตัวค่อนข้างน้อย

Disadvantage : ข้อเสีย

  • ไม้ประดู่เป็นไม้ที่อมความร้อน 
  • ไม้ประดู่ มีเนื้อไม้ค่อนข้างแน่น จนทำให้การตัดแต่ง หรือการเจาะทำได้ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างเช่น เวลาตอกตะปูจะต้องเอาสว่านเจาะนำก่อน จึงจะตอกตะปูได้
  • ถึงไม้ประดู่จะมีอัตราการยืดหดตัวค่อนข้างน้อย แต่ก็มีโอกาสยืด-หดตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันได้ 

ไม้แดง​ (Iron Wood​) 

ไม้แดง เป็นไม้เนื้อแข็งที่เนื้อไม้ค่อนค้างแน่น ทนทาน และสามารถรับน้ำหนักได้ดี (เจาะตัดได้ยากกว่าไม้ชนิดอื่นๆ)  เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมแดง โดดเด่นด้วยลายเส้นสีเข้มสวยงาม และมีจุดดำแทรกในเนื้อไม้ เมื่อใช้ไปนานๆจะมีสีแดงที่เข้มขึ้น ไม้แดงเป็นไม้ที่มีความแข็งแรง และมีราคาไม่สูงมากนัก นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างทั้งภายใน และภายนอกอาคาร เช่น ไม้ปูพื้น ,เสา ,คาน ,ตง ฝาบ้าน ฝ้าชายคา และรั้วไม้

ด้วยความที่เนื้อไม้แดงมีความแข็งค่อนข้างมาก จึงทำให้ไม้แดงมีโอกาสยืดหดตัวสูง ดังนั้นการใช้งานไม้แดงจึงควรตีเว้นร่องเพื่อป้องกันการขยายตัวของไม้จนทำให้เกิดการปริแตกได้ อีกทั้งยังไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวก หรือ แมลง และยังเป็นไม้ที่ต้านทานไฟในตัว โดยพื้นไม้เเดงจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10 -15 ปี

Benefit : ข้อดี

  • ไม้แดง เป็นไม้เนื้อแข็งที่เนื้อไม้ค่อนค้างแน่น มีความทนทาน และสามารถรับน้ำหนักได้ดี
  • ไม้แดง มีความโดดเด่นด้วยลายเส้นสีเข้มสวยงาม ในโทนสีน้ำตาลอมแดง
  • ไม้แดง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวก หรือ แมลงรบกวน

Disadvantage : ข้อเสีย

  • ด้วยความที่เนื้อไม้แดงมีความแข็งค่อนข้างมาก จึงทำให้ไม้แดงมีโอกาสยืดหดตัวตามสภาพอากาศพอสมควร อีกทั้งยังเป็นไม้ที่มีอัตราการยืดหดตัวสูง
  • ไม้แดง มีเนื้อไม้ค่อนข้างแน่น จนทำให้การตัดแต่ง หรือการเจาะทำได้ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างเช่น เวลาตอกตะปูจะต้องเอาสว่านเจาะนำก่อน จึงจะตอกตะปูได้
  • ไม้แดง มีเนื้อไม้ค่อนข้างแน่นจึงทำให้มีน้ำหนักมากตามไปด้วย

ไม้เต็ง (Shorea​​ Wood) 

ไม้เต็ง เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ หรือน้ำตาลออกเทา (ถ้าตัดทิ้งไว้นานสีจะเข้มขึ้น) จัดเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรงทนทานมาก เนื้อไม้มีความแข็งและเหนียว มีผิวหยาบ และเสี้ยนลายไม้ไม่ค่อยสวยงาม นิยมใช้กับงานโครงสร้างภายนอก อย่างเช่น คาน เสา และพื้น เพราะทนต่อสภาพอาอาศได้ดีกว่าไม้ชนิดอื่นๆ 

ไม้เต็ง ถือเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีขนาด และคุณสมบัติที่เหมาะสมในการนำไปทำพื้นไม้ เพื่อช่วยลดอัตราที่พื้นไม้จะบิด หรือ โก่งตัวเมื่อโดนน้ำ หรือ ความชื้น โดยไม้เต็งที่นำมาปูพื้น ควรจะเป็นไม้ที่ผ่านการอบแห้งให้มีความชื้นไม่เกิน 12% และจะต้องมีการทาสีรักษาเนื้อไม้ เพื่อให้พื้นไม้เต็งสามารถทนทานต่อการขูดขีด และลดการสูญเสียความชื้นจากในเนื้อไม้ ซึ่งจะช่วยให้พื้นไม้เต็งมีความเงางาม และยังช่วยป้องกันการรบกวนของปลวกที่จะเจาะพื้นไม้เต็งได้ด้วย แม้ว่าโดยธรรมชาติของไม้เต็งแล้ว ปลวกจะไม่ค่อยมารบกวนก็ตาม โดยพื้นไม้เต็งจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10-15 ปี

Benefit : ข้อดี

  • ไม้เต็ง เป็นพื้นที่มีความคงทนแข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี
  • ไม้เต็ง ทนต่อสภาพอาอาศได้ดีกว่าไม้ชนิดอื่นๆ จึงสามารถนำไปทำเป็นพื้นภายนอกอาคารได้
  • ไม้เต็ง มีอัตราการบิดตัว หรือ โก่งตัวเมื่อโดนน้ำ และความชื้นค่อนข้างต่ำ
  • ไม้เต็ง มีปัญหาเรื่องปลวก และแมลงค่อนข้างน้อยกว่าไม้ชนิดอื่นๆ

Disadvantage : ข้อเสีย

  • พื้นผิวของไม้เต็ง ค่อนข้างหยาบ และลวดลายไม่สวยงามเท่ากับไม้ชนิดอื่นๆ 
  • ไม้เต็งเป็นไม้เนื้อแข็ง จึงทำให้ตัดแต่ง และลงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้ค่อนข้างยาก
  • ถ้าหากนำไปทำสี แล้วทำไม่ค่อยดี จะทำให้สีแตกลอกล่อนค่อนข้างเร็ว

ไม้รัง​ (Sal​ Wood)

ไม้รัง เป็นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ ลักษณะเนื้อไม้มีความหยาบ หรือ ละเอียดปานกลาง มีสีน้ำตาลอมเหลือง มีความแข็งแรงคงทนค่อนข้างมาก เมื่อเนื้อไม้แห้งจะมีความแข็งแรง และคุณสมบัติคล้ายไม้เต็ง แต่ความแข็งแรงนั้นมีน้อยกว่าไม้เต็ง แต่ก็ยังพอที่จะสามารถใช้ทดแทนไม้เต็งได้ 

โดยนิยมนำไปใช้ในงานก่อสร้างในส่วนที่จำเป็นต้องรับน้ำหนัก เช่น เสา พื้น และคาน แต่ในปัจจุบันไม้รังเริ่มหายาก และมีราคาแพงมาก นอกจากจะเป็นไม้รังที่มาจากป่าปลูกโดยเฉพาะ แต่ก็ยังมีค่อนข้างน้อย โดยพื้นไม้รังจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10 ปีขึ้นไป

Benefit : ข้อดี

  • ไม้รัง มีความแข็งแรงทนทาน สามารถรับน้ำหนักได้ดี
  • ไม้รัง เป็นไม้ที่ทนต่อสภาพอาอาศได้ดี จึงสามารถนำไปทำเป็นพื้นภายนอกอาคารได้ (คล้ายไม้เต็ง)
  • ไม้รัง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวก และแมลง (คล้ายไม้เต็ง)

Disadvantage : ข้อเสีย

  • ไม้รัง เป็นไม้เนื้อแข็ง จึงทำให้ตัดแต่ง และลงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้ค่อนข้างยาก (คล้ายไม้เต็ง)
  • พื้นผิวของไม้รังค่อนข้างหยาบ และลวดลายไม่สวยงามเท่ากับไม้ชนิดอื่นๆ

ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ