Public Space Design รวมโปรเจครีโนเวทพื้นที่สาธารณะ ที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชน

เนื่องจากการเติบโตของโครงสร้างเมืองที่มีเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งอาจจะทำให้เกิดการเสียสมดุลทางธรรมชาติและระบบนิเวศน์ ก่อเกิดเป็นโครงการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตของเมืองและธรรมชาติ ให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และในวันนี้ Wazzadu ได้ทำการรวบรวมโครงการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะที่มีแนวคิดที่น่าใจ อีกทั้งยังเกิดประโยชน์ต่อผู้คนในชุมชน จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ไปชมกันเลยครับ...

โครงการที่ 1 Raised Gardens of Sants in Barcelona

บริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบ : Sergi Godia + Ana Molino architects

โปรเจคประเทศสเปน

Photographs : Adrià Goula

ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.archdaily.com

 

ในยุคที่การขยายตัวของเมืองเป็นไปอย่างไม่สิ้นสุด สมดุลทางธรรมชาติเริ่มถดถอยไปตามการปรับโครงสร้างของเมือง คำถามคือจะทำอย่างไรถึงจะสร้างความสมดุลระหว่างความเจริญของเมืองและความเป็นธรรมชาติให้เติบโตควบคู่กันไปได้โดยดี จากแนวคิดนี้ จึงเกิดโปรเจครีโนเวทพื้นที่สวนสาธารณะบนเส้นทางรถไฟฟ้าสายเก่า  ในเมืองบาร์เซโลนาประเทศสเปน เพื่อหวังที่จะลดปัญหามลภาวะที่เสื่อมโทรมของพื้นที่โดยรอบ

จุดเริ่มต้นจากทางรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1926 ที่มีความยาวกว่า 800 เมตร กว้าง 30 เมตร ซึ่งส่งผลให้เกิดมลภาวะทางเสียง และเกิดความเสื่อมโทรมของพื้นที่โดยรอบ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้บริหารของเมืองตัดสินใจสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อจะช่วยลดมลภาวะและความเสื่อมโทรม โดยการสร้างสวนสาธารณะบนหลังคาของโครงสร้างทางรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งนี้ ซึ่งลักษณะจะเหมือนกับสะพานที่ทอดยาวไปกว่า 800 เมตร เกิดพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองสำหรับผู้คนในชุมชน

สะพานสวนสาธารณะแห่งนี้มีความสูงตั้งแต่ 4-12 เมตร แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับรูปแบบของถนนในระแวกนั้น กลายเป็นจุดชมวิวแบบพาโรนามา ตามทางเดินประกอบไปด้วย ต้นไม้ที่ให้ร่มเงา กลุ่มพุ่มไม้หนาแน่นดูสบายตา พร้อมพืชพันธุ์นานาชนิดที่ถูกคัดเลือกมาอย่างเหมาะสม ส่วนทางเดินบริเวณทิศใต้จะเหมาะกับคนที่ชอบแสงแดดเป็นพิเศษ เพราะจะมีความปลอดโปร่ง เรียกได้ว่าเป็นจุดพักผ่อนอีกแห่งหนึ่งของผู้คนในชุมชน และเป็นสถานที่ซึ่งเกิดจากความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคม การรีโนเวทพื้นที่สาธารณะที่ตอบรับกับเทรนด์รักษ์โลก และการปรับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ยังมีส่วนร่วมกับระบบริเวศน์ทางธรรมชาติได้อย่างลงตัว

โครงการที่ 2 Roof Square

บริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบ : HG-Architecture

โปรเจคประเทศเกาหลีใต้ 

ช่างภาพ : Kyungsub Shin

ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.archdaily.com

Roof Square เป็นโปรเจครีโนเวทพื้นที่ใต้สะพานทางหลวงที่รกร้างและไม่ใช้งาน ให้กลายเป็นสะพานลอยและลานกิจกรรมสำหรับชุมชุม โปรเจคนี้อยู่ในกรุงโซลของประเทศเกาหลีใต้ จากปัญหาพื้นที่ในเมืองซึ่งเริ่มไม่เพียงพอ จึงเกิดความคิดในการปรับปรุงพื้นที่ส่วนที่ไม่ได้ใช้งาน ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนในชุมชนมากที่สุด

โดยโครงการนี้เป็นการปรับปรุงพื้นที่ใต้สะพานให้เป็นสะพานลอย โดยพื้นที่สาธารณะแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 425 ตารางเมตร ตามแนวสะพานติดไฟสว่างสไวเพื่อเพิ่มความรู้สึกปลอดภัยต่อผู้ที่สรรจรไปมาบริเวณนี้ในเวลากลางคืน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่สามารถมาออกกำลังกายหรือจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ มีร้านอาหารที่มาขายในบริเวณนั้นเพิ่มบรรยากาศแห่งการพักผ่อนและรู้สึกเหมือนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปในตัว ทำให้พื้นที่สาธารณะแห่งนี้กลายเป็นลานกิจกรรมยามว่างของผู้คนในบริเวณนั้นไปตามกาลเวลา

โครงการที่ 3  Cycling Skyway

บริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบ : Dissing + Weitling Architecture

โปรเจคประเทศจีน พื้นที่ 7.6 กิโลเมตร 

ช่างภาพ : Ma Weiwei.

ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.Dezeen.com

Xiamen Bicycle Skyway / Cycling Skyway

คือการสร้างสรรค์เส้นทางจักรยานในระยะทางกว่า 7.6 กิโลเมตร นับเป็นเส้นทางจราจรจักรยานยกระดับที่มีความยาวมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ เป็นผลงานการออกแบบของ Dissing + Weitling Architecture ซึ่งได้ร่วมงานกับรัฐบาลจีนที่ได้มีการวางเเผนพัฒนาแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ด้วยไอเดียส่งเสริมรูปแบบการขนส่งสาธารณะเพื่อความยั่งยืนของคนเมือง โดยเชื่อมต่อกับสถานีคมนาคมสาธารณะต่างๆ รวมถึงการเชื่อมโยงไปยังสถานที่สำคัญหลักๆของเมืองอีกด้วย

Xiamen Bicycle Skyway ได้ออกแบบให้มีจุด เข้า-ออก 11 จุด โดยเชื่อมต่อไปยังสถานีหลักตามเส้นทาง เเละสถานที่สาธารณะ โดยมีการจัดระเบียบพื้นที่การใช้งานอย่างมีระบบใช้งานได้ง่าย ตั้งเเต่ทางเดิน Skyway ที่เป็นจุดเชื่อมต่อเเรกที่สำคัญระหว่างทางบนถนนกับจุดบริการทางปั่นจักรยาน ซึ่งการออกแบบยังได้คำนึงถึงการสร้างบรรยากาศที่เป็นเส้นทางสีเขียวไว้ตลอดทาง นับว่ายังเป็นการส่งเสริมสภาพเเวดล้อมที่ดี

โครงการที่ 4 The New York High Line

บริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบ : James Corner Field Operations with Diller Scofidio + Renfro

โปรเจคประเทศหรัฐอเมริกา พื้นที่ 3.75 ตร.กม.

ช่างภาพ : Iwan Baan

ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.archdaily.com

ประวัติความเป็นมาของทางรถไฟสายนี้ ก่อนที่จะถูกพัฒนาเป็น The High Line อย่างในปัจจุบัน ทางรถไฟสายนี้เริ่มต้นเปิดใช้งานช่วงปี 1930 จนถึงปี 1980 ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญในสมัยนั้น ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยการเดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน หลังจากผู้คนเริ่มหันไปเดินทางด้วยระบบขนส่งทางอื่น ทำให้ทางรถไฟสายนี้กลายเป็นสถานที่รกร้าง ต้นหญ้าขึ้นปกคลุม รางรถไฟชำรุด จึงได้รับคำสั่งให้ทุบทิ้งไป จนเหลือพื้นที่เพียงแค่ 1.45 ไมล์ ที่ยังไม่ถูกทุบทิ้ง ด้วยความผูกพันของกลุ่มคนในชุมชนกับทางรถไฟสายนี้ ที่อยู่ร่วมกันมากว่า 50 ปี จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่ม Friends of the High Line ขึ้น เพื่อปกป้องและดูแล The High Line

ดังนั้น จุดเริ่มต้นของการสร้างสวนสาธารณะบนรางรถไฟ The High Line เริ่มมาจากกลุ่ม Friends of the High Line ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มคนในชุมชนซึ่งอาศัยในระแวกนั้น ต้องการลุกขึ้นมาปกป้องไม่ให้ทุบทางรถไฟทิ้ง จนเกิดเป็นแนวคิดในการสร้าง The High Line สวนสาธารณะลอยฟ้าขึ้น โดยการบูรณะและสร้างพื้นที่สำหรับให้ผู้คนได้เดินเล่น ตกแต่งด้วยต้นไม้หลากหลายชนิด เปิดร้านค้าอาหารและเครื่องดื่ม จนกลายมาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับผู้คนมาถึงปัจจุบัน

 

โครงการที่ 5  Buffalo Niagara Medical Campus Streetscape

บริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบ : Scape studio / nARCHITECTS / Foit Albert / Tillett Lighting

โปรเจคประเทศสหรัฐอเมริกา พื้นที่ริมถนน

ช่างภาพ : Cole Studio

ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.scapestudio.com

โปรเจคการออกแบบภูมิสถาปัตย์ของพื้นที่บริเวณริมทางเดินฟุตบาท ของเมืองซึ่งตั้งอยู่ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา การปรับปรุงภูมิทัศน์ของพื้นที่สาธารณะจากแรงบันดาลใจที่ว่า “ถนนเดิมๆ ที่แสนน่าเบื่อ จะทำให้ผู้คนเพลิดเพลินและมีความสุขกับการเดินหรือนั่งรถได้อย่างไร?” โครงการนี้เป็นการร่วมมือกันของนักออกแบบเมืองและที่ปรึกษาที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผ่านการออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก Scape studio

โครงการนี้มีขึ้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อพื้นที่ในชุมชน 2 พื้นที่ทางเดินริมถนนซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว และช่วยดูดซับมลภาวะทางอากาศ ถนนริมฟุตบาทที่ถูกปรับปรุงให้ดูสะอาดเรียบร้อยและเป็นระเบียบ เอื้ออำนวยให้ผู้คนอยากเดินกันมากขึ้น มีเก้าอี้สำหรับเป็นจุดนั่งพัก หรือพื้นที่สำหรับปั่นจักรยาน เรียกได้ว่าเป็นการปรับปรุงพื้นที่ริมฟุตบาทที่มีอยู่ให้สวยงามน่าดูมากยิ่งขึ้น

 

โครงการที่ 6  Urbano A8erna

บริษัทสถาปนิกผู้ออกแบบ : NLA-NL

โปรเจคประเทศเนเธอร์แลนด์

ช่างภาพ : Romullo Baratto

ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.archdaily.com

โปรเจค “ Urbano A8erna ” เกิดขึ้นที่เมืองซานสตั๊ด ประเทศเนเธอร์แลนด์ ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกชื่อ NLA-NL เกิดจากไอเดียที่จะพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนให้กลายเป็นลานจัดกิจกรรมต่างๆที่ทำให้คนในชุมชนสามารถมาใช้งานร่วมกันได้อย่างเหมาะสม และเป็นประโยชน์ โดยในอีกแง่มุมหนึ่งก็เป็นการออกแบบ Urban Lanscape ของภูมิทัศน์โดยรวมในย่านชุมชนที่เป้นมุมอับ ไม่ปลอดภัย ให้กลับมาสวยงาม เป็นระเบียบ ใช้ประโยชน์ได้ และมีความปลอดภัยไปในตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งตัวสะพานตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้าน Koog aan de Zaan ติดกับแม่น้ำ Zaan ที่ทุกคนในชุมล้วนมีความผูกพันธ์กับแม่น้ำสายนี้มาช้านาน

สำหรับพื้นที่กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นนั้น จะเป็นกิจกรรมที่ผู้คนสามารถทำร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมภายเรือในสระน้ำที่เชื่อมต่อเข้ากับแม่น้ำ ,ลานกีฬาในรูปแบบต่างๆ ,พื้นที่สวนสนุกสำหรับเด็ก ,ลานศิลปะ และพื้นที่สันทนาการ หรือ พื้นที่สำหรับนั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจัดสรรค์พื้นที่เดิมให้เกิดประโยชน์ได้ในหลายๆมิติ

 

โครงการที่ 7  แผนพัฒนาคลองช่องนนทรี

โปรเจคประเทศไทย

ขอบคุณภาพประกอบจาก : เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang

  • เพิ่มพื้นที่สีเขียว
  • สวนสาธารณะ แหล่งพักผ่อน
  • ที่ออกกำลังกาย

แผนการปรับปรุและพัฒนาคลองช่องนนทรีให้เป็นสวนสาธารณะคลองที่ยาวที่สุดแห่งแรกของไทย คลองแห่งนี้มีความยาวถึง 4.5 กม. โดยวางแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยต้นไม้ เพื่อลดมลภาวะในเมือง เพิ่มพื้นที่การเรียนรู้และแหล่งพักผ่อนให้กับชุมชนและคนทำงาน เพิ่มทางวิ่ง/จักรยาน ระยะทางไป-กลับ มากถึง 9 กม. ใช้คลองบำบัดน้ำตามธรรมชาติได้มากกว่าเดิม เพิ่มทางเชื่อมต่อผู้คนในย่าน 

ถือว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจมาก เพราะช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง ฟื้นฟูคลองเสียให้กลับกลายเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี ต้องติดตามกันว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะเป็นอย่างไรครับ

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ >> เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang

วัสดุที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานรีโนเวทพื้นที่สาธารณะ

บล็อกช่องลม

เป็นวัสดุตกแต่งผนังอาคาร ฟาซาด เพื่อเสริมในเรื่องความเย็นและระบายอากาศให้กับภายในอาคาร หรือช่วยเพิ่มมิติแสงเงาเพิ่มความน่าสนใจ การออกแบบช่องเปิดโดยใช้บล็อกช่องลมบริเวณชั้นล่างของบ้านให้ตรงกับทิศทางของลมและมีช่องเปิดบริเวณเพดานหรือชั้นบนเพื่อเปิดโอกาสให้อากาศเย็นจากชั้นล่างดันอากาศร้อนให้ถ่ายเทออกผ่านช่องเปิดเพดาน ผลคือบ้านจะเย็นขึ้นและไม่อบอ้าว ทำให้เราใช้ไฟฟ้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

โครงสร้างเหล็ก

เหล็กจำนวนมากถูกนำมาออกแบบเป็นโครงสร้างที่มีความเป็นเอกลักษณ์พิเศษสำหรับงานสถาปัตยกรรมนี้โดยเฉพาะ ซึ่งหากจะพูดถึงเหล็กที่ถูกนำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมหรืองานตกแต่งทั่วไป ก็จะถูกจำแนกออกเป็นหลายประเภทด้วยกัน ตัวอย่างเช่น

  • เหล็กรูปพรรณรีดร้อน

คือ เหล็กที่มีการรีด ตอนที่เหล็กยังมีอุณหภูมิสูงประมาณ 1,200 องศา เพื่อให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ เช่น เหล็ก H-Bean, I-Beam, Channel ซึ่งในการรีดเหล็กในขณะที่มีอุณหภูมิสูงนี้ เป็นกรรมวิธีที่ให้ความร้อนแก่เหล็กและทำให้เหล็กเย็นตัวลงเป็นลำดับ เพื่อลดความเครียดในเนื้อเหล็กและทำให้ผลึกเหล็กมีความละเอียดมากขึ้น ซึ่งทำให้เหล็กมีกำลังและความเหนียวสูงขึ้น ซึ่งสามารถรีดเหล็กที่มีความหนาที่มากๆได้ ส่งผลให้เมื่อมีการนำไปออกแบบใช้งาน จะสามารถใช้งานได้หลากหลาย

  • เหล็กรูปพรรณขึ้นรูปเย็น​

คือ เป็นการขึ้นรูปจากเหล็กแผ่นที่มีอุณหภูมิปกติ โดยเป็นการพับ แผ่นเหล็กและเชื่อมให้กลายเป็น เหล็กกล่อง เหล็กท่อกลม หรือนำแผ่นเหล็กมาพับเป็นตัว Z ซึ่งการนำเหล็กแผ่นมาพับหรือม้วนนั้น จะต้องมีการเชื่อมเหล็กเข้าด้วยกัน และต้องมีการตรวจสอบรอยเชื่อมดังกล่าว จัดเป็นกรรมวิธีที่ทำให้เกิด strain-hardening ในเหล็ก และทำให้เหล็กมีกำลังและความแข็งของผิวต่อการกดสูงขึ้นมากกว่าเหล็กรูปพรรณรีดร้อน แต่จะมีผลทำให้ความเหนียวของเหล็กลดลง

ประเภทการใช้งานของเหล็กรูปพรรณขึ้นรูปเย็น​ มักนิยมใช้กันมากในงานตกแต่งสถาปัตยกรรม  เช่น  เหล็กกล่อง ,เหล็กท่อกลม ฯลฯ 

วัสดุปูพื้นประเภทพื้นไม้ 

พื้นไม้ (wood flooring) แบ่งชนิดของไม้ออกเป็น 2 ประเภท คือ ไม้เนื้อแข็ง หรือ Hard wood และไม้เนื้ออ่อน หรือ Soft wood โดยไม้ที่มีใบกว้างเราจะเรียกว่าเป็นไม้เนื้อแข็ง ในขณะที่ไม้ที่มาจากพืชตระกูลสนเราจะเรียกว่า ไม้เนื้ออ่อน ซึ่งในความเป็นจริง ไม้ในกลุ่มหลังนี้ก็มีความแข็งที่สามารถจัดเข้ากลุ่มแรกได้ สำหรับในประเทสไทยได้มีการแยกประเภทไม้ให้ละเอียดยิ่งขึ้นตามลักษณะความแข็ง แรงของไม้ดังนี้

  • ไม้เนื้ออ่อน 

เป็นไม้ที่มีวงปีกว้างมาก เนื่องจากเป็นไม้โดเร็ว ลำต้นใหญ่ เนื้อค่อนข้างเหนียว แต่ทำงานได้ง่าย เนื้อไม้มีสีจางหรือ ค่อนข้างซีด อาทิ ไม้กระบาก ไม้ยาง ไม้ฉำฉา ไม้เหียง ไม้โมก ไม้กระท้อน ไม้ยมหอม ไม้จำปาป่า ไม้สนต่างประเทศ เหมาะกับงานในที่ร่มหรืองานชั่วคราว งานตกแต่ง และเครื่องมือเครื่องใช้

  • ไม้เนื้อแข็ง 

เป็นไม้ที่มีวงปีมากกว่าไม้เนื้ออ่อน เพราะมีการเจริญเติบโตช้ากว่า คือต้องมีอายุหลายสิบปี จึงจะนำมาใช้งานได้ ลักษณะทั่วไปของไม้จะมีเนื้อมัน ลายละเอียด เนื้อแน่น สีเข้ม (แดงถึงดำ) มีน้ำหนักมาก แข็งแรงทนทาน เช่น ไม้สัก ไม้ตะแบก ไม้ประดู่ ไม้มะเกลือ เป็นต้น เหมาะสำหรับงาน เฟอร์นิเจอร์ งานก่อสร้างบ้าน และเครื่องมือ

  • ไม้เนื้อแกร่ง

เป็นไม้ที่มีการเจริยเติบโตช้ามาก จึงทำให้ วงประจำปีถี่มากกว่าไม้สองชนิดแรก คือ ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 60-70 ปีขึ้นไปจึงจะนำมาใช้งานได้ เนื้อไม้มีสีเข้มค่อนข้างแดง น้ำหนักไม่มาก แต่แข็งกว่าไม้เนื้อแข็ง ไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มักเป็นไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างหรือเป้นโครงสร้าง อาทิ คาน ตง เสา ได้แก่ ไม้แดง ไม้ชิงชัน ไม้ตะเคียน ไม้มะค่าโมง ไม้พยุง ไม้เต็ง

 

บล็อกหญ้า

เนื้อคอนกรีตอัดแน่นแข็งแรงเป็นเนื้อเดียวกัน ทนทาน รับน้ำหนักได้เทียบเท่ากับพื้นคอนกรีต และช่องว่างในก้อนของบล็อกหญ้าทำให้น้ำซึมผ่านได้เป็นอย่างดี ไม่ก่อให้เกิดน้ำขัง การติดตั้งที่สะดวกรวดเร็ว พร้อมใช้ได้ทันทีหลังจากการติดตั้ง ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ บล็อกหญ้า จึงเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มลูกเล่นในการออกแบบตกแต่งให้กับงาน Landscape ได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

  • แบบที่ 1. บล็อกหญ้า 3 เซล

ลานจอดรถ - นึกภาพถึงลานจอดรถที่ใช้จอดรถได้ตามปกติ แต่มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติมมาให้จากการแทรกตัวขึ้นมาของพืชตามร่องของ บล็อกหญ้า ที่ได้ถูกดีไซน์ไว้แล้ว จะรู้สึกดีแค่ไหนกับที่จอดรถพร้อมพื้นที่สีเขียวเพิ่มความสดชื่น และสวยงาม ลดการสะท้อนความร้อน เนื่องจากมีหญ้าและดินแซม ทำให้เย็นกว่าการใช้พื้นปูนและการปู block ล้วน

  • แบบที่ 2. บล็อกหญ้า 2 เซล

ทางเดิน - สร้างทางเดินในสนามหญ้าด้วย บล็อกหญ้า ยังคงได้พื้นที่สีเขียวเช่นเดิม และยังไม่ทำร้ายต้นหญ้าในสนามด้วยการเดินผ่านไปมาของเราได้อีกด้วย หรือจะดัดแปลงโดยการใช้ กรวด หิน เทเข้าไปในร่องแทนการให้หญ้าขึ้นแทนก็ได้

แผ่นทางเท้าปูนเปลือย

สำหรับตกแต่งพื้นทางเดิน - แผ่นทางเท้าปูนเปลือย สัมผัสที่เหมือนกับพื้นหินธรรมชาติ จึงเหมาะกับการนำมาตกแต่งพื้นทางเดินร่วมกับหญ้า ตัวสินค้ามีคุณสมบัติที่แข็งแกร่ง ทนต่อสภาพอากาศ สามารถออกแบบการจัดวางได้หลากหลายรูปแบบตามสไตล์

ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ

เขียน และเรียบเรียงโดย Wazzadu Encyclopedia

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก

  • land8.com/how-raised-gardens-can-a-make-railway-a-social-place/
  • archello.com/project/roof-square
  • www.scapestudio.com/projects/buffalo-niagara-medical-campus-streetscape/
  • www.archdaily.com/

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ