เทคนิคการฉลุลายลงบนพื้นผิววัสดุ และรูปแบบที่น่าสนใจ
การฉลุ เป็นกรรมวิธีในการใช้เครื่องมือต่างๆ เจาะลงไปบนพื้นผิวของวัสดุ และปรุให้เกิดเป็นรูช่องว่าง หรือเป็นลวดลายต่างๆ ตามรูปแบบหรือดีไซน์ที่ต้องการ ซึ่งการฉลุเป็นเทคนิคการเจาะเป็นรูหรือเป็นช่องเพื่อสร้างความรู้สึกในการมองแบบทะลุผ่าน ช่วยลดน้ำหนักทางสายตาได้เป็นอย่างดี และเสริมสร้างมิติให้กับชิ้นงานได้มากขึ้น
เทคนิคการฉลุ เป็นเทคนิคด้านการออกแบบและดีไซน์ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย และเป็นส่วนที่ช่วยเติมเต็มงานดีไซน์ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผ่านลวดลายของการฉลุ ซึ่งนอกจากเรื่องความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ ยังมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยลดน้ำหนักของชิ้นงานให้เบาลงได้อีกด้วย การฉลุถูกนำไปใช้ทั้งในวงการศิลปะ เครื่องประดับ ออกแบบแพคเกจ การออกแบบภายใน และในงานสถาปัตยกรรมต่างๆ อีกมากมาย
การฉลุลายบนวัสดุ นิยมนำไปตกแต่งส่วนใดบ้าง?
1. การตกแต่งภายใน (Interior Design)
การฉลุลายวัสดุและนำไปใช้กับการตกแต่งภายใน เพื่อสร้างความสวยงาม ดูเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เกิดช่องว่างของการเชื่อมต่อระหว่างสเปซ มองดูแล้วไม่ทำให้เกิดความทึบตันจนเกินไป อีกทั้งรูปแบบของลวดลายบนวัสดุ หรือประเภทวัสดุที่เลือกมาใช้ในการฉลุลาย ยังเป็นตัวช่วยในการสร้างคอนเซ็ปต์การออกแบบเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน วัสดุที่มักนำมาฉลุลายเพื่อตกแต่งภายใน เช่น แผ่นพลาสวูด แผ่นไม้ แผ่นอะคริลิค
ตัวอย่างการตกแต่งฉลุลายวัสดุบริเวณพื้นที่ต่างๆ
- ฉลุลายบนวัสดุเพื่อนำไปติดตั้งเป็นฉากกั้นห้อง
- ฉลุลายบนวัสดุเพื่อนำไปตกแต่งบันได
- ฉลุลายบนวัสดุเพื่อนำไปตกแต่งฝ้าเพดาน
- ฉลุลายบนวัสดุเพื่อนำไปตกแต่งผนัง
- ฉลุลายบนวัสดุเพื่อนำทำเป็นของตกแต่ง เช่น กล่องใส่ของ โคมไฟ เฟอร์นิเจอร์
2. ตกแต่งภายนอก (Exterior Design)
การฉลุลวดลายบนวัสดุต่างๆ เพื่อนำไปใช้การงานตกแต่งภายนอก การตกแต่งภายนอกโดนการนำเอาวัสดุฉลุลายมาใช้ในการตกแต่ง ถือเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบการออกแบบสุนทรียศาสตร์ทางด้านสถาปัตยกรรมที่สามารถสร้างความต่างระหว่างคำว่า อาคาร และ สถาปัตยกรรม เนื่องจากสามารถสร้างอัตลักษณ์ในการออกแบบที่โดดเด่นกว่าอาคารปกติ ตัวอย่างเช่น การตกแต่งฟาซาดด้วยวัสดุฉลุลาย ที่ช่วยสร้างแสงและเงาที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นแสงจากธรรมชาติ หรือแสงไฟยามค่ำคืนที่สาดส่องผ่านช่องของลวดลายที่ถูกฉลุ
- ฉลุลายบนวัสดุเพื่อนำไปทำเป็นรั้ว
- ฉลุลายบนวัสดุเพื่อนำไปทำเป็นฟาซาด
- ฉลุลายบนวัสดุเพื่อนำไปทำเป็น "โถงทางเดิน"
- ฉลุลายบนวัสดุเพื่อนำไปตกแต่งบริเวณ "ระเบียง"
- ฉลุลายบนวัสดุเพื่อนำไปตกแต่งหน้ามุก, เชิงชาย
1. เทคนิคการฉลุลายด้วยเครื่อง CNC (Computer Numerical Control)
เครื่อง CNC (Computer Numerical Control) เป็นเครื่องจักรที่สามารถกัด ตัด เจาะ หรือ แกะสลักชิ้นงานได้ อย่างอัตโนมัติ ทำงานด้วยระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ตัวเครื่องจะทำงานตามแบบที่เราได้จัดใส่โปรแกรมการทำงานเข้าไป สามารถใช้ได้หลายภาษา ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เครื่องจักรชนิดนี้กับงานวัสดุที่ต้องการความละเอียดและแม่นยำ หรือมีความซับซ้อนสูง โดยเครื่อง CNC สามารถทำให้งานฉลุลายบนพื้นผิววัสดุ เป็นไปได้ด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีความรวดเร็ว แม่นยำ และสามารถทำงานในแบบที่ซับซ้อนได้ดี
ข้อดีของระบบ CNC
- มีความแม่นยำ มีความละเอียดสูง และผิดพลาดได้น้อย
- คุณภาพชิ้นงานจะมีความเท่าเทียมกันทุกชิ้น
- ผลิตงานออกมาได้อย่างรวดเร็ว
- เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการผลิตชิ้นงานจำนวนหลายๆ ชิ้น
- ตัวงานออกมาได้มาตรฐานสูง แม้ว่าจะเป็นชิ้นงานที่มีความยากและซับซ้อนมาก
- ลดเวลาสำหรับการตรวจสอบสภาพชิ้นงาน ช่วยลดแรงงานในการผลิตไปในตัว
ข้อเสียของระบบ CNC
- ราคาสูง เนื่องจากมีความซับซ้อนในการผลิตและการออกแบบ
- ราคาค่าซ่อมแซมสูง
- เครื่องจักรจะต้องถูกทำงานเป็นประจำ มิเช่นนั้นจะทำให้เสื่อมสภาพ
- ต้องมีพื้นที่ค่อนข้างเยอะในการจัดวางตัวเครื่อง
- ไม่คุ้มกับการทำงานจำนวนน้อยๆ
- ระบบการควบคุมเครื่องเป็นภาษาอังกฤษ ผู้เขียนโปรแกรมจะต้องมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี
2. เทคนิคเลื่อยฉลุแบบตั้งโต๊ะ
การฉลุลายหรือสร้างลวดลายลงบนพื้นผิววัสดุด้วยการใช้เลื่อยฉลุแบบตั้งโต๊ะ เป็นเครื่องที่ลักษณะการทำงานเหมือนจิ๊กซอว์ คือใบเลื่อยวิ่งขึ้น-ลงในการตัดแต่ต่างกันที่แบบตั้งโต๊ะ จะต้องใช้ชิ้นงานดันเข้าหาใบเลื่อย เพื่อตัดชิ้นงานให้เป็นรูปทรงต่างๆ ตัดวัสดุได้หลายชนิด เช่น ไม้ พลาสติก เป็นต้น ตัดชิ้นงานได้หนาสูงสุดประมาณ 50 มม.ฐานเครื่องสามารถปรับเอียงได้สูงสุด 45° และสามารถปรับรอบการทำงานของตัวเครื่องได้ เพื่อให้เหมาะสมกับวัสดุที่ใช้ตัด
ข้อดีคือราคาถูกกว่า หาซื้อได้ง่าย แต่ต้องใช้ความชำนาญในการใช้เครื่องมือเป็นอย่างสูง และอาจจะไม่แม่นยำมากนัก เหมาะกับชิ้นงานที่ไม่ใหญ่มาก และไม่ได้มีความเร่งรีบ
ตัวอย่างวัสดุที่สามารถนำไปฉลุลายได้
แผ่นพลาสวูด (Plastwood)
วัสดุที่นิยมนำมาฉลุลายเป็นอันดับต้นๆ นั่นก็คือแผ่นพลาสวูด เนื่องจากสามารถใช้ได้ทั้งการตกแต่งภายใน และภายนอก (นิยมใช้ภายในมากกว่าภายนอก) แผ่นพลาสวูด คือ แผ่นพีวีซีชนิดแข็ง (Poly Vinyl Chloride หรือ PVC Foam Sheet) ที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ทดแทนไม้ ทำให้ติดตั้งง่าย ทนอากาศร้อนและกันน้ำ สามารถติดตั้งใช้งานภายในและนอกได้ ทนต่อการผุและไม่ดูดความชื้น ไม่บวมพอง กันปลวก มอด เชื้อรา กันความร้อนได้ดี และสามารถทำสีได้ง่าย แต่มีข้อเสียคือ ราคาค่อนข้างสูงกว่า MDF หรือ Fibercement
อลูมิเนียมคอมโพสิท (Aluminium Composite)
อลูมิเนียม คอมโพสิต มีลักษณะโครงสร้างแบบแซนวิช ซึ่งประกอบด้วยแผ่นประกบด้านบน และด้านล่าง ซึ่งมีความบางแต่มีความแข็งแรงสูง ส่วนแกนกลางเป็นวัสดุอ่อน สำหรับแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิทนั้นโดยทั่วไปจะใช้แผ่นประกบเป็นแผ่นอลูมิเนียมบางประมาณ 0.15 - 0.50 มม. และแกนกลางเป็นโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ ด้วยคุณสมบัติที่ทนการกัดกร่อนได้ดี, ไม่เกิดสนิม และน้ำหนักเบา เมื่อเทียบกับเหล็ก นิยมนำมาฉลุลายและตกแต่งเป็น ฟาซาด หรือใช้หุ้มปิดผิวทั้งอาคารสูง โดยสามารถติดสลับกับกระจกได้ดี
สเตนเลสสตีล (Stainless steel)
สเตนเลสสตีล คือ โลหะผสม (Ferrous Alloy) ระหว่างเหล็กกับสารหลายชนิด ที่สำคัญ คือ สารโครเมี่ยมอย่างน้อย 10% ที่ทำให้เหล็กกลายเป็นโลหะผสม ที่สามารถทนการกัดกร่อน และทนสนิมทั้งจากธรรมชาติ หรือจากที่มนุษย์สร้างขึ้น สเตนเลสสตีลแบ่งออกได้มากกว่า 150 ชนิด แต่สามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้ 8 กลุ่มด้วยกันขึ้นอยู่กับส่วนผสมของธาตุต่างๆ และมีคุณสมบัติบางอย่างที่แตกต่างกันไป สแตนเลสสตีล นิยมนำไปฉลุลายเพื่อตกแต่งภายนอก เช่น ทำเป็นรั้ว ตกแต่งผนังภายนอก หรือฟาซาด
ไม้ MDF
ไม้ MDF เป็นวัสดุที่เหมาะกับการนำมาฉลุลายเพื่อตกแต่งภายในมากกว่าภายนอก เนื่องจากไม่ใช่วัสดุที่สามารถทนน้ำ กันความชื้น หรือกันเชื้อราได้ แต่มีคุณสมบัติที่ดีคือเมื่อตัดหรือฉลุลายแล้วมีความเรียบเนียน ไม่เป็นขุย สามารถเก็บงานได้เรียบร้อย แข็งแรง นิยมนำมาตกแต่งภายในหรืองาน built-in
ไฟเบอร์ซีเมนต์ (Fibercement)
ไฟเบอร์ซีเมนต์ เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติที่ทนน้ำ ทนความชื้น ทนแสงแดด ไม่เป็นอาหารของปลวก และกันความร้อนได้ดี แต่ข้อเสียคือพื้นผิวจะไม่เรียบเท่า Plaswood หรือ MDF ซึ่งอาจจะทำให้ตกแต่งทำสีได้ยากกว่าวัสดุอื่นๆ
ตัวอย่างแพตเทิร์นการฉลุลายที่น่าสนใจ
ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
- www.chi.co.th/article/article-907
- http://steelgrow89.com/
- https://www.bangkokelectronics.com/
- www.wazzadu.com
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม