ไม้จริง คุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย ของไม้จริงแต่ละประเภท
รวมข้อมูลวัสดุศาสตร์ไม้จริง คุณสมบัติ และข้อดี - ข้อเสีย ของไม้จริงแต่ละประเภทที่นิยมใช้ในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งจะมีข้อมูลอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น วันนี้ wazzadu.com ย่อยมาให้แล้ว มาชมกันเลยครับ
ชาวไทยนิยมใช้ไม้มาตั้งแต่สมัยอดีตกาลมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องด้วยในอดีตไม้เป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ถึงแม้ในปัจจุบันเราจะไม่สามารถนำไม้ในป่าธรรมชาติมาแปรรูปใช้งานได้เหมือนเช่นยุคก่อนๆแล้ว แต่ก็มีการป่าปลูกทดแทนเพื่อนำไม้มาใช้งานโดยเฉพาะ ซึ่งไม้ที่นิยมนำมาใช้ทำอาคารส่วนใหญ่จะเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เต็ง ,ไม้แดง ,ไม้มะค่า ,ไม้สัก เป็นต้น
สำหรับในประเทศไทย ไม้ที่นำมาแปรรูปใช้ก่อสร้างอาคาร ได้มีการแยกประเภทไม้ให้ละเอียดยิ่งขึ้นตามลักษณะความแข็งแรงของไม้ ดังนี้
- ไม้เนื้ออ่อน เป็นไม้ที่มีวงปีกว้างมาก เนื่องจากเป็นไม้โดเร็ว ลำต้นใหญ่ เนื้อค่อนข้างเหนียว แต่แปรรูปได้ง่าย เนื้อไม้มีสีจาง หรือ ค่อนข้างซีด ความทนทานมีขีดจำกัดไม่สามารถรับน้ำหนักได้มากเท่าที่ควร จึงเหมาะกับงานในที่ร่ม หรือ งานชั่วคราวมากกว่าการนำมาปูพื้น
- ไม้เนื้อแข็ง เป็นไม้ที่มีวงปีมากกว่าไม้เนื้ออ่อน เพราะมีการเจริญเติบโตช้ากว่า โดยเฉลี่ยมีอายุหลายสิบปี จึงจะนำมาใช้งานได้ ลักษณะทั่วไปของไม้เนื้อแข็ง ผิวสัมผัสของเนื้อไม้จะมีความมัน ลวดลายละเอียด เนื้อแน่น สีเข้ม (แดงถึงดำ) มีน้ำหนักมาก แข็งแรงทนทาน เหมาะสำหรับงานปูพื้น งานเฟอร์นิเจอร์ และงานโครงสร้างไม้
- ไม้เนื้อแกร่ง เป็นไม้ที่มีการเจริยเติบโตช้ามากที่สุด จึงทำให้มีวงปีถี่มากกว่าไม้สองชนิดแรก โดยมีอายุเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 60-70 ปีขึ้นไป จึงจะนำมาใช้งานได้ เนื้อไม้มีสีเข้มค่อนข้างแดง น้ำหนักไม่มากแต่แข็งกว่าไม้เนื้อแข็ง ไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักเป็นไม้ที่ใช้ในงานโครงสร้างเป็นหลัก อาทิ พื้น คาน ตง ขื่อ และเสา
ไม้สัก (Teak Wood)
ไม้สัก เป็นไม้เนื้ออ่อนถึงแข็งปานกลาง มีลวดลายสวยงาม และคุณภาพดีที่สุดเมื่อเทียบกับไม้หลายๆประเภท เนื้อไม้ละเอียดมีสีน้ำตาลทอง มีความนิ่ม ง่ายต่อการแปรรูป ไม้มีกำลัง และมีความแข็งแรง ไม้สักที่ดีจะต้องใช้เวลานานมากในการเจริญเติบโต ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าไม้สักไม่โดนปลวกกิน แท้จริงแล้วคือไม้สักที่มีอายุมากๆจะผลิตน้ำมันธรรมชาติของสัก ซึ่งมีกลิ่นที่ปลวก และแมลงต่างๆไม่ชอบนั่นเอง
แต่หากเป็นสักปลูกที่โตเร็ว จะไม่มีน้ำมันชนิดนี้สะสมอยู่ในเนื้อไม้ ปลวกจึงเลือกกินไม้สักชนิดนี้ได้ ไม้สักที่ได้จากป่าปลูกมีระยะเวลาการปลูกยังไม่ยาวนานพอที่จะทำให้เกิดการสะสมของน้ำมันตามธรรมชาติ จึงแก้ปัญหาด้วยการอาบน้ำยากันปลวกแทน ซึ่งก็สามารถช่วยป้องกันปลวกได้อีกทางหนึ่ง โดยไม้สักที่นิยมนำมาใช้ในงานก่อสร้างอาคารอย่างแพร่หลาย คือ สักทอง ,สักขึ้ควาย หรือ สักป่าปลูก ฯลฯ ซึ่งไม้สักจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10 ปี ขึ้นไป
Benefit : ข้อดี
- ไม้สักมีความแข็งแรงทนทาน แต่เนื้อไม้ก็ยังมีความนิ่มสามารถแปรรูปได้ง่าย
- ไม้สักเป็นวัสดุที่มีคุณภาพดี ให้ผิวสัมผัสที่ละเอียดสวยงาม
- ไม้สัก ปลวกไม่ชอบกิน เพราะไม้สักที่มีอายุมากๆจะผลิตน้ำมันสักที่ปลวก และแมลงต่างๆไม่ชอบออกมา (นอกจากพื้นไม้สัก ที่ทำมาจากไม้สักป่าปลูกจึงจะไม่สามารถผลิตน้ำมันสักได้)
- ไม้สัก ยิ่งเก่ายิ่งมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น
Disadvantage : ข้อเสีย
- พื้นผิวไม้สัก จะเป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย
- ไม้สักที่มีอายุมาก ก็จะยิ่งมีราคาสูงตามไปด้วย
- ไม้สักจะบิดตัว และงอตัวเล็กน้อยตามสภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศที่ร้อนแห้งมากๆ
- ช่างฝีมือที่มีความชำนาญในงานไม้ โดยเฉพาะงานไม้สักในปัจจุบันนั้นหายาก ถ้าหากได้ช่างไม่ดีอาจจะเสียค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว
ไม้เต็ง (Shorea Wood)
ไม้เต็ง เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ หรือน้ำตาลออกเทา (ถ้าตัดทิ้งไว้นานสีจะเข้มขึ้น) จัดเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรงทนทานมาก เนื้อไม้มีความแข็งและเหนียว มีผิวหยาบ และเสี้ยนลายไม้ไม่ค่อยสวยงาม นิยมใช้กับงานโครงสร้างภายนอก อย่างเช่น คาน เสา และพื้น เพราะทนต่อสภาพอาอาศได้ดีกว่าไม้ชนิดอื่นๆ
ไม้เต็ง ถือเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่มีขนาด และคุณสมบัติที่เหมาะสมในการนำไปใช้สร้างอาคาร เพื่อช่วยลดอัตราบิด หรือ โก่งตัวเมื่อโดนน้ำ หรือ ความชื้น โดยไม้เต็งที่นำมาใช้งาน ควรจะเป็นไม้ที่ผ่านการอบแห้งให้มีความชื้นไม่เกิน 12% และจะต้องมีการทาสีรักษาเนื้อไม้ เพื่อให้เนื้อไม้สามารถทนทานต่อการขูดขีด และลดการสูญเสียความชื้นจากในเนื้อไม้ ซึ่งจะช่วยให้ไม้เต็งมีความเงางาม และยังช่วยป้องกันการรบกวนของปลวกที่จะเจาะเนื้อไม้ได้ด้วย แม้ว่าโดยธรรมชาติของไม้เต็งแล้วปลวกจะไม่ค่อยชอบมารบกวนก็ตาม โดยไม้เต็งจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10-15 ปี
Benefit : ข้อดี
- ไม้เต็ง มีความคงทนแข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี
- ไม้เต็ง ทนต่อสภาพอาอาศได้ดีกว่าไม้ชนิดอื่นๆ จึงสามารถนำไปใช้ภายนอกอาคารได้
- ไม้เต็ง มีอัตราการบิดตัว หรือ โก่งตัวเมื่อโดนน้ำ และความชื้นค่อนข้างต่ำ
- ไม้เต็ง มีปัญหาเรื่องปลวก และแมลงค่อนข้างน้อยกว่าไม้ชนิดอื่นๆ
Disadvantage : ข้อเสีย
- พื้นผิวของไม้เต็ง ค่อนข้างหยาบ และลวดลายไม่สวยงามเท่ากับไม้ชนิดอื่นๆ
- ไม้เต็งเป็นไม้เนื้อแข็ง จึงทำให้ตัดแต่ง และลงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้ค่อนข้างยาก
- ถ้าหากนำไปทำสี แล้วทำไม่ค่อยดี จะทำให้สีแตกลอกล่อนค่อนข้างเร็ว
ไม้แดง (Iron Wood )
ไม้แดง เป็นไม้เนื้อแข็งที่เนื้อไม้ค่อนค้างแน่น ทนทาน และสามารถรับน้ำหนักได้ดี (เจาะตัดได้ยากกว่าไม้ชนิดอื่นๆ) เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมแดง โดดเด่นด้วยลายเส้นสีเข้มสวยงาม และมีจุดดำแทรกในเนื้อไม้ เมื่อใช้ไปนานๆจะมีสีแดงที่เข้มขึ้น ไม้แดงเป็นไม้ที่มีความแข็งแรง และมีราคาไม่สูงมากนัก นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างทั้งภายใน และภายนอกอาคาร เช่น ไม้ปูพื้น ,เสา ,คาน ,ตง ฝาบ้าน ฝ้าชายคา และรั้วไม้
ด้วยความที่เนื้อไม้แดงมีความแข็งค่อนข้างมาก จึงทำให้ไม้แดงมีโอกาสยืดหดตัวสูง ดังนั้นการใช้งานไม้แดงจึงควรตีเว้นร่องเพื่อป้องกันการขยายตัวของไม้จนทำให้เกิดการปริแตกได้ อีกทั้งยังไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวก หรือ แมลง และยังเป็นไม้ที่ต้านทานไฟในตัว โดยไม้เเดงจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10 -15 ปี
Benefit : ข้อดี
- ไม้แดง เป็นไม้เนื้อแข็งที่เนื้อไม้ค่อนค้างแน่น มีความทนทาน และสามารถรับน้ำหนักได้ดี
- ไม้แดง มีความโดดเด่นด้วยลายเส้นสีเข้มสวยงาม ในโทนสีน้ำตาลอมแดง
- ไม้แดง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวก หรือ แมลงรบกวน
Disadvantage : ข้อเสีย
- ด้วยความที่เนื้อไม้แดงมีความแข็งค่อนข้างมาก จึงทำให้ไม้แดงมีโอกาสยืดหดตัวตามสภาพอากาศพอสมควร อีกทั้งยังเป็นไม้ที่มีอัตราการยืดหดตัวสูง
- ไม้แดง มีเนื้อไม้ค่อนข้างแน่น จนทำให้การตัดแต่ง หรือการเจาะทำได้ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างเช่น เวลาตอกตะปูจะต้องเอาสว่านเจาะนำก่อน จึงจะตอกตะปูได้
ไม้รัง (Sal Wood)
ไม้รัง เป็นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ ลักษณะเนื้อไม้มีความหยาบ หรือ ละเอียดปานกลาง มีสีน้ำตาลอมเหลือง มีความแข็งแรงคงทนค่อนข้างมาก เมื่อเนื้อไม้แห้งจะมีความแข็งแรง และคุณสมบัติคล้ายไม้เต็ง แต่ความแข็งแรงนั้นมีน้อยกว่าไม้เต็ง แต่ก็ยังพอที่จะสามารถใช้ทดแทนไม้เต็งได้
โดยนิยมนำไปใช้ในงานก่อสร้างในส่วนที่จำเป็นต้องรับน้ำหนัก เช่น เสา พื้น และคาน แต่ในปัจจุบันไม้รังเริ่มหายาก และมีราคาแพงมาก นอกจากจะเป็นไม้รังที่มาจากป่าปลูกโดยเฉพาะ แต่ก็ยังมีค่อนข้างน้อย โดยไม้รังจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 10 ปีขึ้นไป
Benefit : ข้อดี
- ไม้รัง มีความแข็งแรงทนทาน สามารถรับน้ำหนักได้ดี
- ไม้รัง เป็นไม้ที่ทนต่อสภาพอาอาศได้ดี จึงสามารถนำไปใช้ภายนอกอาคารได้ (คล้ายไม้เต็ง)
- ไม้รัง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวก และแมลง (คล้ายไม้เต็ง)
Disadvantage : ข้อเสีย
- ไม้รัง เป็นไม้เนื้อแข็ง จึงทำให้ตัดแต่ง และลงรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้ค่อนข้างยาก (คล้ายไม้เต็ง)
- พื้นผิวของไม้รังค่อนข้างหยาบ และลวดลายไม่สวยงามเท่ากับไม้ชนิดอื่นๆ
ไม้ตะแบก (Tabek Wood)
ไม้ตะแบก เป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง มีลายเสี้ยนค่อนข้างตรง เนื้อไม้สีเทา หรือ น้ำตาลอมเหลืองอ่อนๆ ความเข้มของสีไม้ค่อนข้างอ่อนจึงสามารถนำไม้ไปย้อมสีตามที่ต้องการได้ง่าย นอกจากนี้เนื้อไม้ยังมีความละเอียดใส และขึ้นเงา มีลวดลายชัดเจน และให้ความสวยงามใกล้เคียงกับไม้สัก
เนื่องจากไม้ตะแบกเป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง จึงมีเนื้อไม้ที่ไม่อ่อนไม่แข็งจนเกินไป ซึ่งช่วยให้การไสตกแต่งทำได้ง่าย ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวกมอด และแมลงรบกวน จึงนิยมนำมาใช้ในการตกแต่งที่อยู่อาศัยกันเป็นจำนวนมาก ทั้งภายในและภายนอก (ส่วนใหญ่นิยมใช้ภายในมากกว่า) อาทิเช่น ไม้ปูพื้น ,บานประตู ,ไม้บันได ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันถ้าหากเนื้อไม้ตะแบกโดนความร้อน หรือ ความชื้น ก็สามารถบิด และโก่งตัวได้ง่ายด้วยเช่นกัน ไม้ตะแบกจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 12-15 ปี
Benefit : ข้อดี
- ไม้ตะแบก มีโทนสีไม้ค่อนข้างอ่อน จึงสามารถนำไม้ไปย้อมสีตามที่ต้องการได้ง่าย
- ไม้ตะแบก มีเนื้อไม้ที่ไม่อ่อนไม่แข็งจนเกินไปจึงช่วยให้การไสตกแต่งสามารถทำได้ง่าย
- ไม้ตะแบก ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องปลวกมอด และแมลงรบกวน
- เนื้อไม้ตะแบกมีความละเอียดใส และขึ้นเงา มีลวดลายชัดเจน และให้ความสวยงามใกล้เคียงกับไม้สัก
Disadvantage : ข้อเสีย
- ถ้าหากเนื้อไม้ตะแบกโดนน้ำ หรือ ความชื้น อาจเกิดอาการบิดงอ และโก่งตัวได้ง่าย
- ไม้ตะแบกมีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก ไม่ควรนำไปใช้ปูพื้นในพื้นที่ ที่จะต้องรับน้ำหนักมากๆ เพราะจะทำให้แอ่นเมื่อใช้งานไปนานๆ
- ไม้ตะแบก เป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง จึงอาจมีการยืด-หดตามสภาพอากาศได้
ไม้ประดู่ (Rose Wood)
ไม้ประดู่ เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีกลิ่นหอม เนื้อละเอียดปานกลาง มีความแข็งแรงทนทานสูงพอๆ กับไม้แดงแต่มีอัตราการหดตัวน้อยกว่า เนื้อไม้มีหลายเฉดสีตั้งแต่สีชมพูอมส้ม สีแดงอมเหลือง ไปจนถึงสีอิฐแก่ ลักษณะสีเส้นเสี้ยนจะแก่กว่าสีพื้น ลายเสี้ยนสับสนเป็นริ้วสวยงาม อีกทั้งยังสามารถไสกบตกแต่ง และชักเงาได้ดี จึงนิยมนำไปใช้ในงานปูพื้น หรือ ใช้ทำเป็นวงกบประตู และหน้าต่าง โดยไม้ประดู่จะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 15 ปีขึ้นไป
Benefit : ข้อดี
- ไม้ประดู่มีความเเข็งแรง ทนทานต่อรอยขีดข่วน และสามารถรับน้ำหนักได้ดีมาก
- เนื้อไม้ประดู่ค่อนข้างละเอียด จึงสามารถนำไปไสกบตกแต่ง และขัดเงาได้ดี
- ลักษณะสีเส้นเสี้ยนจะแก่กว่าสีพื้น ลายเสี้ยนสับสนเป็นริ้ว มีลวดลายที่สวยงาม
- ไม้ประดู่มีอัตราการหดตัวค่อนข้างน้อย
Disadvantage : ข้อเสีย
- ไม้ประดู่เป็นไม้ที่อมความร้อน
- ไม้ประดู่ มีเนื้อไม้ค่อนข้างแน่น จนทำให้การตัดแต่ง หรือการเจาะทำได้ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างเช่น เวลาตอกตะปูจะต้องเอาสว่านเจาะนำก่อน จึงจะตอกตะปูได้
- ถึงไม้ประดู่จะมีอัตราการยืดหดตัวค่อนข้างน้อย แต่ก็มีโอกาสยืด-หดตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันได้
ไม้มะค่า (Makha Wood)
ไม้มะค่า เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแรงทนทานสามารถรับน้ำหนักได้ดี เนื้อไม้มีความหยาบหนักแน่นแต่ก็มีความราบเรียบสม่ำเสมอ มีลวดลายไม้ที่สวยงามคล้ายลายไม้สัก เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อน และสีเหลืองอมชมพู โดยสีจะเข้มขึ้นตามอายุการใช้งาน และถ้าหากไม้มะค่าโดนแดด หรือ โดนน้ำ ก็อาจจะทำให้สีเข้มขึ้นได้เช่นกัน ไม้มะค่าเป็นไม้ที่ทนต่อปลวก มอด ความชื้น และเชื้อรา อีกทั้งยังผุพังได้ยาก ไม้มะค่าจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยราวๆ 10 -15 ปี
ไม้มะค่าถือเป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในงานตกแต่งทั้งภายใน และภายนอก (ส่วนใหญ่นิยมใช้ภายในอาคาร) อาทิเช่น ไม้พื้น ,ไม้บันได ,ไม้ฝ้า ,บัวไม้ ,วงกบ ,ประตู ,หน้าต่าง ,คานไม้ หรือ ส่วนโครงสร้างในบ้านที่ต้องการโชว์ให้เห็นผิวไม้ที่มีความสวยงาม เป็นต้น
ในปัจจุบันไม้มะค่าหายาก และมีราคาแพง ไม้มะค่าบางส่วนจึงนำเข้ามาจากทางแอฟริกา ซึ่งภูมิอากาศแถบนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศไทย แต่สีของไม้จะไม่สวย และเข้มเท่าไม้มะค่าในประเทศไทย จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม้มะค่าจะมีราคาแพงกว่าไม้แดง
Benefit : ข้อดี
- ไม้มะค่า เป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานมาก จึงสามารถรับน้ำหนักได้ดี
- เนื้อไม้มีความหยาบหนักแน่นแต่ก็มีความราบเรียบสม่ำเสมอ
- ไม้มะค่ามีลวดลายไม้ที่สวยงามคล้ายลายไม้สัก
- ไม้มะค่าทนต่อปลวก มอด ความชื้น และเชื้อรา อีกทั้งยังผุพังได้ยาก
Disadvantage : ข้อเสีย
- ไม้มะค่าเป็นไม้ที่หายาก และราคาสูง
- ไม้มะค่า มีเนื้อไม้ที่หนักแน่น จึงทำให้มีน้ำหนักค่อนข้างมาก
- ไม้มะค่า มีเนื้อไม้ที่ค่อนข้างแน่น จนทำให้การตัดแต่ง หรือการเจาะทำได้ค่อนข้างยาก ยกตัวอย่างเช่น เวลาตอกตะปูจะต้องเอาสว่านเจาะนำก่อน จึงจะตอกตะปูได้
- ถึงแม้ไม้มะค่าจะเป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ก้ยังมีโอกาสที่จะยืด-หดตัวตามสภาพอากาศได้เช่นกัน
ไม้ยางพารา (Rubber Wood)
ไม้ยางพารา เป็นไม้เนื้ออ่อน เสี้ยนใหญ่ เนื้อหยาบ และมีความอ่อนตัวค่อนข้างมาก จึงทำให้การตัดแต่งสามารถทำได้ง่าย อีกทั้งยังมีราคาไม่แพง สามารถหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด นอกจากนี้ไม้ยางพารายังมีโทนสีอ่อน จึงสามารถนำไปทำสีได้ง่ายตามที่ต้องการ จึงนิยมนำไปใช้ในงานตกแต่งภายใน เช่น ไม้พื้นบันได ,ประตู ,วงกบ หรือ เฟอร์นิเจอร์
แต่ในขณะเดียวกันไม้ยางพาราก็ยังเป็นไม้ที่มีอัตราการยือหดตัวสูง เมื่อหดตัวยางไม้จะปะทุออกจากเนื้อไม้ เมื่อตอกตะปูเนื้อไม้จะแตกได้ง่าย ภายในเนื้อไม้ยางพารานั้นจะมีสารอาหารของปลวก และเชื้อรา จึงทำให้บิดงอ และขึ้นราง่าย ดังนั้นจึงต้องอัดน้ำยากันปลวก และอบแห้งเพื่อให้เนื้อไม้คงทนแข็งแรง ไม้ยางพาราจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยราวๆ 7 -10 ปี
Benefit : ข้อดี
- ไม้ยางพารา มีความอ่อนตัวค่อนข้างมากจึงทำให้การตัดแต่งทำได้ง่าย
- ไม้ยางพารา มีโทนสีอ่อน จึงสามารถนำไปทำสีได้ง่ายตามที่ต้องการ
- ไม้ยางพารา มีราคาที่ไม่แพง และสามารถหาซื้อได้ง่าย
Disadvantage : ข้อเสีย
- ไม้ยางพารา เป็นไม้ที่มีอัตราการยือหดตัวสูง และบิดงอได้ง่าย
- เมื่อนำไม้ยางพาราไปแปรรูป ตัด-ซอยออกมาเป็นท่อน-แผ่น จะมีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก
- ไม้ยางพารา มีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก เพราะมีเนื้อไม้ที่ค่อนข้างอ่อน
- ภายในเนื้อไม้จะมีสารอาหารของปลวก และเชื้อรา จึงทำให้ไม่ค่อยทนต่อปลวก ความชื้น และเชื้อรา
- เมื่อตอกตะปูเนื้อไม้จะแตกได้ง่าย
ไม้ไผ่ (Bamboo)
ไม้ไผ่ ถือเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมนำมาใช้ในงานตกแต่งสถาปัตยกรรมแบบ Tropical Countries กันอย่างแพร่หลายในยุคปัจจุบัน ซึ่งในอดีตไม่ไผ่ถือเป็นวัสดุท้องถิ่นที่มีการนำไปใช้ประโยชน์มาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะการนำมาใช้สร้างบ้านพักอาศัย หรือ “เรือนเครื่องผูก” แต่ในปัจจุบันมีจำนวนน้อยลงไปอย่างมาก
ไม้ไผ่เป็นพืชโตเร็วจึงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แทบจะทุกส่วนและมีคุณประโยชน์ที่หลากหลาย สามารถตัดมาใช้ได้เมื่อมีอายุ 3 – 5 ปี และหลังจากนั้นสามารถตัดได้ต่อเนื่องทุกปีโดยไม่จำเป็นต้องปลูกใหม่ เนื่องจากไม้ไผ่เป็นไม้ที่งอกจากเหง้าขึ้นมาเป็นลำต้น โดยเหง้านั้นมีอายุเฉลี่ยประมาณ 60 – 80 ปี อีกทั้งยังถือเป็นพืชที่ให้ผลผลิตสูงเมื่อเทียบกับต้นไม้ชนิดอื่นๆ
ในงานสถาปัตยกรรมไม้ไผ่มักจะถูกนำมาใช้เป็นโครงสร้างอาคาร ทั้งเสา ,พื้น และ โครงหลังคาในกรณีที่ตัวอาคารมีขนาดไม่ใหญ่นัก และส่วนมากใช้ในการประดับตกแต่งในส่วนต่างๆของอาคาร เช่น ปูพื้น ผนัง ระแนงบังสายตา และเพดาน รวมถึงใช้ทำเฟอร์นิเจอร์บางประเภท โดยไม้ไผ่จะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยราวๆ 8 -12 ปี
นอกจากนี้ยังเป็นวัสดุที่มีราคาถูก โดยมีราคาประเมิณในท้องตลาด เริ่มต้นที่ 40 บาท/ลำ ลำนึงมีความยาว 6 เมตร และหน้ากว้าง 2 นิ้ว ขึ้นไป
Benefit : ข้อดี
- เป็นวัสดุธรรมชาติที่สามารถหาได้ง่ายตามท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาค
- มีความสวยเงางาม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- ลำต้นมีคุณสมบัติที่แข็งแรง มีความเหนียว
- มีน้ำหนักเบาเมื่อเทียบกับไม้ประเภทอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถดัดโค้งได้
- มีคุณสมบัติเด่นทางโครงสร้าง ไม้ไผ่มีเส้นใยที่แข็งแรงมาก จึงช่วยให้สามารถรับแรงอัดได้
- ไม้ไผ่มีศักยภาพในการใช้ทำโครงสร้างพาดกว้างได้ เพราะสามารถรับแรงอัดได้มากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับคอนกรีต และสามารถรับแรงถึงได้เกือบเทียบเท่ากับเหล็กเมื่อเทียบอัตราส่วนระหว่างความสามารถในการรับน้ำหนักต่อน้ำหนัก
- ลักษณะความเป็นท่อกลวงของไม้ไผ่ทำให้มีความแข็งแรงมากกว่าโครงสร้างตันถึง 1.9 เท่า ไม้ไผ่ที่แข็งแรงที่สุดนั้นสามารถรับแรงเฉีอนได้ดีกว่าไม้โครงสร้าง และถึงจุดวิบัติช้ากว่า
Disadvantage : ข้อเสีย
- ขนาดของลำต้น และขนาดความยาวตั้งแต่โคนต้น ไปจนถึงปลายยอดไม่มีมาตรฐานขนาดที่แน่นอน
- มิติความตรงของลำต้นแต่ละต้น ไม่มีมาตรฐานขนาดที่แน่นอน
- ถ้าใช้งานตากแดดตากฝน และไม่ได้รับการดูแลที่ดี จะทำให้ผุแตกได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้ไม้ประเภทใดๆนั้น เราควรพิจารณาดูว่าไม้ประเภทนั้นๆมีความเหมาะสมกับบริบทสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ที่เราจะนำไปใช้มากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นด้าน ราคา ,ความสวยงาม และความคงทน นอกจากนี้ไม้แต่ละประเภทจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากน้อยขนาดไหนนั้น ล้วนขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน
ถ้าหากบทความนี้ให้ความรู้ และเป็นประโยชน์กับทุกๆท่าน กรุณาช่วยแชร์ต่อเพื่อเป็นกำลังใจให้ Wazzadu Encyclopedia ด้วยนะครับ
ข้อมูลอื่นๆเกี่ยวกับไม้จริง
ข้อมูลอ้างอิงโดย
oxfordwoodrecycling.org.uk/choosing-types-of-wood/
dummies.com/crafts/types-of-wood-for-woodworking/
thaweephan.co.th
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม