ประวัติและวิวัฒนาการ การใช้วัสดุปิดผิวในงานสถาปัตยกรรม

ประวัติและวิวัฒนาการ การใช้วัสดุปิดผิวในงานสถาปัตยกรรม เริ่มต้นจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์ได้สร้างกระท่อมหลังเล็กๆ เพื่อป้องกันตนเองจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอื่นที่จะเข้ามาทำร้าย บ้านที่พวกเขาคิดค้นกลายเป็นสถาปัตยกรรมแรกๆ ของประวัติศาสตร์มนุษย์ ในยุคนั้นสิ่งสำคัญของที่อยู่อาศัยคือโครงสร้างอาคารและความเป็นส่วนตัว

แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มีการพัฒนาเทคนิคการก่อสร้างอาคาร พื้นที่ภายในจึงค่อยๆ กลายเป็นสิ่งสำคัญต่อการอยู่อาศัยมากขึ้น จนเกิดการพัฒนาวัสดุปิดผิว (Finishing Materials) เพื่อแก้ไขพื้นผิว รวมทั้งเคลือบป้องกันพื้น ผนัง และเพดานจากความชื้น ความร้อน รอยขีดข่วน และปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการพักอาศัย 

นับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบันวัสดุปิดผิวจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสวยงาม ความแตกต่าง และกำหนดภาพลักษณ์ให้พื้นที่ในอาคาร ซึ่งวัสดุปิดผิวแต่ละประเภทจะมีที่มาที่ไปที่น่าสนใจอย่างไรบ้างนั้น ตามมาชมกันเลยครับ

ชาวอียิปต์โบราณนิยมสร้างบ้านจากดินเหนียว โคลน และตกแต่งบ้านด้วยผ้าชนิดต่างๆ พร้อมทั้งมีเฟอร์นิเจอร์พื้นฐานเพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน ซึ่งเรียกว่า Egyptian Soul House

ในขณะที่ชาวกรีกโรมันใช้จะกระเบื้องโมเสค ในการปูพื้น และผนัง รวมถึงมีการนำปูนปลาสเตอร์ฉาบพื้น ผนัง และเพดานบางส่วน เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับบ้านของพวกเขา ความแตกต่างนี้แสดงให้เห็นว่า รูปแบบการตกแต่งและการเลือกใช้วัสดุปิดผิวในอดีตจะแปรผันตามบริบท สภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และการปกครองในแต่ละพื้นที่

กระเบื้องโมเสคยุคโรมัน

วัสดุปิดผิวที่มีดินเป็นส่วนประกอบคือวัสดุแรกๆ ที่ใช้ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นวัสดุที่หาง่าย สามารถนำมาแปรรูปเพียงไม่กี่ขั้นตอน ก็สามารถใช้งานได้แล้ว เช่น เซรามิก ที่เกิดจากการนำดินเหนียวไปผ่านกระบวนการทางความร้อน และ Terracotta (เครื่องดินเผา) คือการนำดินเหนียวไปอบในอุณหภูมิ 1000 องศาเซลเซียต แล้วนำมาใช้เป็นวัสดุปิดผิวในงานพื้น ผนัง และตกแต่งอาคาร

ไม้ ถือเป็นอีกหนึ่งวัสดุจากธรรมชาติที่นิยมใช้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ คุณสมบัติของไม้จะมีความแข็งแรง น้ำหนักเบา และขั้นตอนก่อสร้างไม่ซับซ้อน นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบว่าวัฒนธรรมอียิปต์ กรีก โรมัน ไวกิ้ง และเอเชีย ต่างมีการใช้ไม้มานานนับพันปี เพียงแต่นำมาใช้ในจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น ในภูมิประเทศที่ป่าไม้อุดมสมบูรณ์จะใช้ไม้ตั้งแต่ส่วนโครงสร้าง พื้น ผนัง  ฝ้า และเฟอร์นิเจอร์ ในทางกลับกันภูมิประเทศที่มีป่าไม้มากนักจะใช้แค่ ผนัง ประตูและเฟอร์นิเจอร์บางชนิดเท่านั้น

ลักษณะอาคารไม้ยุคโบราณในยุโรป มีการใช้ไม้เป็นทั้งโครงสร้าง และใช้ปิดผิวภายนอก

นอกจากนี้ยังมีการค้นพบอีกว่าไม้วีเนียร์ก็มีมาตั้งแต่สมัยโบราณด้วยเช่นกัน แต่ในสมัยนั้นจะใช้วิธีการเลื่อยไม้ให้เป็นแผ่นบางๆ ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองไม้มากกว่าการตัดไม้แบบทั่วไป ชาวอียิปต์โบราณจึงใช้ไม้วีเนียร์ในการทำโลงศพและเฟอร์นิเจอร์ไม้ราคาแพง ในขณะที่ชาวโรมันก็มีปริมาณการใช้ไม้วีเนียร์เป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน

การทำไม้วีเนียร์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19

อย่างไรก็ตามการใช้ไม้จริงนั้น ส่งผลให้สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งมักจะเกิดปัญหาด้านความชื้นและปลวกตามมาอยู่เสมอ ช่วงศตวรรษที่ 19 จึงมีการพัฒนาวัสดุสังเคราะห์เลียนแบบลักษณะแต่ทดแทนจุดด้อยของไม้จริง วัสดุนี้คือ ไม้สังเคราะห์ เช่น ไฟเบอร์บอร์ด พาร์ติเคิลบอร์ด ไม้เอ็มดีเอฟ ไม้อัดเกล็ดเรียงชิ้น (OSB) และ ไม้อัด (Plywood) เป็นต้น

เครื่องจักรผลิตไม้สังเคราะห์ในช่วงต้นช่วงศตวรรษที่ 19

ในปี ค.ศ. 1977 มีการใช้พื้นลามิเนตครั้งแรกที่ประเทศสวีเดนโดยบริษัท Perstop ต่อมาปี ค.ศ. 1984 ทางบริษัทเริ่มขยายตลาดในยุโรปภายใต้ชื่อ Pergo ในช่วงกลางยุค 90 ก็เกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่เริ่มนำพื้นลามิเนตไปใช้ในงานออกแบบมากขึ้น

หลังปี 1980 พื้นไม้ลามิเนตได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

หินทราย หินอ่อน และหินแกรนิต เป็นหินที่นิยมนำมาแกะสลัก รวมทั้งนำมาใช้เป็นโครงสร้างอาคารและวัสดุปิดผิวมานานหลายศตวรรษ เนื่องจากมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม และมีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ โดยมักนำใช้เป็นผนังและพื้นสำหรับตกแต่งภายในอาคาร

ต่อมาในยุคเรเนซองส์ การใช้หินขัด (Terrazzo) ค่อนข้างเป็นที่นิยม เห็นได้จากวัฒนะธรรมอันสอดคล้องกับศิลปะในสมัยนั้น ที่ใช้หินขัดสร้างสีสันและลวดลายลงบนพื้น และยังตบแต่งผิวพื้นด้วยหินอ่อนโมเสค (Marble Mosaic) จนกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของศิลปะยุคนั้น

ภาพหมู่ของคนงาน ที่กำลังทำพื้นหินขัดในปี 1920

แก้ว และกระจก เป็นอีกวัสดุที่มีการใช้งานมาตั้งแต่สมัย 3,000 - 4,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งสมัยนั้นจะใช้กระจกและแก้วเป็นเครื่องประดับมากกว่านำมาตกแต่งอาคาร จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 18 เริ่มมีการใช้กระจกแทนช่องเปิดอาคาร เพื่อสร้างความต่อเนื่องระหว่างภายในและภายนอกให้เกิดความกลมกลืนซึ่งกันและกัน ตั้งแต่นั้นมากระจกก็กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาคาร ประกอบกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น จึงเกิดการนำกระจกมาตกแต่งผนัง รวมทั้งใช้เป็นวัสดุกรุผนัง และฝ้านี่เอง

ช่องแสงกระจกของโบสถ์ในเบลเยี่ยม ที่สร้างขึ้นในปี 1908

 

ในปี 1855 การเกิดขึ้นของเครื่อง Bessemer Method ในอังกฤษทำให้การผลิตโลหะมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการหลอมเพื่อผลิตโลหะที่ปราศจากสิ่งสกปรกเจือปนในเนื้อโลหะ ซึ่งทำให้เนื้อโลหะมีคุณภาพ และเหนียวมากขึ้น 

โลหะจึงกลายเป็นวัสดุที่เริ่มใช้อย่างแพร่หลายในยุคต้นศตวรรษที่ 19 ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานและเงางาม ผู้ออกแบบจึงใช้โลหะในงานโครงสร้างเพื่อความแข็งแรงของอาคาร นอกจากนี้ยังใช้โลหะตกแต่งสร้างความสวยงามของพื้นที่ภายใน และภายนอกอาคารอีกด้วย

เครื่องหลอมโลหะ Bessemer Method

ในยุคเดียวกันนั้น ปลายศตวรรษที่ 19 ก็มีการผลิตและใช้วัสดุจากพลาสติกเป็นครั้งแรก พลาสติกมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมสูง ราคาไม่แพง สามารถผลิตได้หลายรูปแบบและรูปทรง และถ้าหากนำมาผสมกับสารเคมีอื่นๆ ก็จะกลายเป็นโพลีเมอร์ ,อีพ็อกซี่ ,พลาสวูด ,อะคริลิค หรือส่วนประกอบของวัสดุปิดผิวชนิดต่างๆ ด้วยความที่พลาสติกมีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย จึงเป็นวัสดุที่นิยมใช้จนถึงทุกวันนี้

วัสดุอะคริลิค ที่สามารถนำมาใช้ในการตกแต่งปิดผิวได้อย่างหลากหลาย

ปี ค.ศ. 1960 เริ่มมีการผลิตและใช้งานแผ่นอลูมิเนียมคอมโพสิต (Aluminum Composite) เป็นครั้งแรก ซึ่งความตั้งใจแรกนั้นจะใช้ อลูมิเนียมคอมโพสิตในงานออกแบบทำป้ายโฆษณา อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1980 ก็เริ่มใช้ในงานอุตสาหกรรมสถาปัตยกรรมและใช้เป็นวัสดุก่อสร้างตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

วัสดุอลูมิเนียมคอมโพสิต ได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา

ในปัจจุบันมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ของวัสดุปิดผิวอยู่เสมอ เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกัน เช่นเกิดการสร้างสรรค์วัสดุ P.U. Paper, Melamine Paper, Crystal Board และ Liquid Wallpaper เป็นต้น เพราะวัสดุปิดผิวไม่ใช่การป้องกันโครงสร้างและอาคารเฉกเช่นในสมัยก่อน หากแต่คือความสวยงาม ความแตกต่าง และยังช่วยสร้างความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตมนุษย์อีกด้วย

ข้อมูลวัสดุศาสตร์อื่นๆที่น่าสนใจ  

ข้อมูลอ้างอิงโดย

https://www.researchgate.net/publication/320800578_Interior_Finishing_Materials

https://encyclopedia2.thefreedictionary.com/Finishing+Materials

https://www.decoraid.com/blog/interior-design-history

https://visual.ly/community/Infographics/home/interior-design-timeline

เขียน และเรียบเรียงโดย : ศิรดา ฉันทะกุล

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ