พื้นที่ความเชื่อของบ้านคนไทย
ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน เป็นสุภาษิตไทยที่ว่ากันมาตั้งแต่โบราณเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย แต่ในความจริงแล้วอีกสิ่งนึงที่ต้องคิดถึงต่อจากผู้อยู่และผู้นอนก็คือ ผู้ปกปักษ์รักษา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยดูแลบ้าน
ว่ากันว่า การปลูกบ้านของไทยนั้นเกี่ยวพันกับความเชื่อมาตั้งแต่อดีต จึงทำให้การทำบ้านทีนึงเราจำต้องคำนึงและใส่ใจถึงพื้นที่ความเชื่อเหล่านั้นเสมอ ซึ่งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในบ้านคนไทยนั้นก็มีหลากแบบและหลายวัฒนธรรม และสามารถแบ่งได้ประมาณ 5 พื้นที่ดังต่อไปนี้
1. ศาลพระภูมิ
ศาลพระภูมิเป็นศาลเทวดาที่มีหน้าที่ครอบครองและปกป้องที่ดิน โดยตัวศาลจะมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมจิ๋ว ที่มีหน้าตาเหมือน วัด วัง หรือคฤหาสน์ ที่ตั้งบนแท่งเสาหนึ่งต้นและมีรูปเทวดาพระภูมิอยู่ข้างใน
โดยปกติศาลพระภูมิมักตั้งอยู่ในพื้นที่หน้าบ้าน และมีลานปูนยกระดับข้างหน้าศาลเพื่อไว้ทำการสักการะบูชา
2. ศาลเจ้าที่ (ศาลตายาย)
ศาลเจ้าที่กับศาลพระภูมินั้น มีความเกือบคล้ายกันทั้งในตำแหน่งพื้นที่ตั้งและหน้าที่ในการปกปักษ์รักษา ทำให้เรามักจะเห็นศาลทั้งสองตั้งอยู่คู่กัน โดยที่ต่างกันระหว่างทั้งสองศาลก็คือ ลักษณะของศาลเจ้าที่มักเป็นเรือนไทยและตั้งอยู่บนเสาสี่ต้น มีระดับความสูงต่ำกว่าศาลพระภูมิเล็กน้อย เพราะว่าศาลเจ้าที่คือผีเรือน เป็นเหมือนตายายที่เฝ้ารักษาที่ตรงนั้น
3. ห้องพระ
อีกพื้นที่ศักสิทธิ์ทางศาสนาของชาวพุทธไทยก็คือ ห้องพระ ที่มีไว้ตั้งโต๊ะหมู่บูชาและพระพุทธรูป หรืออาจมีลักษณะเป็นหิ้งพระ ที่แขวนติดกับผนังสำหรับบ้านที่พื้นที่น้อย มีฟังก์ชันไว้ใช้สักการะและทำพิธีทางศาสนาทั่วไป
ว่ากันว่าคนไทยได้รับอิทธิพลเรื่องการมีห้องพระมาจากประเทศจีนในช่วงสมัย ร.2-ร.3 โดยเริ่มต้นมีลักษณะเป็นเพียงโต๊ะบูชา และพบว่าเริ่มมีห้องพระอย่างเป็นกิจจะลักษณะในช่วงสมัย ร.6 ในเรือนเจ้านายหรือคหบดี
4. ห้องละหมาด
โดยปกติศาสนาอิสลามจะไม่มีรูปเทพให้เคารพ แต่จะมีพื้นที่ไว้ทำพิธีศักดิ์สิทธิ์สำหรับทำละหมาดแทน โดยจะมีลักษณะเป็นห้องโล่งมีพรมสะอาดปูรองและไม่มีคนเดินผ่านไปมา มีการแบ่งสัดส่วนระหว่างชายหญิง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกตามนครเมกกะ โดยที่นิยมสร้างห้องน้ำติดกับห้องละมาดไว้ด้วย
5. ห้องบรรพบุรุษ
ในบ้านคนจีนเราก็มักจะเห็นการจัดพื้นที่ห้องไว้สำหรับบรรพบุรุษไว้อยู่กลางบ้านเสมอ เป็นห้องสำหรับไว้ทำพิธีสำคัญรวมญาติประจำปี ทำให้ห้องต้องมีบริเวณกว้างเพื่อไว้รวมคน องค์ประกอบในห้องประกอบไปด้วยหิ้งและรูปบรรพบุรุษแขวนไว้ มีโต๊ะแท่นไว้วางของไหว้ โดยห้องนี้มีข้อสำคัญก็คือห้ามคนนอน
สุดท้ายนี้ไม่ว่าเราจะมีความเชื่อหรือความไม่เชื่อแบบไหน การมีอยู่ของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในบ้านแบบนี้ คือสิ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมที่สืบกันมาในบ้านเรา การคงอนุรักษ์พื้นที่เหล่านี้ให้สามารถปรับเข้ากับยุคสมัยจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และเป็นโจทย์ที่นักออกแบบควรใส่ใจไม่แพ้โจทย์ของผู้อยู่และผู้นอนนั่นเอง
ผู้เขียนบทความ
สถาปนิกและนักเขียน มีคอลัมน์ประจำในนิตยสารออนไลน์ The Cloud ชื่อ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ ปัจจุบันกำลังทำสตูดิโอสถาปนิกชื่อว่า Everyday Architect & Design Studio สนใจการออกแบบที่สอดคล้องกับงานเขียนของตัวเองที่เรียกว่า Urban Vernacular Design ... อ่านเพิ่มเติม