รายละเอียดการออกแบบ และติดตั้งงานกระจกในโปรเจคระดับโลกอย่าง Apple Campus : Foster + Partners
สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ Apple ขนาด 2.8 ล้านตารางฟุต ในเมืองคูเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย อาคารแห่งนี้เป็นเจ้าของสถิติงานผนังกระจกโค้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน ด้วยจำนวนกระจกที่มากกว่า 3,000 แผ่น
การออกแบบรูปทรงอาคารที่คล้ายกับยานอวกาศนี้ ถูกนำเสนอโดยสถาปนิกมือฉมังอย่าง Foster + Partners ซึ่งเขาตั้งใจออกแบบให้มันเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดในโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่โครงการเช่นนี้จะแสวงหามาตรฐานการออกแบบ และการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพสูงตามไปด้วยเช่นกัน
ในแง่ของการสร้างผลิตภัณฑ์ Apple เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของความเรียบง่าย และแฝงไว้ด้วยรายละเอียดที่แม่นยำในการออกแบบผลิตภัณฑ์
เพื่อให้สถาปัตยกรรมแห่งนี้ มีความกลมกลืนสอดคล้องกับ DNA ของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีระดับโลก มันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่งานสถาปัตยกรรมจะต้องทำหน้าที่สะท้อนเป้าหมาย หรือ ตัวตนของ Apple ออกไปสู่สาธารณะชนทั่วโลก
เพื่อให้การออกแบบบรรลุตามจุดประสงค์ที่ตกลงร่วมกับทาง Apple ไว้ ทีมผู้ออกแบบ Foster + Partners ได้จับมือกับผู้ผลิตกระจกที่มีความเชี่ยวชาญสูงจากเยอรมัน Seele ซึ่งเคยฝากผลงานด้านกระจกในงานสถาปัตยกรรมของ Apple มาแล้วหลายแห่ง นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ Sedak ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Seele ที่จะเข้ามาดูในส่วนงานติดตั้งผนังกระจกโดยเฉพาะ
ในกระบวนการออกแบบ ผนังกระจกภายนอกของอาคารแห่งนี้มีความยาวรวมเกือบสี่ไมล์ โดย Apple ยอมลงทุนกับงานกระจกด้วยงบมหาศาล ถึงขนาดที่ CEO Tim Cook ต้องลงมาดูรายละเอียดงานกระจกกับทีมสถาปนิก และผู้ผลิตอยู่หลายตลบเหมือนกัน เพราะมันเป็นวัสดุที่สามารถถ่ายทอดปรัชญาทางธุรกิจหลักของ Apple ก็คือ ความโปร่งใส ได้อย่างแจ่มชัดที่สุด
นอกจากความโปร่งใสแล้วเมื่อยามแสงดวงอาทิตย์ส่อง ผนังกระจกของอาคารแห่งนี้จะเปล่งประกายดุจคริสตัล ซึ่งเป็นการสะท้อนภาพลักษณ์ภายนอกของแบรนด์ในสายตาสาธารณะชนที่เน้นความเรียบหรู แต่ลึกในรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ภายใน
ในการสร้างหน้าต่างกระจกสำหรับอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ Apple ทาง Sedak เลือกที่จะดัดโค้งกระจกแล้วนำมาเข้ากระบวนการลามิเนตเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ก่อนที่จะทำการเคลือบเต็มรูปแบบ ดังนั้นการจะผลิตกระจกจำนวนมากกว่า 3,000 แผ่น แล้วต้องอบด้วยความร้อนเพื่อให้เป็นกระจกนิรภัย พวกเขาจำเป็นต้องพัฒนาเครื่องจักรใหม่ทั้งหมดเพื่อใช้ในการอบกระจกจำนวนมากเหล่านี้ให้เสร็จทันตามเวลาที่กำหนด
เครื่องจักรใหม่ที่ใช้ในการอบกระจก มีความยาวถึง 246 ฟุต มันถูกออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับโครงการนี้ มันสามารถซ้อนกระจกได้ทีเดียวถึง 5 แผ่น ในหนึ่งรอบของการอบ
นอกจากการสร้างเครื่องจักรที่ใช้ในการอบกระจกขึ้นมาใหม่ Seele และ Sedak ยังได้ร่วมกันสร้างเครื่องขึ้นรูปกระจกแบบต่างๆสำหรับใช้ในการโดัดโค้งกระจกขึ้นมาใหม่ด้วยเช่นกัน ก็เพื่อใช้ในการทำหน้าต่างกระจกโค้งรอบอาคาร Apple Park โดยเฉพาะ
แผงหน้าต่างกระจกภายนอกแผ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความยาวประมาณ 47 ฟุตสูง 10 ฟุต มันถูกสร้าง และติดตั้งอย่างประณีตเพื่อให้โปรเจคนี้ เป็นแบบอย่างของงานออกแบบ และติดตั้งกระจกที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่มีเพียงแห่งเดียวในโลก ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยเฉพาะสำหรับโปรเจคของ Apple เท่านั้น
นอกจากนี้ Seele และ Sedak ยอมให้มีค่าความคลาดเคลื่อนในงานกระจกเฉลี่ยเพียง 0.8 มม. ซึ่งเป็นระดับความแม่นยำที่ไม่มีใครเทียบในงานสถาปัตยกรรมสเกลดังกล่าว
หน้าต่างกระจกแต่ละแผ่นมีความหนักเฉลี่ยเกือบๆ 3 ตัน มันถูกดูด และยกขึ้นไปยังตำแหน่งที่จะติดตั้ง ด้วยหุ่นยนต์ Cimolai ซึ่งมันทำหน้าที่ดูดจับกระจกแต่ละแผ่น และยกขึ้นเพื่อติดตั้งในจุดต่างๆที่ระบุไว้รอบๆอาคาร
Apple และทีมออกแบบภูมิใจกับการนำเสนออาคารแห่งนี้มาก เพราะตั้งใจออกแบบให้อาคารแห่งนี้มีความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยหลังคาของอาคารแห่งนี้ถูกติดตั้งด้วยแผงโซล่าเซลล์เกือบเต็มพื้นที่ เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับหมุนเวียนใช้ภายในอาคาร
นอกจากนี้ยังมีหลังคากระจกขนาดใหญ่มากกว่า 16 จุด ทั่วอาคารที่แสงอาทิตย์สามารถส่องสว่างลงมาได้จนถึงชั้นล่าง เป็นการนำแสงสว่างจากธรรมชาติมาใช้ภายในอาคารเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในช่วงกลางวันได้เป็นอย่างดี
ในส่วนงานผนังอาคาร ถูกออกแบบให้เป็นผนังกระจกโค้งแบบสองชั้น (Double Skin) โดยมีช่องว่างระหว่างผนังกระจกชั้นในกับผนังกระจกชั้นนอก เพื่อช่วยในการรักษาสมดุลของอุณหภูมิระหว่าง Space ภายนอกและภายใน
โดยมีช่องระบายอากาศเหนือขอบผนังกระจกชั้นนอก เพื่อระบายความร้อนที่สะสมอยู่ภายในช่องว่างระหว่างผนังกระจกชั้นในและชั้นนอกออกสู่ภายนอกอาคาร และช่วยในการถ่ายเทหมุนเวียนอากาศให้ภายในอาคารมีสภาวะน่าสบาย อีกทั้งยังมีครีบกันสาดในแต่ละชั้นช่วยในการบังแดดในวันที่แสงจ้า
สำหรับในส่วนด้านหน้าอาคาร ถูกออกแบบให้เป็นผนังกระจกลามิเนตไร้รอยต่อขนาดใหญ่ (ถูกออกแบบเป็นแผ่นยาวเพื่อให้มีรอยต่อน้อยที่สุด) มันช่วยให้ด้านหน้าอาคารมีความสวยงามโดดเด่น และช่วยสร้างความปลอดโปร่งให้แสงสว่างภายในอาคารได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนปรัชญาทางธุรกิจหลักของ Apple ก็คือ ความโปร่งใส ได้อย่างแจ่มชัดอีกด้วย
(Sponsored Ads)
ปัจจุบันอาคารแห่งนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงคุณค่างานสถาปัตยกรรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้อย่างทรงพลัง นอกจากนี้ Apple Park ยังเผยถึงอนาคตของนวัตกรรมงานออกแบบกระจกสำหรับศตวรรษที่ 21 และต่อๆไป
ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
รูปภาพประกอบ และอ้างอิงโดย :
Finishing Touches Applied to Foster + Partners' Apple Campus 2
https://architizer.com/blog/inspiration/stories/architectural-details-apple-park-windows/
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม