ฝ้าเพดานมีกี่ประเภท และทำมาจากวัสดุอะไรบ้าง

 

Ceiling Design History ประวัติความเป็นมาของการออกแบบฝ้าเพดาน

การออกแบบฝ้าเพดาน (Ceiling Design) เป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมมาเกือบพันปี ซึ่งการเกิดขึ้นของงานออกแบบตกแต่งฝ้าเพดานยุคแรกๆต้องย้อนเวลาไปถึงต้นปี 1300 กันเลยทีเดียว

จริงแล้วจุดแรกเริ่มในอดีตอาจไม่สามารถเรียกว่าฝ้าเพดานได้อย่างเต็มปากนัก แต่มันคือการตกแต่งเพดานให้มีความสวยงามตามความเชื่อ และการใช้งานของคนในอดีตเท่านั้น แต่มันก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ โดยเดินทางผ่านประวัติศาสตร์ยุคสมัยต่างๆมาอย่างยาวนานกินเวลาหลายร้อยปี จากจุดเริ่มต้นแค่การตกแต่งเพดานธรรมดาก็ได้เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆจนถูกพัฒนาให้กลายเป็นระบบฝ้าเพดานในปัจจุบัน

จริงๆแล้วมนุษย์รู้จักการออกแบบตกแต่งเพดานมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ แต่เพดานโรมันในยุคแรกๆนั้นเต็มไปด้วยการแกะสลัก และภาพวาดประดับตกแต่งเป็นหลัก และในช่วงยุคกอธิคแนวโน้มการตกแต่งฝ้าเพดานได้หันมาใช้องค์ประกอบที่สัมพันธ์กับโครงสร้างเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ชัดว่าในยุคนี้เพดานจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นมากเพื่อรองรับการตกแต่งที่งดงามจากงานปั้น และงานจิตรกรรมที่มีสีสันสดใส

เมื่อมาถึงยุคเรเนซองส์ ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังฟื้นฟูศิลปวิทยาการ งานออกแบบเพดานได้รับการพัฒนาให้มีระดับความละเอียด และมีความหลากหลายมากขึ้น โดยแบ่งออกได้ 3 ประเภท

ประเภทที่ 1

ก็คือฝ้าเพดานรูปทรงเรขาคณิต มีทั้งรูปทรงกลมสี่เหลี่ยม รูปทรงแปดเหลี่ยม และฝ้าเพดานในลักษณะตัวแอล โดยชายขอบของฝ้าจะเต็มไปด้วยงานสลักที่สวยงาม

Roman Ceiling

credit photo : https://www.aladyandherbaby.com

ประเภทที่ 2

คือ ฝ้าเพดานโค้ง และฝ้าเพดานกึ่งโค้ง โดยจะมีการทาสีตกแต่งที่ส่วนโค้งของเพดาน เพื่อเน้นให้ส่วนโค้งมีความโดดเด่น  จนมาถึงยุคบาโรกก็มีการใช้วัสดุใหม่ๆเข้ามาตกแต่งฝ้าเพดานโค้งได้อย่างสวยงามแปลกใหม่อย่างเช่น ม้วนกระดาษพิมพ์(เป็นวัสดุรากฐานของการกำเนิดวอลเปเปอร์ในอดีต) 

baroque arch ceiling

credit photo : https://www.flickr.com

ประเภทที่ 3

คือ ฝ้าเพดานที่ถูกพัฒนาโครงสร้างรับน้ำหนักให้แข็งแรงขึ้น จึงทำให้พื้นที่ฝ้าเพดานมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ในการตกแต่งงานศิลป์ทั้งงานปั้น งานแกะสลัก และงานจิตรกรรมสามารถทำได้อย่างถึงขีดสุด อีกทั้งยังเป็นช่วงที่มีการทดลองวัสดุตกแต่งใหม่ๆเพิ่มเข้ามา จึงทำให้งานตกแต่งเพดานในยุคนี้มีความสวยงามวิจิตรตระการตา ดังเช่น ฝ้าเพดานในพระราชวัง Doges ในเมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี เป็นต้น

ฝ้าเพดานในพระราชวัง Doges ในเมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี

credit photo : https://www.venetoinside.com

ฝ้าเพดานมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงยุคโมเดิร์นซึ่งเป็นช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม การออกแบบเพดานในงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ได้ถุกลดทอนรายละเอียดต่างๆลงค่อนข้างมาก ประกอบกับมีการตัดองค์ประกอบที่ฟุ่มเฟือยหลายๆอย่างออก จึงทำให้ฝ้าเพดานในยุคนี้มีความเรียบง่ายมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  

การออกแบบเพดานในยุคโมเดิร์น ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ

- เพดานแบบแขวน (เน้นความสวยงามเรียบร้อยของสเปซ) 

- เพดานแบบเปิด (เน้นความเป็นสัจจะของวัสดุ และสเปซ)

เพดานแบบแขวน (รากฐานสำคัญของการพัฒนาฝ้าเพดานที่ใช้ในปัจจุบัน) ก็คือ ฝ้าเพดานที่อยู่ในระยะที่ต่ำกว่าโครงสร้างพื้นชั้นบน สถาปนิกในยุคนั้นพยายามออกแบบเพดานขึ้นมาอีกชั้นเพื่อปกปิดท่อต่างๆของงานระบบ เพื่อทำให้สเปซภายในห้องมีความเรียบร้อยสวยงาม 

ในขณะที่เพดานแบบเปิด โดยที่ไม่มีอะไรมาปกปิดท่องานระบบก็ได้รับความนิยมในงานออกแบบเช่นเดียวกัน โดยจะเน้นการโชว์ให้เห็นกลิ่นอายยุคอุตสาหกรรมที่สะท้อนผ่านท่อต่างๆของงานระบบอาคาร และความเป็นสัจจะธรรมชาติของการใช้วัสดุในสเปซนั้นๆ 

ฝ้าเพดานแบบแขวนในยุคโมเดิร์น

credit photo : https://local12.com

ฝ้าเพดานแบบเปิดในยุคโมเดิร์น

credit photo : Flickr 

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าฝ้าเพดานถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญต่ออาคาร หรือ งานสถาปัตยกรรม ฝ้าเพดานถูกใช้ประโยชน์เพื่อปิดบังท่องานระบบ และอุปกรณ์ต่างๆที่ไม่น่าดูใต้พื้นชั้นบนเหนือฝ้าเพดาน อีกทั้งยังช่วยป้องกันฝุ่น ป้องกันแมลง ช่วยรักษาสมดุลอุณหภูมิภายในห้องให้คงที่ และทำให้พื้นที่ภายในห้องนั้นๆดูเรียบร้อยสะอาดตา ซึ่งมีหลายๆวัสดุให้เลือกใช้ตามแต่ความต้องการ

ปกติแล้วฝ้าเพดานจะถูกแบ่งตามลักษณะการใช้งานหลักๆก็คือ ฝ้าภายใน และฝ้าภายนอก แต่ก็ยังสามารถแบ่งตามประเภทย่อยได้อีกดังนี้

- Ceilling Type : แบ่งประเภทฝ้าเพดานตามลักษณะการติดตั้ง

- Ceilling Raw Material : แบ่งประเภทฝ้าเพดานตามลักษณะการติดตั้ง

Ceilling Type : แบ่งประเภทฝ้าเพดานตามลักษณะการติดตั้ง

ฝ้าเพดานฉาบเรียบ 

1. ฝ้าเพดานฉาบเรียบ 

ฝ้าเพดานประเภทนี้มักใช้ในงานที่ต้องการความเรียบเนียนกลมกลืนไปกับสไตล์การออกแบบจึงมักเป็นการติดตั้งแบบถาวรเป็นหลัก โดยวัสดุกรุฝ้านั้นจะนิยมใช้วัสดุแผ่นที่ทำจากยิปซั่ม และไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยจะยึดเข้ากับโครงเคร่าที่ติดตั้งไว้กับโครงหลังคาอีกที เช่น โครงคร่าวประเภท C-Line 

บริเวณรอยต่อของฝ้าเพดานแบบฉาบเรียบแต่ละแผ่น จะฉาบปิดรอยต่อด้วยปูนสำหรับฉาบปิดรอยต่อฝ้า แล้วปิดทับรอยต่อด้วยผ้าด้ายดิบ เมื่อเสร็จทั้งหมดแล้วทาสีทับก็จะมองเห็นแผ่นฝ้าเรียบเป็นผืนเดียวกันตลอดแนวโดยมองไม่เห็นรอยต่อ ฝ้าประเภทนี้จึงถูกเรียกว่า “ฝ้าฉาบเรียบ”

ฝ้าเพดานแขวน หรือ ฝ้าที-บาร์

2. ฝ้าเพดานแขวน หรือ ฝ้าที-บาร์

เป็นฝ้าเพดานที่นิยมใช้กันค่่อนข้างมากเพราะความสะดวก และราคาไม่แพงมากเมื่อเทียบกับฝ้าแบบอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถเปิดฝ้าขึ้นไปดูแล หรือ ซ่อมแซมงานระบบต่างๆบนเพดานได้สะดวก 

ฝ้าเพดานชนิดนี้ เป็นฝ้าที่มีโครงเคร่าอลูมิเนียมคว่ำเป็นรูปตัว T และเป็นช่องตารางเท่าๆกันเพื่อว่างแผ่นฝ้ายิปซั่ม โดยยึดด้วยลวดโครงเคร่าเข้ากับโครงหลังคา สำหรับแผ่นยิปซั่มที่ใช้ในการปิดช่องจะมีขนาดมาตรฐานก็คือ 60 x 60 ซ.ม.

การติดตั้งฝ้าเพดานประเภทนี้เหมาะกับห้องที่มีขนาดเล็ก แต่ถ้าหากนำไปใช้ในห้องที่มีขนาดใหญ่มากๆอาจเกิดการหย่อนตัวของลวดที่ใช้ยึด ซึ่งอาจทำให้ฝ้าเพดานภายในห้องมีลักษณะเป็นคลื่นได้ นอกจากนี้ยังไม่เหมาะกับการนำไปใช้งานภายในห้องต่างๆในอาคารสูงๆ เพราะถ้าหากว่ามีลมพัดแรงมากๆเข้ามาที่ใต้ฝ้า หรือ เวลาที่อาคารสูงมีการสั่นไหว (อาคารสูงหลายๆแห่งจะถูกออกแบบให้สามารถสั่นไหวได้ 1 ฟุต) อาจจะทำให้ฝ้าหลุดลงมา หรือ ทำให้ลวดยึดหย่อนตัว จนเป็นช่องทำให้ฝุ่นผงตกลงมาที่พื้นห้อง

นอกจากนี้ถ้าหากจะติดตั้งในพื้นที่ ที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำ หรือ ห้องครัว ควรจะใช้ฝ้าที-บาร์ แบบกันชื้น เพราะไม่เช่นนั้นถ้าหากใช้แบบธรรมดามันจะผุได้ง่าย และทำให้อายุการใช้งานจะสั้นลงมาก

ฝ้าเพดานแบบเล่นระดับ หรือ ฝ้าหลุม

3. ฝ้าเพดานแบบเล่นระดับ หรือ ฝ้าหลุม

ฝ้าเพดานประเภทนี้ มักจะพบเห็นค่อนข้างน้อยโดย จะเห็นได้ในอาคารเป็นบางแห่ง ฝ้าเพดานเล่นระดับ หรือ ฝ้าหลุมเป็นฝ้าที่มีลักษณะเด่นที่สุดด้วยรูปแบบที่สวยงาม ซึ่งมีการเล่นระดับให้ดูมีมิติที่โดดเด่นหรูหรา การเล่นระดับของฝ้าอาจเลือกใช้บัวตกแต่งผสมผสานร่วมด้วย และในบางกรณีการออกแบบฝ้าหลุม อาจทำเพื่อให้มีความสอดรับกับการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ซ่อนเครื่องปรับอากาศ ติดตั้งโคมระย้า หรือ พัดลมเพดาน

ฝ้าเพดานซ่อนระบบไฟ หรือ ไฟหลืบ ไฟซ่อน

4. ฝ้าเพดานซ่อนระบบไฟ หรือ ไฟหลืบ ไฟซ่อนฝ้า

ฝ้าเพดานประเภทนี้ จะมีการเว้นพื้นที่ของฝ้าเพื่อวางแนวไฟส่องสว่างให้ส่องสะท้อนแผ่นฝ้าลงมาสู่พื้นที่ใช้งาน เพื่อให้ได้แสงที่สม่ำเสมอ นุ่มนวล และดูสบายตา โดยส่วนมากมักจะใช้เพื่อสร้างบรรยากาศ และตกแต่งเพื่อเพิ่มความสวยงามหรูหราให้กับพื้นที่นั้นๆ

ฝ้าเพดานดูดซับเสียง หรือ ฝ้าอะคูสติก

5. ฝ้าเพดานดูดซับเสียง หรือ ฝ้าอะคูสติก

แต่เดิมฝ้าประเภทนี้ เป็นระบบฝ้าเพดานที่ผสมผสานระหว่างโครงเคร่าฝ้าแบบที-บาร์ โดยมีตัวเลือกของแผ่นฝ้า ที่เป็นแผ่นฝ้าประเภทที่สามารถป้องกันเสียงสะท้อนได้ อย่างเช่น Acoustic Board ที่มีพื้นผิวขรุขระ ซึ่งจะช่วยในการดูดซับเสียงไม่ให้สะท้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงนิยมใช้ในห้องประชุมสัมนา ,ภายในอาคารสำนักงาน หรือ ห้องแสดงมหรสพต่างๆ

ในปัจจุบันนอกจากระบบโครงเคร่าฝ้าแบบที-บาร์ แล้ว ได้มีการพัฒนาระบบโครงเคร่าฝ้าแบบฉาบเรียบ ที่สามารถใช้ผสมผสานกับแผ่นฝ้า Acoustic Board ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น 

ฝ้าเพดานโปร่ง หรือ ฝ้าระแนง

6. ฝ้าเพดานโปร่ง หรือ ฝ้าระแนง

ฝ้าประเภทนี้นิยมใช้ตกแต่งเพื่อความสวยงาม หรือ เพื่อพรางท่องานระบบต่างๆใต้พื้นอาคาร นอกจากนี้ฝ้าโปร่งแบบระแนงยังช่วยให้อากาศถ่ายเทสะดวก และยังซ่อมแซมง่าย ส่วนใหญ่นิยมใช้กับอาคารสาธารณะที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น โรงแรม ,ห้างสรรพสินค้า ,อาคารสำนักงาน ,สถานีรถไฟฟ้า ,สถานีขนส่ง ฯลฯ

ฝ้าเพดานติดตั้งพิเศษ

7. ฝ้าเพดานติดตั้งพิเศษ

ฝ้าประเภทนี้ เป็นฝ้าที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความสวยงาม หรือ สร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างให้กับพื้นที่นั้นๆ เช่น ล็อบบี้โรงแรม หรือ ภายในรีเทลช๊อป ที่ต้องการประสบการณ์ในการรับรู้ที่แปลกใหม่เพื่อดึงดูดความสนใจ

ลักษณะของฝ้าประเภทนี้จะมีรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะต่างจากฝ้าทั่วไป และอาจมีการผสมผสานในด้านการใช้วัสดุที่หลากหลายขึ้น เช่น กระจก ,อะคริลิค ,ผ้าใบ ,ผ้าตกแต่ง ,แผ่นอลูมิเนียม หรือ ไม้จริง เป็นต้น ซึ่งจะต้องใช้ความชำนาญในการติดตั้งมากกว่าฝ้าแบบทั่วไป

ฝ้าชายคา หรือ ฝ้าเพดานภายนอก

8. ฝ้าชายคา หรือ ฝ้าเพดานภายนอก

ฝ้าเพดานประเภทนี้ เป็นฝ้าที่ใช้ปิดเพดาน และชายคาที่อยู่นอกอาคาร มีจุดประสงค์หลักในการป้องกันสัตว์ต่างๆเข้ามาใต้เพดาน ป้องกันความร้อนจากภายนอก และช่วยระบายอากาศจากใต้หลังคา เราจึงมักเห็นฝ้าที่ออกแบบให้มีร่องระบายอากาศสำหรับใช้ภายนอกอยู่บ่อยๆนั่นเอง

 

 

คลิก! เพื่อสั่งซื้อหรือสอบถามรายละเอียด

 

Ceilling Raw Material : แบ่งประเภทฝ้าเพดานตามลักษณะการติดตั้ง

ฝ้าที่ทำจากวัสดุยิปซั่ม

1. ฝ้าที่ทำจากวัสดุยิปซั่ม

แผ่นฝ้ายิปซั่ม ผลิตมาจากผงแร่ยิปซั่มที่อัดปิดทับหน้าหลังด้วยกระดาษ จึงทำให้พื้นผิวมีความเรียบเนียน และอาจมีการเคลือบสารเคมีบางชนิดเพื่อให้มีคุณสมบัติการใช้งานที่ดีขึ้น  แผ่นยิปซั่มความหนาที่นิยมใช้ในท้องตลาด คือ  9 มม. 12 มม. และ 15 มม. ขนาดแผ่นกว้าง 1.20 ม. ยาว 2.40 ม. และมีหลายชนิดให้เลือกใช้โดยมีราคาตั้งแต่ 140 – 300 บาท ต่อแผ่น ขึ้นอยู่กับชนิด และความหนาแผ่น

แผ่นฝ้ายิปซั่มสามารถแบ่งประเภทตามรูปแบบการใช้งานได้ดังนี้

- แผ่นยิปซัมรุ่นมาตรฐาน สีขาว จะมีกระดาษปิดทับทั้งสองด้าน  ไว้ใช้ทำผนังและฝ้าเพดานทั่วๆไป

- แผ่นยิปซัมทนความชื้น  จะเห็นเป็นผิวสีเขียว เหมาะกับการใช้ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง เช่นห้องน้ำ ห้องครัว ฝ้าเพดานภายนอกอาคาร

- แผ่นยิปซัมทนไฟ  จะเห็นเป็นสีชมพู เหมาะกับการใช้งานในห้องที่มีความร้อนสูง (ทนเพลิงไหม้ได้ 3 ชั่วโมง โดยไม่ร่วงหล่น)  เหมาะสำหรับทำฝ้าเพดาน ที่ต้องการอัตราการป้องกันไฟสูง เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ ช่องลิฟท์ทางหนีไฟ และผนังอาคารต่างๆ

- แผ่นยิปซัมกันร้อนติดอลูมิเนียมฟอยล์   ซึ่งมีคุณสมบัติในการสะท้อนรังสีความร้อนได้สูงถึง 95% ติดไว้ด้านหลังของแผ่นยิปซั่ม ช่วยลดความร้อนภายในได้ดี นิยมติดตั้งบริเวณฝ้าของห้องใต้หลังคา

- แผ่นยิปซั่มสำหรับดัดโค้ง  มีความหนา 6มม ซึ่งสามารถดัดโค้งได้ดีในรัศมีที่แคบ โดยไม่ต้องใช้น้ำหรือเครื่องมือช่วย

คุณสมบัติเด่น

  • น้ำหนักเบา  แผ่นยิปซั่มและโครงเคร่ามีน้ำหนักเบา เหมาะกับพื้นที่งานต่อเติมที่ไม่ต้องการให้อาคารรับน้ำหนักมากเกินไป
  • แผ่นยิปซั่มแข็งแต่เปราะ  สามารถใช้คัตเตอร์ในการตัด เจาะได้
  • ติดตั้งง่าย และรวดเร็ว 
  • ผิวเนียนเรียบ ไร้รอยต่อ 
  • หาวัสดุ และช่างได้ง่าย
  • ช่วยลดเสียง และความร้อนได้

คุณสมบัติด้อย

  • เนื้อยิปซั่มมีโอกาสเปราะหักง่าย เมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ
  • ไม่ค่อยทนความชื้น

ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์

2. ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์

แผ่นฝ้าไฟเบอร์ซีเมนต์ หรือ ที่นิยมเรียกว่าแผ่นฝ้าสมาร์ทบอร์ด ผลิตมาจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่ผสมเข้ากับเส้นใยเซลลูโลสชนิดพิเศษ ทรายซิลิก้า และน้ำ จากนั้นนำไปเข้ากระบวนการอบไอน้ำที่อุณหภูมิ และแรงดันสูง เพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ทนทานสูงขึ้น

แผ่นฝ้าไฟเบอร์ซีเมนต์ มีขนาดที่นิยมใช้ในท้องตลาดดังนี้

ขนาด  120x240 ซม. มีความหนาที่  4,6,8,10,12,16,18,20 มม.

ขนาด  60x120 ซม.   มีความหนาที่  4 และ 6 มม.

ขนาด  60x240 ซม.   มีความหนาที่  4 มม.

ขนาด  120x120 ซม. มีความหนาที่  4 มม.

โดยมีราคาในทัองตลาดตั้งแต่ 400-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับประเภท และขนาด

คุณสมบัติเด่น

  • น้ำหนักเบา และติดตั้งได้ง่าย
  • ลดการนำความร้อนช่วยให้บ้านเย็น เนื่องจากมีค่าการนำความร้อนต่ำกว่ากระเบื้องแผ่นเรียบ จึงช่วยลดความร้อนจากโถงหลังคาเข้าสู่ภายในบ้านได้ดี ช่วยให้บ้านเย็น และประหยัดค่าไฟฟ้า 
  • ปลวกไม่กิน เพราะทำมาจากปูนซีเมนต์ และส่วนผสมชนิดพิเศษอื่นๆ
  • มีคุณสมบัติไม่ลามไฟ ช่วยประวิงเวลาในการหลบหนีได้ในระดับหนึ่ง
  • มีความแข็งแรง ทนต่อแรงกระแทกสูงไม่แตกหักง่าย
  • เนื้อเหนียวมีความยืดหยุ่นสูง สามารถดัดโค้งได้ดีในระดับหนึ่ง
  • ทนน้ำ ทนฝน ทนความชื้น และทนแดด ได้นานนับสิบปีโดยไม่เปื่อยยุ่ย
  • ใช้งานได้ทั้งภายใน และภายนอก

คุณสมบัติด้อย

  • เห็นรอยต่อระหว่างแผ่นเป็นรอยท้องช้างชัดเจน เนื่องจากเป็นแผ่นแข็ง เวลาต่อกัน และฉาบอาจจะไม่เนียนเหมือนกับใช้ยิบซั่มบอร์ด 
  • พื้นผิวไม่ค่อยสวยงาม ทาสีไม่ค่อยเรียบเนียนทั้งๆที่ไม่ใช่รอยต่อ 

ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุไม้จริง และไม้เทียม

3. ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุไม้จริง และไม้เทียม

ไม้จริงเป็นวัสดุทำฝ้าที่นิยมมากในอดีต ด้วยความสวยงามเป็นธรรมชาติ แต่ปัจจุบันไม้มีราคาสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆจึงทำให้ค่าใช้จ่ายและการบำรุงรักษาฝ้าประเภทนี้แพงตามไปด้วย ซึ่งเราจะไม่ลงลึกในคุณสมบัติของไม้จริง เพราะหลายๆท่านทราบอยู่แล้วว่าไม้จริงแม้จะมีความสวยงาม สามารถทำได้ทั้งฝ้าแบบปิด และฝ้าระแนง แต่ก็มีราคาสูงขึ้นทุกๆวัน อีกทั้งยังมีขีดจำกัดในด้านการป้องกันความชื้น และไม่ค่อยทนไฟ

ในปัจจุบันผู้คนจึงหันมานิยมใช้ไม้เทียมอย่าง ไม้พลาสติกคอมโพสิต (Wood Plastic Composite) กันมากขึ้น โดยนิยมกันเป็นอย่างมากในการนำมาทำเป็นฝ้าเพดานโปร่งแบบระแนง ซึ่งวัสดุทดแทนไม้จริงที่ว่านี้จะมีคุณสมบัติที่น่าสนใจอย่างไรบ้างนั้น มาดูกันครับ

ไม้เทียมพลาสติกคอมโพสิต (Wood Plastic Composite)

ไม้เทียมพลาสติกคอมโพสิต หรือ WPC คือ วัสดุที่มีส่วนผสมของไม้ และพลาสติก มีทั้งหน้าตัดแบบกลวง และหน้าตัดแบบตัน ซึ่งคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์นั้นๆจะโดดเด่น และโน้มเอียงไปทางไหนก็จะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของไม้ และพลาสติกที่นำมาผสมกันนั่นเอง

โดยทั่วไปแล้วขั้นตอนการผลิตไม้พลาสติกคอมโพสิต จะมี 2 ขั้นตอนหลักๆ คือ

- การนำไม้ และเม็ด พลาสติกมาผสมกัน

- การขึ้นรูปพื้นไม้พลาสติกคอมโพสิต โดยใช้วิธีต่างๆกัน เช่น การอัด รีดขึ้นรูป (Extrusion) ,การฉีดขึ้นรูป (Injection) และการใช้เครื่องนาบหรือเครื่องกดความร้อนขึ้นรูป (Hot Press)

นอกจากนี้ในกระบวนการผลิตยังสามารถแบ่งประเภทของส่วนผสมต่างๆ ได้ดังนี้

- ไม้สังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของ Polyethylene (PE based ) ผสมกับผงไม้

- ไม้สังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของ Polypropylene (PP based ) ผสมกับผงไม้

- ไม้สังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของ Poly vinyl chrolide (PVC based ) ผสมกับผงไม้

สำหรับขนาดไม้ระแนง WPC สำหรับทำฝ้า (แบบกลวง) ที่นิยมในท้องตลาดนั้นมีหน้าตัดความกว้างตั้งแต่ 2-12เซนติเมตร และมีความยาวตั้งแต่ 1-3 เมตร โดยมีราคาในท้องตลาดตั้งแต่ 200-1,xxx /เส้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับขนาด ลวดลาย และเกรดของไม้ WPC เป็นหลัก

คุณสมบัติเด่น

  • ไม่มีมอด และแมลงรบกวน
  • มีความแข็งแรงทนทาน และมีน้ำหนักที่เบากว่าไฟเบอร์ซีเมนต์ที่ขนาดความหนาเท่ากัน
  • ทนทานต่อความชื้น (ขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างไม้กับพลาสติกว่าอันไหนสัดส่วนมากน้อยกว่ากัน)
  • มีสีภายในตัว ลดขั้นตอนในการทาสี
  • ติดตั้งง่าย สามารถตัดแต่งได้เหมือนไม้จริง
  • สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้
  • ไม่ลามไฟ และไม่ติดไฟ
  • มีความเหนียวกว่าไม้เทียมประเภทไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยสามารถทำโครงสร้างรับน้ำหนักบางประเภทได้

คุณสมบัติด้อย

  • เมื่อใช้งานไปนานๆหลายปี และโดนแดดจัดๆ สีจะซีดจางลง และอาจมีอาการเหี่ยว
  • ไม่ค่อยเหมือนไม้จริงทั้งสีสัน และผิวสัมผัส
  • ไม้พลาสติกคอมโพสิตหลายรุ่นไม่สามารถทาสีทับได้ ดังนั้นเมื่อเกิดรอยใหญ่และลึกจึงซ่อมแซมได้ยาก

 

คลิก! เพื่อสั่งซื้อหรือสอบถามรายละเอียด

ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุไวนิล

4. ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุไวนิล

แผ่นฝ้าไวนิล เป็นวัสดุทำฝ้าอีกประเภทหนึ่งที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในท้องตลาด โดยผลิตมาจาก UPVC หรือ Unplasticised Poly Vinyl Chloride ซึ่งเป็นเนื้ออะคริลิกประเภทหนึ่ง ฝ้าไวนิลมักนิยมนำไปติดตั้งในพื้นที่ใหญ่ๆ เช่น ปั๊มน้ำมัน ,อาคารสำนักงาน ,ห้างสรรพสินค้า และอาคารสาธารณะ รวมถึงบ้านพักอาศัยทั่วไป

โดยมีราคาในท้องตลาดตั้งแต่ 350-1,xxx บาท ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับขนาด และลวดลายของแผ่นฝ้าไวนิล ซึ่งมีให้เลือกหลายลวดลาย เช่น ลายไม้ หรือ โทนสีแบบต่างๆ

สำหรับขนาดที่นิยมใช้ตามท้องตลาดมีขนาดตั้งแต่ : กว้าง 14-25 เซนติเมตร หนา 1-8 มิลลิเมตร และมีความยาวมาตรฐาน 4, 5, 6 เมตร (สามารถสั่งความยาวได้สูงสุดถึง 12 เมตร)

คุณสมบัติเด่น

  • ติดตั้งได้ง่าย เพราะมีการออกแบบลักษณะการติดตั้งแบบเข้าลิ้น
  • พื้นผิวมีความราบเรียบสม่ำเสมอ และสามารถใช้ได้ทั้งสองด้าน
  • มีน้ำหนักเบา ขนย้ายสะดวก และทำให้ติดตั้งได้ในเวลาที่รวดเร็ว
  • มีความเหนียว ทนทาน
  • มีคุณสมบัติกันน้ำ กันปลวก
  • มีให้เลือกหลากหลายลวดลาย
  • ดูแลรักษา ทำความสะอาดได้ง่าย 

คุณสมบัติด้อย

  • เมื่อใช้ไปนานๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงของสีได้
  • มีขีดจำกัดในเรื่องการอ่อนตัวมากกว่าวัสดุแผ่นอื่นๆ
  • มีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ

ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุอลูมิเนียม

5. ฝ้าที่ทำมาจากวัสดุอลูมิเนียม

ฝ้าอลูมิเนียม จะมีลักษณะเป็นแผ่นตะแกรง หรือเป็นเส้นยาวคล้ายระแนง ซึ่งผลิตมาจากการนำแร่บอกไซด์มาถลุงจนได้อลูมิน่าบริสุทธิ์ และนำอลูมิน่าเข้าหลอมจนได้เป็นแท่งอลูมิเนียมบริสุทธิ์ แล้วนำไปแปรรูปด้วยแม่พิมพ์ที่มีขนาด และรูปทรงหน้าตัดที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้เส้นอลูลิเนียมโปรไฟล์สำหรับใช้ในงานฝ้าเพดานแต่ละแบบ 

นอกจากนี้วัสดุอลูมิเนียม ยังมีคุณสมบัติไม่ก่อให้เกิดสนิม ทนฝน (อลูมิเนียมเกรดสูงๆจะป้องกันน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ) ทนแดด หรือ ความร้อนได้ดี มีมวลโครงสร้างที่แข็งแรง ทนทาน จึงคงรูปไม่เกิดการบิดงอ นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้งานในการตกแต่งเพดานได้อย่างหลากหลาย มีความสวยงามทันสมัย 

เรามักจะเห็นฝ้าอลูมิเนียมในอาคารขนาดใหญ่ เช่น สถานีขนส่ง อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า หรือ อาคารสาธารณะอื่นๆ เพื่อซ่อนระบบ และติดตั้งไฟส่องสว่าง หรือ อุปกรณ์อื่นๆตามการใช้งานของอาคารนั้นๆ แต่ด้วยความที่มีราคาแพง และเหมาะกับการติดตั้งในพื้นที่ขนาดใหญ่จึงไม่นิยมใช้ในบ้านพักอาศัย

สำหรับขนาด และราคาของฝ้าอลูมิเนียมในท้องตลาดนั้นมีค่อนข้างหลากหลายมากๆ โดยเรทราคาจะขึ้นอยู่กับขนาด เกรดของเนื้ออลูมิเนียม และลักษณะการใช้งานเป็นหลัก ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็จะมีราคาในแต่ละรุ่นที่แตกต่างกันไป

คุณสมบัติเด่น

  • เป้นวัสดุที่ไม่บิดตัว มีความทนทาน ด้วยอายุการใช้งานที่ยาวนานนับสิบๆปี
  • พื้นผิวหน้ามีความเรียบตึง ให้ความสวยงามทันสมัย และมีให้เลือกหลายสี
  • มีน้ำหนักเบา ขนย้ายสะดวก และทำให้ติดตั้งได้ง่ายในเวลาที่รวดเร็ว
  • ไม่มีปัญหาเรื่องความชื้น และไม่เป็นสนิม
  • ดูแลรักษาทำความสะอาด และซ่อมแซมได้ง่าย
  • ทนต่อการลามไฟได้ดีในระดับหนึ่ง

คุณสมบัติด้อย

  • มีขีดจำกัดในการรับแรงกระแทก เมื่อเนื้ออลูมิเนียมได้รับความเสียหายจะซ่อมแซมให้กลับมาสมมาตรเหมือนเดิมได้ยาก
  • อลูมิเนียมเส้น หรือ อลูมิเนียมโปรไฟล์ เป็นวัสดุเนื้อเปราะ ในบางกรณีการใช้งาน จึงไม่สามารถต้านทานแรงดัดเนื่องจากการดัดโค้งในรัศมีแคบๆได้
  • ฝ้าอลูมิเนียมมีราคาค่อนข้างสูง จึงนิยมนำไปใช้ในอาคารขนาดใหญ่

อ้างอิงโดย 

https://www.britannica.com/technology/ceiling

https://en.wikipedia.org/wiki/Ceiling

แพลตฟอร์ม และเครื่องมือสำหรับการออกแบบตกแต่งบ้าน และงานสถาปัตยกรรม
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ...

บทความอื่นๆ จากผู้เขียน

โพสต์เมื่อ

การออกแบบ และเลือกใช้วัสดุ
หน้าต่างในงานสถาปัตยกรรม (Window type in architecture)

ไอเดียมาใหม่

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

โพสต์เมื่อ

บทความที่เกี่ยวข้อง

...

โพลสำรวจ

ถาม-ตอบ

Wazzadu.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานของคุณ