The Top 10 Material Innovations Of 2025 รวมสุดยอดนวัตกรรมด้านวัสดุ ปี 2025
ทุกคนเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ‘กรุงเทพฯกำลังจมทะเล’ กันไหมครับ? มันไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงเลยแม้แต่น้อย เพราะวิกฤตโลกร้อนทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้ประเทศหมู่เกาะและเมืองชายฝั่งเสี่ยงจมทะเล ความตระหนักรู้ในวิกฤติโลกร้อนนี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้หลาย ๆ คนออกมาหาแนวทางเพื่อช่วยให้เราสามารถอยู่บนโลกใบนี้อย่างไม่ทำลายโลก นักออกแบบเองก็ตระหนักถึงปัญหานี้เช่นกัน จึงทำให้ปี 2025 กลายเป็นปีแห่งนวัตกรรมด้านวัสดุเพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ
วันนี้ Wazzadu Encyclopydia จะพาทุกท่านไปพบกับ 10 อันดับ นวัตกรรมด้านวัสดุประจำปี 2025 ที่ผ่านมากันครับว่าจะมีอะไรบ้าง และแต่ละผลงานน่าสนใจอย่างไร ไปชมกันเลยครับ
1. Aquafade พลาสติกละลายน้ำ
Pentaform เป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่เน้นการผลิตแกดเจ็ตจากพลาสติกประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพและละลายน้ำได้ 100%
คุณ Samuel Wangsaputra และคุณ Joon Sang Lee ผู้ก่อตั้งร่วมของ Pentaform ได้พัฒนา Aquafade มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์อย่าง Enrico Manfredi และ Meryem Lamari พัฒนาโพลิเมอร์ที่ใช้เป็นองค์ประกอบหลักรวมถึงสารเคลือบผิวที่ช่วยป้องกันวัสดุจากน้ำและความชื้นในอากาศ
Aquafade เป็นชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถละลายน้ำได้โดยไม่สร้างมลพิษแก่น้ำ จะเหลือไว้เพียงส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ที่แยกออกได้ด้วยมือ แทนที่พลาสติกแบบเดิม ๆ ที่เมื่อกลายเป็นขยะจะถูกกลบฝังดินแล้วสร้างมลพิษลงดิน เปลี่ยนเป็นการย่อยสลายทางชีวภาพไปพร้อมกับแบคทีเรียในระบบบำบัดน้ำเสียแทน
ตัววัสดุมีความทนทาน มีคุณสมบัติเชิงกลที่คล้ายกับพลาสติก ABS ซึ่งเป็นโพลิเมอร์ที่ใช้เป็นมาตรฐานสำหรับทำชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ สามารถฉีดขึ้นรูปโดยใช้เครื่องจักรแม่พิมพ์เดียวกัน นอกจากนี้ยังนิยมใช้สำหรับการพิมพ์ 3 มิติอีกด้วย
ผู้พัฒนากล่าวว่าหาก Aquafade สามารถทดแทนขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้แม้เพียงร้อยละหนึ่ง ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้วัสดุที่เป็นพิษและก่อมะเร็ง 140,000 ตันเข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้ เรียกได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดขยะพลาสติกได้อย่างน่าทึ่งเลยใช่ไหมครับ
2.ปูนซีเมนต์รีไซเคิลจาก Cambridge Electric Cement
คอนกรีต คือหนึ่งในวัสดุที่ปล่อยคาร์บอนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนทั้งหมด โดยมีวัตถุดิบหลักคือ ‘ซีเมนต์’ โดยหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาที่มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้มากที่สุด นั่นก็คือวิธีการแก้ปัญหาจากนักวิจัยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่ได้คิดค้นวิธีการผลิตคอนกรีตคาร์บอนต่ำให้ได้ในปริมาณมากและยังราคาถูก ผ่านการใช้ประโยชน์จากปูนซีเมนต์เหลือทิ้งและเตาเผาพลังงานไฟฟ้าของอุตสาหกรรมเหล็ก
โดยพิจารณาจากปัญหาแหล่งกำเนิดคาร์บอนที่สำคัญในกระบวนการผลิตซีเมนต์ อย่างการเปลี่ยนหินปูนให้เป็นซีเมนต์ใหม่และการเผาเชื้อเพลิงเพื่อให้พลังงานแก่เตาเผาความร้อนสูงเพื่อให้ได้ซีเมนต์มา อีกทั้งได้เล็งเห็นว่าในปัจจุบันมีการใช้เตาเผาพลังงานไฟฟ้าในอุตสาหกรรมเหล็ก จึงคิดผลิตซีเมนต์โดยอาศัยเตาพลังงานไฟฟ้าเหล่านี้แทนเตาพลังงานเชื้อเพลิง
กระบวนการเริ่มต้นหลังจากการรื้อถอนอาคาร คอนกรีตจะถูกบดทำลายซึ่งมีความละเอียดพอที่จะแยกซีเมนต์ออกจากมวลรวมได้ ปูนซีเมนต์ที่ใช้แล้วจะถูกนำไปเผายังเตาเผาพลังงานไฟฟ้าและใช้แทนปูนขาวเป็น "สารทำความสะอาด" ซึ่งมักจะใช้ในกระบวนการรีไซเคิลเพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกจากโลหะที่หลอมละลาย เกิดเป็นตะกอนซีเมนต์ที่แยกออกจากเหล็กหลอมเหลว เมื่อถูกทำให้เย็นตะกอนจะกลายเป็นซีเมนต์พอร์ตแลนด์คุณภาพสูง เรียกได้ว่าเป็นวิธีจัดการกับขยะจากการก่อสร้างและยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้เป็นจำนวนมากเลยนะครับ
3.Ame สิ่งทอโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลชนิดแรกที่ทำจากโพลีเอสเตอร์เหลือใช้
มาที่อุตสาหกรรมผ้ากันบ้าง ผ้าโพลีเอสเตอร์ (polyester) รีไซเคิล ที่โดยปกติจะผลิตจากวัสดุเหลือใช้จำพวกขวดน้ำพลาสติก ในขณะที่โพลีเอสเตอร์ที่เหลือทิ้งเองจะถูกนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งบางครั้งกระบวนการนี้เรียกว่า "Downcycling" เนื่องจากวัสดุจะสูญเสียคุณภาพไปในแต่ละรอบของการรีไซเคิลนั่นเองครับ
โดยแบรนด์สิ่งทอ Kvadrat ร่วมมือกับนักออกแบบ Teruhiro Yanagihara เพื่อเปิดตัวผ้าโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลชนิดแรกที่ทำจากผ้าโพลีเอสเตอร์เหลือใช้ แทนการผลิตจากขยะขวดพลาสติกทั่วไป
วิธีของ Kvadrat เรียกว่าการ ‘Depolymerization’ โพลีเอสเตอร์จะถูกย่อยสลายเป็นองค์ประกอบโมเลกุลด้วยสารเคมี ทำให้ได้คุณภาพของวัสดุที่บริสุทธิ์กว่า ซึ่งช่วยให้สามารถนำพลาสติกเหลือทิ้งไปใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น โดยจะออกมาเป็นชิปโพลีเอสเตอร์ที่ถูกนำไปปั่นเป็นเส้นด้ายเพื่อสร้างสิ่งทอชนิดใหม่ แต่วิธีการนี้ยังเป็นข้อถกเถียงกัน เนื่องมาจากเทคโนโลยีดังกล่าว ก่อให้เกิดของเสียและการปล่อยมลพิษพิษในปริมาณมากจนนักวิจารณ์โต้แย้งว่าก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี อีกทั้งกรรมวิธีผลิตยังใช้พลังงานที่สูง แต่ทางแบรนด์กล่าวว่าโปรเจคนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้นและคาดว่าจะดีขึ้นในอนาคต ผมเองก็หวังว่าทางแบรนด์จะสามารถแก้ไขปัญหาไปได้ทีละเปราะ ๆ เพื่อที่เราจะได้ลดของเหลือจากอุตสาหกรรมผ้าโพลีเอสเตอร์ได้มากขึ้นในอนาคตนะครับ
4.Flaxwood กระเบื้องเสื่อน้ำมันที่สามารถขึ้นรูปใหม่ได้เหมือนดินน้ำมัน
พื้นลิโนเลียมหรือพื้นเสื่อน้ำมันประกอบด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น น้ำมันลินสีด เรซินสน ผงไม้ก๊อก และแป้งไม้ ซึ่งผสมและกดลงบนวัสดุรองพื้นหลัง ข้อดีของพื้นชนิดนี้คือสามารถรีไซเคิลได้ 100 % ย่อยสลายทางชีวภาพได้และขึ้นรูปใหม่ได้เรื่อย ๆ อีกด้วย
ในขณะที่พื้นลิโนเลียมแบบดั้งเดิมนั้นถูกนำมาปูกับผ้าซับในที่ทำจากใยปอและแขวนไว้ให้แห้งเป็นเส้นใหญ่ แต่นักออกแบบชาวดัตช์ Christien Meindertsma ได้พัฒนาพื้นลิโนเลียม Flaxwood ที่ขึ้นรูปโดยใช้แม่พิมพ์และเครื่องกดแรงดัน โดยไม่จำเป็นต้องมีวัสดุรองด้านหลัง
อีกทั้งสารเคลือบและเม็ดสีที่ได้จากฟอสซิลซึ่งใช้เพื่อให้พื้นลิโนเลียมมีสีและลวดลายที่แตกต่างกันก็หายไปเช่นกัน แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เป้าหมายของคุณคริสเตียนคือการผลิตพื้นลิโนเลียมที่ใช้ใยจากพืชในท้องถิ่นที่ปลูกทดแทนได้รวดเร็ว เช่น ต้นกก และการออกแบบให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย อย่างการผสมขี้เลื่อยจากไม้เพื่อเปลี่ยนสีของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามชนิดของต้นไม้นั้น ๆ
คุณคริสเตียนยังกล่าวอีกด้วยว่า วัสดุจะต้องมาพร้อมกับระบบวงจรรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถใช้งานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด น่าสนใจมาก ๆ เลยนะครับ หากในอนาคตข้างหน้า เราจะมีวัสดุที่สามารถรีไซเคิลใช้ใหม่ได้ไม่สิ้นสุดเหมือนดินน้ำมันแบบนี้
5. Remli โคมไฟพกพาจากเศษวัสดุเหลือใช้ที่ "รีไซเคิลได้ยาก"
We+ สตูดิโอออกแบบจากโตเกียว ที่ได้ออกแบบโคมไฟพกพาจากขยะ เช่น เศษแก้ว เซรามิก และคอนกรีต วัสดุเหลือใช้ในเมืองโตเกียวที่รีไซเคิลได้ยาก โดยทีมงาน We+ ได้ออกตามหาวัสดุเหลือทิ้งเหล่านี้ทั่วโตเกียวเพื่อนำมารีไซเคิลใหม่
โคมไฟ Remli มาจากการผสมคำว่า 'remains' และ 'light' ซึ่งอ้างอิงถึงโครงการก่อนหน้านี้ของบริษัท We+ ที่มีชื่อว่า Remains ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกทำให้เกิดโปรเจคนี้ โดย แบรนด์ Remains มีพื้นผิวสัมผัสขรุขระที่คล้ายกับคอนกรีต แต่ให้ความอบอุ่นและเป็นธรรมชาติมากกว่า
มีกรรมวิธีผลิตคือใช้เศษแก้วหลอมละลายทำหน้าที่เป็นสารยึดเกาะ และเศษขยะเหลือทิ้งหลายประเภท เช่น แก้ว เซรามิก คอนกรีต และเศษวัสดุ ที่ถูกนำมาบดละเอียดผสมกับดิน แล้วนำไปทาบนพื้นผิวของผลิตภัณฑ์เกิดเป็นเท็กซ์เจอร์ขรุขระตามคอนเซ็ปต์แบรนด์
แสงจากโคมไฟที่ติดตั้งด้านล่าง เมื่อส่องลงจะสะท้อนพื้นผิวของตัวฐานโคมไฟ ทำให้เห็นเท็กซ์เจอร์ขรุขระของวัสดุได้ชัดเจน ให้ความรู้สึกที่สงบนิ่ง สะท้อนสัจธรรมคล้ายการออกแบบที่ใช้สัจจะวัสดุ เป็นแนวทางในการกำจัดขยะที่รีไซเคิลยากออกมาได้งดงาม เต็มไปด้วยจิตวิญญาณสมกับที่เป็นนักออกแบบจากประเทศญี่ปุ่นเลยนะครับ
6.The Down-Less Down Jacket แจ็คเก็ตขนเป็ดทิพย์ ที่แปลงรังสีอินฟราเรดเพื่อรักษาความอบอุ่นให้ผู้สวมใส่
‘ขนเป็ด’ หนึ่งในวัสดุที่คนนิยมนำมาทำเสื้อผ้า โดยเฉพาะแจ็คเก็ตรักษาความอบอุ่นให้ร่างกาย แต่จะดีแค่ไหนถ้าใช้ ‘ขนเป็ดทิพย์’ มาทำแจ็คเก็ตแห่งโลกอนาคต!
ความจริงแล้วไอ่ ‘ขนเป็ดทิพย์’ ที่ว่านี่เป็นแค่คำเปรียบเปรยนะครับ เพราะวัสดุที่ใช้ทำจริง ๆ แล้ว เรียกว่า CWO อนุภาคที่พัฒนาโดย Sumitomo Metal Mining Co สามารถดูดซับแสงอินฟราเรดใกล้ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าของมนุษย์ แล้วแปลงแสงอินฟราเรดใกล้ให้เป็นความร้อน ทำให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นทันที
บริษัท Sumitomo Metal Mining ร่วมมือกับที่ปรึกษา Droga5 Tokyo และนักออกแบบแฟชั่น Kosuke Tsumura สร้างแจ็คเก็ตเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของวัสดุเชิงนวัตกรรม
เสื้อโค้ทตัวนี้ได้รับชื่อว่า Down-Less Down Jacket ซึ่งมีรูปร่างเหมือนเสื้อแจ็คเก็ตแบบพัฟเฟอร์ทั่วไป แต่มีลักษณะเป็นโพรงระหว่างชั้น วัสดุโปร่งใสซึ่งปกติแล้วจะเป็นชั้นขนของขนเป็ดแบบเสื้อแจ็คเก็ตดั้งเดิม ให้ความอบอุ่นได้เป็นอย่างดี ผลลัพธ์เทียบเท่าเสื้อแจ็คเก็ตขนเป็ดโดยไม่ต้องใช้ขนเป็ดจริง เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดไปได้อีกไกล ผมยังได้ยินมาอีกว่าทางผู้พัฒนาจะต่อยอดไปสู่ชุดของนักกีฬาหรือกระจกรถยนต์อีกด้วยครับ
7.RePit เส้นใยการพิมพ์ 3 มิติที่ทำจากเมล็ดอินทผาลัมเหลือทิ้ง
เส้นใยปลอดพลาสติกสำหรับการพิมพ์ 3 มิติโดยใช้เมล็ดอินทผลัมเหลือทิ้งซึ่งจัดแสดงในงาน Dutch Design Week ถูกพัฒนาโดยกลุ่มนักออกแบบชาวโอมานชื่อ Nawa จัดแสดงชิ้นงานพิมพ์ 3 มิติ 15 แบบด้วยกัน มีรูปแบบลวดลายคลื่นตามรูปแบบของเนินทราย
วัสดุคอมโพสิตชนิดนี้เรียกว่า RePit ซึ่งเป็นการเล่นคำจากคำว่า "Repeat" โดยออกแบบมาเพื่อนำเสนอทางเลือกที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นต่อเส้นใยเทอร์โมพลาสติกที่ใช้โดยเครื่องพิมพ์ 3 มิติโดยทั่วไปในการสร้างวัตถุทีละชั้น
เมล็ดอินทผลัมถูกบด ผสมกับดินเหนียวและเส้นใยปาล์มเพื่อทำปูนไลม์มอร์ตาร์ทนน้ำแบบดั้งเดิมที่เรียกว่าซารูจ (Sarooj) โดย ซารูจ คือ ปูนทนน้ำที่ใช้ในงานสถาปัตยกรรมอิหร่าน กระเบื้อง RePit เหล่านี้จะผ่านการเผาและเคลือบด้วยวิธีการเดียวกันกับการเคลือบเซรามิกทั่วไป
ของเหลือจากธรรมชาติหมักถมทับกันก็ก่อก๊าซออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ แต่นักออกแบบเหล่านี้ก็สามารถนำเอาสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาสร้างคุณค่าและมูลค่า เป็นตัวอย่างผลงานออกแบบที่ดี ที่เราควรศึกษาแนวคิดแล้วนำไปปรับใช้กัน เพื่อออกแบบผลงานที่น่าทึ่งแถมยังรักษ์โลกได้ด้วยนะครับ
8.The "space bricks" อิฐจากฝุ่นอวกาศเพื่อการก่อสร้างบนดวงจันทร์
ทุกคนเคยลองคิดกันเล่น ๆ ไหมครับ ว่าเหล่านักบินอวกาศใช้อะไรสร้างฐานหรือโครงสร้างต่าง ๆ บนดวงจันทร์ เพราะการนำวัสดุจากบนโลกไปยังดวงจันทร์นั้นค่อนข้างยากและมีค่าใช้จ่ายสูงทีเดียว นี่คือหนึ่งในงานทดลองครับ
นักวิทยาศาสตร์จากองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ร่วมกับ Lego สร้างอิฐเลโก้จากฝุ่นอุกกาบาต เพื่อเป็นการศึกษาแนวทางในการสร้างโครงสร้างหรือสิ่งก่อสร้างที่จำเป็นบนดวงจันทร์ในอนาคต
เนื่องจากเศษหินและเรโกลิธ*ที่รวบรวมโดยนักบินอวกาศโครงการ Apollo และภารกิจหุ่นยนต์สำรวจที่นำตัวอย่างกลับมายังโลก มีอยู่แค่เพียง 382 กิโลกรัมเท่านั้น ดังนั้นทีมงานจึงทดลองใช้ชิ้นส่วนจากอุกกาบาตหินชนิดคอนไดร์ท (Chondrite) อายุ 4,500 ล้านปี ที่พบบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกาในปี ค.ศ. 2000 ชื่อว่า “NWA 869” มาทดลองแทน โดยอุกกาบาตชนิดนี้มีเม็ดโลหะ "คอนดรูล" (Chondrule) กระจายอยู่ทั่วทั้งก้อนของอุกกาบาต
กรรมวิธีผลิตคือบดชิ้นส่วนอุกกาบาตคอนดรูลให้กลายเป็นฝุ่นแล้วผสมเข้ากับเรโกลิธจำลอง (Regolith simulant) จากนั้นนำมาขึ้นรูปเป็นก้อนอิฐเลโก้ 3 มิติ ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นถือว่าน่าทึ่ง เพราะถึงแม้ตัวอิฐจะดูหยาบเล็กน้อย แต่จากการทดสอบถือว่าใช้งานได้ และยังมีประโยชน์ในการทำความเข้าใจขอบเขตของเทคนิคเหล่านี้ในเชิงวิทยาศาสตร์อีกด้วย
ปัจจุบัน Lego ได้จัดแสดงอิฐอวกาศของ ESA จำนวน 15 ชิ้นในร้านค้าทั่วโลกโดยบริษัทหวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก ๆ ที่อยากสร้างที่พักอาศัยในอวกาศด้วยตัวเองอีกด้วยครับ
*เรโกลิธของดวงจันทร์ คือวัสดุที่ยังไม่แข็งตัวซึ่งพบบนพื้นผิวของดวงจันทร์ และในชั้นบรรยากาศที่บางมากของดวงจันทร์ บางครั้งเรียกว่าดินบนดวงจันทร์
9.กระเป๋า BioFluff จาก ที่ทำจาก ‘เส้นใยพืช’ ชิ้นแรกของโลก
อุตสาหกรรมแฟชั่นก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมก่อมลพิษแก่โลกมากเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะเทรนด์ Fast Fasions ที่สร้างขยะมากจนล้นโลก ในปัจจุบันหลาย ๆ แบรนด์ก็หันมาใส่ใจในเรื่องนี้ และคิดค้นหาวิธีที่จะช่วยลดขยะจากอุตสาหกรรมนี้กัน
แบรนด์แฟชั่นสัญชาติเดนมาร์กอย่าง Ganni เองก็เป็นหนึ่งในนั้น พวกเขาผลิตกระเป๋าที่ผลิตจากเส้นใยของพืชแทนการใช้หนังสัตว์หรือเส้นใยพลาสติก
BioFluff มีส่วนผสมซึ่งครึ่งหนึ่งมาจากขยะจากการเกษตร โดยใช้เอนไซม์พิเศษที่มาจากพืชเช่นกัน โดยผลิตจากส่วนผสมของ ต้นตำแย ป่าน ผ้าลินินและขนสัตว์ เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีสิ่งทอที่มีอยู่ วิทยาศาสตร์ และความชำนาญของอุตสาหกรรมขนสัตว์ของอิตาลี
การประมาณการเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่าเส้นใยจากพืชก่อให้เกิดการปล่อยมลพิษน้อยกว่าเส้นใยที่ทำจากพลาสติกถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดปัญหาไมโครพลาสติก และปล่อยมลพิษน้อยกว่าขนสัตว์จริงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์และให้อาหารสัตว์อีกต่อไป ทั้งยังไม่ต้องผ่านกระบวนการแปรรูปที่ซับซ้อนสำหรับหนังสัตว์อีกด้วย ส่วนสีของเส้นใยเองก็มาจากสีธรรมชาติ และหูหิ้วหนังรีไซเคิล
Stübler ประมาณการว่าเส้นใยของ BioFluff จะสลายตัวในโรงงานทำปุ๋ยหมักอุตสาหกรรมหลังจากผ่านไปหลายสัปดาห์ แม้ว่าในปัจจุบันการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ตาม แต่ผมคิดว่าเป็นผลงานออกแบบนี้จะจุดประกายไอเดียให้นำไปต่อยอดได้อีกมากมายเลยครับ
10.แผ่นไม้รีไซเคิล SM2ART Nfloor ที่แข็งแรงเหมือนเหล็ก
วัสดุโครงสร้างพื้นทางเลือกแทนเหล็กและคอนกรีตนี้ชื่อว่า SM2ART Nfloor ถูกพัฒนาโดยนักวิจัยในสหรัฐฯ ที่ทำงานร่วมกับ SHoP Architects ผลิตจากการผสมกรดโพลีลาติก (PLA) ซึ่งเป็นไบโอพลาสติกที่ได้จากเศษข้าวโพด และผงขี้เลื่อยไม้บดละเอียด (wood flour) ที่ทำมาจากขยะจากการแปรรูปไม้
การขึ้นรูปทรงแบบเรขาคณิตที่ช่วยกระจายน้ำหนักไปที่ขอบด้านนอก การเติมผงไม้บดละเอียดลงไปช่วยเพิ่มความแข็งแรงได้เป็นอย่างมาก โดยวิธีใช้คือนำไปวางบนกรอบเหล็กของอาคาร
ในด้านการผลิตแผ่นไม้นี้สร้างขึ้นโดยใช้การพิมพ์ 3 มิติ ซึ่งสามารถพิมพ์ช่องสำหรับสายไฟ ประปา และช่องลมได้ในระหว่างขั้นตอนการผลิต จึงไม่จำเป็นต้องทุบช่องเหล่านั้นออกหลังจากประกอบเสร็จแล้ว ใช้เวลาพิมพ์ประมาณ 30 ชั่วโมง และคาดว่าจะช่วยลดแรงงานได้ประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าสามารถช่วยประหยัดทั้งเวลาและเงิน
จากการทดสอบ SM2ART Nfloor พบว่าแผ่น cassette SM2ART Nfloor นี้ มีความแข็งแรงเท่ากับพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วๆ ไป และยังย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าและผลิตได้เร็วกว่าเหล็กและคอนกรีต
เป็นการพัฒนาวัสดุอินทรีย์ในการก่อสร้างที่สามารถต่อยอดในอุตสาหกรรมการก่อสร้างได้อีกไกลนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอาคารที่พักอาศัยแบบโมดูลาร์ที่แบบเดียวกันหลาย ๆ หลัง ทั้งสะดวกและรวดเร็วเลยล่ะครับ
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม