สีย้อมไม้ (Wood Stain) มีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีคุณสมบัติเด่น และวิธีการนำไปใช้งานอย่างไร
Type : Decorative Chemical (เคมีภัณฑ์)
Catagory : สีย้อมไม้ (Wood Stain)
Summary Product Data : สีย้อมไม้ คืออะไร
ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา ช่างไม้ได้ใช้วิธีย้อมสีไม้มานานหลายศตวรรษ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สีทา หรือ ใช้สีย้อม โดยสกัดจากพืช และแร่ต่างๆจากธรรมชาติ จนในปี พ. ศ. 2463 บริษัท อเมริกัน Pratt & Lambert ได้ผลิตสีน้ำมันสำหรับย้อมไม้ได้สำเร็จ ซึ่งวิวัฒนาการของสีย้อมไม้ก็เริ่มพัฒนาส่วนผสมในรูปแบบต่างๆจากจุดนั้นมาเรื่อยๆ จนถึง ณ ปัจจุบัน
สีย้อมไม้มีคุณสมบัติที่จะแปลงโฉมงานไม้ให้ดูโดดเด่น และเพิ่มคุณค่าความสวยงามของงานไม้ ช่วยให้ไม้เก่าๆกลับมางดงามได้อีกครั้ง อีกทั้งยังสามารถช่วยปกป้องดูแลรักษาเนื้อไม้จากปลวก มอด เชื้อราและแมลงที่ทำลายเนื้อไม้ได้เป็นอย่างดี
Raw material : ส่วนประกอบหลักของสีย้อมไม้ (Wood Stain)
- น้ำมันสังเคราะห์ (Synthetic oil) คือน้ำมันที่สังเคราะห์จากสารชนิดอื่นๆเช่น น้ำมันเรซิ่นอัลคีดสังเคราะห์ หรือ น้ำมันทินเนอร์ เป็นต้น
- โพลียูรีเทน (Polyurethane) คือ สารพอลิเมอร์ชนิดหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยชีวเคมีระหว่างการเชื่อมต่อของยูรีเทนและพอลิเมอร์ของโพลียูรีเทน โดยมีการประกอบกันขึ้นมาจากมอนอเมอร์เป็นอย่างน้อย 2 ชนิด สำหรับวัสดุที่โพลียูรีเทนเป็นส่วนประกอบนั้นจะขึ้นอยู่กับลักษณะโดดเด่นของคุณสมบัติ อันได้แก่ ความเหนียว ความแข็งและความหนาแน่น
- แอลคีด (Alkyd) เป็นสีที่ทำมาจาก แอลกอฮอล และ กรด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะใช้ทาหรือพ่นเพื่อเน้นความสวยงาม
- เรซิน (resins) เป็นสารที่ได้จากยางเหนียวของต้นไม้หรือจากการสังเคราะห์
- ทินเนอร์ (Thinner) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ระเหยง่ายหลายชนิดผสมกัน มีลักษณะเป็นของเหลวใส ระเหยง่าย มีกลิ่นฉุน เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับละลาย และเจือจางสี น้ำยาเคลือบเงา เพื่อลดความหนืด และเจือจางให้สีเหมาะ และง่ายต่อการใช้งาน
- เมทิลแอลกอฮอล์ (methyl alcohol) เป็นของเหลวใส ระเหยง่าย เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการกลั่นทางปิโตรเคมี นิยมใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมการทำเฟอร์นิเจอร์ เช่น สีทาไม้ น้ำมันเคลือบเงา ยาลอกสี ฯลฯ และใช้เป็นเชื้อเพลิงในธรรมชาติ
- น้ำ และส่วนผสมของสารเติมแต่งชนิดพิเศษ
Specific Data : ข้อมูลจำเพาะของสีย้อมไม้ (Wood Stain)
- Content : เนื้อหา
สีย้อมไม้ (Wood Stain)
- Environmental Effect : คุณสมบัติเด่นเฉพาะตัว
สีย้อมไม้ เป็นสีที่มีความสำคัญกับงานไม้แทบจะทุกแขนงมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการทาเพื่อรักษาสภาพเนื้อไม้ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น หรือ ทาเพื่อซ่อมแซมให้งานไม้ที่ดูเก่าดูโทรม กลับมามีสีสันสดใสเหมือนได้ของใหม่ โดยมีสมบัติดังนี้
- กันน้ำซึมเข้าสู่เนื้อไม้ แต่ปล่อยให้น้ำระเหยออกจากเนื้อไม้ได้ (แม้สีน้ำมันจะกันน้ำทั้งเข้าและออก แต่น้ำอาจจะเข้าทางปลายไม้ ซึ่งจะทำให้ไม้ผุอยู่ข้างในซึ่งอาจสังเกตได้ยาก)
- สีเนื้อไม้มีความยืดหยุ่น เนื่องจากไม้เป็นวัสดุอ่อนหยุ่น สีย้อมไม้จึงต้องสามารถยืดหดตัวตามผิวไม้ได้โดยไม่แตกล่อน
- มีความทนทานต่อสภาพอากาศ ไม่ต้องทาใหม่บ่อยๆ ช่วยปกป้องพื้นผิวของไม้ให้มีความสวยงาม และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น
- Application : ประเภทการนำไปใช้งาน
สีย้อมไม้สามารถแบ่งตามองค์ประกอบทางด้านเคมีได้ 2 ประเภท และแบ่งตามลักษณะชนิดความเงางามได้ 3 รูปแบบ ดังนี้
การแบ่งประเภทสีย้อมไม้ตามองค์ประกอบทางด้านเคมี มี 2 ประเภท คือ
สูตรน้ำ
สีย้อมไม้สูตรน้ำ เป็นสีย้อมไม้ที่ไม่ต้องผสมอะไรเพิ่มก็สามารถนำไปใช้ได้เลย หรือบางยี่ห้อก็อาจให้ผสมน้ำเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อย สีย้อมไม้สูตรน้ำนี้เมื่อทาลงไปบนงานไม้แล้วเนื้อฟิมล์จะมีความคงทนยึดเกาะกับไม้ได้ดีกว่าสูตรน้ำมัน แห้งเร็ว และไม่มีกลิ่นฉุน เป็นสีที่มีความปลอดภัยสูง เหมาะกับงานภายในมากกว่างานภายนอก และเป็นสีที่นิยมนำไปใช้กับงานของใช้หรือของเล่นเด็ก ที่ต้องการความปลอดภัยสูง ไม่มีสารตะกั่ว ปรอท หรือโลหะหนักเจอปน ซึ่งอาจมีอันตรายต่อสุขภาพของเด็กๆ โดยเวลาทาอาจต้องทาทับประมาณ 3-4 รอบถึงจะเห็นสีหรือได้สีตามที่ต้องการ
สูตรน้ำมัน
สีย้อมไม้สูตรน้ำมันเป็นสีที่ต้องเอามาผสมกับทินเนอร์ก่อนใช้งาน โดยส่วนใหญ่อัตราการผสมจะอยู่ที่ 10% ต่อปริมาณสีที่ใช้ มีกลิ่นฉุนรุนแรง แต่เมื่อทาสีลงบนงานไม้แล้วจะซึมลึกได้ดีกว่าสูตรน้ำ ดังนั้นสีย้อมไม้สูตรน้ำมันจึงเหมาะกับงานทั้งภายในและภายนอก เนื่องจากมีความทนทานแต่แสงแดด ลม และฝนได้ดีกว่า เวลาทาสีก็จะไม่ค่อยเพี้ยนไปจากต้นแบบ ทาทับเพียง 2 ครั้งก็จะได้สีไม้สวยๆตามที่ต้องการ แต่ข้อเสียของสีย้อมไม้สูตรน้ำมันคือ มันแห้งช้ากว่าแบบน้ำ และต้องผสมทินเนอร์ของสียี่ห้อนั้นๆเท่านั้นเพื่อเจือจางสีก่อนจึงจะสามารถเอาสีมาทาได้
การเลือกสีย้อมไม้นอกจากเราจะเลือกความแตกต่างระหว่างสูตรน้ำกับสูตรน้ำมันแล้ว เรายังต้องเลือกความเงาด้านของสีที่เราจะใช้ด้วย เพื่อเวลาทาจะได้เห็นลายไม้สวยๆอย่างที่ต้องการ โดยสามารถแบ่งประเภทสีย้อมไม้ตามลักษณะความเงางาม ได้ 3 ชนิด ดังนี้
สีย้อมไม้ชนิดใส
เป็นสีย้อมไม้ที่มีลักษณะโปร่งแสง ให้ความเงางาม เน้นการโชว์ลายไม้ตามธรรมชาติ โดยเฉพาะไม้ที่สวยทั้งสีและลาย เช่น ไม้สัก เมื่อเราใช้สีย้อมไม้ชนิดเงาทาทับ จะช่วยให้สี และลายไม้สัก สวย สดใส และให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติ มีคุณสมบัติทนต่อแสงแดด
ผลิตจากส่วนผสมของผงสี และเรซิ่นที่มีคุณภาพ สามารถใช้ย้อมไม้ที่เป็นผนังบ้าน วงกบประตูหน้าต่าง รวมถึงเฟอร์นิเจอร์กลางแจ้งได้เป็นอย่างดี
สีย้อมไม้ชนิดเงา
เป็นสีย้อมไม้ที่มีลักษณะเป็นกึ่งโปร่งแสง ให้สีด้านสวยงามแบบคลาสสิคตามธรรมชาติ ใช้ได้กับงานไม้ทุกชนิด เหมาะกับการย้อมผิวไม้ที่อยู่กลางแจ้ง และเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ต้องการความแข็งแกร่ง ทนทาน ใช้ได้กับเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นไม้เนื้อแข็งและไม้เนื้ออ่อน ทั้งพื้นผิวขรุขระ และพื้นผิวที่ขัดแล้ว ใช้ทาได้ทั้งที่อยู่ภายนอก และภายในอาคาร ทั้งไม้ใหม่ ไม้เก่า มีคุณสมบัติป้องกันน้ำ ปกป้องผิวของเนื้อไม้จากรังสีอุลตร้าไวโอเล็ต ป้องกันความซีดจางของเนื้อไม้และมีส่วนผสมของสารป้องกันเชื้อรา
สีย้อมไม้ชนิดกึ่งเงา
เป็นสีย้อมไม้กึ่งโปร่งแสง ให้ความเงางามแบบกึ่งเงา กึ่งด้าน เหมาะสำหรับใช้ย้อมไม้ที่เป็นส่วนประกอบของตัวบ้าน เช่น ผนังไม้ ,ประตู ,หน้าต่าง ,วงกบ หรือ เฟอร์นิเจอร์สนาม ทนต่อรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตได้ดี และยังคงความเงางามของลายไม้ธรรมชาติ ใช้ได้ทั้งภายนอก และภายในอาคาร และมีส่วนผสมของสารป้องกันเชื้อรา
- Forewarning : ข้อควรระวังในการใช้งาน
สีย้อมไม้สูตรน้ำ จะเหมาะสำหรับใช้ทาภายในมากกว่าภายนอก เนื่องจากอายุการใช้งานจะสั้นกว่า มีความคงทนต่อน้ำฝน และแสงแดดน้อยกว่าชนิดสูตรน้ำมัน และต้องทาทับ 3-4 ครั้งขึ้นไปจึงจะเห็นสี
สีย้อมไม้สูตรน้ำมัน จำเป็นต้องใช้น้ำมันทินเนอร์ผสมเฉพาะของยี่ห้อนั้นๆ เพื่อเจือจาง (ปริมาณของทินเนอร์ที่นำไปผสมอยู่ที่ประมาณ 10% ของปริมาณสีที่ใช้) มีกลิ่นฉุน และสีที่ทาจะแห้งช้ากว่าสีย้อมไม้สูตรน้ำ
Material Trend : แนวโน้มการใช้งานสีย้อมไม้ (Wood Stain) ในปัจจุบัน และอนาคต
การแต่งบ้านด้วยไม้จริงในปัจจุบันอาจมีสัดส่วนที่ลดลงไปจากอดีตอยู่บ้างเพราะมีวัสดุทดแทนไม้จริงที่ถูกผลิตมาเป็นวัสดุทางเลือกใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรไม้จริงก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย แม้จะต้องใส่ใจดูแลรักษามากกว่าวัสดุอื่นๆก็ตาม เพราะผิวสัมผัสของไม้จริงให้ความเป็นธรรมชาติในแบบเฉพาะตัวซึ่งวัสดุอื่นๆอาจให้ไม่ได้ ฉะนั้นการดูแลรักษาสภาพของไม้ให้ใช้งานได้คงทนถาวรจึงยังคงมีความสำคัญอยู่ โดยเฉพาะการใช้สีย้อมไม้แบบต่างๆ
โดยแนวโน้มการใช้งานสีย้อมไม้ในอนาคตนั้น สีย้อมไม้สูตรน้ำมันถือว่าเป็นสีย้อมไม้ที่มีสารอันตราย และสารปนเปื้อนอยู่มากกว่าสีย้อมไม้ชนิดอื่นๆ หลายคนจึงมีแนวโน้มหันไปใช้สีย้อมไม้สูตรน้ำมากขึ้นเพราะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่ปล่อยสารพิษที่เป็นอันตราย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสีย้อมไม้ทุกประเภทก็ยังเป็นที่นิยมโดยทั่วไป เพราะหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด ใช้งานได้ง่าย และมีคุณสมบัติในการปกป้องเนื้อไม้ที่เหมาะกับทุกสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
Wazzadu Academy : ข้อมูลวัสดุศาสตร์ในหมวดอื่นๆที่น่าสนใจ
ข้อมูลอ้างอิงจาก
- http://www.madehow.com/Volume-6/Wood-Stain.html
- http://baansanruk.blogspot.com/2011/07/blog-post_1858.html
- http://homeenrich.blogspot.com/2014/03/wood-dye-color.html
- http://ablemagtips19.blogspot.com/
ผู้เขียนบทความ
โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกลุ่มผู้ใช้งานต่างๆ ตั้งแต่ สถาปนิก แบรนด์สินค้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ให้บริการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ... อ่านเพิ่มเติม